ความสำคัญของภาพถ่ายในการศึกษาชุมชน


การถ่ายภาพจึงไม่เป็นเพียงแต่เทคนิคการเข้าถึงข้อมูล แต่ยังเป็นเทคนิคการเข้าถึงใจคนในชุมชน และที่สำคัญ ยังเป็นเทคนิคในการขัดเกลาตัวเรา ในฐานะนักเรียนวัฒนธรรมอีกด้วย
6-7 กรกฎาคม 2549 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม Mekong Ethnic Media Workshop ที่ศูนย์นานาชาติ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ งานนี้มีนักวิชาการที่มีชื่อเสียงด้านมานุษยวิทยาจากหลายๆประเทศ โดยเฉพาะศาสตราจารย์ ดร. Charles F. Keyes (ชาร์ล เอฟ คายส์) จากภาควิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยวอชิงตัน ซึ่งเป็นอาจารย์ของอาจารย์อาวุโสในเมืองไทยหลายต่อหลายท่าน  อาจารย์คายส์ได้นำเสนอเรื่อง “Digital Photography”  โดยย้อนกลับไปถึงตอนต้นยุคซิกซ์ตี้ที่อาจารย์และภรรยาได้เคยมาทำวิจัยภาคสนามที่หมู่บ้านไทย-ลาวแห่งหนึ่งในภาคอีสาน ที่นั่นอาจารย์ได้ถ่ายภาพขาวดำเกี่ยวกับเรื่องราวและศิลปะวัฒนธรรมต่างๆของหมู่บ้านไว้มากกว่า 1100 ใบ (ต่อมาถูกขโมยไป คงเหลือไว้ราว 200ใบ) อาจารย์ยังคงกลับไปเยี่ยมเยือนหมู่บ้านแห่งนั้นหลายครั้ง แต่ละครั้งก็จะถ่ายภาพไว้เป็นจำนวนมาก ตั้งแต่ยังเป็นยุคภาพขาวดำ จนถึงยุคภาพสี ล่าสุดในปีนี้ เป็นยุคกล้องดิจิตอล อาจารย์ก็ได้กลับไปหมู่บ้านและถ่ายภาพกลับมาอีกเป็นจำนวนมาก อาจารย์ Keyes ได้เลือกนำภาพบางส่วนจากหมู่บ้านเดียวกันนี้ มาฉายให้ที่ประชุมดู เป็นภาพจากอดีตถึงปัจจุบัน พร้อมๆกับบรรยายให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของชุมชนได้อย่างชัดเจน  จุดใหญ่ใจความที่อาจารย์คายส์ชี้ให้เห็นก็คือ ภาพถ่ายเป็นหลักฐานที่สำคัญที่ช่วยให้เราสามารถศึกษาชุมชนได้อย่างเป็นประวัติศาสตร์ เป็นสิ่งที่ช่วยให้นักชาติพันธุ์วรรณา (ethnographer) สามารถนำเสนอข้อมูลทางสังคมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆได้อย่างมีพลังและมีพลวัต โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในยุคดิจิตอลนี้ ที่การถ่ายภาพมีกล้องที่เพียบพร้อมคุณสมบัติมากมาย ทำให้สามารถบันทึกภาพได้สะดวกง่ายดายกว่าในอดีตมาก จึงอยากจะชี้ชวนให้นักมานุษยวิทยาและนักชาติพันธุ์วรรณาสนใจบันทึกภาพในงานภาคสนามกันให้มาก และให้ย้อนกลับมาถ่ายภาพซ้ำ เมื่อเวลาผ่านไปอย่างต่อเนื่อง  อย่างไรก็ตาม แต่ละภาพที่ถ่ายมาต้องระบุวันเวลาสถานที่ให้ชัด เพื่อให้ภาพมีข้อมูลอ้างอิงด้วย และควรจะระบุรายละเอียดว่าเป็นภาพเกี่ยวกับอะไร รวมถึงข้อมูลที่เป็น field note อื่นๆ  จากอาจารย์คายส์ ต่อมา Dr. Nora Yeh จาก American Folklife Center, U.S. Library of Congress ได้เพิ่มเติมบางมุมมองเกี่ยวกับการเก็บบันทึกหลักฐานจากงานภาคสนาม รวมถึงภาพถ่ายด้วยว่า ต้องคำนึงถึง permission หรือการอนุญาต การอนุมัติของคนในชุมชนอีกด้วย ซึ่งในอเมริกาจะให้ความสำคัญและปกป้องสิทธิด้านนี้มาก จู่ๆขืนลงไปเก็บข้อมูล เก็บหลักฐาน หรือถ่ายภาพตามอำเภอใจ มีสิทธิ์โดนฟ้อง และก็ไม่ใช้เงินน้อยๆเลย มาถึงตอนนี้ เรื่องภาพถ่าย ทำให้ผมนึกไปถึงอาจารย์ศรีศักร วัลลิโภดม นักมานุษยวิทยารุ่นอาวุโสที่มีชื่อเสียงอีกท่านหนึ่ง ที่เขียนถึงประสบการณ์ในการลงภาคสนามของท่านในอดีตไว้ว่าตัวท่านเป็นคนชอบถ่ายภาพ เวลาถ่ายภาพชาวบ้านก็ชอบมาดู และชอบใจที่ได้เห็นภาพตัวเอง และท่านมักจะถูกเชื้อเชิญจากชาวบ้านให้ไปถ่ายภาพในงานพิธีต่างๆอยู่เสมอ ซึ่งจะเห็นว่า การอาสาสมัครถ่ายภาพให้ชุมชนเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้ท่านสามารถคุ้นเคยเข้าถึงชาวบ้านได้เป็นอย่างดี การบรรยายของอาจารย์คายส์ได้ทำให้ผมต้องย้อนกลับมาสำรวจและปรับปรุงงานชาติพันธุ์วรรณาและการถ่ายภาพของตัวเอง ที่มักจะมองข้ามการระบุข้อมูลของภาพถ่าย เมื่อนานวันเข้า ก็จะจำไม่ได้ว่าภาพมีวันเวลาสถานที่ตลอดจน ที่มาที่ไปอย่างไร และอาจารย์ก็ได้เป็นตัวอย่างที่ดีของการเก็บข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แม้เป็นหมู่บ้านเล็กๆแต่ก็ติดตามความเคลื่อนไหวตลอดสี่สิบปี แสดงถึงความแน่วแน่ในการทำงานชนิดกัดไม่ปล่อย และเป็นนักวิจัยอาวุโสที่ลงพื้นที่อย่างสม่ำเสมอ น่าที่นักวิจัยรุ่นเยาว์อย่างพวกเราจะเอาเยี่ยงอย่าง ส่วนด๊อกเตอร์นอร่าก็สอนให้เรามีคุณธรรมและรักษามารยาทกับผู้อื่นเสมอเวลาถ่ายภาพ สุดท้าย บทความ (ที่เคยอ่านนานแล้ว) ของอาจารย์ศรีศักร ได้ย้อนมาย้ำว่าการถ่ายภาพหาใช่เพียงแต่ได้มาซึ่งข้อมูล แต่ยังเป็นเทคนิคที่ง่ายและใช้ได้ผลเวลาทำงานภาคสนามกับชุมชน ผมสรุปเอาว่า แม้ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิตอลจะทำให้การถ่ายภาพง่ายแสนง่าย แต่เราไม่ควรจะถ่ายภาพอย่าง มักง่ายโดยไม่ขออนุญาตผู้อื่น , ไม่บันทึกที่มาที่ไปตลอดจนรายละเอียดของภาพอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีคนช่วยถ่ายภาพให้เรา เราก็ควรระบุชื่อผู้ถ่ายภาพนั้นๆเพื่อเป็นการให้เกียรติพวกเขา การถ่ายภาพจึงไม่เป็นเพียงแต่เทคนิคการเข้าถึงข้อมูล แต่ยังเป็นเทคนิคการเข้าถึงใจคนในชุมชน และที่สำคัญ ยังเป็นเทคนิคในการขัดเกลาตัวเรา ในฐานะนักเรียนวัฒนธรรมอีกด้วย  
หมายเลขบันทึก: 37974เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2006 23:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 มิถุนายน 2012 09:18 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
รูปภาพ แทนคำบรรยายได้มากมาย...ผมเห็นด้วยในประเด็น การเก็บข้อมูล โดยเฉพาะงานศึกษาทางวัฒนาธรรม ///ที่ผ่านมาผมถ่ายรูปแต่ก็ไม่ค่อยได้บันทึกรายละเอียดของรูป (เพิกเฉย) ทั้งที่มีโปรแกรมใหม่ๆที่เราสามารถลงรายละเอียดของรูปที่ถ่ายได้ เพื่อประโยชน์ในการอ้างอิงภายหลัง...ส่วน "การขออนุญาต" ก่อนถ่ายรูปคนอื่น ก็เป็นวัฒนธรรมที่ควรกระทำครับ
  • ขอบคุณมากครับ ได้เห็นรายละเอียดในงานวิจัยอีกแบบหนึ่ง
  • การขออนุญาตก่อนถ่ายภาพเป็นเรื่องที่สมควรเป็นอย่างยิ่งครับ
เชิญชนทุกท่านเอาภาพถ่ายมาอวดกันนะครับ เราอาจะได้ความรู้ที่เราไม่ได้มองในภาพได้จากคนอื่นที่มองภาพของเรา

เห็นด้วยกับคุณยอดดอยอย่างยิ่งเลยครับ

เพราะภาพถ่ายสามารถแสดงสิ่งต่าง ๆ ได้หลาย ๆ อย่าง

บางครั้งเราอาจจะไม่ต้องพูดหรือบรรยายสิ่งใดเลยก็ได้ เพียงใช้แค่ภาพถ่ายใบเดียวเท่านั้น

ที่มา ...จากคุณยอดดอย ...แม้ปัจจุบัน เทคโนโลยีดิจิตอลจะทำให้การถ่ายภาพง่ายแสนง่าย แต่เราไม่ควรจะถ่ายภาพอย่าง “มักง่าย” โดยไม่ขออนุญาตผู้อื่น , ไม่บันทึกที่มาที่ไปตลอดจนรายละเอียดของภาพอย่างเป็นระบบ นอกจากนี้ ในกรณีที่มีคนช่วยถ่ายภาพให้เรา เราก็ควรระบุชื่อผู้ถ่ายภาพนั้นๆเพื่อเป็นการให้เกียรติพวกเขา การถ่ายภาพจึงไม่เป็นเพียงแต่เทคนิคการเข้าถึงข้อมูล แต่ยังเป็นเทคนิคการเข้าถึงใจคนในชุมชน และที่สำคัญ ยังเป็นเทคนิคในการขัดเกลาตัวเรา ในฐานะนักเรียนวัฒนธรรมอีกด้วย ..... อยากจะบอกว่าเห็นด้วยอย่างยิ่งค่ะ..เพราะบางครั้งที่ทำงานก็พบว่า เพื่อนร่วมงานมักจะแอบขโมยรูปไปลงเป็นงานของตัวเองโดยไม่ได้อ้างอิงว่าใครถ่ายที่ไหนอย่างไร ที่สำคัญไม่ได้ขออนุญาติเจ้าของภาพ นิสิ น่าเกลี่ยดยิ่งกว่าอะไรทั้งหมด
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท