วัฒนธรรมท้องถิ่น


ภูมิปัญญาชาวบ้าน : การฉิวปู

วัฒนธรรมท้องถิ่น : กรณีการฉิวปู

        ช่วงวันหยุด 4 วันผมได้ไปนครศรีฯ เวลาประมาณ 16.30น วันหนึ่ง ณ ศาลากลางบ้านมีวงสนทนาเล็ก ๆเราคุยกันเรื่องการฉิวปู พี่ ม.ทำงานที่เขื่อนเชี่ยวหลานพาครอบครัวกลับบ้าน พูดว่าเราน่าไปฉิวปูกัน ครู ส.บอกว่าที่สวนปาล์มผมมีร่องน้ำขังปูเยอะ ถ้าจะไปก็เตรียมอุปกรณ์ พี่ ม.หาอุปกรณ์มีซีกไม้ไผ่ทำปลายแหลม 2 อัน แต่ละอันยาวประมาณ 1 เมตรกว่า ๆ และถังสำหรับใส่ปู 1 ใบ แล้วเรา 3 คน ขึ้นรถปิ๊กอัป ไปยังสวนของครู ส. ใช้เวลาเดินทาง 10 นาที เมื่อถึงสวนแล้ว พี่ ม.เดินเท้าเปล่า มือขวาถือซีกไม้ไผ่ 1 อัน ครู ส. มือขวาถือกรรไกรสำหรับตัดหญ้า ต่อท้ายด้วยผม มือซ้ายถือถังใส่ปู มือขวาถือซีกไม้ไผ่ 1 อัน เราทั้ง 3 มุ่งไปยังร่องน้ำในสวนปาล์ม และเห็นรูปูใหม่มันขุดดินขึ้นมา พี่ ม. ใช้ซีกไม้ไผ่แทงดักข้างรูปูเห็นปูขึ้นมาที่ปากรูท่าทางงง ๆ พี่เขาก็จับปูใส่ถัง บางทีปูอยู่ใต้น้ำซึ่งไม่ลึกนัก พี่เขาลงไปจับปูมาใส่ถังซึ่งครู ส. เรียกปูใต้น้ำว่า ปูล่า ปูบางตัวกำลังลอกคราบก็ปล่อยไป ปูบางตัวต้องยื้อแย่งอยู่ซักพัก เพราะมันต้องการหนีลงรูแต่เราพยายามดึงมันออกจากรู บางครั้งการใช้ซีกไม้ไผ่แทงดักรูปูยังไม่พอ พี่เขาต้องใช้ปลายเท้าข้างขวาจิกดินลงไปแล้วงัดดินขึ้นสกัดปูไม่ให้ลงไปในรู ที่แทงดักข้างรูปูเพื่อไม่ให้ปูหนีลงรูไปอย่างนี้ คือวิชาการฉิวปู ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน ผมทดลองใช้ซีกไม้ไผ่แทงดักรูปูเกือบ 10 รู แต่ตอนจับปูก็ต้องเรียก พี่ ม.มาจับทุกครั้ง บางครั้งพี่เขาก็โดนปูก้ามใหญ่หนีบมือได้เช่นกัน เราปฏิบัติการฉิวปูประมาณ 1 ช.ม. ได้ปูมากกว่า 60 ตัวล้วนเป็นปูนาทั้งนั้น แล้วเราก็กลับบ้าน รุ่งเช้าวันใหม่เราและมวลญาติได้กินมันปู และผัดปู นับว่าเป็นรสอร่อยที่หากินได้ไม่ง่ายนักในยุคทุนนิยมสมัยนี้ เป็นอันว่าผมหายสงสัยแล้วในเรื่องการฉิวปู

                                                        umi บันทึกเมื่อ 12/07/2549 

หมายเลขบันทึก: 38418เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 20:32 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 19:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ถ้าเป็นปูลมจะง่ายกว่าอีกค่ะ

เวลาไปชายทะเลสมัยก่อน  ปูลมตัวโตๆ  ชุบแป้งทอดอร่อยนักเชียว  แต่ถ้าไม่วิธีการจับ  ก็ต้องวิ่งไล่กันจนเหนื่อย  หรือปูหนีลงรูไป  ก็ต้องขุดทรายกัน  เพิ่มความเหนื่อยอีกนะ 

แต่ถ้ารู้เคล็ดลับก็ง่าย  นั่งนับดาว  ฟังเสียงคลื่น  ฟังเสียงปูที่วิ่งมาให้จับ  เตรียมก่อไฟ  และตั้งกะทะ  ผสมเครื่องปรุง  รอได้เลยค่ะ

เคล็ดลับเหรอค่ะ  เตรียมถังพลาสติก  ออกแรงขุดทรายให้สามารถหย่อนถังฝังไว้ในทรายให้ปากถังเสมอกับขอบทราย (ถ้าเลือกถังเล็กก็เหนื่อยน้อยหน่อย  แต่ต้องโตกว่าตัวปูนะค่ะ)  แล้วขอบถังให้ทากะปิ(เคยกุ้ง)  เท่านี้ปูที่ได้กลิ่นกะปิ  ต่างก็วิ่งมาลงถังแล้วละคะ (ถังพลาสติกจะลื่นปูไต่ขี้นไม่ได้ค่ะ)

แต่น่าเสียดายปัจจุบันริมหาด  แทบไม่มีปูลมให้เราได้รู้จักอีกแล้วนะ

สวัสดีครับ  คุณกัลปังหา

ผมอ่านเห็นภาพเลยครับ...สนุกมาก ๆ ครับ

ผมตามไปดูเด็ก ๆลงไปจับในริมน้ำทะเล...ได้

แต่ผมทดลองทำไม่ได้...แพ้เด็ก ๆครับ ฮา ๆ เอิก ๆ

ขอบคุณครับ

จาก...umi

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท