กลับมาแล้ว (อีกครั้ง)...เย้!


       ได้กลิ่นธูปลอยมาเป็นระยะ  สงสัยที่คณะจะคิดถึง (ฮิ! ฮิ!) คงต้องรีบเดินทางกลับลำปางเสียแล้ว  เพราะ  อีกไม่กี่วันก็จะครบ 2 อาทิตย์ที่ผู้วิจัยไม่มี (โอกาส) ยำกรายเข้ามหาวิทยาลัย  เนื่องจาก  เดินทางไปสงขลา 3 วัน   จากนั้นกลับมาแวะพักที่กรุงเทพฯ 2-3 วัน  แล้วเดินทางต่อไปที่ราชบุรีและกาญจนบุรีอีก 3 วัน  ก่อนที่จะมาตั้งต้นที่กรุงเทพฯเพื่อทำบุญในวันสำคัญทางศาสนา  ตอนนี้ก็ใกล้จะเสร็จภารกิจแล้ว  คงต้องกลับลำปางเสียที

       เมื่อต้องตะลอนทัวร์เช่นนี้จึงไม่มีโอกาสที่จะได้เข้ามาเขียนบันทึกตามที่ตั้งใจไว้  วันนี้เป็นฤกษ์งามยามดี  เพราะ  เพิ่งมีโอกาสอยู่บ้าน  จึงเข้ามาเขียนสักหน่อย 

       การเดินทางไปราชบุรีและกาญจนบุรีในระหว่างวันที่ 6-8 กรกฎาคม  2549  ของผู้วิจัยนั้น  ก่อนอื่นต้องขอขอบพระคุณอาจารย์ที่ให้ความกรุณาหลายท่าน  ไม่ว่าจะเป็นอาจารญ์ ดร.ทิพวัลย์  สีจันทร์ , รศ.ดร. ปัทมาวดี  ซูซูกิ  ที่ให้โอกาสผู้วิจัยในการเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้  รวมทั้งเครือข่ายวิจัยและพื้นที่ต้นแบบทุกท่านที่ให้ความรู้  ความเป็นกันเอง  การต้อนรับที่อบอุ่นตลอดการเดินทาง

       ผลจากการเข้าร่วมเวทีในครั้งนี้ (อ้อ! ลืมบอกไปค่ะว่าเวทีครั้งนี้  อยู่ภายใต้โครงการวิจัยเรื่องระบบแลกเปลี่ยนชุมชนเพื่อการพึ่งตนเอง)  ทำให้ผู้วิจัยได้รับความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมาย  รวมทั้งได้กำลังใจที่จะกลับไปทำงานต่อไปด้วย

      "การแลกเปลี่ยนโดยใช้คูปองเป็นสื่อกลาง" เป็นสิ่งแรกที่ผู้วิจัยตั้งใจว่าจะเอาความคิดนี้ไปขายให้กับชุมชน   ดังนั้น  ในวันนี้ผู้วิจัยจึงได้โทรศัพท์ไปปรึกษากับคณะกรรมการกลุ่มบ้านดอนไชยเกี่ยวกับแนวความคิดนี้  ซึ่งก็ได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี  ภายในเดือนกันยายนนี้คงเห็นผลที่เป็นรูปธรรม

      ปัจจุบันคณะกรรมการขององค์กรออมทรัพย์ชุมชนบ้านดอนไชย  ได้นำเงินในส่วนของกองทุนสวัสดิการคนทำงานมาลงทุนเปิดร้านค้าสวัสดิการชุมชน  ซึ่งเปิดมาตั้งแต่เดือนตุลาคม  2548  นี่เป็นทุนอย่างหนึ่งของชุมชนแห่งนี้  เราจะทำอย่างไรที่จะทำให้ทุนนี้เจริญเติบโตขึ้นอย่างมั่นคง  เพื่อให้เป็นทุนที่ยั่งยืนของชุมชนต่อไป

      สิ่งที่ผู้วิจัยคิดไว้ก็คือ  จะนำระบบคูปองมาใช้กับร้านค้าชุมชน  โดยเริ่มต้นการใช้คูปองในคณะกรรมการและสมาชิกของกลุ่มก่อน  จากนั้นถ้าได้ผลก็จะขยายแนวคิดนี้ไปสู่สมาชิกคนอื่นๆในชุมชนด้วย 

      1.ในกรณีของคณะกรรมการ   ปัจจุบันสิ่งหนึ่งที่ยังเป็นปัญหาอยู่ก็คือ  คณะกรรมการของกลุ่มบ้านดอนไชย  เมื่อมาทำงานในวันออมจะได้ค่าตอบแทน  คือ  เงินออมจำนวน 30 บาท  ซึ่งนำมาจากเงินกองทุนทดแทน  ในขณะที่กลุ่มอื่นๆจะจ่ายให้คณะกรรมการ 130 บาท  แบ่งเป็นเงินออม 30 บาท  และ  เงินค่าตอบแทน 100 บาท  เมื่อเป็นเช่นนี้จึงทำให้เกิดการเปรียบเทียบกันขึ้น  แม้กลุ่มดอนไชยจะพยายามแก้ไขปัญหาโดยเมื่อถึงสิ้นปีจะมีการมอบค่าตอบแทนเป็นเงินก้อนให้กรรมการจำนวนหนึ่งแล้วก็ตาม  แต่ก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นบ้างประปราย

      ผู้วิจัยจึงมีแนวความคิดว่าจะทำอย่างไรที่จะสามารถจ่ายเงินตอบแทนการทำงานให้กับคณะกรรมการได้อย่างสมนำสมเนื้อ  และเงินเหล่านั้นยังอยู่ภายในกลุ่ม/ชุมชน  การนำคูปองมาใช้น่าจะเป็นทางเลือกหนึ่ง  โดยในการจ่ายค่าตอบแทนน่าจะใช้ 2 ระบบควบคู่กัน  คือ  จ่ายเป็นเงิน 30 บาท  เพื่อออมให้คณะกรรมการทุกเดือน  อีกส่วนหนึ่งจ่ายเป็นคูปอง  ซึ่งจะจ่ายเป็นรายเดือนหรือรายปีก็ได้  ถ้าจ่ายเป็นรายเดือนก็จ่ายคูปองมูลค่า 100 บาท/คน  ถ้าจ่ายเป็นรายปีก็จ่ายคูปองมูลค่า 1,200 บาท/คน  ให้กรรมการ  การที่ต้องจ่ายเป็นคูปองก็เพื่อให้คณะกรรมการนำคูปองเหล่านี้มาซื้อสินค้าที่ร้านค้าสวัสดิการชุมชน  ผลกำไรที่ร้านค้าได้ก็ยังอยู่ในชุมชน  แต่ถ้าจ่ายเป็นเงิน  เงินนั้นก็อาจถูกนำไปใช้ผิดประเภท  หรือนำไปใช้จ่ายนอกชุมชน 

      ในส่วนนี้  พี่นก  ยุน  บอกว่า  เห็นด้วย  แต่อยากจะขอเพิ่มเติมว่าในช่วงแรกๆ  อาจจ่ายทั้งในรูปของคูปอง  และสิ่งของ  แต่จะไม่จ่ายเป็นเงิน

      2.ในส่วนของสมาชิก  เนื่องจากกองทุนสวัสดิการชุมชนบ้านดอนไชย  มีสมาชิกจำนวนหนึ่งที่สมัครเป็นสมาชิกกองทุนหมุนเวียน (เพื่อการกู้ยืม) ด้วย โดยปกติเมื่อถึงสิ้นปีก็จะมีการปันผลให้กับสมาชิก 

      ต่อจากนี้ไป  ควรมีการนำระบบคูปองของกลุ่มเข้ามาใช้  โดยเมื่อต้องปันผลให้กับสมาชิกทุกสิ้นปีจะเปลี่ยนจากจ่ายเงิน  มาเป็นจ่ายเป็น "คูปอง" แทน  เพื่อให้สมาชิกนำคูปองนั้นมาซื้อสินค้าในร้านค้าสวัสดิการชุมชน

      นอกจากนี้แล้ว  ผู้วิจัยยังเห็นว่าในวันออมสมาชิกจะมาออมเงินกันมากมาย  แต่ที่ผ่านมามีเพียงกิจกรรมการออมเท่านั้น  ยังไม่มีกิจกรรมอื่นๆ  ดังนั้น  เริ่มตั้งแต่เดือนกันยายน  2549 นี้เป็นต้นไป  ในวันออม  คณะกรรมการจะต้องนำสินค้าในร้านค้าสวัสดิการชุมชนมาจำหน่ายบริเวณที่ออมด้วย  เพื่อให้วันออมมีกิจกรรมที่หลากหลาย  ร้านค้าก็จะไม่ต้องสูญเสียรายได้ด้วย  เนื่องจาก  ที่ผ่านมาเมื่อถึงวันออมจะไม่มีคนเฝ้าร้านค้า  จึงจำเป็นที่จะต้องปิดร้านไปโดยปริยาย 

      การซื้อขายสินค้าในวันออมนั้นมีกติกาพิเศษอยู่อย่างหนึ่งก็คือ  ผู้ซื้อจะต้องนำเงินมาแลกเป็นคูปองก่อน  แล้วนำคูปองนั้นมาแลกสินค้าอีกครั้งหนึ่ง  เราจะไม่มีการรับเงินสดโดยเด็ดขาด

     มีคำถามที่เกิดขึ้นอย่างน้อย 2 คำถาม  คือ

     1.การใช้คูปองแลกซื้อสินค้ากับการใช้เงินแลกซื้อสินค้ามีความแตกต่างกันอย่างไร?

      สำหรับในกรณีนี้  หากใช้คูปองแลกซื้อสินค้า  ทางร้านค้าจะให้แต้มสะสมเพิ่มเติม  อธิบายง่ายๆก็คือ  ปัจจุบันหากสมาชิกมาซื้อสินค้า (ด้วยเงิน) คณะกรรมการจะออกบิลให้สมาชิกเป็นผู้เก็บเอาไว้  เมื่อถึงสิ้นปี  สมาชิกจะรวบรวมบิลเพื่อนำมาแลกของขวัญที่ทางร้านค้าจัดเตรียมไว้  โดยของขวัญเหล่านี้นำมาจากของแถมที่ทางร้านค้าได้รับ  รวมทั้งของที่ร้านค้า/ชุมชนผลิตได้  แต่ต่อไปเมื่อนำระบบคูปองเข้ามาใช้  ผู้ที่ใช้คูปองจะได้รับแต้มสะสมพิเศษ  เช่น  ซื้อสินค้าด้วยคูปอง 100 บาท  จะเท่ากับซื้อสินค้าด้วยเงินสด 120 บาท (ตัวเลขสมมติ) หากสะสมยอดได้มาก  ของขวัญที่ได้รับก็จะมีมูลค่ามากตามไปด้วย

      2.จำเป็นหรือไม่ที่ต้องใช้คูปอง?  ถ้าไม่ใช้คูปอง  ใช้เงินในการซื้อสินค้าได้ไหม  แต่ถ้าใครเป็นสมาชิกก็ให้บวกแต้มสะสมไปเลย

      ผู้วิจัยเห็นว่า "คูปอง" มีความจำเป็นที่จะต้องนำมาใช้  เพราะ  เรามองคูปองในฐานะ "สื่อ" แบบใหม่ที่สามารถนำมาใช้เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนได้  แม้จะยังอยู่ในวงจำกัดก็ตาม  แต่ถ้าเราทำดีๆก็อาจขยายไปสู่ส่วนอื่นๆได้  นอกจากนี้แล้ว  ในระยะแรก  "คูปอง" ยังเป็นเครื่องมือในการควบคุมพฤติกรรมของสมาชิกและกรรมการอีกด้วย  เพราะ  คูปองจะสามารถใช้ได้กับร้านค้าสวัสดิการชุมชนเท่านั้น  หากมีผู้ใช้คูปองมาก  นั่นหมายความว่าร้านค้าจะมีรายได้มากขึ้นตามไปด้วย  เมื่อมีรายได้มากขึ้น  ทางร้านก็จะมี "ทุน" ในการที่จะนำมาปรับปรุง  ขยาย  ร้านค้าให้ครบวงจรมากขึ้น  รวมทั้ง  สินค้าในร้านก็จะมีของที่ผลิตได้โดยชุมชนมากขึ้นตามไปด้วย

 

หมายเลขบันทึก: 37922เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2006 15:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
     ยินดีต้อนรับกลับบ้านตนเอง เนอะ! คราวนี้มาพร้อมรูปประจำ Blog เชียวครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท