ทฤษฎีการพัฒนา


ทุนนิยม

จากเมื่อวันที่ 5 ก.ค. ที่อาจารย์ให้ไปอ่านตำราเกี่ยวกับทฤษฎีการพัฒนา ทฤษฎีการพึ่งพา และนำมาถกกันในวันนี้ โดยประเด็นอยู่ที่กรณีตัวอย่างจากการประชุม  MRC (Mekong River commission) ที่ ส.ป.ป.ลาว ที่เป็นการประชุมของกลุ่มประเทศในภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งมี ไทย ลาว กัมพูชา และเวียดนาม  ว่ากลุ่มประเทศเหล่านี้ได้รับผลกระทบจากการพัฒนาและการใช้ประโยชน์จากแม่น้ำโขงอย่างไร เช่น การสร้างเขื่อนในลาว และจีน  โดยอาจารย์ให้แสดงความคิดจากกรณีตัวอย่างนี้ ว่าเป็นการพัฒนาจากระบบทุนนิยมหรือไม่ และมีลักษณะของทุนนิยมอะไรบ้างที่ส่งผลให้พัฒนาไปสู่ความทันสมัย โดยทุกคนเห็นว่าลักษณะของทุนนิยมที่ส่งผ่านมายังกลุ่มประเทศในโลกที่ 3 คือ

-   ทุนที่เป็นฐานการผลิต ซึ่งยึดเอาเงินเป็นปัจจัยหลักและประเทศที่ยากจนยังต้องพึ่งทุนจากต่างประเทศ

-  การใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ

-  มีทุนเสรีจากต่างชาติ และแรงงานเสรีที่เคลื่อนที่ได้ตลอดเวลา

-  มีค่านิยมเชิงวัตถุ

-  บทบาทของรัฐในการเอื้ออำนวยให้เกิดการลงทุนทั้งในแง่ที่ได้เปรียบและเสียเปรียบ

-  การมีจิตวิญญาณทุนนิยม เช่น การขยัน อดออม การมีเหตุมีผล

-  การยอมมรับในหลักปัจเจกชน

-  ความมีเหตุมีผล

ซึ่งจากลักษณะของทุนนิยมดังกล่าวนี้ที่นักวิชาการหลายคนมองว่าการที่จะเป็นการพัฒนาไปสู่ความทันสมัยในที่สุด ตามทฤษฎีวิวัฒนาการ ทฤษฎีหน้าที่นิยม และทฤษฎีทันสมัยนิยม เป็นการพัฒนาตามลำดับขั้นตอนที่เน้นความเจริญทางเศรษฐกิจเป็นหลัก และเลียนแบบสังคมยุโรปกับอเมริกา เป็นการแผ่ขยายตัวของทุนนิยมไปครอบงำความคิด และครอบครองทรัพยากรของประเทศโลกที่ 3  กลายเป็นวิวัฒนาการสายเดียวและเป็นการสร้างความชอบธรรมให้กับสหรัฐอเมริกา ก่อให้เกิดปัญหาทวิลักษณ์ในสังคมของประเทศโลกที่ 3  ซึ่งหลายคนมองว่าแนวทางทฤษฎีการสร้างความทันสมัยไม่มองบริบททางประวัติศาสตร์ของประเทศต่าง ๆ ที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้นรูปแบบการพัฒนาของประเทศตะวันตกไม่สามารถนำมาใช้ได้กัทุกประเทศ 

  ดังนั้นทฤษฎีการพัฒนาแบบพึ่งพาจึงได้วิจารณ์ทฤษฎีการสร้างความทันสมัยว่า เป็นการทำให้ทันสมัยแต่ไม่พัฒนา เพราะผลประโยชน์ตกอยู่กับชนชั้นนำทางการปกครองและนักธุรกิจ  ประเทศศูนย์กลางการพัฒนาเอารัดเอาเปรียบประเทศที่เป็นชายขอบหรือด้อยพัฒนา  การที่ประเทศด้อยพัฒนาจะทำให้ประเทศตนหลุดพ้นจากการพึ่งพาได้นั้นจะต้องมองปัญหาและแก้ปัญหาจากภายในประเทศของตัวเองด้วย ไม่ใช่มองว่าปัญหามาจากปัจจัยภายนอกอย่างเดียว เนื่องจากภายในประเทศเองก็มีปัญหาที่ทำให้การพัฒนาไม่ประสบผลสำเร็จ เช่น  ปัญหาความยากจน ปัญหาการด้อยการศึกษา ปัญหาการคอรัปชั่น ฯลฯ

สัปดาห์หน้าจะวิพากษ์กันต่อในเรื่อง ทฤษฎีระบบโลก โลกาภิวัฒน์กับการพัฒนา และกระบวนการกลายเป็นคนชายขอบ แล้วเจอกันใหม่ค่ะ

หมายเลขบันทึก: 38388เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 16:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท