ถือศีล 5 “วันเข้าพรรษา” (ตอนที่ 2)


การทุจริตคอรัปชั่น คือการทำผิดอย่างมหันต์ต่อประชาชน
ผมได้พูดคุยกับญาติธรรมจำนวน 18 คนและสนทนาธรรมกับพระอีกรูปหนึ่ง พบประเด็นที่น่าสนใจ คือ ประเด็นที่ 1 ปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจให้มาปฏิบัติธรรมที่ศูนย์ปฏิบัติธรรมสวนเวฬุวันกลุ่มที่มาปฏิบัติธรรม แบ่งตามปัจจัยที่เป็นแรงจูงใจได้เป็น 2 กลุ่มใหญ่ ๆ    คือ กลุ่มที่ถูกบังคับมา  ส่วนใหญ่จะเป็นหน่วยงานราชการ แบ่งออกเป็นกลุ่มผู้ใหญ่ ได้แก่ กลุ่มข้าราชการ บางหน่วยงานบังคับให้ทุกคนต้องปฏิบัติธรรมอย่างน้อย 1 ครั้ง(ในชีวิต) แต่บางหน่วยงานก็ให้มาตามความสมัครใจ และ กลุ่มเด็กและเยาวชน ได้แก่ นักเรียน นักศึกษา จากชั้นประถมศึกษาจนถึงระดับปริญญาตรี   นอกจากหน่วยงานราชการแล้วองค์กรเอกชนหลายแห่งก็ได้จัดกิจกรรมปฏิบัติธรรมให้กับพนักงานด้วยเช่นกัน แรงจูงใจของกลุ่มนี้ ในตอนเริ่มต้นที่ปฏิบัติธรรมจึงไม่ชัดเจนนัก หรือจะกล่าวว่าไม่มีแรงจูงใจในการปฏิบัติธรรมก็ได้เพราะถูกบังคับมา อย่างไรก็ตามหลังจากปฏิบัติธรรมในครั้งแรกแล้ว มีนักเรียนที่เดินทางกลับมาปฏิบัติธรรมที่สวนเวฬุวันอีก ได้เก็บข้อมูลจากนักเรียนกลุ่มนี้พบว่า การกลับมาปฏิบัติธรรมอีกเพราะมีแรงจูงใจคือ ความรู้สึกประทับใจจากการปฏิบัติธรรมในครั้งแรก และต่อมารู้สึกซาบซึ้งกับธรรมที่ได้รับการอบรมสั่งสอน มีความเชื่อว่าหากเราปฏิบัติธรรมและถือศีล 8 จะทำให้ชีวิตเราเจริญก้าวหน้าพบแต่สิ่งดีๆ จึงได้เดินทางมาปฏิบัติธรรมที่นี่เป็นประจำเมื่อมีโอกาส โดยจะชวนกันมาเป็นกลุ่มครั้งละ 5-10 คนกลุ่มที่สมัครใจมา พระอาจารย์ให้ข้อมูลว่ากลุ่มนี้มีทั้งที่มาคนเดียว มากันเป็นครอบครัว และมากันเป็นหมู่คณะ ข้อมูลจากการสอบถาม 6 คน สามคนให้ข้อมูลตรงกันว่า แรงจูงใจให้มาปฏิบัติธรรมคือ ประสบกับความไม่สบายใจจากปัญหาชีวิต มีคนหนึ่งให้ข้อมูลว่า ประมาณปี 2545 มีปัญหาสุขภาพ และปัญหาอื่นๆ อีกมาก หาทางออกไม่ได้  ไม่สบายใจจนไม่เป็นอันทำการทำงาน ทราบจากเพื่อนว่ามาปฏิบัติธรรมที่สวนเวฬุวันแล้วทำให้สบายใจขึ้น จึงลองมาปฏิบัติดู พร้อมทั้งครอบครัวคือภรรยาและลูกสาวอีกสองคนก็ตามมาปฏิบัติด้วย หลังจากนั้นก็ปฏิบัติธรรมมาตลอดทั้งที่บ้านและที่วัด ส่วนอีกสองคนให้ข้อมูลว่า เมื่อมาปฏิบัติธรรมที่วัดแล้วก็รู้สึกสบายใจ แต่เมื่อกลับไปบ้านก็ไม่ได้ปฏิบัติเพราะมีอะไรยุ่งๆ ให้ทำอยู่ตลอด ความเหนื่อยจากภารกิจแต่ละวันทำให้ไม่ได้ปฏิบัติธรรมที่บ้าน ดังนั้นเมื่อรู้สึกไม่สบายใจก็จะมาวัด บางครั้งมาแล้วก็ไม่ได้ปฏิบัติธรรม  แต่เพียงแค่ได้มาวัดก็รู้สึกสบายใจขึ้นได้บ้างแล้ว  ประเด็นที่ 2 หลักการปฏิบัติตนในช่วงเข้าพรรษา                ต่อคำถามว่าในช่วงเข้าพรรษาปีนี้ มีความตั้งใจที่จะปฏิบัติตนตามหลักศาสนาอย่างไรบ้างส่วนใหญ่ตอบว่าก็ตั้งใจจะไปวัดเพื่อปฏิบัติธรรมถือศีล 8 ในบางช่วงเวลา และในชีวิตประจำวันก็จะปฏิบัติตนถือศีล 5  บางคนบอกแต่เพียงว่า จะตั้งใจสวดมนต์ ไหว้พระ บางคนบอกว่า ตั้งใจจะเลิกกินเนื้อสัตว์ใหญ่ตลอดไปต่อคำถามเกี่ยวกับศีล 5 ว่าปฏิบัติได้จริงๆ หรือไม่? ส่วนใหญ่จะปฏิบัติไม่ได้ทุกข้อ  โดยข้อที่ปฏิบัติไม่ค่อยได้คือ  ศีลข้อ 1  ละเว้นการฆ่าสัตว์ และ  ศีลข้อ 4  ละเว้นการพูดเท็จ  ส่วนข้ออื่นๆ ก็ถือปฏิบัติไปตามความตั้งใจของแต่ละคน โดยข้อที่ปฏิบัติได้มากที่สุดคือ ศีลข้อ 2 ละเว้นการลักทรัพย์   ที่น่าสนใจคือ ศีลข้อ 3 ละเว้นการประพฤติผิดในกาม  มีผู้ตอบว่าก็ต้องมีทำผิดบ้าง   และศีลข้อ 5 ละเว้นการเสพสุรา และเครื่องดองของเมา  มีคนหนึ่งที่ตอบว่า คิดว่าข้อนี้คงเลิกไม่ได้เลยได้ถามพระว่า การที่มีบางคนบอกว่าไม่สามารถถือศีลได้ทุกข้อนั้นมีคำแนะนำอย่างไรบ้าง พระท่านให้คำสอนว่า ศีล เป็นแต่เพียงกระบวนการให้คนเรารู้จักหักห้ามใจตนเองให้ละชั่วทำแต่ดี ใครจะทำได้บ้างไม่ได้บ้างเป็นเรื่องธรรมดาของคนที่อยู่ในทางโลก แต่เราต้องรู้ตัวว่าเราทำสิ่งนั้นมันผิดศีลนะ หรือบางอย่างไม่ผิดศีล 5 หรอก แต่มันผิดต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน อย่างนี้ก็ไม่ดี เราจึงต้องมีหิริ และ โอตตัปปะ มากำกับใจตนเองอยู่เสมอด้วย คือความละอายในสิ่งที่เราทำผิด...จะได้ไม่ทำผิดอีก และเกรงกลัวต่อการที่จะทำผิดอีก อย่างนี้เรียกว่า ให้เรารู้จักใช้สติของเราเองควบคุมการคิด การพูด การกระทำของตนเอง ดังนั้นแก่นแท้ของศาสนาจึงไม่ได้อยู่ที่ศีลว่าจะถือกี่ข้อ แต่อยู่ที่ การปฏิบัติตนให้มีสติสัมปชัญญะ อยู่ตลอดเวลาแล้วท่านล่ะครับ... จะเพียงแค่ ถือศีล 5 วันเข้าพรรษา หรือจะปฏิบัติตนเพื่อเข้าถึงแก่นของศาสนา คือ การปฏิบัติตนให้มีสติสัมปชัญญะ เพื่อจะได้ไม่ทำผิดต่อเพื่อนมนุษย์ โดยเฉพาะเราในฐานะข้าราชการ ผมเห็นว่า การทุจริตคอรัปชั่น คือการทำผิดอย่างมหันต์ต่อประชาชน เราทุกคนจึงควรร่วมมือร่วมใจกันต่อต้าน การทุจริตคอรัปชั่น อย่างจริงจังเพื่อตอบแทนคุณแผ่นดิน เริ่มจาก อย่าทำผิดเองและอย่าร่วมมือกับคนทำผิด และขั้นสูงขึ้นคืออย่าวางเฉยเมื่อเห็นคนทำผิด ที่เห็นว่าเป็นขั้นสูงสุดคือต้องลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อช่วยกันรณรงค์ต่อต้าน การทุจริตคอรัปชั่น
หมายเลขบันทึก: 38382เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 15:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:20 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ชอบข้อเขียนนี้มาก

พี่เองเคยไปฝึกปฏิบัติธรรมที่เวฬุวัน เป็นครั้งแรกในชีวิต สาเหตุที่ไปเพราะอยากรู้...สงสัย ทำไมคนเขาถึงไปกัน...ไปแล้ว..ไปอีก...

ก่อนไปก็ศึกษาข้อมูลล่วงหน้า ตั้งแต่การอ่านหนังสือธรรมะ บทสวดมนต์ต่างๆ เข้าใจบ้างไม่เข้าใจบ้าง(ตามเคย) เตรียมตัว ตั้งแต่ข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว  การปฏิบัติตัวจะอยู่ จะกิน จะนอน อย่างไร (ตามประสาคนรอบคอบ อิ..อิ) และที่สำคัญ..เตรียมใจ..จะไปเรียนรู้ ไปด้วยอารมณ์สดชื่น ปลอดโปร่ง อยากรู้อยากเห็น เรียกว่าพร้อมทั้งกายและใจ

โชคดี มีกัลยาณมิตร คอยให้คำแนะนำการปฏิบัติตัว เธอแนะนำว่าการปฏิบัติธรรม  ต้องสำรวม พูดน้อย กินน้อย  ปฏิบัติมาก ให้พิจารณาตนเอง

           วันแรกไปถึงประมาณ 11 โมงเช้า  ต้องยื่นสำเนาบัตรประจำตัวประชาชนด้วย พร้อมกรอกประวัติส่วนตัว ถ้าเป็นผู้ที่มาปฏิบัติธรรมเป็นครั้งแรก จะมีป้ายติดหน้าอกคนละสีกับผู้ที่เคยแล้ว จากนั้นจะมีเจ้าหน้าที่พาไปห้องพักเพื่อเก็บสัมภาระส่วนตัว  ได้ที่พักค่อนข้างดี มีห้องน้ำในตัว กว้างยาวประมาณ 2 คูณ 4 เมตร พอๆ กับ ห้องในโรงแรมทั่วๆไป ต่างกันหน่อยที่ดูกว้างกว่าเพราะไม่มีตู้ไม่มีเตียง มีแต่ เสื่อ หมอนขิดลายสวย ผ้าห่มที่ห่มได้ทั้งตัวแต่ต้องห่มทีละส่วน   พัดลมเพดาน อ้อ..เพื่อนร่วมห้องอีก 5 ถึง 7 คน แล้วแต่เป็นวันมามากหรือวันมาน้อย  ของผู้ปฏิบัติธรรม

          ไปครั้งนั้นตั้งใจไปอยู่ 7 วัน (ลาพักผ่อนไปหนึ่งสัปดาห์) วันแรกหลังจากที่พระอาจารย์แนะนำและสอนวิธีนั่งและเดินในเชิงทฤษฎีแล้ว ท่านก็พาปฏิบัติจริง เริ่มจากนั่งสมาธิ 30 นาที เดินจงกลม 30 นาที แล้วเพิ่มเวลาให้นานขึ้นในวันต่อๆไป มากสุดก็ นั่งสมาธิ 3 ชั่วโมง ฝึกนั่ง ฝึกเดิน ฝึกกิน ฝึกนอน ให้พิจารณา ให้รู้ สอง สาม วันแรก ชอบมากและทำได้อย่างที่ตั้งใจ คงเป็นเพราะตื่นเต้นและตั้งใจฝึกเต็มที่ แต่พอวันที่ สี่ไปกลับเริ่มง่วง (เพราะตื่นตีสี่ และนอนสี่ห้าทุ่มทุกวัน)  คิดถึงส้มตำ ไก่ย่าง และปลาทู ....เฮ้อ! ได้ประสบการณ์ดี..ดี แต่ยังเข้าไม่ถึง พี่เลยต้องไปครั้งที่สอง อีก..อิ..อิ 

ว่าแต่....คุณสมเกียรติ ไปทำอะไรที่เวฬุวัน

ขอบคุณครับพี่อ๋อยที่ร่วมแชร์ประสบการณ์
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท