"แม่มูล" สายน้ำแห่งชีวิต


ประวัติศาสตร์ของชุมชนอุบลราชธานีที่ผูกพันธ์แน่นเหนียวกับ “แม่น้ำมูล” ในทุกลมหายใจ,

   

  เกิดมาแม่ก็เอาแม่มูลล้าง

เกิดมาแม่ก็เอาแม่มูลอาบ

น้ำเป็นสิ่งหล่อเลี้ยงพวกเรา เราอยู่ได้ด้วยน้ำ

 

          ข้อความข้างบนนี้ เป็นส่วนหนึ่งของ โอกาส ที่ผมสามารถไขว่คว้ามาได้จากการใช้ชีวิต ณ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี แห่งนี้

 

           "แม่ลำดวน" ลูกแม่น้ำมูล ชาวอุบลราชธานี ได้กล่าวข้อความดังกล่าวในการเสวนาเรื่องของ วิกฤติแม่น้ำไทย ทางเลือกและทางรอด ที่จัดขึ้น ณ คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ในช่วงวันพฤหัสบดีที่ 13 กรกฎาคม นั่นก็คือเมื่อวานนี้เองครับ

 

 

             พวกผมชาวพัฒนบูรณาการศาสตร์ พวกเรารับโอกาสจากท่าน ดร.กนกวรรณ ให้เข้าไปร่วมรับชม ละครเงา ที่คณะศิลปศาสตร์ ได้ร่วมกับทีมงานจากจังหวัดเชียงใหม่จัดขึ้น

ช่วงแรกของงานนั้น เป็นการเสวนาเกี่ยวกับเรื่องของ แม่น้ำ ซึ่งได้เชิญวิทยากรผู้มีความรู้มาเล่าถึงเรื่องของแม่น้ำในมุมมองด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะปราชญ์ชุมชนอย่างคุณแม่ลำดวน และคุณสมภาร ได้เล่าถึงประวัติศาสตร์ของชุมชนอุบลราชธานีที่ผูกพันธ์แน่นเหนียวกับ แม่น้ำมูลในทุกลมหายใจ ฟังแล้วมีชีวิตมาก ๆ มี Movement ความเคลื่อนไหวที่งดงามมาก ๆ เลยครับ

  

โอกาสของผมในวันนี้ นอกเหนือจากที่จะได้รับทราบบริบทของชุมชน จากการ จัดการความรู้ จากปราชญ์ชุมชนในแขนงต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นคุณแม่ลำดวนและคุณสมภาร เป็นผู้ที่มีความรู้ฝังลึกในการใช้ชีวิตและต่อสู้เพื่อการมีชีวิตจากกรณี เขื่อนปากมูล คณาจารย์จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ และคณาจารย์จากสายสังคมศาสตร์ โดยอาจารย์ท่านหนึ่งดำเนินการเป็นคุณอำนวยอยู่บนเวที และมีท่านคณบดีคณะศิลปศาสตร์เป็น คุณเอื้อ เอื้อเฟื้อด้านสถานที่ที่สวยงาม เหมาะสมและสะดวกสบายในการจัดเวที ทำให้เวทีวันนี้อุดมไปด้วยกลิ่นไอของความเป็นอุบลราชธานีและคุณค่ายิ่ง

จากเวทีเสวนาจัดการความรู้วันนี้ ผมเองในฐานะของคนต่างถิ่นที่ได้มีโอกาสเข้ามาใช้ชีวิต ณ จังหวัดอุบลราชธานีแห่งนี้ ถือได้ว่าเป็นบุญอย่างยิ่งครับ ที่ได้รับทราบบริบททางประวัติศาสตร์ บริบททางกายภาพ บริบททางสังคม บริบทของลักษณะประชากร ที่ผ่องถ่ายผ่านเรื่องเร้าเล่าพลังของคุณแม่ลำดวน โดยเฉพาะเรื่องของปลาและแม่น้ำมูล มีประโยคหนึ่งที่ครอบคลุมบริบทได้หลากหลายประเด็นเลยครับ

.

คุณแม่ลำดวน กล่าวว่า

ปลาเกิดขึ้นมาเพื่อขันอาสาที่จะมาเลี้ยงมนุษย์

                ปลาเกิดขึ้นมากินอย่างไรก็ไม่หมด ถ้าน้ำสะอาดก็จะออกลูกออกหลานมาเลี้ยงพวกเรา

ถ้าน้ำดีปลาก็อยู่ หมู่เฮาก็สบาย

 

ซึ่งสามารถขยายความในส่วนของ Documents Review ซึ่งพวกผมชาวบูรณาการศาสตร์ สามารถใช้ทำความเข้าใจในส่วนของการทบทวนบริบทของพื้นที่นอกเหนือจากการที่มีการ Review Literature จากเอกสารต่าง ๆ มาแล้วนั้น จากการที่เราได้ฟัง Keywords หรือประโยคสำคัญต่าง ๆ เหล่านี้ ทำให้เราสามารถรับทราบข้อมูลปฐมภูมิ (Primary Data) ที่มี Movement และเต็มไปด้วยจังหวะย่างก้าวของชุมชน ที่มีชีวิตชีวา นอกเหนือจากเสียงที่ได้ผ่านเข้าทางหูของพวกเราแล้ว เรายังสามารถใช้การสังเกตสิ่งต่าง ๆ ผ่านทางประสาทรับรู้ต่าง ๆ ที่ปราชญ์ชุมชน ผู้มีชีวิตสัมผัสกับแม่น้ำและจังหวัดอุบลราชธานีโดยตรง และคุณสมภาร สมาชิกกลุ่มสมัชชาคนจนภาคอีสาน ยังได้กล่าวอีกประโยคหนึ่ง ที่สามารถทำให้พวกเรารู้ถึงบริบททางสังคม และแผนที่ทางสังคมประเด็นหนึ่งได้อย่างมากนั่นก็คือ

สาวอกหักก็ไปนั่งอยู่ริมฝั่งมูล

พวกเรามีข้าวกินมีเสื้อใส่มีของใช้ก็เพราะหาปลา ชาวเหนือชอบพูดว่า  ชาวอุบลมีนาในแม่น้ำ

(ซึ่งถ้าจะเปรียบเปรยกับชาวลับแล ของจังหวัดอุตรดิตถ์บ้านผมล่ะก็เปรียบเหมือนกับชาวลับแลมีสิ่งต่าง ๆ ได้ก็เพราะสวนผลไม้ ลางสาด ลองกองและทุเรียนเลยครับ)

 

ซึ่งการทำงานวิจัยเชิงคุณภาพและมีส่วนร่วม โดยให้นักวิจัยเข้าไปร่วมเรียนรู้หรือร่วมคิดร่วมทำกับชุมชน (Interactive Learning through Action) นั้น สามารถทำให้พวกเรามีรากฐานความเข้าใจชุมชน เราได้ทราบถึงพื้นที่ทางสังคม (Social space) และ หน้าที่ทางสังคม (Social function) ซึ่งสามารถศึกษากิจกรรมต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นมาในชุมชน ณ ช่วงเวลา อารมณ์ ซึ่งเปลี่ยนแปลงไปตามบริบทต่าง ๆ ในแต่ละวัน แต่ละเดือน และแต่ละปีได้

อีกมิติหนึ่งสำหรับเรื่องของเขื่อนปากมูล เป็นมิติทางบริบทที่ทรงพลังทางด้านของ ประวัติการต่อสู้ของชุมชน ที่อุดมไปด้วยพลังของชุมชนและโครงสร้างต่าง ๆ ทางสังคมที่ต่อสู้ร่วมกันมาเพื่อแม่สายแห่งชีวิตสายนี้ ซึ่งผมได้มีโอกาสเรียนรู้และรับฟังเรื่องการต่อสู้จากสายน้ำทางภาคเหนือ การต่อสู้เรื่องน้ำของชาวริมฝั่งน้ำปิงเมืองเชียงใหม่ ทำให้เราได้เห็นและเรียนรู้วิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องสังทุนทางกายภาพ ทุนทางสิ่งแวดล้อม และที่สำคัญทุนทางการต่อสู้เพื่อชีวิต ซึ่งสามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น 

 

นอกเหนือจากนั้น เวทีวันนี้เป็นเวทีที่สร้างให้นักศึกษาที่เข้ามาร่วมรับฟังการเสวนานั้นได้รู้จักตนเอง รู้จักรากเหง้าและบรรพบุรุษของตนเองมากขึ้น เพื่อให้ตนเองรู้ว่าเราและบ้านเรา พ่อแม่เราเกิดมาและดำรงอยู่ได้อย่างไร การรู้จักตนเองนั้นทำให้ไม่หลงลืมว่าตนเองเป็นใคร เกิดมาจากสิ่งใด ไม่หลงลืมหน้าที่ ไม่หลงลืมบุญคุณของสรรพสิ่งต่าง ๆ ที่ทำให้ตนเองอยู่ได้จนถึงปัจจุบัน

เหมือนกับการที่ได้เรียนรู้จากกิจกรรมของชั้นเรียนหลักสูตรบูรณาการศาสตร์ในวันพุธที่ผ่านมา 12 กรกฎาคม ที่ท่าน ดร.กนกวรรณ ได้ทำหน้าที่อาจารย์และสวมบทบาทเป็นคุณอำนวย จัดการความรู้ในประเด็นทุนนิยม  ทฤษฎีการพัฒนาแบบพึ่งพา และเรื่องของทันสมัยนิยม  ซึ่งทำให้พวกเราได้ร่วมกันเรียนรู้ถึงปรากฏการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน ซึ่งสามารถอธิบายถึงรากเหง้าของความคิด รากเหง้าของปัญหา บริบทของโลกตามศาสนาต่าง ๆ บริบทของทวีป บริบทของประเทศ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ ในอดีตสามารถตอบคำถามถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันได้

พวกเราชาวบูรณาการศาสตร์เริ่มทราบปัญหาในหลากหลายมิติเพิ่มขึ้นกันแล้วครับ

ในตอนแรกผมก็ยังงง ๆ เหมือนกันว่า เราจะเรียนทฤษฎีพวกนี้กันไปทำไม เหมือนกับตอนที่เรียนปริญญาตรีเลย ไล่ขึ้นมาตามลำดับ คศ. นักวิชาการจากสำนักโน้น สำนักนี้ เขาว่ากันไว้อย่างไร และพวกเราเรียนปริญญาโท ปริญญาเอกกันแล้ว ยังต้องมานักท่องจำชื่อนักวิชาการเหล่านี้เหมือนกับตอนสมัยปริญญาตรีอีกเหรอ

อันนี้ต้องยกความดีความชอบให้กับทุก ๆ ฝ่ายเลยครับ นับตั้งแต่ทาง สคส. มหาชีวาลัย ภาคอีสาน โดยเฉพาะมหาวิทยาอุบลราชธานี ท่านอธิการบดีฯ ท่านคณบดี ผู้บริหารหลักสูตร คณาจารย์ทุกท่านที่ได้เลือกวิชาและเนื้อหาในส่วนนี้มาให้พวกเราได้ศึกษากัน เราได้เห็นปัญหาต่าง ๆ ประกอบกันจากหลากหลายมิติ เริ่มตั้งแต่รากเหง้าของทฤษฎี แนวคิด ผ่านการสั่งสม วิวัฒนาการ การเผยแพร่ อารยะธรรม การสั่งสมปัญหา ประกอบกับประสบการณ์ของพี่ ๆ ที่เคยทำงานในชุมชนในหลากหลายสาขาและเป็นเวลานาน ทำให้สามารถอธิบายปรากฏการณ์ต่าง ๆ ได้อย่างมีเหตุมีผลและมีหลักการมากขึ้น ซึ่งจะเป็นฐานที่จะเข้าใจวิถีของปัญหา วิถีของแนวทางแก้ปัญหา วิถีของการพัฒนาอย่างบูรณการเพื่อพัฒนะและพัฒนาทั้งชุมชนและศาสตร์ให้เหมาะสมกับเนื้อหาและบริบทของชุมชน สังคม และสรรพสิ่งต่าง ๆ ได้ต่อไปอย่างยั่งยืน

   

หมายเลขบันทึก: 38790เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 11:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท