เรื่องเล่าเว้าแบบเคเอ็ม : ถอดบทเรียน แนวทางการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารต่างประเทศ


สร้างแรงบันดาลใจ กล้าลอง กล้าขอความช่วยเหลือ คิดไปแล้ว ทำไปแล้ว แต่ไม่ได้เขียน โลกไม่ได้จารึก

สวัสดีครับ

วันนี้ขอนำเสนอการถอดบทเรียนวันที่ 6 สิงหาคม 2553 จากการที่ผมได้เข้าไปร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ทางการวิจัย จากคณาจารย์ของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ซึ่งท่านเหล่านี้เป็นผู้มีทักษะ มีความรู้ความชำนาญ มีผลงานวิจัยมากมายหลายเรื่อง ได้มาร่วมถ่ายทอด มาเล่าประสบการณ์  เทคนิค วิธีการ และแนวคิดของท่านในการทำงานวิจัยจนสามารถได้รับได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ

 

 

 

ศาตราจารย์วันชัย มาลีวงษ์ อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา ท่านได้เล่าว่า... ท่านเป็นคนชอบลุย ทำแบบลูกทุ่ง คือ ต้องสร้างแรงบันดาลใจให้กับตนเอง กล้าลอง กล้าที่จะขอความช่วยเหลือจากผู้อื่น

 

- การที่จะส่งตีพิมพ์ผลงานวิจัยในวารสารต่างประเทศนั้น เราต้องเลือกว่า เราสนใจจะตีพิมพ์ในวารสารใด ตอนแรกๆ (มือใหม่) อย่าเพิ่งไปสนใจว่าวารสารนั้นจะมีค่า impact factor เท่าใดมากนัก

 

- อ่านมากๆ อ่านรายละเอียดเกี่ยวกับข้อกำหนด รูปแบบที่ทางวารสารที่เราสนใจได้กำหนดไว้ ว่าต้องทำอะไร ทำอย่างไร รูปภาพ ตาราง เอกสารอ้างอิง เพราะหากเราส่งไป ไม่ตรงรูปแบบที่กำหนด โอกาสที่จะถูกตีกลับ หรือไม่สนใจจะมีมาก

 

- เริ่มพิมพ์หรือ ร่างต้นฉบับและให้เพื่อนๆช่วยอ่าน ช่วยตรวจทาน แก้ไข

 

- หากติดขัดเรื่องภาษา สามารถตรวจสอบความถูกต้องด้วยโปรแกรมคอมพิวเตอร์ หรืออาจจะค้นคว้าดูว่าเรื่องคนอื่นๆทำ มีส่วนที่คล้ายคลึงกับเรื่องเราทำ มีใครเขียนไว้อย่างไร อ่านมากๆ ดูสำนวนอื่นๆ แต่อย่าคัดลอก ควรเขียนด้วยสำนวนของตนเอง ถ้าเหมือนต้องปรับปรุง แต่อาจเหมือนกันบางส่วนได้ เช่น ทฤษฎี คำนิยาม การแก้ไขอาจทำโดย เลือกใช้คำพ้อง คำใกล้เคียง นำมาวางสลับไปมาแทน

 

- เมื่อเสร็จแล้ว ก็... ตรวจทานโดยผู้ชำนาญ หรือมีชาวต่างชาติช่วยอ่านก็ได้

 

- ส่งไปเพื่อให้บรรณาธิการของวารสารนั้นๆ พิจารณา แล้ว.... รอว่าผลงานที่เสนอจะออกมาอย่างไร หากมีข้อแนะให้ปรับปรุงแก้ไข ก็พิจารณา และให้ดำเนินการต่อไป

 

- บางครั้งบรรณาธิการ หรือผู้ร่วมอ่านงานวิจัย (Reviewer) ได้ให้ความเห็นกลับมา ซึ่งเราอาจจะต้องตอบ ชี้แจงกลับไป อาจารย์ได้เสนอแนะว่า เราควรต้องรู้เทคนิคในการตอบเอกสารกลับไป ซึ่งหนึ่งที่ทำได้ คือ การตอบคำถามให้ชัดเจน ชี้แจงข้อสงสัย ข้อแนะนำให้ที่ดูดี เนื่องจากแรกๆนักวิจัยมือใหม่ อาจขาดทักษะข้อนี้

 

- อาจารย์ได้แนะนำว่า ควรไปหาข้อมูลเพิ่มเติม อ่านหนังสือ เช่น Letter to editor, How to report to reviewer, How to write & publish a scientific paper) มาประกอบ เป็นต้น

   

- การทำงานวิจัย หากติดขัดเรื่องใด ต้องกล้าที่จะขอความช่วยเหลือ กล้าถาม การมีผู้ชำนาญในคำชี้แนะเป็นเรื่องที่ดี ช่วยทำให้เห็นข้อบกพร่อง

 

 

- นอกจากนั้นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงในการทำงานวิจัย คือ การขอจริยธรรมวิจัยในมนุษย์หรือสัตว์ทดลอง การเลือกสถิติที่ให้ถูก ต้องเหมาะสม

 

 

 

รองศาตราจารย์สมชาย ปิ่นละออ อาจารย์ประจำภาควิชาปรสิตวิทยา อาจารย์ได้ยกตัวอย่างประสบการณ์ แนวทางการทำงานวิจัยระหว่างที่อาจารย์ได้ศึกษา ได้รวบรวมจากการฟังบรรยายของวิทยากรคนอื่นๆ แล้วนำมาเล่าให้ฟังว่า...

 

- ก่อนที่จะทำงานวิจัย สิ่งสำคัญอย่างหนึ่ง คือ การตอบคำถามวิจัย (Research question) ต้องเลือกเรื่องที่จะทำ โดยตอบให้ได้ก่อน ว่า... ทำงานวิจัยเรื่องนั้น เรื่องนี้ ทำไป ทำไม? เกิดประโยชน์อะไร? ต้องการหาอะไร? เพราะหากเรื่องที่ทำวิจัยนั้นๆ ไม่น่าสนใจ ก็ไม่มีประโยชน์ที่ใครจะตีพิมพ์ให้

 

- Research, Re = ใหม่ Search = ค้นคว้า ดังนั้นเรื่องที่จะทำงานวิจัย ถ้าไม่ดี ก็ยากจะไม่มีคนยอมรับหรือยอมตีพิมพ์ให้ ดังนั้น การเลือกเรื่องที่ทำงานวิจัย ควรจะเป็นเรื่อง Hot and popular คือ มีความแปลกใหม่ คิดไม่เหมือนใคร เป็นเรื่องที่น่าสนใจในขณะนั้น สามารถตอบสนองความต้องการต่อเจ้าของแหล่งทุน เป็นเรื่องที่มีผลกระทบต่อสังคม ต่อส่วนรวมในขณะนั้น เป็นคุณประโยชน์ สามารถนำไปใช้งานได้จริง ในเรื่องเหล่านี้ หากทำได้ โอกาสการตีพิมพ์งานวิจัยจะมีมากขึ้น 

 

- การตอบคำถามงานวิจัย ควรเป็นเรื่องที่มีความเป็นไปได้ สอดคล้องกับเวลาที่มีอยู่ เช่น หากเป็นนักศึกษาควรเลือกเรื่องที่จะทำให้เหมาะสมกับเวลาที่ต้องใช้ในการเรียน หากเรื่องยาก มากไป ก็อาจจะทำให้ไม่จบ หรือสำเร็จการศึกษาตามระยะเวลาที่กำหนด  

 

- การตอบคำถามงานวิจัย จำนวนข้อมูลที่เลือกใช้ควรเหมาะสม เพราะบางวารสารในต่างประเทศ ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า จำนวนประชาชน กลุ่มตัวอย่างต้องมีมากเพียงพอ กำหนดเป็นร้อย เป็นพันตัวอย่างขึ้นไป หากกลุ่มตัวอย่างที่เราจะทำ ไม่สอดคล้อง โอกาสในการได้รับตีพิมพ์ก็จะไม่มีเลย 

 

- การตอบคำถามงานวิจัย ควรเหมาะสมกับทุน งบประมาณที่มีอยู่ เพราะหากทำเรื่องที่ต้องใช้งบประมาณที่มาก แต่งบที่ได้มาหรือที่มีอยู่ ไม่สอดคล้องกัน โอกาสประสบความสำเร็จก็จะน้อย หรือเป็นไปไม่ได้เลย  

  

- การตอบคำถามงานวิจัย เริ่มแรกสำหรับมือใหม่ ในการทำงานวิจัย อาจจะเป็นลักษณะ Me too คือ ใครทำอะไร? เราก็ทำตาม เพื่อเรียนรู้หลักการไปก่อน ขั้นสูงขึ้นมาหน่อย คือ I can do batter เมื่อชำนาญขึ้นก็สามารถทำระดับสร้างองค์ความรู้หรือสร้างสรรค์ผลงานใหม่ Original และ Novel ตามลำดับ ซึ่งสองระดับหลัง โอกาสในการตีพิมพ์จะมีมากขึ้น

 

- การตอบคำถามงานวิจัย มีสิ่งที่ต้องศึกษา ต้องใช้ความพยายามหลายอย่าง ได้แก่ ...

 

*ต้องรู้จักวิธีการที่จะหาสืบค้นแหล่งข้อมูลให้ได้ ตามสถานที่ต่างๆ หรือการเรียนรู้โปรแกรมการสืบค้นจากระบบสารสนเทศ จาก Internet ดูว่าเรื่องที่เราสนใจอยู่ในวารสารใด? มีค่า Impact Factor เท่าใด? อยู่ในลำดับที่เท่าใด? (Journal ranking) มีการนำไปอ้างอิง (H-index) มากน้อยเพียงใด?

 

*การค้นคว้า การอ่านที่มากๆๆๆๆ

 

*ต้องอ่านเรื่องในที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างความเชื่อมโยงองค์ความรู้ เพื่อศึกษาและดูว่า... คนอื่นๆเค้าทำอะไร? ทำอย่างไร? มีการออกแบบ วางแผนงานวิจัยอย่างไร? มีขบวนการ เครื่องมือ เทคโนโลยีอะไร? จำนวนกลุ่มตัวอย่างมีจำนวนมากน้อยเพียงใด?

 

- อย่างหนึ่งที่จะเพิ่มโอกาสในการได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างประเทศ คือ หาเพื่อน สร้างเครือข่าย การทำความรู้จักกับบรรณาธิการ โดยให้ความร่วมมือ เมื่อมีการขอให้อ่านงานวิจัยจากต่างประเทศ การส่งนักศึกษาไปฝึกงานตามสถาบันต่างประเทศ ที่มีผู้บริหารเป็นบรรณาธิการ เป็นต้น  

 

 

 

รองศาตราจารย์บรรจบ ศรีภา อาจารย์ประจำภาควิชาพยาธิวิทยา อาจารย์ได้ยกตัวอย่างคำกล่าวที่บ่งบอกคุณค่างานเขียน ว่า เมื่อคิด และได้ลงมือทำแล้ว แต่ไม่ได้เขียน โลกไม่ได้จารึก 

 

 

- อาจารย์ได้ให้ความสำคัญของ การสร้างความร่วมมือ สร้างเครือข่าย มีเพื่อน การทำงานวิจัยที่ดี ควรมีลักษณะสหสาขาวิชาชีพ (Multi-disciplinary) เพราะแต่ละคนจะมีความรู้ที่ลึก ที่แตกต่างกัน ทำให้มีหลายมุมมอง มีข้อมูลหลากหลาย ครอบคลุม สามารถเลือกใช้เทคโนโลยีสนับสนุนที่หลากหลาย ช่วยเพิ่มคุณค่าของงานวิจัย 

 

 

- อาจารย์ได้นำเสนอ 10 ลักษณะงานวิจัยที่ไม่ได้รับการตีพิมพ์ มักจะเกิดจากสาเหตุต่อไปนี้

1. ปัญหาไม่สำคัญ เอามาทำงานวิจัย

2. ข้อมูลที่นำเสนอ ไม่ทันสมัย เป็นเรื่องเก่าๆ

3. จำนวนกลุ่มตัวอย่างหรือจำนวนประชากรน้อยเกินไป ไม่น่าเชื่อถือ

4. เครื่องมือหรือเทคโนโลยีที่ใช้ ไม่เพียงพอ หรือให้ไม่หลากหลาย ทำให้ขาดความเชื่อมโยง

5. ผลของข้อมูลไม่ชัดเจน ไม่เป็นระบบ ไม่เป็นไปตามรูปแบบที่กำหนด(ของวารสารที่แจ้งไว้)

6. ข้อมูลไม่ครอบคลุม คลุมเครือ

7. รูปภาพ ไม่ชัดเจน ตาราง ไม่เหมาะสม ผิดรูปแบบ

8. สถิติที่ใช้ยังไม่ดีเพียงพอ

9. สรุปผลเกินกว่าเหตุ มากเกินไป

10. เขียนเนื้อหาไม่ดี ไม่น่าสนใจ   

 

 

- อาจารย์ได้กล่าวถึง การเขียนที่ดี ก่อนอื่นต้องรู้จักการทบทวน อ่านเรื่องที่คนอื่นๆได้เขียนมาก่อนหน้าเรา จากนั้นนำมารวบรวม ต้องรู้จักการผูกเรื่องราว เขียนให้เร้าใจ ชักชวนให้อยากอ่าน อยากติดตามซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นผลมาจากการอ่านมากๆ นักเขียนที่ดี ต้องรู้จักที่การฝึกฝนบ่อยๆ  

 

 

สรุป : แนวทางในการตีพิมพ์งานวิจัยในวารสารต่างประเทศควรทำดังนี้

 

- ต้องรู้จักอ่าน ศึกษาข้อมูล ศึกษารูปแบบข้อกำหนดของวารสารที่สนใจว่าเป็นอย่างไร มีอะไรที่ต้องทำบ้าง ต้องมีให้ครบ และเมื่อทราบรายละเอียดแล้ว ก็ให้ปฏิบัติตามเกณฑ์ที่กำหนด

 

- การทำงานวิจัยต้องตอบคำถามงานวิจัยให้ได้ เรื่องที่ทำงานวิจัยนั้น หากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจในขณะนั้น เป็นเรื่องที่เกิดผลกระทบต่อส่วนรวม เป็นเรื่องที่ใหม่ ทันสมัย เป็นประโยชน์ สามารถนำไปใช้ได้จริง ก็มักจะทำให้มีโอกาสได้ตีพิมพ์มากขึ้น

  

- การเขียนงานวิจัย ควรใช้สำนวนของตนเอง อย่าคัดลอกผู้อื่น ควรเขียนให้มีความเชื่อมโยง ต่อเนื่อง สอดคล้อง ควรมีผู้ร่วมอ่าน ช่วยตรวจทานแก้ไข

    

- การทำงานวิจัย ควรเป็นการทำงานแบบสหสาขาวิชาชีพ มีเพื่อน สร้างเครือข่าย เนื่องจากช่วยทำให้เกิดความคิดที่หลากหลาย มีการช่วยตรวจสอบกันและกัน

  

- การทำงานวิจัย เป็นศิลปะอย่างหนึ่ง การวางแผน การดำเนินการ การประเมินผล วิเคราะห์ สรุปผล การเลือกใช้สถิติ การขอจริยธรรมในมนุษย์และสัตว์ทดลอง เป็นสิ่งที่สำคัญที่ต้องเรียนรู้และทำความเข้าใจให้ดี

 

   

งานวิจัย การตีพิมพ์ เป็นเรื่องท้าทาย... คุณพร้อมหรือยัง ครับ 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 382447เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2010 03:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 23:20 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
โสรัจสิริ เจริญสุดใจ

เรียน อ.เพชรากร

ขอบพระคุณอาจารย์มากค่ะ ที่ได้กรุณาสรุปกิจกรรม KM เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมาได้อย่างเยี่ยมค่ะ อาจารย์จับประเด็นที่สำคัญ และสามารถนำไปใช้ได้อย่างดีค่ะ เรียกว่าใครที่พลาด ก็สามารถอ่านได้จากสิ่งที่อาจารย์สรุปและนำไปปฏิบัติได้เลยค่ะ จึงขออนุญาตเพื่อส่งไปยังอาจารย์ที่พลาดโอกาสในการเข้าร่วมกิจกรรมนะคะ

โสรัจสิริ

เรียน อ.โสรัจสิริ

การนำไปเผยแพร่ต่อนั้น ด้วยความยินดีอย่างยิ่ง ครับ

หวังว่าฝ่ายวิจัยคงจะได้จัด KM บ่อยๆ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันต่อไป

ขอบคุณที่แวะมาเยี่ยม ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท