หลักการและแนวคิดของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่10(1)


แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ชี้นำ ทิศทางการปรับตัวของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง 10-15 ปีข้างหน้า อัญเชิญ "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง" ผลักดันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมในระยะ 5 ปีของแผน

     ดิฉันสรุปเนื้อหา หลักการและแนวคิดจาก(ร่าง)แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติฉบับที่ 10      จัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(มิถุนายน 2549) เริ่มแรกจะขอกล่าวถึง ความนำ ความเป็นมา และความสำญของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 โดยมีเนื้อหา 4 ส่วน

          1.ปฐมบท   การนำเสนอแนวทางการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว วิเคราะห์สาเหตุการพัฒนาที่ไม่สมดุลและยั่งยืน  และการประยุกต์ใช้ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงกับบริบทการพัฒนาประเทศในอนาคต

          2.ส่วนที่ 1  การวิเคราะห์สถานการณ์การพัฒนาประเทศที่ผ่านมา วิเคราะห์บริบทการเปลี่ยนแปลงที่มีผลต่อการปรับตัวของประเทศ

          3.ส่วนที่ 2  การมองวิสัยทัศน์ประเทศไทยและการนำทุนประเทศที่มีศักยภาพทั้งทุนทางสังคม ทุนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และทุนทางเศรษฐกิจ มาใช้ประโยชน์ในการพัฒนาและเสริมสร้างให้เข้มแข็ง เป็นฐานรากที่มั่นคงของการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนในระยะยาว

          4.ส่วนที่ 3  การวิเคราะห์สภาพแวดล้อมของประเทศ และกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศที่สำคัญ 5 ยุทธศาสตร์ รวมทั้งบูรณาการ บทบาทภาคีการพัฒนา และกลไกการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผลในระยะ 5 ปี ของแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10

          ความนำแผนพัฒนาฯฉบับที่ 10  เริ่มจากการพัฒนาที่ผ่านมา ตั้งแต่แผนพัฒนาฯฉบับที่ 1-7 เป็นการนำทรัพยากรธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์และความได้เปรียบด้านแรงงานถูกของประเทศมาสนับสนุนและเป็นฐานการผลิต ต่อมาแผนพัฒนาฯฉบับที่ 8 เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญการวางแผนพัฒนาของประเทศ ทั้งด้านกระบวนการให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม และแนวคิดใหม่ให้คนเป็นศูนย์กลางการพัฒนา แบบแยกส่วนมาเป็นองค์รวม กระบวนทรรศน์การพัฒนาใหม่มีพื้นฐานมาจากแนวทางการพัฒนาอันเนื่องมาจากพระราชดำริ "เศรษฐกิจพอเพียง" ต่อมาแผนพัฒนาฯฉบับที่ 9 ยึดหลักการมีส่วนร่วม และอัญเชิญหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญานำทางในการพัฒนาและบริหารประเทศควบคู่ไปกับกระบวนทรรศน์การพัฒนาแบบบูรณาการ มีคนเป็นศูนย์กลางพัฒนาและหลักทางการสายกลาง ให้ประเทศรอดพ้นจากวิกฤต นำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนและความอยู่ดีมีสุขของคนไทย

          ผลการพัฒนาตามแผนพัฒนาฯ ฉบับที่ 1-9 พบว่า ไทยยกระดับการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมดีขึ้น มีการสะสมทุนและเติบโตในอัตราสูงอย่างต่อเนื่อง เป็นการพัฒนาที่มุ่งการเติบโตทางเศรษฐกิจในเชิงปริมาณค่อนข้างมาก แต่ประสิทธิภาพการผลิตรวม ผลิตภาพทุนและผลิตภาพแรงงานอยู่ระดับต่ำ ต้องพึ่งพิงปัจจัยภายนอก จึงเกิดความไม่สมดุล เสี่ยงต่อผลกระทบภายนอก ขีดความสามารถไทยมีแนวโน้มลดดลง ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ลดทอนทุนธรรมชาติและเสื่อมโทรม สังคมไทยอ่อนแอ เน้นวัตถุนิยมและบริโภคนิยม ศักยภาพของคนมีปัญหา คุณภาพการศึกษาและการเรียนรู้ วัฒนธรรม ระบบคุณค่าเสื่อมถอย ศีลธรรม คุณธรรม จริยธรรม ย่อหย่อน และมีปัญหาสังคมอีกมากตามมา

          นอกจากนี้มีการรวมศูนย์อำนาจบริหารอยู่ส่วนกลาง การจัดสรรทรัพยากรและออกกฎหมายเอื้อต่อการส่งออก สร้างความมั่งคั่งและรายได้ เกิดปัญหาทุจริตมิชอบในภาครัฐและเอกชน ทำให้ความมั่งคั่งกระจุกตัวบางพื้นที่  เหลื่อมล้ำรายได้และผลประโยชน์ ทำให้เกิดปัญหาเชิงโครงสร้างของระบบเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม การบริหารจัดการไม่สมดุล และเกิดความขัดแย้งในสังคม

          กระแสโลกาภิวัฒน์ทำให้เกิดโอกาสและข้อจำกัดของการพัฒนาประเทศ ไทยเราต้องเตรียมความพร้อมของคนและระบบให้มีภูมิคุ้มกันโดยนำศักยภาพและคุณค่าของทุนมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์

          แผนพัฒนาฯฉบับที่ 10 เป็นแผนยุทธศาสตร์ที่ชี้นำ ทิศทางการปรับตัวของประเทศเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลง  10-15  ปีข้างหน้า อัญเชิญ    "ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง"   ผลักดันการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สำคัญสู่การปฏิบัติให้เกิดเป็นรูปธรรมในระยะ 5 ปีของแผน รวมพลังทุกภาคส่วนทุกขั้นตอน ตั้งแต่ร่วมคิด รวมวางแผนและร่วมดำเนินงาน เป็นการระดมทรัพยากรทุกภาคส่วนและสร้างเครือข่ายการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์สู่การปฏิบัติ ติดตาม ตรวจสอบอย่างต่อเนื่อง

                                                                                                             

           ธุวนันท์ พานิชโยทัย

               9 กค.2549

 

 

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 38177เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2006 08:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 พฤษภาคม 2012 15:27 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท