ทัวร์ละครเงา เรื่องเล่าจากสายน้ำ


วิกฤติน้ำนานาชาติ

ในช่วงบ่ายของวันนี้ได้ไปชมการแสดงละครเงา เรื่องเล่าจากสายน้ำ ของกลุ่มสื่อสร้างสรรค์พระจันทร์พเนจรและการเดินทางที่ไม่สิ้นสุด  ทำให้มองเห็นรูปแบบการนำเสนอแนวคิดที่น่าสนใจ เพราะในเนื้อหาของละครนั้นผู้แสดงต้องการให้ผู้ชมทำความเข้าใจกับเนื้อเรื่องเอง และทีมนักแสดงเองก็มีความรู้ความชำนาญมาก มีการทำงานอย่างเป็นระบบ เป็นกลุ่มที่ประสานสัมพันธ์กันอย่างดี ซึ่งก็เปรียบเหมือนการทำงานของผู้คนเราที่ไม่สามารถทำงานให้เสร็จลุล่วงได้เพียงลำพังผู้เดียวเสมอไป   อีกทั้งการทำงานนั้นจะให้ใครดีใครเด่นคนเดียวไม่ได้  ต้องรู้จักรอ รู้จักร่วม รู้จักรับซึ่งกันและกันงานจะจึงเดินไปได้ดี 

                ละครต้องการเล่าเกี่ยวกับแม่น้ำโขงและความเปลี่ยนแปลงที่กำลังมีผลกระทบต่อชุมชนและตัวแม่น้ำเอง ทั้งนี้เนื่องจากภาวะทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศลุ่มแม่น้ำโขง วัฒนธรรม และการค้าเสรี ซึ่งเปรียบเทียบนโยบายการพัฒนาทางเศรษฐกิจเป็นตัวครุฑและแม่น้ำโขงคือพญานาค ที่พญานาคกำลังถูกครุฑทำร้ายอย่างรุนแรง เหมือนกับในปัจจุบันนี้ที่แม่น้ำโขงถูกประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคใช้ประโยชน์จากแม่น้ำอย่างไม่รู้คุณค่า

                เหมือนกับที่วิทยากรที่ได้มาพูดคุยก่อนชมละครในประเด็นวิกฤติแม่น้ำในประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย แม่ลำดวน และคุณสมภาร จากสมัชชาคนจนที่ต่อสู้เรียกร้องเอาวิถีชีวิตดั้งเดิมของลูกแม่มูลกลับคืนมา กล่าวว่า เดิมทีแม่น้ำมูลคือชีวิตของผู้คนในแถบนี้ที่อุดมสมบูรณ์ไปด้วยปลา น้ำท่าสะอาด ใช้อุปโภคบริโภคได้ไม่ตะขิดตะขวงใจ เพราะในแต่ละปีแต่ละฤดูกาลวิถีของน้ำจะมีการผ่องถ่ายในตัวของมันเอง แต่พอมีการสร้างเขื่อนปากมูลขึ้นมา ก็เป็นการปิดกั้นทางเดินของน้ำ ทำให้น้ำที่อยู่ใต้เขื่อนมีน้อย  และที่แย่ไปกว่านั้น คุณภาพน้ำก็ต่ำลงไปด้วย ไม่เหมาะแก่การอุปโภคบริโภคและการเจริญเติบโตของสัตว์น้ำ ทำให้มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของผู้คนในบริเวณนี้เป็นอย่างมาก และมุมองในการสร้างเขื่อนปากมูลของชาวบ้านกลับรัฐนั้นแตกต่างกัน ชาวบ้านว่าแม่น้ำมูลคือ สัญลักษณ์ของความอุดมสมบูรณ์ที่เกี่ยวพันถึงวิถีชีวิตของผู้คนและเขื่อนคือความอัปลักษณ์ของการพัฒนา แต่รัฐมองแม่น้ำเป็นเรื่องของวัตถุสิ่งของที่สามารถสร้างรายได้และเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจแก่ประเทศ ดังนั้นรัฐจึงพยายามอย่างเต็มที่ที่จะใช้ประโยชน์จากน้ำมากเกินความจำเป็น

                นอกจากนี้อาจารย์ฤกษ์ชัย ศรีวรมาศ จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัญหาของแม่น้ำในเมืองไทย คือ ปัญหาปริมาณน้ำมากเกินไปในฤดูฝน ปัญหาน้ำน้อยเกินไปในฤดูแล้ง และเกิดปัญหาน้ำเน่าเสีย

                ส่วนท่านอาจารย์กนกวรรณ  มโนรมย์ จากคณะศิลปะศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยได้ไปลงทุนสร้างเขื่อนในประเทศลาวเพื่อซื้อไฟฟ้ามาใช้ในเมืองไทย  ซึ่งเป็นคำถามว่า ไทยเอาปัญหาเรื่องน้ำที่เกิดในเมืองไทยไปให้ประเทศลาวหรือเปล่า และการใช้ประโยชน์จากน้ำหลายอย่างจะเกิดปัญหาการแข่งขันและแย่งน้ำในภูมิภาคหรือไม่ จะมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไร

                แนวทางที่คิดว่าน่าจะแก้ปัญหาได้ คือ รัฐจะต้องวางแผนการใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อทุกฝ่ายและทุกฝ่ายทั้งชุมชน ท้องถิ่น และภาครัฐจะต้องมีส่วนร่วมในการคิด การทำ และการใช้ประโยชน์จากน้ำ

 

หมายเลขบันทึก: 38646เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2006 17:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:21 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท