ระบบสุขภาพชุมชน


         วันนี้ (12 ก.ค.49) ผมไปร่วมประชุมกลุ่มสามพราน   โดยที่ ศ. นพ. ประเวศ วะสี  เขียนเชิญ "ส.ต่าง ๆ" ขอให้ไปร่วมประชุม   โดยท่านจะเป็นผู้นำเสนอเรื่อง "การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน" ด้วยตนเอง

                           

                                 บรรยากาศการประชุม

         เมื่อไปถึงที่ประชุมก็ได้รับแจกหนังสือ "การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน : สุขภาวะชุมชนเป็นรากฐานของสุขภาวะทั้งหมด"  (อ่านได้ที่ www.prawase.com) และได้ฟังท่านนำเสนอฉบับลงรายละเอียด (กว่าในหนังสือ) อย่างอิ่มเอมและประเทืองปัญญาเป็นเวลาถึงชั่วโมงครึ่ง

         การประชุมกลุ่มสามพรานดำเนินมาทุกเดือนเป็นเวลากว่า 20 ปีได้   เป็น "กลไกที่ไม่เป็นทางการและเป็นอิสระ" ที่นำไปสู่นวัตกรรมทางการสาธารณสุขหลายอย่าง   วันนี้มีสมาชิกมาร่วมประชุมกันพร้อมหน้ากว่า 30 คน   รวมทั้งมีสมาชิกของเครือข่ายแผนแม่บทชุมชนพึ่งตนเอง 4 ภาคและ ผอ. พอช. มาร่วมด้วย

                          

คุณแก้วกำลังเสนอความเห็น จากมุมมองของเครือข่ายแผนแม่บทชุมชน ๔ ภาค

                           

                             ส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม

                           

                           อีกส่วนหนึ่งของผู้เข้าร่วมประชุม

                            

นพ. สุภกร บัวสาย ผู้จัดการ สสส. (เสื้อเหลือง) สนใจอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงระดับปฏิวัติระบบสุขภาพของไทย

         อาจารย์หมอประเวศท่านเขียนไว้ในหนังสือหน้า 41 ว่า "ขอให้ถือว่าเอกสารฉบับนี้เป็นประดุจพินัยกรรมที่มอบให้ท่านทั้งหลายไว้   ขอให้ร่วมกันทำงานเพื่อประโยชน์สุขของเพื่อนคนไทยทั้งมวล..."

         ผมตีความว่าเป้าหมายของเรื่องระบบสุขภาพชุมชน  คือความร่มเย็นเป็นสุขของคนทั้งแผ่นดิน   และเสนอโครงสร้างการทำงานเป็น complex Adaptive Structure ที่ทำงานเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่ทั้งอิสระต่อกันและเชื่อมสัมพันธ์ (inter-dependent) กัน   เป็นโครงสร้างหรือกิจกรรม 5 ส่วนที่เชื่อมโยงกัน  ดังนี้
1. กลไกขับเคลื่อนเครือข่าย   ทำหน้าที่เลขาธิการเครือข่าย   สำหรับจัดประชุมหลากหลายรูปแบบและไปเสาะหาความสำเร็จตามเป้าหมายจากการดำเนินการของสมาชิกเครือข่าย
2. พื้นที่นำร่องระดับอำเภอ 10 พื้นที่   ที่มี รพช. ร่วมกับผู้นำชุมชน, อปท., และองค์กรอื่น ๆ ในชุมชน  ดำเนินการพัฒนาสุขภาพชุมชนและขับเคลื่อนภาคีสุขภาพชุมชนระดับอำเภอ
        มีผู้เสนอว่าอาจมีพื้นที่ระดับตำบลใช้ สอ. เป็นหน่วยบริการร่วมกับกลไกอื่น ๆ ในตำบลได้ด้วย
3. กลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างพื้นที่นำร่อง,  องค์กรสนับสนุน,  และภาคีอื่น ๆ (ดูรูปที่ 6 หน้า 29)
 - การประชุมประจำเดือน
 - การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านบล็อก Gotoknow.org
         กลไกที่ 3 นี้จัดการโดยกลไกที่ 1
4. มหกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน  จัดปีละครั้ง  สำหรับเป็นเวทีนำความสำเร็จในการดำเนินการพัฒนาสุขภาพชุมชนมา ลปรร. กันในลักษณะที่เชื้อเชิญพื้นที่ที่มีผลงานความสำเร็จมานำเสนอ   โดยที่ผู้ได้รับเชื้อเชิญอาจอยู่นอกพื้นที่นำร่อง   ส่วนผู้ต้องการมาเรียนรู้ต้องลงทะเบียนจ่ายเงินเข้าร่วม
          กลไกที่ 4 นี้จัดการโดยกลไกที่ 1 และภาคี
5. ทุนสนับสนุนการขับเคลื่อนเครือข่ายสำหรับใช้ในการดำเนินการของกลไกที่ 1   ไม่ใช่ทุนสนับสนุนการดำเนินการในพื้นที่   ทุนนี้ใช้สำหรับ
          - การดำเนินการขับเคลื่อนเครือข่ายโดยเน้นขับเคลื่อนด้วยความสำเร็จ
          - การสร้าง & จัดการกลไกแลกเปลี่ยนเรียนรู้ (กลไกที่ 3)
          - การจัดมหกรรมพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน
          - การสนับสนุนการวิจัยเพื่อสร้างความรู้มาหนุนกิจกรรมทั้งหมด
          - ฯลฯ

         การดำเนินการในพื้นที่ต้องใช้ทรัพยากรในพื้นที่หรือหาทุนสนับสนุนภายนอกเอาเอง   ไม่เป็นภาระของกลไกขับเคลื่อนเครือข่าย

         ตกลงกันว่าผมกับคุณหนุ่มของ สสส. รับมาจัดประชุมภาคีเรื่องนี้อีกครั้งในวันที่ 24 ส.ค.49 ที่ สสส. เวลา 09.00 น. เพื่อทำความชัดเจนร่วมกันว่าจะทำให้ฝันนี้เป็นจริงได้อย่างไร

วิจารณ์ พานิช
 12 ก.ค.49

หมายเลขบันทึก: 38738เขียนเมื่อ 14 กรกฎาคม 2006 11:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 23:09 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอบพระคุณครับ ..
    ตามไปอ่านและ Save เอกสารของอ.หมอประเวศ เพื่ออ่านและเผยแพร่เรียบร้อยแล้วครับ  มีค่าและสะท้อนความจริงที่สังคมไทยต้องเรียนรู้ที่จะปรับเปลี่ยนให้ทันการณ์ ก่อนที่จะสายเกินแก้ และเชื่อมั่นว่า สคส.และ GotoKnow จะเป็นกลไกสำคัญ เสริมสร้างให้การเดินไปสู่จุดหมายนั้นเป็นจริงและเร็วยิ่งขึ้นครับ

อ่านบันทึกนี้ถึงย่อหน้าที่ 2   link ไปที่เจ้าของบันทึก ทำไว้ อ่านเพลินมาก อ่านไปเรื่อยๆ เพลินจนลืมกลับ ได้ความรู้มากเลย กลับมาที่บันทึกก็หมดเวลา ค่อยมาอ่านต่อ

อยากให้ทุกคนได้อ่านจังโดยเฉพาะ นายทักษิณ และคณะฯ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท