pywn
นาย เพชรศรายุธ วัชราวุธพัฒนา

เว็บเซอร์วิส คือ อะไร?


"เว็บเซอร์วิส" ของใหม่ที่คนทำเว็บต้องรู้ และรีบสร้างก่อนตกขบวน                
              
              ผู้เชี่ยวชาญทางด้านเทคโนโลนีสารสนเทศหลายคนเชื่อว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ การพัฒนาเว็บไซต์จะมีลักษณะการให้บริการแบบแยกส่วนตามความชำนาญ และมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น บนเว็บไซต์ของหน่วยงานต่างๆ ทั้งภาครัฐ และเอกชน ทำให้การเข้าใช้งานบนหน้าจอเดียวอาจครอบคลุมในทุกบริการ เรียกได้ว่าสามารถ ทำได้ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบ โดยบริษัทเอกชนจำนวนมาก เริ่มให้ความสนใจในเรื่องเว็บเซอร์วิส เพราะสามารถสร้างความได้เปรียบ สร้างรายได้ และช่วยลดต้นทุน
 

              นายอภิรักษ์  ปนาทกูล  ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เอ็กซิบิส จำกัด
อธิบายว่า เว็บเซอร์วิส (Web services) ไม่ใช่การบริการบนเว็บไซต์ที่เรียกว่า เว็บแอพลิเคชัน (Web Application) ยังมีคนจำนวนมากไม่เข้าใจว่าเว็บเซอร์วิสคืออะไร จริงๆแล้ว เว็บไซต์มีองค์ประกอบ 3 ส่วน ได้แก่ เว็บเซิร์ฟเวอร์ เว็บเบราเซอร์ และตัวผู้ใช้งาน การจะสร้างเว็บไซต์ได้ต้องสร้าง HTMLจากภาษาใช้เขียนที่มีอยู่หลากหลาย เช่น PHP, ASP, Tomcat และ Apache โดยมาตรฐานภาษาก็แตกต่างกัน เช่น .NET, PHP หรือ Java               
              นายอภิรักษ์ อธิบายต่อว่า การเข้าดูเว็บไซต์ต้องใช้โปรแกรมที่เรียกว่า เบราเซอร์ เพื่ออ่าน
HTML ที่มีให้ใช้งานมากมาย เช่น Mozila, Opera, Netscape และ Microsoft Internet Explorer การทำเว็บไซต์ที่เป็นเว็บแอพลิเคชัน จุดประสงค์หลักก็คือ การอัพเดทข้อมูล และเนื้อหาบนโฮมเพจ โดยการอัพเดทด้วยคน อาจเกิดความผิดพลาด (Human Error) มีค่าใช้จ่ายสูง และข้อมูลไม่ทันต่อความต้องการ เพราะต้องรอให้คนดูแลเว็บไซต์ดำเนินการ จึงเกิดแนวคิดว่าถ้าไม่ต้องอัพเดทด้วยคน แต่สามารถดึงข้อมูลจากเซิร์ฟเวอร์เครื่องอื่นได้เอง อะไรจะเกิดขึ้น 
             
เว็บเซอร์วิส จึงเป็นเทคโนโลยีที่ทำให้แอพลิเคชันต่างๆ แลกเปลี่ยนข้อมูลกันได้ แม้ว่าแอพลิเคชันเหล่านี้จะสร้างบนสถาปัตยกรรม ภาษา และฐานข้อมูลที่แตกต่างกัน เว็บเซอร์วิสสามารถทำให้แอพลิเคชันต่างๆ สามารถ Interface กันได้โดยใช้ XML เป็นภาษากลางในการสื่อสารผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อให้มีมาตรฐานร่วมกันในการสื่อสารด้วยภาษา XML การทำงานแบบนี้เรียกว่า "ระบบสั่งงานระยะไกล" หรือ Remote Procedure Call การสื่อสารแบบนี้ เลียนแบบความสำเร็จของ HTML นั่นเอง 
              
"สิ่งที่ทำให้เซิร์ฟเวอร์ทั้งสองฝั่งสามารถแลกเปลี่ยนแอพลิเคชันในรูปแบบ XML ได้คือ Sample Object Access Protocol: SOAP เป็นการสื่อสารแบบ ส่งข้อมูลของเว็บเซอร์วิส อย่างที่ 2 คือ Web Services Description Language: WSDL ในลักษณะคอมมานด์ไลน์ที่เป็น บวกคีย์เวิร์ด Text ที่ใช้ URL เหมือนกับเว็บแอพลิเคชัน โดยสามารถบอกที่อยู่ของเซอร์วิส เซอร์วิสที่เปิดบริการมีอะไรบ้าง และวิธีการเรียกใช้ สุดท้ายเป็นเครื่องมือหาเว็บเซอร์วิส เรียกว่า UDDI" ผู้จัดการฝ่ายเทคโนโลยี บริษัท เอ็กซิบิส จำกัด กล่าว 
             
ทั้งนี้ ผู้เชี่ยวชาญด้านเว็บเซอร์วิส ยกตัวอย่างให้ฟังว่า เหตุใด อเมซอน ดอทคอม ถึงอยากเปิดเว็บเซอร์วิส เพราะเห็นถึงรายได้ที่มากกว่า ช่วยให้เห็นโอกาสในการทำธุรกิจ ผู้ชมสามารถเรียกดูสิค้าจากเว็บเซอร์วิสได้ทันที และอเมซอนก็ไม่ต้องสต็อกสินค้าไว้ โดยจะสั่งสินค้าก็ต่อเมื่อมีการสั่งซื้อมาเท่านั้น ส่วน อี-เบย์ ทำเว็บเซอร์วิส เพื่อการหาข้อมูลราคาสินค้า ผู้ฝากของประมูลสามารถกำหนดราคาขายที่พอใจ โดยไม่ต้องนั่งเฝ้าหน้าจอ เพื่อรอการเสนอราคาจากคนอื่นๆ
              
"เชื่อได้ว่า เว็บเซอร์วิสต้องโตได้แน่นอน เซอร์วิสแรกๆที่น่าจะเริ่มใช้งานคือ กลุ่มสถาบันการเงิน และการติดต่อกันภายในองค์กรขนาดใหญ่ ที่มีหน่วยงานย่อยๆมากมาย สำหรับในเอเชีย ตัวอย่างที่เห็นชัดๆ คือ ในประเทศญี่ปุ่น รูปแบบของเว็บไซต์จัดหาคู่มีความนิยมที่สูงมาก เพียงใส่ข้อมูลส่วนตัวก็สามารถหาหญิงหรือชายที่มีลักษณะเหมาะสมได้ในไม่กี่อึดใจ และยังมีราคาที่ถูกด้วย" นายอภิรักษ์ กล่าวทิ้งท้าย 
               
ส่วน นายเอกศักดิ์ อมรมธุรภจน์ นักพัฒนาเทคโนโลยี.NET ให้ความเห็นว่า ขณะนี้ เว็บเซอร์วิสเป็นเทคโนโลยีที่ยังไม่นิ่งพอ เนื่องจากมีการพัฒนาหลายส่วนที่เป็นภาษาต่างๆกัน และมาตรฐานด้านความปลอดภัยยังไม่มีอะไรที่แตกต่างจากที่ใช้บนเว็บแอพลิเคชัน แพลตฟอร์มที่ใช้พัฒนาขณะนี้ ยังเป็นของปัจจุบัน นักพัฒนาไม่สามารถทราบถึง เทคโนโลยีที่ใช้อยู่ และไม่รู้ถึงอนาคต เมื่อถึงวันนั้นจะมีใช้อยู่หรือไม่ แต่สิ่งที่สามารถพัฒนาไปได้ คือ การมุ่งเน้นไปใช้ร่วมกับเทคโนโลยี กริด คอมพิวติ้ง (GRID Computing)
              
ด้าน นายแอนดรูว์ แม็คบีน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด อธิบายในงานสัมมนากึ่งปฏิบัติการ Fundamental Web Services ของสมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ในหัวข้อ "อนาคตของอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์" ว่า ในประเทศต่างๆทั่วโลก ขณะนี้ มุ่งสู่การสร้างบริการเว็บเซอร์วิส โดยเวลานี้เป็นช่วงเริ่มต้นของการพัฒนา ไมโครซอฟท์เชื่อว่า คนไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาซอฟต์แวร์เว็บเซอร์วิสได้ คาดว่าภายในปี พ.ศ. 2552 คนไทยจะสามารถพัฒนาซอฟต์แวร ์เกี่ยวกับบริการเว็บเซอร์วิสจนได้รับการยอมรับ จากต่างประเทศ และสามารถส่งออกสร้างรายได้ให้กับประเทศถึง 180,000 ล้านบาท 
              
กรรมการผู้จัดการ ไมโครซอฟท์ อธิบายต่อว่า เวลานี้ทุกอุตสาหกรรมในโลก กำลังต่างมุ่งสู่มาตรฐานกลางในการเชื่อมโยงข้อมูล และบริการต่าง ๆทางเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ผ่านอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในชีวิตประจำวัน เช่น พีดีเอ โทรศัพท์มือถือ และ iPOD ทั้งนี้ เพื่อตอบความต้องการของ ผู้บริโภค โดยมาตรฐานกลางที่จะนำมาใช้มี 2 มาตรฐาน คือ มาตรฐานเว็บเซอร์วิส เป็นมาตรฐานกลางของบริการบนเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและ มาตรฐาน XML เป็นมาตรฐานการเชื่อมโยงข้อมูลที่พัฒนาขึ้นในรูปแบบที่ต่างกัน
              
"ประเทศไทยมีนักพัฒนาซอฟต์แวร์ ด้านเว็บเซอร์วิสเพียง 500 คน ดังนั้น ไมโครซอฟท์จะเปิดโครงการ "Global Web service Hub" ขึ้น เพื่อส่งเสริม และสนับสนุนนักพัฒนาซอฟต์แวร์ไทย โดยผลักดันให้อุปกรณ์หลากหลายชนิด สามารถดาวน์โหลด แอพลิเคชันในบริการเว็บเซอร์วิสไปใช้ได้ ที่ผ่านมานโยบายภาครัฐและกระทรวงไอซีทีก็พยายามผลักดันให้ตรงนี้เกิดขึ้น แต่ปัญหาหลักในเรื่องทรัพย์สินทางปัญญา ซอฟต์แวร์เถื่อน ยังเป็นจุดด้วยที่ต้องแก้ไข" นายแอนดรูว์ กล่าวทิ้งท้าย 
              
สำหรับบรรยากาศภายในงานสัมมนากึ่งปฏิบัติการ Fundamental Web Services ครั้งนี้ พบว่า มีผู้สนใจเข้าร่วมงานกันอย่างคับคั่ง เต็มความจุของห้องบรรยาย อีกทั้ง ยังมีโอกาสได้รับฟังการแลกเปลี่ยนความเห็นกับบรรดาเว็บมาสเตอร์ขององค์กรต่างๆ และนิสิตนักศึกษา กับวิทยากร แสดงเห็นถึงความสนใจในเทคโนโลยี และการพัฒนาเว็บเซอร์วิสที่มีมากมายหลายภาษา 
              
ผู้เข่าร่วมการสัมมนาหลายคน แสดงความคิดเห็นว่า ยังมีคนที่ใช้งานอินเทอร์เน็ตอย่างน้อย ครึ่งหนึ่ง ไม่รู้จักว่าเว็บเซอร์วิสคืออะไร ส่วนที่เหลือรู้จักเทคโนโลยีนี้ แต่ทว่า 3 ใน 5 ของกลุ่มนี้ รู้จักแค่เพียงผิวเผิน หรือเข้าใจผิดว่าการให้บริการบนเว็บไซต์หมายถึงเว็บเซอร์วิส จึงต้องเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายให้ความรู้ และผลักดันกันอย่างจริงจัง
              
อย่างไรก็ตาม สมาคมผู้ดูแลเว็บไทย ประกาศว่ามีแผนงานที่ชัดเจนแล้วว่า จะทำอะไรบ้างในอีก 3 ปีต่อจากนี้ และยืนยันว่าจะมีการอบรมแก่เยาวชนผู้ที่สนใจ "เว็บเซอร์วิส" ในโครงการต่อๆไปอย่างแน่นอน 
              
ทั้งนี้ นอกจากจะช่วยให้ประเทศไทยวิ่งขึ้นตามขบวนเทคโนโลยีได้แล้ว การรู้จักการใช้งาน อย่างถ่องแท้ก็เป็นเรื่องจำเป็น และหากตามเทคโนโลยีทัน แต่หาช่องทางในธุรกิจและ อุตสาหกรรมไม่ถูก อาจต้องยืนมองคนอื่นประสบ ความสำเร็จฝ่ายเดียวต่อไป…

                จุลดิส รัตนคำแปง
               
[email protected]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3787เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2005 17:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 22:53 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท