การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์


การเห็นคุณค่าความรู้ในตัวคน ถอดความรู้นั้นออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มคุณค่า เรียกว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) อันมี นายแพทย์วิจารณ์ พานิช เป็นผู้อำนวยการ กำลังเคลื่อนไหวอยู่อย่างเข้มข้นนั่นแหละครับ

การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์

             วันนี้ (๑๒ กค. ๔๙) ผมไปร่วมประชุม กลุ่มสามพราน เรื่อง ระบบสุขภาพชุมชน   ได้รับแจกหนังสือ "การพัฒนาระบบสุขภาพชุมชน : สุขภาวะชุมชนเป็นรากฐานของสุขภาวะทั้งมวล" โดย ศ. นพ. ประเวศ วะสี    จึงขอคัดลอกเรื่อง  การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าของความเป็นมนุษย์ มาฝาก

       ท่านได้กล่าวว่าระบบสุขภาพมีองค์ประกอบ ๑๐ ประการ    โดยองค์ประกอบที่ ๑ คือ 

             การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าแห่งความเป็นมนุษย์ของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน

             และให้คำอธิบายว่า
             นี้คือหัวใจของสุขภาวะ ถ้าคนเรารู้สึกมีคุณค่าและศักดิ์ศรี มีศักยภาพ มีอิสรภาพ และมีการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน จะมีความสุขซึมซ่านอยู่ในคนทุกคน และทั่วไปในสังคม
               การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันคือศีลธรรมพื้นฐานของสังคม เป็นรากฐานของประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน ความเสมอภาค ความเป็นธรรมทางสังคมการพัฒนาต่างๆ ต้องอยู่บนฐานและนำไปสู่การเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน หรืออีกนัยหนึ่งต้องเอาการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกันเป็นตัวตั้ง
               ถ้าเอาอย่างอื่นเป็นตัวตั้ง จะกดความเป็นคนลง เช่น
                     เอาเงินเป็นตัวตั้งบ้าง
                     เอาความรู้เป็นตัวตั้งบ้าง
                     เอาอำนาจรัฐเป็นตัวตั้งบ้าง
                     เอายศถาบรรดาศักดิ์เป็นตัวตั้งบ้าง
                    หรือแม้แต่เอาพระเจ้าเป็นตัวตั้ง


                เรื่องการเอาศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนเป็นตัวตั้ง ดูเหมือนเป็นเรื่องยากและเป็นนามธรรม แต่จริงๆ แล้วเป็นเหมือนเส้นผมบังภูเขา ถ้าจับหลักได้จะเสมือนพลิกแผ่นดิน
                กุญแจอยู่ที่การเคารพความรู้ในตัวคน    อาจแบ่งความรู้เป็น ๒ ประเภทใหญ่ๆ คือ
                    หนึ่ง ความรู้ในตัวคน
                    สอง ความรู้ในตำรา
 ความรู้ทั้ง ๒ ประเภทมีความสำคัญ แต่ความรู้แต่ละประเภทมีที่มาหรือราก และความหมายต่างกัน
               ความรู้ในตัวคนนั้นทุกคนมี ไม่ว่าจะเป็นใครก็ตาม เพราะได้มาจากประสบการณ์ชีวิตและการทำงาน ทุกคนมีประสบการณ์ชีวิตและการทำงานจึงมีความรู้ บางสิ่งบางอย่างหรือหลายอย่างอยู่ในตัว ความรู้ในตัวคนได้มาจากวิถีชีวิตจึงมีฐานอยู่ในวัฒนธรรม วัฒนธรรมคือวิถีชีวิตร่วมกันของกลุ่มชน
              ความรู้ในตำรานั้น ได้มาจากหรือแปลมาจากต่างประเทศบ้าง ได้มาจากการศึกษาวิจัยบ้าง     อาจเรียกว่าความรู้ในตำรามีฐานอยู่ในวิทยาศาสตร์ คนส่วนน้อยเท่านั้นที่มีความรู้เชี่ยวชาญในตำรา
             ถ้าเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง คนส่วนน้อยเท่านั้นที่จะมีเกียรติ คนส่วนใหญ่จะไม่มีเกียรติและถูกทำให้รู้สึกด้อยไม่มั่นใจในตัวเอง และเนื่องจากความรู้ในตำราอาจเป็นความรู้ต่างถิ่น ไม่มีฐานอยู่ในวัฒนธรรม จึงอาจทำให้เกิดการพัฒนาที่ไม่สอดคล้องกับฐานทางวัฒนธรรม หรือตัดขาดจากฐานทางวัฒนธรรม
             ถ้าเอาความรู้ในตัวคนเป็นตัวตั้ง คนทุกคนจะเป็นคนมีเกียรติ ฐานของการเรียนรู้จะกว้างใหญ่ไพศาลและสอดคล้องกับวัฒนธรรม ทำได้จริง ปฏิบัติได้จริง
             การเรียนรู้ควรจะเอาความรู้ในตัวคนเป็นตัวตั้ง และเอาความรู้ในตำราเป็นตัวตกแต่งหรือต่อยอด     หรืออีกนัยหนึ่ง เอาวัฒนธรรมเป็นฐาน เอาวิทยาศาสตร์เป็นเครื่องมือ
              แต่การศึกษาของเราเอาวิชาหรือความรู้ในตำราเป็นตัวตั้ง และตัดความรู้ในตัวคนออกไป รูปธรรมที่เห็นชัดที่สุดคือ เด็กนักเรียนไม่อยากคุยกับพ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เพราะคุยแล้วไม่ได้คะแนน คะแนนไปอยู่ที่การท่องวิชา นี่คือการศึกษาที่ตัดรากทางวัฒนธรรม
              ต้นไม้ต้องมีราก ฉันใด สังคมก็ฉันนั้น     รากของสังคมคือวัฒนธรรม
              ถ้าตัดรากต้นไม้แล้วเกิดอะไรขึ้น การพัฒนาที่ตัดรากวัฒนธรรมก็มีผลอย่างเดียวกัน


             วิกฤตการณ์ทางสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ของไทย เกิดขึ้นเพราะการพัฒนาที่ตัดรากทางวัฒนธรรม

             เพื่อให้เห็นว่าการพลิกกลับไม่ได้ยากอย่างที่คิด จะขอยกตัวอย่างให้ดูสัก ๒ ตัวอย่าง


 ตัวอย่างที่ ๑ โรงเรียนจอมสุรางค์อุปถัมภ์และโรงเรียนวัดพนัญเชิงที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยาให้นักเรียนเรียนจากชาวบ้าน เช่น คนขายก๋วยเตี๋ยว คนขายของชำ ช่างเสริมสวย ช่างผสมปูน  คนเหล่านั้นซึ่งไม่เคยมีเกียรติเลยในสังคมไทย รู้สึกมีเกียรติขึ้นทันทีว่าเราก็เป็นครูได้ และเขาสอนได้จริงๆ เพราะเขาทำมากับมือ เขามีความรู้อยู่ในตัว ครูเสียอีกที่ไม่มีความรู้ในการขายก๋วยเตี๋ยว ในการขายของชำ ในการเสริมสวย ในการผสมปูน เมื่อนักเรียนเรียนจากใคร เขาก็เคารพว่าคนนั้นเป็นครู นี่คือการศึกษาที่ทำให้เกิดการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยเฉพาะของคนเล็กคนน้อย คนยากคนจน เป็นการสร้างศีลธรรมพื้นฐานของสังคม


 ตัวอย่างที่ ๒ อาจารย์ประภาภัทร นิยม และคณะจากโรงเรียนรุ่งอรุณไปทำวิจัยที่เกาะลันตาใหญ่ ที่จังหวัดกระบี่ โดยทำแผนที่ศักยภาพมนุษย์ (Human Mapping) ของคนทุกคน โดยถือว่าคนทุกคนมีความรู้ความถนัดอย่างใดอย่างหนึ่ง มีการไปรับฟังให้ชาวบ้านแต่ละคนเล่าว่าตัวเขาเองชอบทำอะไรและทำอย่างไร ปรากฏว่าเกิดพลังขึ้นอย่างมโหฬารแบบที่ฝรั่งอุทานว่า Enormous energy! คือชาวบ้านรู้สึกมีความสุขความภูมิใจในตัวเองที่มีคนมาฟังเรื่องของเขา เราฟังใครคือการที่เราเคารพคนนั้น ชาวบ้านรู้สึกว่าได้รับความเคารพซึ่งไม่เคยได้รับมาก่อนเลย จึงมีความรู้สึกที่ดีมาก มีความภูมิใจว่าสิ่งที่ตนชอบตนถนัดนั้นมีคุณค่า ก่อให้เกิดความมั่นใจในตัวเอง และการปลดปล่อยไปสู่ความเป็นอิสระเสรีจากความบีบคั้นที่ถูกทำให้ไร้เกียรติ ไร้ศักดิ์ศรี ไร้ความหมาย จึงเกิดความสุขและพลังสร้างสรรค์อย่างมโหฬาร ผู้ไปทำวิจัยก็เกิดการเปลี่ยนแปลงในตัวเอง (Transformation) เพราะเปลี่ยนแปลงมุมมองเกี่ยวกับเพื่อนมนุษย์ใหม่ ออกจากทรรศนะที่ผิด บรรลุความจริง ทำให้เกิดความเป็นอิสระ ความแจ่มแจ้ง ความผ่องใส ความสุข และมองเห็นทางไปข้างหน้าแจ่มชัด


            นี่เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ๒ ตัวอย่าง ลองจินตนาการว่า ถ้าคนทุกคนตระหนักรู้ว่าตัวเอง มีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีความรู้อยู่ในตัว มีการเคารพศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นคนของคนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน มีการปฏิรูปการศึกษาที่เอาความรู้ในตัวคนเป็นตัวตั้ง เอาความรู้ในตำราเป็นตัวประกอบ มีการทำแผนที่ความรู้ในตัวคนทุกคนในทุกพื้นที่และทุกองค์กร และนำมาเข้าระบบข้อมูลความรู้ในตัวคนทั้งประเทศ จะมีการปลดปล่อยผู้คนไปสู่การมีเกียรติ มีศักดิ์ศรี มีศักยภาพ มีความสร้างสรรค์สักเพียงใด และนี่มิใช่การพลิกแผ่นดินไปสู่ความสุขความสร้างสรรค์ดอกหรือ


              ฉะนั้น จึงจัดเรื่องศักดิ์ศรีและคุณค่าความเป็นมนุษย์ไว้เป็นศูนย์กลางของระบบสุขภาพ กระบวนการเคลื่อนไหวเรื่องสุขภาพอย่าลืมเอาเรื่องนี้มาเป็นทั้งเครื่องมือและเป้าหมายของการเคลื่อนไหว


               การเห็นคุณค่าความรู้ในตัวคน ถอดความรู้นั้นออกมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเพิ่มคุณค่า เรียกว่า การจัดการความรู้ (Knowledge Management) ที่สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.) อันมี นายแพทย์วิจารณ์  พานิช เป็นผู้อำนวยการ กำลังเคลื่อนไหวอยู่อย่างเข้มข้นนั่นแหละครับ

       ท่านที่สนใจหนังสือทั้งเล่มโปรดดูที่ www.prawase.com

วิจารณ์ พานิช
๑๒ กค. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 38393เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 22:28 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
 จะจำไว้ค่ะ  "เราฟังใครคือการที่เราเคารพคนนั้น"
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท