ภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง : วิกฤติสังคมไทย


สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกัน

ทุกวันนี้เราจะพบปัญหาทางสังคมอยู่มากมายตามข่าวทางหน้าหนังสือพิมพ์ ไม่ว่าจะเป็นสาวโรคจิตไล่แทงนักเรียนหญิง สามีฆ่าภรรยาโยน ลูกลงจากตึก ฯลฯ เป็นสิ่งที่สะท้อนปัญหาสังคมไทยได้ หากไม่มีการวิเคราะห์รากลึกของปัญหาก็อาจจะแก้ไขปัญหากันไปแบบผิวเผิน สุดท้ายปัญหาก็อาจทับถมมากขึ้นจนยากเยีวยาได้ ผมได้เขียนเรื่องภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง มาประมาณ 1 ปี แล้ว แต่ก็ยังคิดว่าเรื่องนี้ยังคงทันสมัยอยู่จึงถือโอกาสนำมาเผยแพร่ครับ และสิ่งที่เขียนก็เป็นการถอดบทเรียนจากการทำงานในชุมชนมากว่า 10 ปี ครับ

ภาวะภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่อง : วิกฤติสังคมไทย
                คนไทยส่วนใหญ่คุ้นเคยและได้ยินกับโรคที่น่ากลัวโรคหนึ่งนั่นคือโรคเอดส์ ซึ่งมาจากภาษาอังกฤษว่าAIDS มาจากคำว่า Acquired Immunodeficiency  Syndromes แปลเป็นไทยว่าโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง เกิดจากการติดเชื้อไวรัสชนิดหนึ่งผ่านทางเพศสัมพันธุ์และทางเลือด มีผลทำให้เม็ดเลือดขาวที่สร้างภูมิคุ้มกันถูกทำลาย ทำให้ร่างกายมนุษย์ไม่มีภูมิคุ้มกันที่เพียงพอที่จะป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคต่างๆในสิ่งแวดล้อมและมีเชื้อโรคที่ปกติทำอะไรร่างกายไม่ได้สามารถฉวยโอกาสเข้ามาทำให้เกิดโรคได้ ทำให้ร่างกายย่ำแย่ลง สภาพทรุดโทรมอย่างน่ากลัวและเสียชีวิตในที่สุด ซึ่งแม้โรคนี้จะน่ากลัวแต่เมื่อพิจารณากันแล้วโรคนี้เป็นแค่เพียงอาการหนึ่งของโรคร้ายแรงอีกโรคหนึ่งนั่นคือโรคภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องหรือSocial Immunodeficiency Syndromes หรือSIDS ซึ่งบ่อนทำลายความเข้มแข็งของชุมชนไทยลงอย่างรวดเร็ว ขาดภูมิหรือพลังต้านทานต่อสิ่งชั่วร้าย ทำให้เซลของสังคม(คนในสังคม)  เนื้อเยื่อ(ครอบครัว)และอวัยวะ(ชุมชน)ผุกร่อนลง จึงจะเห็นได้ว่ากลุ่มอาการภูมิคุ้มกันทางสังคมบกพร่องแสดงออกมาด้วยเรื่องของโรคเอดส์ที่ระบาดเข้าสู่ครอบครัว ส่งผลให้เกิดภาวะบ้านแตก ลูกกำพร้า  นอกจากนี้ยังมีเรื่องการระบาดของยาเสพติด  อบายมุขอาชญากรรม  เด็กและผู้ใหญ่มั่วเซ็กซ์ไม่เลือกที่  เด็กนักเรียนตีกัน  คอรัปชั่น  แม่ฆ่าลูก  เด็กกำพร้า  พี่ฆ่าน้อง ครูข่มขืนลูกศิษย์  พระเดินขบวน การแพทย์พาณิชย์  คนที่มีอดีตไม่ดีถูกยกย่องเชิดชู ดูคนดีอย่างฉาบฉวยตัดสินด้วยกระแส ฯลฯ ดังนั้นแม้จะมองว่าAIDS น่ากลัวแต่SIDS น่ากลัวกว่าหลายเท่าตัว ที่เราจะต้องการแพทย์มาเยียวยารักษาต้องเป็นแพทย์ผู้เชียวชาญซึ่งขอเรียกว่าแพทย์สังคม(Social Doctor) เมื่อเรารู้ว่าภูมิคุ้มกันของสังคมบกพร่องก็ต้องมีการให้ภูมิคุ้มกันเพิ่มเติมแก่สังคมเหมือนกับที่มีการฉีดวัคซีนในเด็กๆเพื่อให้กระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโรคได้ ดังนั้นจึงต้องมีการให้ภูมิคุ้มกันต่อสังคม(Social Immunization) เพื่อให้สังคมเข้มแข็ง นั่นคือต้องทำให้บุคคล ครอบครัวและชุมชนเข้มแข็ง  
                ชุมชนที่เข้มแข็งต้องมีรากฐานทางสังคมที่ดี เหมือนร่างกายคนที่มีกระดูกสันหลังช่วยให้เราทรงตัวอยู่ได้ ปัจจุบันจะเห็นว่าคนในสังคมเริ่มเป็นคนไร้ราก นั่นคือเป็นคนที่ไม่มีความผูกพันกับท้องถิ่นของตนเอง เมื่อไม่ผูกพันก็ไม่เกิดความรู้สึกรักและหวงแหนท้องถิ่นและถูกชักจูงเข้าสู่การยอมรับกระแสความเป็นไปที่เชี่ยวกรากของสังคมโลกาภิวัตน์ได้ง่าย  ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น ในสังคมเมืองเกิดจากคนต่างถิ่นเข้าไปอยู่ร่วมกันโดยไม่ได้เติบโตร่วมกันมาอีกทั้งวิถีชีวิตการงานก็ทำให้พบปะสังสรรค์กันน้อยมาก บ้านติดกันแทบไม่รู้จักกัน ต่างคนต่างอยู่ เช้าตรู่ออกจากบ้านเย็นค่ำกลับเข้านอน เสาร์อาทิตย์สัญจรอยู่ตามห้างสรรพสินค้า หาเวลาเจอหน้าเพื่อนบ้านยาก  ขณะที่สังคมชนบทที่เคยถือกันว่ารากฐานมั่นคงก็สั่นคลอนลง พ่อแม่ทำงาน ลูกๆถูกส่งไปเรียนโรงเรียนในตัวจังหวัดถ้าไกลมากก็อยู่หอพัก ถ้าไม่ไกลมากก็เทียวไปกลับกับรถนักเรียนตื่นแต่เช้ามืดกลับค่ำมืด เด็กวัยเดียวกันที่อยู่บ้านข้างๆแทนที่จะรู้จักกันเป็นเพื่อนกันพอเรียนต่างโรงเรียนกันก็ห่างกัน เกิดภาวะไม่คุ้นเคยกันตั้งแต่เล็กจนโต  พอปิดเทอมเด็กเหล่านี้กลับมาอยู่บ้านก็เกิดความเหงาเพราะไม่รู้จักใครในละแวกบ้าน ขาดเพื่อน ก็ต้องอาศัยโทรศัพท์เพื่อพูดคุยกับเพื่อนที่อยู่ไกลๆกัน บางคนก็ชดเชยโดยการเล่นเกมส์ ติดอินเตอร์เน็ต เมื่อมีความเหงาในใจโอกาสที่จะใจแตก เสียคน ติดยา ก็มีมากขึ้น เมื่อเจอกับครอบครัวแตกแยก พ่อแม่ไม่เข้าใจ  พ่อแม่ทะเลาะเบาะแว้งกันประจำ  สิ่งเหล่านี้จึงทำให้ส่วนหนึ่งที่สำคัญคือเยาวชนอ่อนแอลงทางด้านจิตใจและขาดการยึดเหนี่ยวต่อท้องถิ่นตนกลายเป็นคนไร้รากในที่สุด เมื่อไร้ราก สังคมก็ไร้แกนและอ่อนแอลง เราจะช่วยกันเติมภูมิคุ้มกันทางสังคมให้สังคมเข้มแข็งกันได้อย่างไร คงไม่ใช่แค่ใครคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นกลุ่มคนที่รวมตัวกันที่จะมาช่วยกันรักษาสังคมให้คืนสภาพ ส่วนที่พอเยียวยาได้ก็เยียวยารักษา ส่วนไหนที่ไม่ไหวก็ต้องผ่าตัดทิ้งไป ส่วนไหนที่พอดีอยู่ก็รีบเติมวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันเข้าไป เราจึงต้องช่วยกันเป็นหมอที่จะมารักษาสังคมเป็นหมอที่เรียกว่าหมอสังคม(Social doctors) ที่มีความเข้าใจของสาเหตุที่มาของปัญหาอย่างบูรณาการทั้งเรื่องสังคม การศึกษา เศรษฐกิจ สุขภาพ ศาสนาและการเมืองเพื่อจะได้แก้ปัญหาได้อย่างแท้จริงโดยไม่มุ่งไปเฉพาะด้านใดด้านหนึ่งจนเสียสมดุลซึ่งยิ่งไปซ้ำเสริมให้สังคมอ่อนแอยิ่งขึ้น ภายใต้แนวคิดที่ว่า “สังคมดีไม่มีขาย ถ้าอยากได้ต้องช่วยกัน” เราต้องเริ่มตั้งแต่ครอบครัวที่ต้องเติมความรักความเอาใจใส่ให้กันและกัน สร้างหน่วยที่เล็กที่สุดของสังคมให้มีชีวิตชีวา เพิ่มคุณค่าให้แก่ชีวิตคนในครอบครัว ล้อมรั้วครอบครัวกันสิ่งชั่วร้ายด้วยความรักประหนึ่งดุจการช่วยกันฉีดวัคซีนสร้างภูมิคุ้มกันให้สังคม
โดย น.พ. พิเชฐ    บัญญัติผู้อำนวยการโรงพยาบาลบ้านตาก จ.ตาก
ลงหนังสือพิมพ์มติชน รายวัน ฉบับวันที่ 5 ตุลาคม 2547  หน้า 7

หมายเลขบันทึก: 3802เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2005 22:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 09:23 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

ผมว่า ภูมิคุ้มกันทางสังคม ปัจจุบันลดน้อยลงไปมาก หมอสังคมก็กลายเป็นปัญหาสังคมขึ้นมาซะเอง สิ่งที่ต้องแก้ไขคือ วิธีคิด แนวคิดของคนในสังคม ให้เข้าใจว่า อยู่ร่วมกันอย่างไรให้มีความสุข โดยไม่เบียดเบียน ทำร้ายใคร ศาสนาเป็นสิ่งที่สำคัญที่จะทำให้สังคมดีขึ้น แต่ต้องให้เข้าใจในคำสอนของศาสนา ไม่ใช่หวังพึ่งศาสนาให้ช่วยเหลือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ขอพรอย่างเดียว แต่ไม่เคยปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ เห็นแก่ตัว คิดถึงแต่ตัวเอง มุ่งทำร้าย ทำลายคนอื่น เพื่อประโยชน์ส่วนตน และเป็นวัตถุนิยม และทุนนิยม สิ่งที่สำคัญต้องเปลี่ยนให้สังคมเข้าใจอย่างที่ ในหลวง ทรงตรัสไว้ นั่นคือ เศรษฐกิจพอเพียง และมีศีลธรรมด้วย การอยู่ร่วมกันถึงจะมีความสุข และปัญหาสังคมก็จะน้อยลง ภูมิคุ้มกันบกพร่องทางสังคมก็จะค่อยๆดีขึ้น เม็ดเลือดขาวที่จะสู้กับโรคความบกพร่องทางสังคมก็จะสามารถเอาชนะโรคได้ในที่สุด

เรียนคุณโจ

เห็นด้วยอย่างยิ่งครับ

Thank you for this valuable idea. I will quote your name when using SIDS in my lecture.

Sutham Songsiri

ด.ญ.ชุติมน ธธรมวงศ์

พักนี้ฉันมีหน้าที่ต้องไปแข่งขันท่องบทอาขยาทแต่ฉันไม่อยากท่องแต่ตอนนี้ฉันก็ป่วยจนไมมีเวลาที่จะท่องเลยเฮ้ยกลุ้มใจจริงๆเลย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท