จัดการความรู้...เพื่อวลัยลักษณ์


เมื่อวันที่ 5-6 กันยายน ที่ผ่านมาผมและคุณอุรพิณ ได้รับเชิญให้ไปช่วยเป็นวิทยากรกระบวนการจัด "ตลาดนัดความรู้"  ซึ่งจริงๆพูดให้เข้าใจง่ายขึ้น  ก็คือ  ตลาดนัดความรู้ นั้น  สคส.  ได้ออกแบบเป็น excercise เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ KM ผ่านการทดลองทำจริง   คือ  เราต้องการลดวิธีการบรรยายให้เหลือน้อยที่สุด    เวทีนี้  ผู้ที่แสดงบทเป็นคุณเอื้อ ก็คือ รศ.สมนึก เอื้อจิระพงษ์พันธ์  รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร   และคุณกิจ  ก็เป็น คณะเจ้าหน้าที่สายปฏิบัติการวิชาชีพฯ  จากส่วน หรือฝ่ายต่างๆที่ทำหน้าที่สนับสนุนเป็นกองหลังที่สำคัญของการบริหารงานมหาวิทยาลัย    ส่วนคุณอำนวย  กลุ่มหัวหน้าส่วน  หัวหน้างานที่พอมองเห็นศักยภาพก็ถูกวางตัวให้มาเล่นบทนี้

 

ก่อนวันเริ่มเนื้อหา  เขาเริ่มกิจกรรมกันก่อน  เป็นกิจกรรมผ่อนคลายสร้างบรรยากาศความเป็นทีม  เห็นอกเห็นใจกัน  ที่เรียกว่า  กิจกรรม Walk Rally  ซึ่งนำกิจกรรมโดย คุณนิรันดร์ จินดานาค หัวหน้าส่วนกิจการนักศึกษา   กิจกรรมนี้ถูกแบ่งออกเป็น 5 ฐาน  แต่ละฐานก็จะมีเกมที่สะท้อนให้เห็นถึง การเป็น dream team  ได้ทั้งความสนุก  เสียงหัวเราะ (จนน้ำตาเล็ดก็มี) ได้ทั้งสาระที่แฝงอยู่ขางในเกม   ที่สำคัญ   คนที่เล่นเกมได้รู้จักกัน  มีความเป็นกันเองมากขึ้น  กล้าเปิดเผยตัวเองมากขึ้น  สิ่งนี้แหละที่ KM ต้องการมากก่อนที่เปิดเวทีให้มีการ share ความรู้กัน

เบื้องหลังของการเตรียมมีประเด็นที่สำคัญต่อการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้มากเลยครับ  คือ   การพิถีพิถันในการเลือกตัวคนที่จะเข้าร่วมวงสนทนา   คนที่มาครั้งนี้  ทางผู้ประสานงาน คุณบรรจงวิทย์ ยิ่งยงค์ เล่าให้ฟังว่า  คัดเลือกจากเจ้าหน้าที่ที่ได้รับการประเมินว่าเป็นผู้ที่มีผลการทำงานดีเยี่ยมมาแล้ว    ภายใต้ความเชื่อของเราว่า  คนที่เคยทำอะไรสำเร็จ  แสดงว่าคน คนนั้นมีความรู้แบบฝังลึก (Tacit Knowledge) ในเรื่องที่เขาทำ   และเราจะเรียนรู้วิธีการจัดการความรู้แบบนี้แหละ  จึงพอจะเห็นว่าทำไมเราถึงเสนอแนะว่าขั้นตอนการเตรียมคนให้เริ่มจาก best practice หรือ good practice ที่พอจะมองเห็นตัวก่อน  แล้วค่อยขยายผลไปยังกลุ่มอื่นๆต่อไป

"Storytelling" เรื่องเล่า ยังคงเป็นเครื่องมือที่ทรงพลังสำหรับใช้ดึง Tacit Knowledge ออกมาทุกคนก็ชอบ และบอกว่าครั้งต่อไปต้องเพิ่มเวลาสำหรับช่วงเล่าเรื่องให้มากกว่าเดิม       จากเรื่องเล่าหลายๆเรื่อง  ล้วนแต่เป็นเรื่องราวเล็กๆของความประทับใจ ที่คนหน้างานเล่าจากประสบการณ์  แต่ละเรื่องจะมีตอนที่เล่าถึงความยากลำบาก  ให้เห็นว่าก่อนที่จะสำเร็จในการงานเรื่องใดก็ตาม  ต้องฝ่าขวากบากหนามมาก่อนทั้งนั้น  

จากเรื่องเล่าทุกคนช่วยกันตีความร่วมกันเพื่อหา "ขุมความรู้" และเขียนออกมาเป็นถ้อยความ   จากนั้นนำมาจัดเป็นกลุ่มชุดความรู้   ซึ่งครั้งนี้  ก็แบ่งออกได้เป็น 8 ชุดความรู้ด้วยกัน  ซึ่งประกอบด้วย

1. จิตใจ/ทัศนคติในการทำงานแบบมุ่งความสำเร็จ

2. การวางแผนที่ดี

3. ความรู้ ความเข้าใจในงานที่ทำ

4. การมีส่วนร่วมและมนุษย์สัมพันธ์ - การสร้างเครือข่าย

5. เทคนิคการทำงาน

6. ความรับผิดชอบ

7. การสื่อสารที่สร้างสรรค์

8. การติดตามงานที่ดี

จากนั้นทั้ง 8 ประเด็นได้ถูกนำมาเขียนคุณลักษณะความสำเร็จ  แล้วทดลองประเมิน(หน่วยงาน)ตนเอง  ได้เห็น ธารปัญญา  จนมีบางท่านสะท้อนในเวทีว่า  "กลับไปแล้ว  จะต้องไปกั้นเขื่อน ไม่ให้ธารปัญญาของคนทำงาน ใน ม.วลัยลักษณ์  ไหลออกไปอย่างน่าเสียดายอีกแล้ว"   

จากการที่ได้มีเวทีแลกเปลี่ยนกันนั้น  เห็นชัดเจนว่า  เสียงของคนทำงานบอกเราว่า  เรียกขวัญกำลังใจ  ความฮึกเหิมของคนทำงานกลับมาอีกครั้ง  หลังจากที่แฟบหายกันไปเยอะแล้ว    หลายคนบอกว่าเข้าใจเพื่อนร่วมงานมากขึ้น  เมื่อก่อนเดินสวนกันไม่เคยทักทาย หรือยิ้มให้กันเลย  ตอนนี้ทราบถึงภาระงานของคนอื่น  เห็นอก เห็นใจมากขึ้น   สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นอย่างยิ่ง  หากในชีวิตการทำงานจริง  คนในที่ทำงานเดียวกัน    หรือ   ในรั้วมหาวิทยาลัยเดียวกันไม่เกิดอาการเห็นอก  เห็นใจกัน  ก็ยากที่จับให้คนมา share กันได้ครับ

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3813เขียนเมื่อ 13 กันยายน 2005 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท