ชีวิตที่พอเพียง 61 : การไปวัดกับกิจกรรมที่วัด


หน่วยงานพัฒนากิจกรรมพระพุทธศาสนา ไม่ต้องริเริ่มงานให้วัดทำ แต่คอยติดตามวิธีการและผลงานดีๆ เอามายกย่อง และจัดเวที ลปรร. วิธีคิดและวิธีดำเนินการ ให้ "คุณกิจ" ผู้ทำกิจกรรมที่วัด มา ลปรร. กัน ยกระดับ "ความรู้ปฏิบัติ" ในการเรียนธรรมะในชีวิตจริงขึ้นไป

         วันนี้ (๑๑ กค. ๔๙) เป็นวันเข้าพรรษา     เมื่อเช้าระหว่างวิ่งออกกำลังกายฟังวิทยุเขาสนทนากันเรื่องวัยรุ่นกับการไปวัด     ทำให้นึกถึงตัวเองว่าได้รับการเลี้ยงดูมาในแบบไม่ไปวัด     เพราะพ่อแม่คงจะไม่เห็นประโยชน์     ตอนเด็กๆ เวลาพูดถึงวัด ผมได้ยินแต่พ่อพูดในเชิงลบกับวัด    ทั้งๆ ที่พ่อผมเป็นเด็กวัดมาก่อน    คือเด็กวัดปทุมคงคา     พ่อมาเรียนชั้นม. ๖ ที่ รร. วัดปทุมคงคา

         พ่อผมบอกว่าพระไม่เห็นทำอะไร    ที่ทำก็คือดูหมอ ใบ้หวย กับรดน้ำมนตร์ ซึ่งเป็นเดรัจฉานวิชาทั้งนั้น    นี่หมายถึงพระแถวบ้านผมนะครับ    พระดีๆ ก็มี     และครอบครัวเราก็มี "ลุงหลวง" เป็นที่เคารพนับถือของคนทั่วไป คือท่านพุทธทาส  

         ในวิทยุเขาสนทนากันเรื่องวัยรุ่นไปวัด    สนทนากันว่าทำไมวัยรุ่นไปวัดมากขึ้น     ทำไมวัยรุ่นอื่นๆ ไม่ไปวัด    ผมฟังแล้วรู้สึกว่าเขาแตะกันเพียงผิวๆ ของเรื่อง     และแตะเฉพาะวัยรุ่น    ไม่ได้แตะวัด  ไม่ได้แตะกิจกรรมที่วัด   

          ผมมองว่าการจะให้คน ทั้งวัยรุ่นและไม่รุ่นไปวัดก็ต้องมีกิจกรรมที่วัดที่ทำให้คนอยากไป    คนเรามีรสนิยมต่างกัน    ดังนั้นกิจกรรมที่วัดก็ต้องต่างกันด้วย     บางวัดอาจจัดกิจกรรมธรรมะแบบตรงตัว     แต่บางวัดอาจจัดแบบใช้อุบาย    แต่ละวัดจัดกิจกรรมเป็นอุบายให้คนเข้าถึงธรรมหลากหลายแบบ    ให้คนได้เลือกไปวัดหน่วยงานที่ส่งเสริมพระพุทธศาสนาก็เข้าไปเก็บข้อมูลว่าที่ไหนใช้กิจกรรมแนวไหน     แล้วบอกให้สังคมวงกว้างรับรู้    สำหรับเป็นทางเลือกตามจริตหรือรสนิยมของแต่ละคน     แต่ที่สำคัญต้องไม่เป็นกิจกรรมที่นำไปสู่มิจฉาทิฐิ     ต้องเป็นกิจกรรมที่นำไปสู่การขัดเกลาตนเอง ให้มีกิเลสน้อยลง     ไม่ใช่กิจกรรมที่ยิ่งเพิ่มพูนกิเลส     

         วัยรุ่นเป็นวัยที่อยากทำอะไรด้วยตนเอง     ดังนั้นวัดอาจต้องเปลี่ยนกุศโลบาย     แทนที่จะให้วัยรุ่นเข้าวัดมาฟังเทศน์ อาจเปลี่ยนเป็นเข้าวัดมาทำกิจกรรม     โดยให้วัยรุ่นจัดกันเอง วางแผนกันเอง พระและกรรมการวัดช่วยดูแลอยู่ห่างๆ      ช่วยแนะนำการตั้งเป้าหมาย และกฎกติกาของกิจกรรม     ให้เป็นไปเพื่อการเรียนรู้ธรรมะ  ขัดเกลาจิตใจ     ไม่ให้เฉไฉไปในทางลบ

         หน่วยงานพัฒนากิจกรรมพระพุทธศาสนา     ไม่ต้องริเริ่มงานให้วัดทำ     แต่คอยติดตามวิธีการและผลงานดีๆ เอามายกย่อง และจัดเวที ลปรร. วิธีคิดและวิธีดำเนินการ     ให้ "คุณกิจ" ผู้ทำกิจกรรมที่วัด มา ลปรร. กัน    ยกระดับ "ความรู้ปฏิบัติ" ในการเรียนธรรมะในชีวิตจริงขึ้นไป

         ผมเชื่อว่าในปัจจุบันนี้ กิจกรรมดีๆ ที่วัดบางวัดมีอยู่แล้ว     แต่ขาดการไป "จับภาพ" นำมาขยายผล     หน่วยงานพัฒนาพุทธศาสนาน่าจะลองหันมาใช้ยุทธศาสตร์นี้

         ด้วยแนวทางนี้ การไปวัด ก็จะค่อยๆ เชื่อมเข้ากับชีวิตจริงของผู้คน     วัดไม่แยกห่างจากผู้คนอย่างในปัจจุบัน

         หัวข้อบันทึกนี้อาจเปลี่ยนเป็น "วัด  การขัดเกลาจิตใจ  และ KM" ก็ได้นะครับ

วิจารณ์ พานิช
๑๑ กค. ๔๙

วันเข้าพรรษา

หมายเลขบันทึก: 38108เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2006 10:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 20:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
      ขอบพระคุณครับ ... เห็นด้วยกับท่านอาจารย์ 
      น่าเสียดายที่วัดเป็นแหล่งรวม "เงิน" มากมายจากศรัทธาของญาติโยม ทั้งที่ทำบุญแบบ ขัดเกลากิเลส  และ เพิ่มพูนกิเลส  ถ้าได้ช่วยกันจัดการดีๆ  กิจกรรมที่สร้างสรรค์ และ สมสมัย จะเกิดขึ้นได้มากมาย โดยไม่ต้องรบกวนงบประมาณหรือกองทุนที่ไหน  ที่น่าเสียดายอย่างยิ่งอีกประการคือ ภูมิสถาปัตย์ และ ภูมิทัศน์ ในวัดทั้งหลาย  น่าจะมีการวางผัง วางระบบ จัดทำให้เกิดประโยชน์ต่อกลุ่มเป้าหมายคือญาติโยมที่ไปวัด  ให้ได้รับความร่มเย็นกายเป็นเบื้องต้น มีต้นไม้ สนามหญ้า สระบัว ฯลฯ แทนที่จะมุ่งเอาอิฐ ปูนไปคลุมดินกันแทบทุกตารางนิ้ว ชนิดไม่ให้เห็นสีเขียว ได้เลยเป็นดี .. คนนอกเมืองอีกไม่น้อย รวมทั้งหลวงตา เจ้าอาวาสหลายวัด  เห็นหญ้าและต้นไม้เป็นสิ่งที่ต้องจัดการเอาออกไป  เพื่อแทนที่ด้วยของใหม่ คืออิฐ-ปูน ในนามของวัตถุบ่งบอกความเจริญ ..  

วัยรุ่นไม่ไปวัดเพราะ..ไปแล้วไม่เห็นผล ไปแล้วไม่สนุก

การศึกษาของไทยคงต้องมีการกล่อมเกลาเกี่ยวกับเรื่องข้อดีของการไปวัดอีกมากค่ะ

           จากประสบการณ์ของครอบครัวตั้งแต่เด็กผู้ใหญ่จะพาไปวัดทุกวันพระ พอมารุ่นหลานก็จะทำสืบต่อกันมา  การพาเด็กไปวัดเป็นสิ่งแรกที่ครอบครัวจะต้องพาไป   ในชีวิตทำงาน รศ.ประสิทธิ์  คุณุรัตน์ อาจารย์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ในทุกปีจะพาบุคลากรนักศึกษา ไปทอดผ้าป่าทุกปีทำมา 21 ปี ผู้ที่ไปจะพาลูกหลานไปด้วย วัดที่ไปจะเป็นวัดป่าส่วนใหญ่ ขณะที่เริ่มเดินทางจะมีวิธีการปฏิบัติทำบุญ รักษาศีล ภาวนาเมื่อระยะเวลาผ่านไปเด็กที่ไปทอดผ้าป่าปัจจุบันเรียนเก่งเพราะได้เปรียบเพราะเขาได้รู้วิธีการฝึกสมาธิ       ในเรื่องการเข้าวัดของวัยรุ่น  บางครั้งจะไม่เห็นไปทำบุญที่วัดแต่ถ้ามาในสถานศึกษาที่จัดกิจกรรมทำบุญนักศึกษาจะมาทำกันมาก   ดังนั้นเห็นด้วยกับการที่จะให้ผู้เกี่ยวข้องมากพิจารณากิจกรรม บางครั้งอาจจะได้รับความร่วมมือจากวัยรุ่นในการทำกิจกรรมไม่ต้องไปจ้างคนมาทำ        ซึ่งปัจจุบันบางหมู่บ้านได้ให้วัยรุ่นทำเช่นกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ คณะกรรมการวัดเป็นเพียงช่วยให้คำแนะนำ

                                                 จรัสศรี

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท