Recovery Nursing Care


ห้องพักฟื้น

การพยาบาลผู้ป่วยในห้องพักฟื้น 

Recovery Nursing Care

 

นิตยา  ทองประพาฬ             พย.บ.

เอมิกา  กลยนี                      พย.บ.

งานการพยาบาลรังสีวิทยา  โรงพยาบาลศิริราช คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

 

นิตยา ทองประพาฬ, เอมิกา  กลยนี. การพยาบาลผู้ป่วยในห้องพักฟื้น. วารสารชมรมรังสีเทคนิคและพยาบาลเฉพาะทางรังสีวิทยาหลอดเลือดและรังสีร่วมรักษาไทย, 2552 ; 3(2) : 108-119

  

ห้องพักฟื้น หมายถึงสถานที่ที่ใช้ดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิดภายหลังการได้รับหัตถการ โดยมีการเฝ้าระวังสัญญาณชีพ  การทำงานของระบบหายใจ  ระบบหัวใจและระบบไหลเวียนเลือด การบันทึกชนิดและปริมาณสารน้ำที่ให้ทางหลอดเลือดดำ  ปริมาณปัสสาวะ แผลที่ทำหัตถการ รวมถึงท่อที่ต่อออกจากร่างกายผู้ป่วย เช่นท่อระบายจากช่องท้อง และการส่งต่อผู้ป่วยไปยังหออภิบาลผู้ป่วยต่อไปด้วย

            ห้องพักฟื้นควรเป็นห้องที่ตั้งอยู่บริเวณศูนย์ของห้องหัตถการ  ห้องพักแพทย์  ห้องพักวิสัญญี  เพื่อความสะดวกในการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด รวดเร็ว และไม่เสียเวลา

            การจัดวางหัวเตียงผู้ป่วย ส่วนใหญ่จะหันหัวเตียงไปทางฝาผนัง เพราะมักจะมีระบบท่อ เช่น ท่อออกซิเจน  เครื่องดูดเสมหะ  และเครื่องมอนิเตอร์ต่างๆ เพื่อความสะดวกในการใช้งาน

            เตียงผู้ป่วยและอุปกรณ์ที่ต้องมีประจำทุกเตียง ควรมีลักษณะหรือคุณสมบัติดังนี้

  1. เตียงสามารถปรับระดับความสูง-ต่ำได้
  2. ขนาดของเตียง ความกว้างของเตียงควรประมาณ 4 ฟุต เพื่อความสะดวกในการให้การรักษาพยาบาล เพราะเตียงที่กว้างเกินไปทำให้มีพื้นที่จากบริเวณข้างเตียงถึงตัวผู้ป่วยมากเกินไปเป็นอุปสรรคต่อการทำงาน
  3. ข้างเตียงควรมีราวปิดกั้นเพื่อป้องกันการตกเตียง
  4. เตียงควรเป็นเตียงที่มีเสาสำหรับแขวนน้ำเกลือเพื่อประหยัดพื้นที่และสะดวกในการทำงาน
  5. เตียงควรมีน้ำหนักเบา มีล้อสำหรับเคลื่อนย้ายได้ และต้องมีอุปกรณ์ห้ามล้อเพื่อป้องกันไม่ให้เตียงเลื่อน
  6. ที่นอนควรมีความแข็งแรงพอควรและหุ้มด้วยพลาสติกเพื่อความสะดวกในการทำความสะอาด
  7. มีระบบท่อทางออกของก๊าซออกซิเจนอย่างน้อย 1 จุด/เตียง ที่สามารถให้การไหลของก๊าซได้ 30 ลิตร/นาที และ peak flow 60 ลิตร/นาที
  8. มีระบบท่อทางออกของอากาศความดันลบ (suction) อย่างน้อย 1 จุด

     

การประเมินเป็นกระบวนการพยาบาลขั้นตอนแรกในการดูแลผู้ป่วย เพื่อใช้ในการวางแผนการพยาบาลในขั้นต่อไป ซึ่งพยาบาลจำเป็นต้องประเมินให้ได้ข้อมูลทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างครบถ้วนและครอบคลุมที่สุด

 

การแรกรับผู้ป่วยในห้องพักฟื้น 

การดูแลผู้ป่วยในระยะพักฟื้นที่ห้องพักฟื้น ถือเป็นส่วนสำคัญส่วนหนึ่งที่จะทำให้ผู้ป่วยปลอดภัยจากการทำหัตถการและการระงับความรู้สึก ดังนั้นจึงมีความจำเป็นที่ผู้ดูแลผู้ป่วยในห้องพักฟื้นควรมีความรู้และความเข้าใจถึงปัญหาและภาวะแทรกซ้อนต่างๆที่อาจเกิดขึ้นในผู้ป่วย ตลอดจนสามารถดูแลและให้การแก้ไขเบื้องต้นได้ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถกลับบ้านหรือกลับหอผู้ป่วยได้อย่างปลอดภัย

การประเมินและการเฝ้าระวังเบื้องต้น

ไม่ว่าผู้ป่วยจะได้รับการทำหัตถการประเภท
ใดก็ตาม เมื่อเข้ามาอยู่ในห้องพักฟื้นจะได้รับการประเมินและการเฝ้าระวังเบื้องต้นตามมาตรฐานเดียวกัน ผู้ป่วยจะได้รับการประเมินสภาพทั่วไปและดูแลทันทีเมื่อถึงห้องพักพื้น โดยพยาบาลห้องพักฟื้นจะตรวจสภาพความรู้สึกตัวของผู้ป่วย ตรวจทางเดินหายใจ ลักษณะการหายใจ ระบบไหลเวียนและวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนเป็นต้น ข้อมูลที่พยาบาลห้องพักฟื้นควรทราบ เมื่อผู้ป่วยมาถึงห้องพักฟื้นมีดังนี้

  1. ชื่อและอายุผู้ป่วย
  2. ชนิดของหัตถการและการระงับความรู้สึก
  3. ยาระงับความรู้สึกที่ใช้ และยาอื่นๆที่ให้ระหว่างทำหัตถการ
  4. สภาพผู้ป่วยก่อนเข้าห้องตรวจ
  5. โรคอื่นๆของผู้ป่วย
  6. ยาที่ผู้ป่วยได้รับขณะทำหัตถการ
  7. ประวัติการแพ้
  8. ปริมาณสารน้ำและเลือดที่ให้ในระหว่างทำหัตถการ
  9. ปัญหาและภาวะแทรกซ้อนที่เกิดระหว่างทำหัตถการ

10.  การดูแลพิเศษที่จำเป็นต้องให้เฉพาะผู้ป่วยเช่น การจัดท่า การระงับปวด การตรวจเลือด และการตรวจหาระดับน้ำตาล การฉายภาพรังสี เป็นต้น

 

ผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทุกรายควรได้รับออกซิเจน 30-40% ทางหน้ากาก (oxygen mask) หรือสายจมูก(nasal cannular) ตรวจวัดชีพจร อัตราการหายใจทุก 5 นาทีอย่างน้อย 3 ครั้งเมื่อสัญญาณชีพคงที่ดีแล้วจึงวัดทุก 15 นาที ตรวจค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงด้วยเครื่อง pulse oximeter ตลอดเวลา      สรุปข้อแนะนำในการประเมินและเฝ้าระวังผู้ป่วยในห้องพักฟื้น

ผู้ป่วยทุกราย

ผู้ป่วยเฉพาะราย

การหายใจ

-อัตราการหายใจ

- ทางเดินหายใจเปิดโล่ง

- ความอิ่มตัวของออกซิเจน

การไหลเวียนเลือด

-          ชีพจร

-          ความดันเลือด

ความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ

-          ตรวจร่างกาย

ความรู้สึกตัวและการรับรู้

อาการปวด

อาการคลื่นไส้อาเจียน

 

 

 ไม่มี

 

 

 

คลื่นไฟฟ้าหัวใจ (ECG)

 

 

เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท

(nerve stimulator)

อุณหภูมิร่างกาย

ปริมาณเลือดและสารคัดหลั่งจากท่อระบาย(drain)

ปริมาณปัสสาวะ    

การประเมินและการเฝ้าระวังผู้ป่วย 

การประเมิน (Assessment)

การประเมินเป็นกระบวนการพยาบาลขั้นตอนแรกในการดูแลผู้ป่วย เพื่อให้ได้ข้อมูลมาใช้ในการวางแผนการพยาบาลให้กับผู้ป่วยหลังทำหัตถการ ซึ่งในช่วงเวลาของการประเมินผู้ป่วยในห้องพักฟื้นนี้ มีระยะเวลาที่จำกัด ฉะนั้นพยาบาลจำเป็นต้องประเมินให้ได้ข้อมูลทั้งด้านร่างกายและจิตใจอย่างครบถ้วนและครอบคลุมที่สุด

 

การเฝ้าระวังผู้ป่วย

            การเฝ้าระวัง (Monitoring) เป็นการเตือนเพื่อบ่งบอกให้ทราบถึงความผิดปกติที่อาจเกิดขึ้น ทำให้เกิดการค้นหาสาเหตุและดำเนินการแก้ไข ก่อนที่จะเกิดอันตรายแก่ผู้ป่วย ซึ่งสามารถทำได้จากการสังเกตอาการและอาการแสดงของผู้ป่วยร่วมกับการใช้อุปกรณ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดความดันโลหิต เครื่องวัดความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงเป็นต้น

 

แนวทางการปฏิบัติในการเฝ้าระวัง 

  1. พยาบาลในห้องตรวจจะมาส่งผู้ป่วยในห้องพักฟื้น ในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยควรใช้เตียงจากห้องพักฟื้นไปรับ เพื่อป้องกันอุบัติเหตุจากการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยหลายครั้ง และควรเป็นเตียงที่สามารถปรับระดับศีรษะขึ้นลงได้เพื่อสะดวกในการจัดท่านอนของผู้ป่วย
  2. หากผู้ป่วยได้รับยาระงับความรู้สึกวิสัญญีแพทย์จะรายงานข้อมูลที่สำคัญของผู้ป่วยให้พยาบาลห้องพักฟื้นทราบและควรเฝ้าระวังจนกว่าผู้ป่วยจะมีอาการคงที่ ข้อมูลดังกล่าวประกอบด้วย

2.1  ชื่อ นามสกุล อายุ เพศ นอกจากจะเป็นการระบุตัวผู้ป่วยแล้วเพศ และอายุยังมีความสัมพันธ์กับแนวทางการประเมินสภาพผู้ป่วย การดูแลรักษาพยาบาลและการพิจารณาให้ยาระงับปวด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในผู้ป่วยสูงอายุควรได้รับการประเมินอย่างแม่นยำเพื่อการให้ยาระงับปวดที่เหมาะสม

2.2  โรคและหัตถการที่ทำ  ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนจากการทำหัตถการ ระยะเวลาการทำหัตถการ

2.3   โรคประจำตัวของผู้ป่วย ยาที่ใช้รักษา ประวัติการแพ้ยา และปัญหาทางสุขภาพอื่นๆ

2.4   วิธีการให้ยาระงับความรู้สึก และภาวะแทรกซ้อนระหว่างให้ยาระงับความรู้สึกรวมทั้งการแก้ไขภาวะแทรกซ้อนที่ผู้ป่วยได้รับ

2.5  ยาสำคัญ ที่ผู้ป่วยได้รับระหว่างทำหัตการ ชื่อยา เวลาและขนาดยาครั้งสุดท้ายปริมาณยาทั้งหมดที่ได้รับ รวมทั้งวิธีบริหารยา ได้แก่ ยาระงับปวด ยาชา ยานอนหลับ เพื่อให้การดูแลและเฝ้าระวังได้อย่างถูกต้องเหมาะสม

2.6  สัญญาณชีพระหว่างทำหัตการและผลการตรวจครั้งสุดท้ายก่อนเคลื่อนย้ายผู้ป่วยมาห้องพักฟื้น รวมทั้งความดันโลหิตในระยะก่อนทำหัตถการเพื่อใช้เป็นค่าเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตหลังทำหัตถการ

2.7  ปริมาณเลือดที่เสียไปในขณะทำหัตถการ ปริมาณสารน้ำ เลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ผู้ป่วยได้รับชดเชยในระหว่างทำหัตถการ และปริมาณสารน้ำที่จะต้องให้ต่อในห้องพักฟื้น

2.8   ปริมาณปัสสาวะต่อชั่วโมงในรายที่มีสายสวนปัสสาวะ

2.9  การเฝ้าระวังพิเศษหรือปัญหาที่ต้องการ การดูแลต่อเนื่องในห้องพักฟื้นนอกเหนือจากการเฝ้าระวังพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับผู้ป่วยเช่น การเฝ้าระวังคลื่นไฟฟ้าหัวใจ เป็นต้น

 

3. พยาบาลห้องพักฟื้นรับทราบข้อมูล และประเมินผู้ป่วยร่วมกับวิสัญญีแพทย์ แพทย์และพยาบาลในห้องตรวจที่มาส่งผู้ป่วยโดยปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

3.1  พยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาล ดูแลให้ออกซิเจนกับผู้ป่วยที่ได้รับยาระงับความรู้สึกทุกราย เนื่องจากผู้ป่วยอาจเกิดภาวะร่างกายมีค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดงน้อยกว่าร้อยละ 90 ในขณะเคลื่อนย้ายได้ถึงร้อยละ 30-50 หากปล่อยให้ผู้ป่วยหายใจด้วยอากาศปกติ ดังนั้นจึงจำเป็นอย่างยิ่งในการให้ออกซิเจนทั้งในขณะเคลื่อนย้ายและในห้องพักฟื้น

3.2  พยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาล ตรวจวัดสัญญาณชีพติด monitor พยาบาลประเมินผู้ป่วย เป็นการประเมินสภาวะความรู้สึกตัวและการกลับฟื้นคืนสภาพ จากการได้รับยาระงับความรู้สึกเพื่อสังเกตการเปลี่ยนแปลงกลับสู่สภาวะของร่างกาย ให้ได้ตามเกณฑ์ปกติ ประกอบไปด้วยการสังเกตต่างๆโดยการรายงานข้อมูลผู้ป่วยแรกรับในห้องพักฟื้น สามารถแสดงได้ดังตาราง

ประเด็นสำคัญ

เหตุผล

1.ชื่อผู้ป่วย

เพื่อเป็นการระบุตัวผู้ป่วย

2.อายุ

เพื่อให้การดูแลที่เหมาะสมกับพยาธิสรีรภาพตามอายุที่แตกต่างกันของผู้ป่วยแต่ละราย

 3.ประวัติผู้ป่วย

เพื่อเฝ้าระวังปัญหาสืบเนื่องที่อาจเกิดจากโรคร่วมอื่นๆของผู้ป่วย

4.ประวัติการแพ้ยา

เพื่อหลีกเลี่ยงการให้ยาในกลุ่มที่ผู้ป่วยเกิดอาการแพ้

5.รังสีแพทย์/วิสัญญีแพทย์

เพื่อระบุผู้รับผิดชอบในการดูแลและให้คำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหา

6.หัตถการที่ได้รับ

เพื่อช่วยในการวางแผนให้การพยาบาลผู้ป่วย

7.ชนิดของยาระงับความรู้สึก

เพื่อช่วยในการวางแผนและให้การพยาบาลได้เหมาะสมถูกต้องตามลักษณะของการได้รับยาระงับความรู้สึก

8.ยาที่ผู้ป่วยได้รับขณะทำหัตถการ

เพื่อทราบระยะเวลาในการให้ยาและระบุปัญหาที่อาจเกิดขึ้นภายหลังการได้รับยาดังกล่าว

9.ปริมาณเลือดที่สูญเสียขณะทำหัตถการและปริมาณสารน้ำ/เลือดที่ได้รับ

เพื่อประเมินความสมดุลของปริมาณสารน้ำในร่างกาย ให้การดูแลเฝ้าระวังและติดตามผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการ

10.ปัญหาที่คาดว่าจะเกิดขึ้น

เพื่อเฝ้าระวังปัญหาต่างๆที่อาจเกิดขึ้นและต้องการการดูแลต่อเนื่อง

นิยามปฏิบัติการที่ต้องเข้าใจร่วมกัน

Activity หมายถึงความสามารถในการเคลื่อนไหวของร่างกาย การตอบสนองตามคำสั่งทดสอบโดยมีเกณฑ์การให้คะแนนดังนี้

-     Purposeful movement หมายถึง สามารถเคลื่อนไหวตอบสนองการกระตุ้นหรือคำสั่งได้อย่างถูกต้อง ขยับแขนขาได้เป็นปกติ ในกลุ่มนี้ให้ 2 คะแนน

-     Unpurposeful movement หมายถึงสามารถเคลื่อนไหวหรือตอบสนองการกระตุ้นเล็กน้อยหรือทำตามคำสั่งได้ไม่ถูกต้องนัก เช่นให้ยกมือก็สามารถยกได้เล็กน้อยหรือกำมือได้ไม่แน่นนัก ในกลุ่มนี้ให้ 1 คะแนน

-          No movement หมายถึง ไม่มีการเคลื่อนไหว ขยับตัว หรือขยับแขนขา ในกลุ่มนี้ให้ 0 คะแนน

 

Respiration หมายถึงความสามารถในการหายใจของผู้ป่วย ซึ่งรวมถึงการหายใจผ่านท่อช่วยหายใจทั้งแบบ endotracheal tube และ tracheostomy tube โดยสังเกตจากลักษณะการหายใจ และอัตราการหายใจ โดยมีเกณฑ์การให้คะแนนดังนี้

-          Deep breath & cough หมายถึง สามารถหายใจได้ลึก และไอเอาเสมหะออกได้เอง ในกลุ่มนี้ให้ 2 คะแนน

-          Dysnea or limited หมายถึง หายใจลำบาก ต้องออกแรงหรือหายใจอย่างตื้นๆ ในกลุ่มนี้ให้ 1 คะแนน

-          Apnea หมายถึง หายใจไม่มีประสิทธิภาพ หรือไม่หายใจ ในกลุ่มนี้ให้ 0 คะแนน

 

Circulation หมายถึงระบบการไหลเวียนโลหิต โดยสังเกตดูจากค่าความดันโลหิต เมื่อเปรียบเทียบกับระยะก่อนทำหัตถการ

 

Consciousness หมายถึง ระดับการรู้สึกตัว และการตอบสนองของผู้ป่วยต่อเสียงเรียกหรือสิ่งกระตุ้น ได้แก่

-     Alert and oriented หมายถึงรู้สึกตัว ตื่นดี ตอบสนองต่อสิ่งเร้าได้ว่องไว รับรู้เวลาและสถานที่ได้ถูกต้อง ตอบคำถามได้ถูกต้อง ในกลุ่มนี้ให้ 2 คะแนน

-          Abousable on calling หมายถึง ต้องปลุกเรียกดังๆจึงรู้สึกตัว สะลึมสะลือ ลืมตาได้ไม่เต็มที่ ในกลุ่มนี้ให้ 1 คะแนน

-          Not responding หมายถึงไม่ตอบสนองต่อสิ่งกระตุ้น ในกลุ่มนี้ให้ 0 คะแนน

SpO2  หมายถึง ค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดแดง โดยดูได้จากเครื่อง Pulse oximeter ที่ปรากฏทางหน้าจอ โดยไม่ควรต่ำกว่า 95%

 

พยาบาลประเมินความปวด โดยในผู้ป่วยผู้ใหญ่ให้บันทึกระดับความปวดตามที่ผู้ป่วยบอก ซึ่งใช้แบบประเมินอาการปวดเป็นตัวเลข คือให้ผู้ป่วยให้คะแนนความปวดจาก 0-10 กล่าวคือ 0คะแนน คือไม่ปวดเลยและ 10 คะแนน คือปวดมากที่สุดเท่าที่จะนึกได้ ถ้าเป็นผู้ป่วยเด็กให้ใช้รูปภาพหน้าที่แสดงอาการปวด หน้ายิ้มคือไม่ปวด เรียงลำดับความปวดมาเรื่อยๆ จนสุดท้ายปวดมากที่สุด เป็นหน้าร้องไห้

 

3.4  พยาบาลจัดท่านอนผู้ป่วยให้เหมาะสมกับความรู้สึกตัวและชนิดของการทำหัตถการ โดย
ทั่วๆไปจะให้ผู้ป่วยนอนหงายมีศีรษะหนุนบริเวณก้านคอและหัวไหล่ เพื่อให้ทางเดินหายใจเปิดโล่ง

3.5  พยาบาลควรตรวจสอบบริเวณแผลผ่าตัดว่ามีเลือดออกผิดปกติจากผ้าปิดแผลหรือท่อระบายต่างๆหรือไม่ พร้องทั้งบันทึกลักษณะที่พบลงในแบบบันทึก

3.6  พยาบาล/ผู้ช่วยพยาบาล ประเมิน
อุณหภูมิร่างกายผู้ป่วย ดูแลให้ได้รับความอบอุ่นตามความเหมาะสม นอกจากนี้ยังต้องประเมิน Dorsalis pulse ทั้งสองข้างด้วย

3.7  พยาบาลตรวจสอบบริเวณที่ให้สารน้ำ เลือดและส่วนประกอบของเลือดที่ให้ทางหลอดเลือดดำ ชนิด จำนวนที่เหลืออยู่ อัตราเร็วการไหลของสารน้ำ และผิวหนังบริเวณที่ให้สารน้ำ

3.8   หากพบอาการผิดปกติต้องรายงานแพทย์เพื่อแก้ไขโดยด่วน

4. พยาบาลห้องพักฟื้นลงบันทึกผลการประเมิน กิจกรรมการพยาบาลที่ผู้ป่วยได้รับ ในแบบบันทึกการพยาบาล และประเมินอาการซ้ำทุก 15 นาที จนกระทั่งจำหน่ายผู้ป่วยออกจากห้องพักฟื้น

การดูแลผู้ป่วยที่ได้รับการตรวจและรังสีร่วมรักษา 

             เมื่อแพทย์ดึง sheath ออกแล้วจะต้องกดแผลไว้นานประมาณ 15 นาทีหรือนานกว่านี้ในผู้ป่วยสูงอายุหรือผู้ที่มีความดันโลหิตสูง  แล้วใช้ผ้ายางยืดปิดทับบริเวณแผลให้ตึงมีแรงกดอยู่ตลอดเวลาเพื่อให้เลือดหยุดไหล  พยาบาลห้องพักฟื้นจะตรวจวัดชีพจร  การหายใจ  และความดันโลหิต  พร้อมทั้งตรวจดูบริเวณที่ใส่สายสวน  ขาหนีบ หรือ รักแร้ ทุก 15-20 นาที และควรตรวจชีพจรตรงปลายเท้าหรือปลายแขนข้างที่ทำหัตถการ ถ้าคลำไม่ได้และผู้ป่วยมีอาการปวดชาบริเวณปลายขาหรือปลายแขนข้างนั้น อุณหภูมิผิวหนังซีดเย็นลง ต้องรีบรายงานแพทย์โดยด่วนเพราะอาจมีลิ่มเลือดอุดตันเกิดขึ้น สังเกตและสอบถามอาการผู้ป่วยว่ามีอาการที่แสดงถึงปฏิกิริยาแพ้สารทึบรังสี เช่น ผื่นแดง คัน  คลื่นไส้อาเจียน หรือไม่ ถ้าพบว่ามีอาการผิดปกติให้รีบรายงานแพทย์ด่วน  แนะนำให้ผู้ป่วย Absolute bed rest 24 ชั่วโมง  และให้นอนเหยียดขาหรือแขนข้างที่ใส่สายสวน หลอดเลือดอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง   ให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารได้ตามปกติและดื่มน้ำมากๆเพื่อขับสารทึบรังสีออกจากร่างกายโดยเร็ว  ถ้าผู้ป่วยไม่มีอาการคลื่นไส้อาเจียน  แนะนำให้ผู้ป่วยมาพบแพทย์ตามนัดทุกครั้งหรือถ้ามีอาการผิดปกติสามารถมาพบแพทย์ก่อนนัดได้

 

การดูแลผู้ป่วยที่ใส่ SLR Catheter (PTBD,PCN)

            เมื่อพยาบาลห้องพักฟื้นรับข้อมูลจากพยาบาลห้องตรวจแล้วควรมีการประเมินและสอบถามอาการ ผู้ป่วยเพื่อวางแผนและให้การพยาบาลที่เหมาะสม  มีการตรวจวัดอุณหภูมิ  ชีพจร  อัตราการหายใจ  ความดันโลหิต  และตรวจบริเวณที่ใส่ท่อระบายทุก 15 นาที เพื่อดูว่ามีการตกเลือดหรือไม่ พร้อมทั้งสังเกตลักษณะน้ำที่ระบายออกทางท่อระบายว่ามีเลือดปนหรือไม่ ถ้ามีเลือดดสดปนออกมาเรื่อยๆให้รีบรายงานแพทย์ด่วน   และ Record จำนวนน้ำดีทางท่อระบายก่อนที่จะจำหน่ายผู้ป่วยให้ข้อมูลการปฏิบัติตัวหลังตรวจโดยให้ผู้ป่วยสังเกตจำนวนน้ำดีในแต่ละวัน  ห้ามนอนตะแคงทับท่อระบาย เพราะจะทำให้ท่อระบายหักพับได้   และเมื่อกลับบ้านแนะนำให้ผู้ป่วยไปทำแผลที่โรงพยาบาลหรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน และแนะนำให้ผู้ป่วยรีบมาพบแพทย์เมื่อเกิดปัญหา เช่น สายหักพับงอ  สายเลื่อนหลุดออกมา  หรือไม่มีน้ำไหลออกมาจากท่อระบายแล้ว

           

บรรณานุกรม

  1. พรรณี  สมจิตประเสริฐ.เอกสาร รังสีวินิจฉัย การตรวจ  การเตรียม  การดูแล.งานการพยาบาลรังสีวิทยา ฝ่ายการพยาบาล  โรงพยาบาลศิริราช, 2541:26-29
  2. เพ็ชรา  บุญแสง.การประเมิน เฝ้าระวังผูป่วยแรกรับ และการจำหน่าย.การพยาบาลผู้ป่วยในห้องพักฟื้น  ชมรมพยาบาลผ่าตัดศิริราช,2551:141-153
  3. เบญจมาศ  ปรีชาคุณและคณะ.การบริหารจัดการในห้องพักฟื้น. การพยาบาลผู้ป่วยในห้องพักฟื้น  ชมรมพยาบาลผ่าตัดศิริราช,2551:1-19

 

คำสำคัญ (Tags): #nursing care#recovery
หมายเลขบันทึก: 385511เขียนเมื่อ 17 สิงหาคม 2010 10:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อยากทราบถึงวิธีการดูแล สาย PCN ครับ

รักษาความสะอาดปกติ และไม่ควรทำให้ขยับจากตำแหน่ง

ข้อมูลนี้เป็นประโยชน์มากค่ะ...ขอแบ่งไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท