งานภาวะผู้นำ


ส่งงานภาวะผู้นำ

สรุปบทความภาวะผู้นำ

1.ภาวะผู้นำ  คุณธรรมและจริยธรรมสำหรับผู้บริหาร

สำหรับผู้นำในสังคมไทยเรื่องจริยธรรม ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการประพฤติปฏิบัติ ซึ่งจริยธรรมพื้นฐานของผู้นำที่ประชาชนทุกกลุ่มในสังคม (ที่แม้จะมีผลประโยชน์ต่างกัน) ต้องการเหมือนกันคือ การยึดถือความถูกต้องและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง การคุ้มครองสวัสดิภาพการปราบทุจริต การกระจายความเท่าเทียมทางเศรษฐกิจ และการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย สังคมที่เข้มแข็งต้องจริงจังในการตรวจสอบจริยธรรมขั้นพื้นฐานของผู้นำ การปล่อยปละละเลยจะทำให้เกิดวิกฤตจริยธรรมผู้นำและนำไปสู่วิกฤตประเทศอย่างที่เป็นอยู่ เพื่อความสงบสุข ร่มเย็นของประเทศ จำเป็นต้องมีการกำหนดมาตรฐานและกระบวนการตรวจสอบจริยธรรมขั้นพื้นฐานของผู้นำให้ชัดเจน มิฉะนั้นแล้วประเทศจะต้องเผชิญกับวิกฤตและเกิดความบอบช้ำเพราะความไร้คุณธรรมจริยธรรมของผู้นำในหลายระดับ จริยธรรมพื้นฐานของผู้นำที่รับผิดชอบต่อสิทธิประโยชน์ต่างๆ ของประชาชนอย่างยุติธรรม จริยธรรมดังกล่าวพุทธศาสนาเรียกว่า "จักรวรรดิวัตร 5" ซึ่งถือว่าเป็นหน้าที่ผู้ปกครองผู้ยิ่งใหญ่ 5 ประการดังนี้

1. ธรรมาธิปไตย ผู้นำต้องถือธรรมเป็นใหญ่ คือ ยึดถือหลักการ ความจริง ความถูกต้อง

ประโยชน์สุขที่แท้จริงของประชาชนเป็นหลักเกณฑ์ เป็นมาตรฐาน

2. ธรรมิการักขา ผู้นำต้องสามารถจัดการบำรุง คุ้มครองรักษาที่ชอบธรรมให้แก่ประชาชนทุกหมู่เหล่า ตลอดจนสัตว์ทั้งหลาย ทั้งสัตว์บก สัตว์บิน สัตว์น้ำ

3. อธรรมการนิเสธนา ผู้นำมีหน้าที่ป้องกันแก้ไขกำราบ ปราบปราม ไม่ให้มีการกระทำที่ไม่ชอบธรรมไม่เป็นธรรม

4. ธนานุประทาน ผู้นำมีหน้าที่จัดสรรแบ่งปันเฉลี่ยทรัพย์สินเงินทอง ปัจจัยยังชีพ ให้ทั่วถึงแก่คนที่ขาดแคลนยากไร้ให้พอเพียงที่จะดำรงชีวิตอยู่ได้ด้วยดีโดยทั่วกันอย่างยุติธรรม

5. ปริปุจฉา ผู้นำต้องรู้จักแสวงปัญญา รู้จักปรึกษาสอบถาม เข้าหาผู้รู้ผู้ทรงคุณ ค้นคว้าหาความรู้อยู่เสมอและยิ่งๆ ขึ้นไป

ทศพิธราชธรรม

ทศพิธราชธรรม หรือ ทศพิธราชธรรม 10 คือจริยวัตร 10 ประการที่พระเจ้าแผ่นดินทรงประพฤติเป็นหลักธรรม ประจำพระองค์ ไม่ได้จำเพาะเจาะจงสำหรับพระเจ้าแผ่นดินหรือผู้ปกครองแผ่นดินเท่านั้น บุคคลธรรมดาที่เป็นผู้บริหารระดับสูงในทุกองค์กรก็พึงใช้หลักธรรมเหล่านี้ ทศพิธราชธรรม เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า “ราชธรรม 10”

1. ทาน (ทานํ) การให้ หมายถึงการให้ การเสียสละ นอกจากเสียสละทรัพย์สิ่งของแล้ว ยังหมายถึงการให้น้ำใจแก่ผู้อื่นด้วย

2. ศีล (ศีลํ) คือความประพฤติที่ดีงาม ทั้ง กาย วาจา และใจ ให้ปราศจากโทษ ทั้งในการปกครองอันได้แก่ กฎหมายและนิติราชประเพณี และในทางศาสนา

3. บริจาค (ปริจาคํ) คือ การเสียสละความสุขส่วนตน เพื่อความสุขส่วนรวม

4. ความซื่อตรง (อาชชวํ) คือ ความซื่อตรงในฐานะที่เป็นผู้ปกครอง ดำรงอยู่ในสัตย์สุจริต

5. ความอ่อนโยน (มัททวํ) คือ การมีอัธยาศัยอ่อนโยน เคารพในเหตผลที่ควร มีสัมมาคารวะต่อผู้อาวุโสและอ่อนโยนต่อบุคคลที่เสมอกันและต่ำกว่า

6. ความเพียร (ตปํ) หรือความเพียร มีความอุตสาหะในการปฏิบัติงาน โดยปราศจากความเกียจคร้าน

7. ความไม่โกรธ (อกฺโกธ) หรือความไม่แสดงความโกรธให้ปรากฏ ไม่มุ่งร้ายผู้อื่นแม้จะลงโทษผู้ทำผิดก็ทำตามเหตผล

8. ความไม่เบียดเบียน (อวีหึสา) การไม่เบียดเบียน หรือบีบคั้น ไม่ก่อทุกข์หรือเบียดเบียนผู้อื่น

9. ความอดทน (ขันติ) การมีความอดทนต่อสิ่งทั้งปวง รักษาอาการ กาย วาจา ใจ ให้เรียบร้อย

10. ความยุติธรรม (อวิโรธนํ) ความหนักแน่น ถือความถูกต้อง เที่ยงธรรมเป็นหลัก ไม่เอนเอียงหวั่นไหวด้วยคำพูด อารมณ์ หรือลาภสักการะใดๆ

การนำไปใช้

                     คุณสมบัติของผู้นำที่สำคัญก็คือ การมีคุณธรรม จริยธรรม ซึ่งสามารถนำไปใช้ในการในการปกครองประชาชนให้อยู่ด้วยกันอย่างมีความสุข ซึ่งจริยธรรมพื้นฐานของผู้นำที่ประชาชนทุกกลุ่ม ต้องการเหมือนกันคือ การยึดถือความถูกต้องและประโยชน์สุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง การคุ้มครองสวัสดิภาพการปราบทุจริต   และการเปิดกว้างรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างหลากหลาย สังคมที่เข้มแข็งต้องจริงจัง ควรมีผู้นำ ที่มีจริยธรรมเป็นขั้นพื้นฐานนำ เพื่อความสงบสุข ร่มเย็นของประชาชน

2.ภาวะผู้นำแบบสร้างสรรค์

            การเป็นผู้นำแบบสร้างสรรค์ (The  formative  leader)  นั้นจำเป็นจะต้องอาศัยทักษะการเอื้ออำนวยความสะดวก  (Facilitation  skills)  อยู่ในระดับสูง  ทั้งนี้เพราะสาระที่เป็นภารกิจหลักของทฤษฎีนี้ ได้แก่  การทำงานแบบทีมในการสืบเสาะหาความรู้  (Team  inquiry)  การเรียนรู้แบบทีม (Team  learning)  การร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา (Collaborative  problem  solving)  การจินตนาการสร้างภาพของอนาคตที่ควรเป็น  (Imaging  future  possibilities)  การพิจารณาตรวจสอบความเชื่อร่วมกัน (Examining  shared  beliefs)  การใช้คำถาม (Asking  questions)  การรวบรวมวิเคราะห์และแปลความข้อมูล (Collecting  analyzing, and interpreting  data)  ตลอดจนกระตุ้นครูอาจารย์ตั้งวงสนทนาอย่างสร้างสรรค์ในเรื่องการเรียนการสอน เป็นต้น  ภารกิจดังกล่าวเหล่านี้  ล้วนแสดงออกถึงพฤติกรรมภาวะผู้นำแบบสร้างสรรค์ทั้งสิ้น  ต่อไปนี้จะกล่าวถึง  หลักการ 10 ประการของการเป็นผู้นำแบบสร้างสรรค์ซึ่งแสดงว่า ทฤษฎีภาวะผู้นำมีกระบวนการทัศน์ใหม่ของการเป็นผู้นำเชิงคุณภาพ (Quality  leadership)

 หลักการของภาวะผู้นำแบบสร้างสรรค์ (Formative  Leadership  Principles)

  1. การเรียนรู้แบบทีม  (Team  learning)  การคิดอย่างหวังผล  (Productive  thinking ) และการร่วมมือร่วมใจกันแก้ปัญหา (Collaborative  problem  solving)  ควรนำมาใช้แทนกลไกการควบคุม (Control  mechanisms)  การตัดสินใจจากเบื้องบน (Top – down  decision  making)  ตลอดจน  การบังคับสั่งการให้ทำแบบเดียวกัน (Enforcement  of  conformity)
  2. ควรมีมุมมองครูว่าเป็นผู้นำ และครูใหญ่ของโรงเรียนเป็นผู้นำของผู้นำ โดยผู้นำทั้งหลายเหล่านี้ต้องมีทักษะการตั้งคำถามที่เหมาะสม (คำถามที่ได้คำตอบที่ลุ่มลึก) มากกว่าการแสดงตนว่าเป็นผู้รอบรู้คำตอบของทุกคำถาม
  3. ความสัมพันธ์ของการปฏิบัติงานควรตั้งอยู่บนพื้นฐานของการไว้วางใจ (Trust) ต่อกัน  ผู้นำจะต้องไม่มีทัศนะว่าครูและนักเรียนชอบหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ  (ทำนองทฤษฎี X ของ McGregor) แต่มีหน้าที่ช่วยให้คนเหล่านี้มีความกล้าต่อการปฏิบัติสิ่งใหม่ ๆ
  4. ผู้นำควรปรับเปลี่ยนทัศนะจาก “ให้ทุกคนทำตามที่สั่งและยึดหลักทำแบบเดียวกัน”  ไปเป็นกระตุ้น   ให้กำลังใจ  และสนับสนุนความคิดริเริ่มและค้นคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ ของครู
  5. ผู้นำควรให้ความสนใจและให้ความสำคัญของคน (People) และต่อกระบวนการ (Process) มากกว่างานเอกสารและงานธุรการประจำ      แต่ควรบริหารเวลาไปกับกิจกรรมที่ก่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม (Value – added  activities) ขึ้น
  6. ผู้นำควรเน้นถึงความสำคัญของลูกค้า (Customer – focused) และยึดหลักการให้บริการ   ทฤษฎีนี้ถือว่า ครูและบุคลากรคือลูกค้าโดยตรงของครูใหญ่ ดังนั้น หน้าที่สำคัญที่สุดของครูใหญ่ ก็คือ การให้บริการแก่ลูกค้าของตน
  7. ผู้นำ ควรสร้างเครือข่ายให้เกิดการสื่อสารแบบสองทาง  มากกว่าการกำหนดช่องทางไหลของสารสนเทศเพียงทิศทางเดียว
  8. การเป็นผู้นำแบบสร้างสรรค์  จำเป็นต้องอาศัยความเอาใจใส่ใกล้ชิด  (Proximity) การปรากฏตัวอยู่กับงาน (Visibility)  และอยู่ใกล้ชิดกับลูกค้าของตน  ผู้นำควรใช้หลักนิเทศภายในแบบแวะเวียน(Managing by Wandering Around :  MBWA)ไปยังหน่วยต่าง ๆ ทั่วทั้งโรงเรียนและชุมชนที่ล้อมรอบโรงเรียนเพื่อไปรับฟังและเรียนรู้  ไปสอบถาม  ไปสร้างสัมพันธ์ภาพ  และไปเสาะหาแนวทางที่เป็นไปได้ในเรื่องต่าง ๆ
  9. ผู้นำแบบสร้างสรรค์  จะกระจายอำนาจการตัดสินใจ (Empowering)  แก่บุคคลผู้ปฏิบัติงานต่าง ๆ ของโรงเรียน และจะทำหน้าที่ปกป้องคนเหล่านี้เมื่อมีการแทรกแซงการทำงานจากภายนอก
  10. ผู้นำแบบสร้างสรรค์ต้องมีความสามารถสูงในการปฏิบัติภารกิจอยู่ท่ามกลางสภาวะแวดล้อมที่ไม่แน่นอน  เป็นผู้เรียนรู้การบริหารความเปลี่ยนแปลงอย่างเป็นระบบ เพื่อให้หน่วยงานได้ประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงนั้น  และเป็นผู้ที่ไม่ยึดติดกับสถานภาพเดิมที่เป็นอยู่ (Maintaining  status  quo)  ของโรงเรียน

การนำไปใช้

                 ผู้นำสามารถ นำไปใช้ในการพัฒนาองค์กรของตัวเองในด้านบุคลากร การสร้างแรงจูงใจ การพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพการกระจายอำนาจ  และให้ความสำคัญกับตัวบุคคลมากกว่าเอกสาร  ช่วยในการทำงานเป็นทีม  การร่วมมือร่วมใจกันในการแก้ไขปัญหาและสร้างสรรค์งานในอนาคต

3.ผู้นำสถานศึกษากับการสร้างโรงเรียนแห่งการเรียนรู้

 บทบาทหน้าที่ของผู้นำ ในการผลักดันให้สถานศึกษาสู่ความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ใน  3  ด้านที่สำคัญ  ได้แก่  ด้านการกำหนดทิศทาง  ด้านการพัฒนาบุคลากร  และด้านการพัฒนาองค์กรของโรงเรียน

1.  บทบาทผู้นำสถานศึกษาด้านการกำหนดทิศทางของโรงเรียน  (Setting school directions)

  • การกำหนดและจัดทำวิสัยทัศน์  (Identifying  and  articulating  a  vision) 

ผู้นำสถานศึกษาต้องช่วยทำให้โรงเรียน ได้รับความร่วมมือจากบุคลากรต่างๆ  ให้มาร่วมคิดและจัดทำวิสัยทัศน์ที่ระบุถึงแนวคิดที่ดีที่สุด ของการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  โดยผู้นำต้องสร้างแรงบันดาลใจผู้อื่นให้กระหายที่จะช่วยกันให้ถึงเป้าหมายนั้น

  • สร้างความเข้าใจที่ตรงกันต่อการพัฒนาสู่ความเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ 

โดยผู้นำร่วมกับครูผู้สอนและผู้เกี่ยวข้องในการแปลวิสัยทัศน์ของโรงเรียน ให้เป็นพันธกิจ  และแผนปฏิบัติต่างๆ 

ผู้นำต้องสร้างความคาดหวังต่อการปฏิบัติงานในระดับสูง (Crating high  performance  expectations) 

โดยผู้นำจะตั้งความคาดหวังของตนต่อคุณภาพของผลงานที่ครูปฏิบัติ และผลการเรียนรู้ที่นักเรียนได้รับอยู่ในระดับสูง  ผู้นำสถานศึกษาต้องสนับสนุนการใช้ผลงานวิจัยและการทำวิจัยชั้นเรียนของครูเพื่อการแสวงหาเทคนิควิธีสอนใหม่ๆ  เพื่อการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ของนักเรียนให้สูงขึ้น 

  • ชักจูงและส่งเสริมให้ครูผู้สอนยอมรับในเป้าหมายของกลุ่ม (Fostering the  acceptance  of  group  goals)

เนื่องจากความร่วมมือร่วมใจซึ่งกันและกันเป็นคุณลักษณะสำคัญของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ดังนั้นผู้นำสถานศึกษาจึงมีหน้าที่ต้องส่งเสริมให้ครูผู้สอนและบุคลากรต่างๆ  ทำงานร่วมกันในรูปแบบทีมงานทั้งด้านจัดการเรียนการสอนและกิจกรรมอื่นๆ  ทั่วทั้งโรงเรียน  (Team – based  school) 

  • ใส่ใจติดตามดูแลการปฏิบัติภารกิจในการจัดการเรียนรู้และงานสนับสนุนอื่นๆ  (Monitoring  organizational  performance)

ผู้นำโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ มีหน้าที่ต้องคอยติดตามประเมินผลการปฏิบัติงานด้านต่างๆ  ของโรงเรียนโดยใช้ดัชนีตัวบ่งชี้ (KPI) และข้อมูลสารสนเทศอย่างหลากหลายมาเป็นเกณฑ์การประเมินร่วมกับครูผู้สอน  โดยยึดหลักประเมินเพื่อการพัฒนาและปรับปรุงให้งานดีขึ้น 

2.  บทบาทผู้นำสถานศึกษาด้านพัฒนาบุคลากร  (Developing people)

          ทรัพยากรบุคคลถือเป็นสินทรัพย์ที่ทรงคุณค่าขององค์การ  ครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลสำเร็จของการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะ  ความรู้ความสามารถ และการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนรู้วิธีใหม่แก่ผู้เรียน 

  • ส่งเสริมกิจกรรมการพัฒนาความเป็นมืออาชีพของครูระหว่างการปฏิบัติงาน   เช่น  การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการด้านพัฒนาทักษะการสอน  การจัดตั้งคลินิกเพื่อความเป็นเลิศทางการเรียนการสอน  การมีกิจกรรม การนิเทศแบบกัลยาณมิตร  หรือแบบเพื่อนช่วยเหลือเพื่อน 
  • ผู้นำสถานศึกษาต้องรู้จักสอนผู้อื่นด้วยพฤติกรรมแบบอย่าง  (Role  modeling)  ของตน  กล่าวคือ  ถ้าต้องการให้ครูผู้สอนและผู้เรียนมีนิสัยการใฝ่รู้  ซึ่งเป็นคุณลักษณะสำคัญของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ 
  • ส่งเสริมและเข้าร่วมกับครูผู้สอนเพื่อสร้างความเป็น  “ชุมชนแห่งวิชาชีพ”  ให้เกิดขึ้นในโรงเรียน นอกจากนี้ควรสนับสนุนให้นักเรียนทุกคนเข้าเป็นสมาชิกของกิจกรรมชมรมต่างๆ  ที่โรงเรียนควรมีให้นักเรียนได้เลือกตามความถนัดอย่างหลากหลาย 
  • ส่งเสริมและกระตุ้นการใช้ปัญญา  (Intellcetual  stimulation)    ผู้นำสถานศึกษาควรกระตุ้นให้ครูผู้สอน หมั่นตรวจสอบถึงวิธีทำงานที่เคยใช้อยู่เป็นประจำนั้นด้วยตนเองหรือกับเพื่อนร่วมงาน 
  • การให้ความสนับสนุนผู้ร่วมงานแต่ละรายบุคคล  (Providing  individualized  support)  ในการเปลี่ยนแปลงสถานศึกษาให้เป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้นั้น  ส่งผลกระทบหลายประการต่อผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานนั้นอย่างหลีกเลี่ยงมิได้  บางคนอาจต่อต้านเนื่องจากไม่เห็นด้วยกับการเปลี่ยนแปลง อยู่ในภาวะจำยอมต้องรองรับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงนั้น  ผู้นำควรให้การสนับสนุนผู้ร่วมงานทุกคนเป็นรายบุคคล

 3.  บทบาทผู้นำสถานศึกษาด้านการพัฒนาองค์การ  (Developing the organization)

          ผู้นำสถานศึกษาต้องสามารถทำให้โรงเรียนได้ทำหน้าที่เป็นชุมชนแห่งวิชาชีพด้านการเรียนรู้  เพื่อสนับสนุนและส่งเสริมการปฏิบัติภารกิจทางวิชาชีพของสมาชิกที่เกี่ยวข้องทั้งครูผู้สอนและนักเรียน  ตลอดจนผู้เกี่ยวข้องอื่นๆ    ผู้นำสถานศึกษาจึงมีบทบาทในประเด็นต่อไปนี้

  • เสริมสร้างความแข็งแกร่งด้านวัฒนธรรมของโรงเรียน (Strengthening school  culture)  

ผู้นำสามารถพัฒนาวัฒนธรรมของโรงเรียนที่ฝังรากลึกด้วยค่านิยม  ปทัสถาน  ความเชื่อ  และทัศนคติร่วมกันของสมาชิกทุกคนในองค์การที่นำไปสู่ความเอื้ออาทร  (Caring)  และความไว้วางใจ (Trust) ต่อกัน

  • ทำการปรับปรุงแก้ไขโครงสร้างองค์การของโรงเรียน (Modifying organization  structure) 

ผู้นำสถานศึกษามีหน้าที่ต้องตรวจสอบดูแลและปรับปรุงโครงสร้างองค์การ เพื่อให้มีความยืดหยุ่น  คล่องตัวและสอดคล้องกับคุณลักษณะของการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้ 

  • สร้างกระบวนการให้เกิดความร่วมมือร่วมใจ  (Building  collaboratiove  process)  ผู้นำสถานศึกษาต้องส่งเสริมให้การปฏิบัติภารกิจของโรงเรียนเป็นไปในลักษณะที่ให้โอกาสแก่ครูอาจารย์  ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจต่อประเด็นสำคัญที่มีผลกระทบต่อตัวครู หรือต่อการปฏิบัติงานด้านวิชาชีพของครู 
  • การบริหารจัดการสภาพแวดล้อม  (Managing  the  environment)

ผู้นำสถานศึกษาจำเป็นต้องทำงานร่วมกับตัวแทนกลุ่มต่างๆ  ที่เป็นสภาพแวดล้อมของโรงเรียน  ซึ่งได้แก่  ผู้ปกครอง  สมาชิกของชุมชน  นักการเมือง  ภาคธุรกิจเอกชน  ตลอดจนหน่วยงานภาคราชการทั้งหลายที่แวดล้อมโรงเรียน  เพื่อให้คนเหล่านี้เข้าใจ และมีภาพลักษณ์ที่เป็นบวกต่อวิสัยทัศน์ และเป้าหมายของโรงเรียน 

 การนำไปใช้

ผู้นำสามารถนำไปใช้เป็นตัวกำหนดทิศทาง เพื่อพัฒนาองค์กร  บุคลากรครูและบุคลากรทางการศึกษาจึงเป็นปัจจัยสำคัญต่อผลสำเร็จของการเป็นโรงเรียนแห่งการเรียนรู้  ดังนั้นบุคคลเหล่านี้จึงจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาทักษะ  ความรู้ความสามารถ และการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการจัดการเรียนรู้วิธีใหม่ๆ  ตลอดจนโครงสร้างขององค์กรเพื่อให้สอดคล้อง และมีลักษณะเป็นโรงเรียนที่มีภาพลักษณ์ที่เป็นบวกต่อวิสัยทัศน์และเป้าหมายของโรงเรียนแห่งการเรียนรู้อย่างแท้จริง

 

คำสำคัญ (Tags): #งานภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 384767เขียนเมื่อ 14 สิงหาคม 2010 20:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท