หัวใจของการประกันคุณภาพในการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา


ประกันคุณภาพ

 

                                                                                                                                                               

                ในวันนี้ได้มีโอกาสเข้าร่วมประชุม กฎกระทรวง 2553 เรื่อง ระบบและกลไกการประกันคุณภาพภายในสู่การประเมินคุณภาพภายนอก โดย ดร.ไพรวัลย์  พิทักษ์สาลี  ได้กล่าวถึงกฎกระทรวง 2553 ที่เกี่ยวข้องกับการประกันคุณภาพ ทั้งนี้ระบบการประกันคุณภาพภายในประกอบด้วย  การประเมินคุณภาพภายใน, การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา   เพื่อติดตามตรวจสอบความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามแผน 4 ปี และ การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา

                การประเมินคุณภาพภายในจะจัดขึ้น 1 ครั้งทุก 3 ปี  เพื่อให้โรงเรียนรับทราบ และเปิดเผยต่อสาธารณชน โดยที่ระบบประกันคุณภาพภายในจะตรวจสอบโดย หน่วยงานต้นสังกัด คือ สพท.  จะประเมินตามมาตรฐาน ตามตัวมีตัวบ่งชี้  ซึ่งมาตรฐานต่างๆนั้น จะมีส่วนแรกที่บังคับ ทุกโรงเรียนเหมือนกัน แต่ท่านเสนอแนะว่าควรเพิ่มเรื่องอดทนและอดกลั้นเข้าไปในมาตรฐานด้วยถึงแม้ว่าจะเป็นนามธรรม วัดได้ยาก แต่ควรจะเพิ่มลงไป  ตัวอย่างเช่น สมัยนี้พบว่านักเรียนทำข้อสอบไม่ได้ใช้ความสามารถจริง รีบๆทำให้เสร็จ รีบตอบ 15 นาทีเสร็จก็ออกจากห้องสอบเป็นต้น ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่น่าเป็นห่วงมาก ส่วนที่สอง เป็นมาตรฐานของโรงเรียน ที่แสดงความเป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียน หรือเอกลักษณ์ของท้องถิ่นในที่นี้ไม่ได้หมายถึงความมีวินัยและความรับผิดชอบ เพราะส่วนนี้ทุกโรงเรียนต้องมีและต้องทำเหมือนกันหมดแต่จะทำอย่างไรที่บ่งชี้ว่าลักษณะที่มองนักเรียนแล้วรู้เลยว่าเป็นโรงเรียนของเรา  เช่น โรงเรียน ก. สิ่งที่เป็นเอกลักษณ์ของโรงเรียนคือ มีทักษะการทดลองทางวิทยาศาสตร์ทุกคน หรือนักเรียนโรงเรียนนี้รำไทยเป็นทุกคน  เป็นต้น    และส่วนที่สามเพื่อสนองนโยบายของชาติ เนื่องจากงานบางงานไม่ได้สนองมาตรฐานของแกนกลาง หรือที่บังคับ และเอกลักษณ์ของโรงเรียน แต่สอดคล้องกับนโยบายระดับชาติก็สามารถนำผลไปใช้ในการเมินคุณภาพได้เช่นกัน ก็สามารถนำผลงานจับใส่มาตรฐานนี้ได้ เพราะถือว่างานทุกชิ้นมีคุณค่าทั้งหมดถ้าทำเพื่อนักเรียน 

                การติดตามตรวจสอบคุณภาพการศึกษา จะตรวจสอบจากความก้าวหน้าของการปฏิบัติตามแผน 4 ปีที่ตั้งไว้  เมื่อกล่าวถึงคำว่าก้าวหน้าจะดูอย่างไร  จะต้องเทียบเคียงจากข้อมูลเดิม อดีตเป็นอย่างไร หลังจากทำโครงการ/กิจกรรมแล้วนักเรียนเป็นอย่างไร บรรลุตามเป้าหมายที่กำหนดไว้หรือไม่ โดยให้มุ่งเป้าหมายการพัฒนาไปที่นักเรียน ทำแล้วเกิดอะไรขึ้นกับนักเรียน ซึ่งเป้าหมายของโรงเรียนที่กำหนดไว้นั้นจะต้องสอดคล้องกับแผนพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา  4 ปี  ซึ่งโรงเรียนจะต้องสร้างมาตรฐานเอง ดังนั้นการเขียนแผน 4 ปีจะต้องดูจากสารสนเทศที่มีอยู่  ปัญหาย้อนหลัง ที่เกิดขึ้นในอดีต ,นโยบายของผู้บริหาร  และผลการประเมินคุณภาพทั้งภายในและภายนอก โดยเฉพาะส่วนที่ ส.ม.ศ. เคยชี้แนะให้ปรับพัฒนาโรงเรียน(จุดเน้นในการประเมินภายนอกรอบที่3)  และนำไปกำหนดเป้าหมายแต่ละโครงการเช่น ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน ของนักเรียนทั้งโรงเรียนได้ผลการเรียนระดับ 2-4 จำนวนกี่คน   ทางโรงเรียนต้องการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของนักเรียน ให้มากขึ้นกว่าเดิม เช่นจากเดิม  60%  ก็อาจจะตั้งเป้าหมายที่เป็นไปได้ เช่นที่  65-70% เป็นต้น  หรือกำหนดให้ครูในโรงเรียนทุกคนต้องสอนและฝึกให้นักเรียนตอบคำถามว่าทำไม..... ทุกรายวิชาเพื่อฝึกนักเรียนคิดวิเคราะห์เป็นต้น โดยที่แต่ละโครงการ/กิจกรรม สามารถที่จะสะท้อนมาตรฐานได้หลายข้อก็ยิ่งดี  และที่สำคัญการทำงานแต่ละขั้นตอนในโครงการ/กิจกรรมควรมีร่องรอย หลักฐาน ( evidence base ) และการสะท้อนถึงกระบวนการทำงานควรจัดทำเป็นตางรางเพื่อติดตามงานหรือโครงการ/กิจกรรม เช่น

วัน/เดือน/ปี

งาน

สิ่งที่ดำเนินการ

อุปสรรค

ปัญหา

 

 

 

 

 

 

เพื่อจะทำให้ทราบว่าระหว่างการดำเนินงานนั้นมีอุปสรรค ปัญหาอะไรบ้าง และใช้ติดตาม ตรวจสอบ เร่งรัดการดำเนินงานได้ ในการประเมินผู้ประเมินจะไม่ดูข้อมูล และสิ่งที่เหมือนกันซ้ำๆ แต่จะดูสารสนเทศของโรงเรียน  โครงการ/กิจกรรมที่ทำพัฒนานักเรียนตรงไหน  มีความก้าวหน้าตรงไหน  จะต้องมีความเคลื่อนไหวให้สามารถตรวจสอบได้

                การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษา  ในส่วนนี้ถือว่าเป็นจุดอ่อนที่สำคัญ เพราะว่าการพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาไม่ได้อยู่ใครคนใดคนหนึ่งแต่อยู่ที่เนื้องานของบุคลากรในโรงเรียนทุกคนต้องมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบร่วมกันทุกคน ซึ่งเป็นหัวใจของการประกันคุณภาพถึงจะสามารถพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาได้  โดยเริ่มจากการทำงานแบบ PDCA  ของบุคลากรก่อน มีการประเมินตนเองพัฒนางาน เก็บงานอย่างเป็นระบบ มีการวางแผนงาน ติดตาม ตรวจสอบ ปรับปรุง หากทุกคนมีการประกันคุณภาพภายในแต่ละบุคคลแล้ว การพัฒนาคุณภาพสถานศึกษาจะไม่ใช่เรื่องยาก  ไม่ใช่เป็นการเพิ่มภาระงานแต่เป็นงานที่ทำอยู่ปกติอยู่แล้ว แต่ต้องทำให้เป็นปัจจุบัน ซึ่งต้องมีการเก็บข้อมูลที่ใช้ในการทำงานอย่างมีระบบและนำข้อมูลเหล่านี้ไปรวมเป็นสารสนเทศอีกทีเพื่อใช้ในการเขียนโครงการ/กิจกรรม วางแผนดำเนินงานต่อไป  ยกตัวอย่างเช่น   งานนิเทศฯ  การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ของครู  จะต้องเก็บจัดทำสำเนาขอครูทุกคน และมีการตรวจสอบการเขียนแผน ในแต่ละภาคเรียน และเมื่อถึงอีกภาคเรียนหนึ่งหรือปีการศึกษาหน้าก็จะต้องมีร่องรอยการเขียนแผนที่แตกต่างไปจากเดิม มีที่แปลกใหม่ ที่คาดว่าน่าจะดีกว่าเดิม เพราะปรับจากที่เคยมีปัญหามาจากภาคเรียนก่อนๆ เป็นต้น สามารถตรวจสอบดูได้ หากยังเหมือนเดิมใช้แผนการจัดการเรียนรู้เดิมตลอดก็จะไม่เกิดการพัฒนาในการจัดการเรียนการสอน  เป็นต้น

                ไม่มีโรงเรียนไหนที่มีคุณภาพโดยความบังเอิญ   ทุกคนในโรงเรียนจะต้องช่วยกันรับผิดชอบที่ชัดแจ้งร่วมกัน โดยทำงานตามแผนงานที่ตั้งไว้  ตรวจสอบ ติดตาม รายงานผล นำผลไปพัฒนา  โดยทำอะไรก็แล้วแต่ให้นึกถึงนักเรียนเป็นอันดับแรก  หากจะอบรมครูก็ให้อบรมครูแล้วจะนำไปสู่นักเรียนอย่างไรได้บ้าง  หากครูทุกคนร่วมกันทำ ผู้บริหารถือธงคุณภาพ ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนที่แย่แค่ไหนก็สามารถมีคุณภาพได้  หากครูทุกคนช่วยกันทำ ไม่ละเลยหน้าที่ของตนเอง แน่นอนว่าโรงเรียนสามารถพัฒนาไปได้แน่นอนแต่จะมากน้อยเท่าไหร่นั้นก็อยู่ที่หัวใจของบุคลากรในโรงเรียนรวมกันเป็นดวงใหญ่แค่ไหน

 

    ประชุมเรื่อง “กฎกระทรวง 2553 ระบบและกลไกการประกันคุณภาพภายในสู่การประเมินคุณภาพภายนอก”

   โดย ดร.ไพรวัลย์  พิทักษ์สาลี 

                                                                                      วันที่  29  กรกฎาคม  2553  ณ ห้องประชุมราชพฤกษ์ สพท.กทม.3

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 379658เขียนเมื่อ 30 กรกฎาคม 2010 00:39 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 20:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

คุณครู

เยี่ยมมากค่ะคำอธิบายชัดมาก เพิ่มการเรียนรู้ให้กับผู้ที่มีความรู้ จิ๋วๆอย่างเช่นดิฉัน

ยินดีครับที่ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้

วันนี้กลับมาอ่านอีครั้งเพราะทำงานแล้วทำไม่ได้ขอเอาข้อความของคุณส่งให้เพื่อนร่วมงานอ่านได้ไหม

ขออนุญาตก่อน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท