beeman 吴联乐
นาย สมลักษณ์ (ลักษณวงศ์) วงศ์สมาโนดน์

เรื่องเล่าเกี่ยวกับผึ้งตัวผู้ (Drone)


แต่ในความโชคดีนั้นก็มักมีความโชคร้ายแฝงตัวเข้ามาด้วยเสมอ

    เมื่อวันศุกร์ที่ 7 กรกฎาคม 2549 ผมไปฉายสไลด์สอนนิสิต ตอนหนึ่งมีเรื่องราวเกี่ยวกับผึ้งตัวผู้ ผมเลยขอนำมาเล่าเพิ่มเติมในบันทึกนี้ครับ

    ดูภาพแรกกันก่อน ผึ้งตัวผู้หรือ Drone คือภาพขวาสุดนะครับ ตัวเต็มวัยหรือ Adult เขามีหน้าตาดังภาพครับ มีคำถาม

  1. ตาโตๆ ปลายท้องมนๆ คือลักษณะของผึ้งตัวผู้ แต่ว่าเขามีตาโตๆ ไว้ทำไมเอ่ย
  2. แถมหนวดของเขาก็มีปล้องถึง 13 ปล้อง มากกว่าผึ้งงาน 1 ปล้องครับ
     
   
 

ภาพที่ ๑ ภาพแสดง ผึ้งนางพญา, ผึ้งงาน และผึ้งตัวผู้

 
     

   ภาพที่สอง แสดงภาพถ่ายของผึ้งตัวผู้ครับ (ตัวที่ตาใหญ่ที่สุด)

     
     
 

 ภาพที่ ๒ ผึ้งตัวผู้ (Drone)

 

   การเจริญของผึ้งตัวผู้เมื่ออยู่ในหลอดรวง จะเป็นระยะไข่ 3 วัน ระยะตัวหนอน 7 วัน และระยะหลอดปิด (sealed brood) 14 วัน รวมระยะการเจริญเติมโตทั้งสิ้น 24 วัน

   ตัวผู้ที่เป็นตัวเต็มวัยแล้ว เมื่อออกจากหลอดรวงมาได้ 10 วัน ก็จะฝึกบินอยู่ใกล้ๆ รัง และตั้งแต่วันที่ 16 เป็นต้นไปก็จะบินไปรวมกันอยู่บริเวณที่เรียกว่า Drone congregation area หรืออาจจะเรียกว่า "แหล่งรวมผึ้งตัวผู้" ซึ่งมักจะเป็นต้นไม้ที่มีพุ่มใหญ่ๆ (ผึ้งตัวผู้ที่อยู่บริเวณนี้ มาจากผึ้งหลายรังหรือหลาย colonies)

   ผึ้งตัวผู้ไปรวมตัวกันทำไมหรือครับ เขาก็ไปรอผึ้งนางพญาสาวหรือผึ้งนางพญาพรหมจรรย์ (Virgin Queen) ยังไงเล่าครับ เขาจะออกไปจากรังตั้งแต่ราวๆ เที่ยงๆ ถึงบ่ายโมงครับ

   และถ้าบังเอิญโชคดีวันนั้น ผึ้งนางพญาสาวบินผ่านมา พวกเขาก็จะรีบบินตามไป และมีหลายตัวที่โชคดี ได้ผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาสาวกลางอากาศ แต่ในความโชคดีนั้นก็มักมีความโชคร้ายแฝงตัวเข้ามาด้วยเสมอ คือ ในบรรดาผึ้งตัวผู้ที่โชคดีเหล่านั้น เขาก็จะตายทุกตัวเหมือนกัน เรียกว่าตายกลางอากาศกันเลยทีเดียว เพราะอะไรหรือครับ เพราะว่า อวัยวะสืบพันธุ์ของตัวผู้มีขนาดใหญ่ และเมื่อผสมพันธุ์กับผึ้งนางพญาแล้ว เจ้าอวัยวะนี้ก็จะขาดติดกับผึ้งนางพญาไป (และผึ้งตัวผู้ตัวสุดท้ายที่ได้ผสมพันธุ์กับนางพญา ก็จะมี "สัญญลักษณ์ของผึ้งตัวผู้" หรือ Drone Sign ฝากผึ้งนางพญาเป็นที่ระลึกกลับมายังรังด้วย)

   แต่นับว่ายังโชคดีที่ครั้งหนึ่งในชีวิตได้ผสมพันธุ์แล้ว นับว่าตายไม่เสียชาติเกิดที่เป็นชาย

   แต่หลายตัวโชคร้ายกว่านั้น คือบินไปรอสาวทุกวัน แต่ก็ไม่เคยได้ผสมพันธุ์เลย แล้วพวกเขาก็จะแก่ตายไป

   ในบรรดาพวกที่แก่ตายก็นับว่ายังโชคดี เพราะว่ามีผึ้งตัวผู้หลายตัวถูกทอดทิ้ง ไม่ใช่ถูกทอดทิ้งธรรมดา แต่เขาจะถูกผึ้งงาน (ซึ่งเป็นผึ้งตัวเมีย) ลากออกไปทิ้งนอกรัง เนื่องจากความขาดแคลนอาหาร

   ก็เพราะพ่อเจ้าพระคุณ ผึ้งตัวผู้ทั้งหลายนี่ วันๆ ก็ไม่ได้ทำงานอะไร คอยแต่จะกิน (กินจุด้วย) แล้วก็รอเวลาไปผสมพันธุ์

    เมื่ออาหารขาดแคลน ก็เลยเป็นชนชั้น (Caste) วรรณะ พวกแรกที่จะถูกกำจัดออกไปจากรัง.......ชีวิตของพวกเขาน่าสงสารไหมครับ

     
     
  ภาพที่ ๓ อวัยวะสืบพันธุ์ของผึ้งตัวผู้ (Drone sign) ติดอยู่ที่ปลายท้อง
หรือ Vagina ของผึ้งนางพญา
 

อ้างอิง

  1. http://ag.arizona.edu/pubs/insects/ahb/lsn11.html
  2. http://www.scottcamazine.com/photos/Bee/index.htm
  3. http://www.frugalbee.com/Honey_Bee_Stuff/
    Honey_bee_queen_rearing/good8399.JPG

 

หมายเลขบันทึก: 37858เขียนเมื่อ 9 กรกฎาคม 2006 00:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2013 08:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ตอยคำถาม 1และ 2 ข้อ ครับ

1. การที่ผึ้งตัวผู้มีตาโต เพราะ เป็นการเพิ่มความสามารถในการมองเห็นครับ

2. การที่หนวดของผึ้งตัวผู้มีปล้องมากกว่าผึ้งงาน เพราะ เพื่อเพิ่มความสามรถในการรับกลิ่น

 โดยลักษณะทั้ง 2 นี้เป็นลักษณะเฉพาะที่มีเพียงเพื่อการผสมพันธุ์กับนางพญาเท่านั้น

ขอโทษด้วยครับ ใช้ภาษาผิด ต้องเป็นข้อ 1 และ 2 ครับ
  • ถูกต้องครับ...
  • ขอขอบคุณที่มาร่วมสนุก และให้ความรู้กับผู้อื่นครับ
  • เวลาพิมพ์แล้ว ก่อนตีพิมพ์ขอให้ตรวจทานภาษาให้ดีเสียก่อนนะครับ เพราะว่าในข้อคิดเห็น แก้ไม่ได้ แต่ลบได้ครับ
  • หรือว่ามาแก้ไขเพิ่มเติมในข้อคิดเห็นถัดไปได้
  • คำว่า "สามารถ" ก็พิมพ์ผิดครับ
อาจารย์คะ เค้าจะมีผึ้งที่สอนให้ผึ้งตัวผู้กลายเป็นผึ้งงานไหมคะ จะได้ไม่ต้องถูกผึ้งงาน (ซึ่งเป็นผึ้งตัวเมีย) ลากออกไปทิ้งนอกรัง

เรียนคุณใบบุญ

  • ผึ้งจดจำกันโดยใช้ Pheromone และ detect กันโดยใช้หนวดและตา
  • และผึ้งมีสมองอันน้อยนิด มีการเรียนรู้เพียงเล็กน้อย (เน้นว่า ผึ้งมีการเรียนรู้ตามประสบการณ์นะครับ) ดังนั้นจึงสอนให้ผึ้งตัวผู้กลายเป็นผึ้งงานไม่ได้ (ผมสงสัยว่า แล้วใครจะเป็นครูสอนล่า พวกพี่ๆ ที่เป็นผึ้งงานตัวเมียเหรอ)
  • โครงสร้างและสรีรวิทยาของผึ้งตัวผู้ ไม่ได้ถูกธรรมชาติออกแบบมาให้ต้องทำงานในรัง
  • ดังนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ ที่จะทำให้ผึ้งตัวผู้กลายเป็นพวกของผึ้งงานนะครับ

         เพิ่มเติม ที่น่าสงสารผึ้งตัวผู้ไปกว่านั้น คือ เวลาเก็บน้ำผึ้ง ผู้เลี้ยงผึ้งจะใช้มีดปาดบริเวณหลอดรวงของผึ้งตัวผู้ทิ้ง เพราะว่าถ้าปล่อยให้ผึ้งตัวผู้เกิดมา ก็จะเปลืองอาหาร ที่เหล่าผึ้งงานนำมาเก็บสะสมไว้ในรังครับ

         หวังว่าคงคลายความสงสัยของคุณใบบุญไปได้ และขอขอบคุณที่มาเยี่ยมและตั้งคำถามครับ เพื่อ Share ให้ท่านอื่นๆ ได้รับความรู้ไปด้วย...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท