กิจกรรม (ใหม่)


       ผู้วิจัยได้เล่าแนวความคิดของการนำคูปองมาใช้กับร้านค้าชุมชนของบ้านดอนไชยไปแล้ว  แต่เรื่องนี้ยังไม่จบค่ะ  เพราะ  นอกจากจะใช้คูปองกับร้านค้าชุมชนบ้านดอนไชยแล้ว  ผู้วิจัยยังมีแนวความคิดที่จะนำคูปองไปใช้กับชุมชนอื่นๆด้วย

       กองทุนสวัสดิการชุมชนตำบลแม่พริก  เป็นอีกชุมชนหนึ่งที่ยังไม่มีร้านค้าสวัสดิการชุมชน  และยังไม่มีกิจกรรมอื่นๆนอกเหนือไปจากการออม  ถ้าจะวิเคราะห์ให้ลึกลงไป  เราต้องยอมรับว่าแม่พริกยังต้องมีการพัฒนาอีกหลายด้าน  หากมุ่งกิจกรรมไปที่การออมเพื่อสวัสดิการชุมชนเพียงอย่างเดียว  ในอนาคตอาจเกิดปัญหาได้  เพราะ  ไม่มีแหล่งรายได้ทางอื่นเลย  นอกจากการเก็บเงินออมประจำเดือนเท่านั้น

       ในเบื้องต้น  แม้ทางกลุ่มจะมีแนวความคิดที่จะนำเงินในส่วนของกองทุนสวัสดิการคนทำงานและเงินในกองทุนธุรกิจชุมชนมาลงทุนทำปุ๋ยอินทรีย์จากมูลวัว  แต่ก็คงไม่สามารถทำได้ในระยะเวลาอันสั้นนี้  เนื่องจาก  ต้องอาศัยเงินลงทุนและความรู้มากพอสมควร  ดังนั้น  ในอนาคตอันใกล้นี้ผู้วิจัยจึงเล็งเห็นว่าควรที่จะให้คณะกรรมการมีกิจกรรมอะไรขึ้นมาสักอย่างหนึ่ง  เพื่อเป็นการเสริมสร้างความมั่นใจให้กับคณะกรรมการและเป็นจุดเริ่มต้นของการทำกิจกรรมอื่นๆต่อไปในอนาคต

       ดังนั้น  ผู้วิจัย  อาจารย์พิมพ์  รวมทั้งคณะกรรมการในชุมชนอื่นๆที่อยู่ในโซนเดียวกัน  จึงจะขอนำเสนอแนวคิดนี้ต่อกลุ่มแม่พริก  กล่าวคือ  เราจะมีการจัดคาราวานขายสินค้าในวันออม  โดยจะมีแนวทางเป็น 2 แนวทาง  คือ

      1.กลุ่มแม่พริกลงทุนเอง  โดยในเบื้องต้นก่อนที่จะถึงเดือนกันยายน  เราจะมีการสำรวจโดยใช้แบบสอบถามถามสมาชิกว่าในแต่ละเดือนเสียค่าใช้จ่ายในการซื้อสินค้าต่างๆอะไรบ้าง  เป็นจำนวนเงินเท่าไหร่  หลังจากนั้นจะนำมาประมวลผล  แล้วจะจัดหาสินค้ามาจำหน่ายให้สมาชิกในวันออม  โดยอาจขอความช่วยเหลือจากร้านค้าสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชยในเรื่องความรู้และสินค้าไปพลางๆก่อน  แต่กลุ่มจะเป็นผู้ลงทุนเอง  เงินลงทุนเบื้องต้นก็ไม่มากนักประมาณ 5,000-10,000 บาท  แต่ผู้ซื้อจะต้องใช้คูปองของกลุ่มเท่านั้น  โดยจะต้องนำเงินมาแลกในวันออม  มีการสะสมแต้มเหมือนสมาชิกของกลุ่มบ้านดอนไชย  

       วิธีการนี้คงจะช่วยแก้ปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับค่าตอบแทนคณะกรรมการได้  โดยนำผลกำไรที่ได้รับมาเป็นค่าใช้จ่ายในส่วนนี้  เดิมกลุ่มนี้มีคณะกรรมการประมาณ 12 คน  มีค่าใช้จ่ายในการจ่ายค่าตอบแทนคนทำงานเดือนละประมาณ 2,000 กว่าบาท  ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงมาก   อ.ธวัช  ซึ่งเป็นประธาน  ได้เคยบอกกับผู้วิจัยว่า  อาจต้องมีการแบ่งกรรมการเป็น 2 ชุด  แต่ละชุดทำงานเดือนเว้นเดือน  เพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่าย  หรืออาจต้องลดในส่วนของค่าอาหาร  ถ้าไม่ได้ผลอาจต้องตัดคณะกรรมการที่ไม่มาทำงานออกไป  เพื่อให้คณะกรรมการมีจำนวนลดลง  ค่าใช้จ่ายในส่วนนี้ก็จะลดลงตามไปด้วย

       วันนี้ผู้วิจัยจึงได้โทรศัพท์คุยกับอ.ธวัช  ในเรื่องนี้  อ.ธวัช  บอกว่าเป็นความคิดที่ดี  เพราะ  ถ้าทำได้  จะได้ไม่ต้องลดจำนวนกรรมการ  รวมทั้งกรรมการยังสามารถมาทำงานได้ทุกเดือน  แต่จะต้องแบ่งกรรมการออกเป็น 2 กลุ่ม  คือ  กลุ่มแรกทำหน้าที่รับเงินออม  อีกกลุ่มหนึ่งทำหน้าที่ขายสินค้าให้กับสมาชิก  อย่างไรก็ตาม  นี่เป็นเพียงแค่แนวคิดเท่านั้น คงจะต้องนำเข้าที่ประชุมกลุ่มและที่ประชุมประจำเดือนของโซนใต้อีกครั้งหนึ่ง

      2.ร้านค้าสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชยจะรับทำหน้าที่เป็นผู้ลงทุนให้เอง  ในกรณีจะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อคณะกรรมการของกลุ่มแม่พริกยังไม่มีความมั่นใจหรือยังไม่กล้าที่จะลงทุน  บ้านดอนไชยก็จะเข้ามาช่วยทำเป็นตัวอย่างให้ก่อน  จนกว่าทางแม่พริกจะมั่นใจ  จากนั้นก็จะปล่อยให้กลุ่มแม่พริกจัดการเอง

      ผู้วิจัยเห็นว่าหากทำได้คงจะเป็นอีก 1 กิจกรรมที่ก่อให้เกิดการเรียนรู้กับชุมชนได้  ดังนั้น  หากกลุ่มเห็นด้วย  ในวันออมของเดือนกันยายนนี้เป็นต้นไป  ผู้วิจัยกับอาจารย์พิมพ์จะรับหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและแม่ค้า (จำเป็น) เอง   คงจะสนุกน่าดูเลยค่ะ 

       

คำสำคัญ (Tags): #คูปอง
หมายเลขบันทึก: 37968เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2006 22:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท