ความสำคัญของวิชาการค้นคว้าและการใช้ห้องสมุด กับการแก้ปัญหานิสิตค้นคว้าไม่เป็น


ทำอย่างไร ให้ผู้ใช้บริการ รู้จักค้นคว้าด้วยตนเอง

ดิฉันเริ่มต้นเขียนบทความนี้ขึ้นมาด้วยการได้พบเห็นสภาพที่เป็นจริงของนิสิตใหม่ในช่วงเปิดภาคการศึกษา ช่วงหลายสัปดาห์ที่ผ่านมากระทั่งวันนี้ คนทำงานในห้องสมุดต้องประสบปัญหาการจัดเก็บหนังสือจำนวนมากเท่าที่เคยพบ ด้วยภาพหนังสือกองพะเนินบนชั้นพักหนังสือใช้แล้ว แถมด้วยหนังสือล้มไม่เป็นท่าเป็นแถวยาว แทบทุกชั้นหนังสือ ....  เป็นภาพที่ไม่เคยพบมากมายขนาดนี้  ตามจริงแล้ว ที่ผ่านมาคนทำงานขึ้นชั้นหนังสือ เคยพบสภาพนี้มาบ้างแล้ว ในทุกภาคการศึกษาฤดูร้อน ของนิสิตป โท ครูประจำการ  ด้วยการเรียนที่จำกัดเวลาและอาจเป็นว่าการบ้านที่อจ. ให้มาค้นคว้ามากมาย  จึงทำให้ผู้ใช้บริการที่มักใช้คอมพิวเตอร์สืบค้นไม่เป็น หยิบหนังสือจากชั้นมาเป็นกองๆ แล้วมาเปิดดูจากตัวเล่มมากกว่า

               

                แต่ ณ ปัจจุบัน สภาพเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วกับนิสิตรุ่นใหม่ แต่คนทำงานห้องสมุด ก็คิดในแง่บวกว่า อาจเป็นเฉพาะช่วงแรกซักพัก เป็นช่วงที่นิสิตใหม่ที่เพิ่งพ้นจากรั้วโรงเรียน  ยังไม่รู้จักวิธีการเรียนรู้แบบช่วยตนเอง  จากเดิมที่ครูป้อนให้  และยังไม่รู้วิธีการค้นคว้า ...

               

                อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่น่าเป็นห่วง สำหรับมหาวิทยาลัยที่ ไม่มีวิชาบังคับ การศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง หรือการใช้ห้องสมุด   หากเป็นสถาบันที่มีการสอนหลักสูตร Library & Information Science  หรือที่เรียกว่า บรรณารักษศาสตร์และสารนิเทศศาสตร์ คงไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีการเรียนการสอนวิชาการค้นคว้าเบื้องต้นเป็นวิชาเลือก หรือบังคับแน่นอน   แต่สำหรับสถาบันที่ไม่มีวิชาเหล่านี้บรรจุไว้ หรือมีแต่เป็นวิชาเลือก  นิสิตที่สนใจเลือกเรียนเองคงมีไม่มาก   ด้วยอาจเป็นชื่อ วิชาที่ดูไม่น่าสนใจ ไม่ทันสมัย น่าเร้าใจ  ก็ยิ่งไม่มีคนเลือกเรียนเข้าไปใหญ่

               

                ในฐานะคนทำงาน เราคงไปโทษปัจจัยอื่นคงไม่ดีเท่าไหร่นัก  คงเป็นหน้าที่รับผิดชอบหนึ่งของห้องสมุดเองด้วย ที่ต้องหาวิธีการช่วยตนเอง ด้วยการ ทำอย่างไร ให้ผู้ใช้บริการ ซึ่งเป้าหมายหลักก็คือนิสิต  รู้จักค้นคว้าด้วยตนเอง และใช้ห้องสมุดเป็น อาจโดยการประชาสัมพันธ์เชิกรุก หรือให้บริการเชิงรุก หรือใช้เทคนิคกลยุทธ์ใหม่ๆ เข้ามาช่วยให้ห้องสมุดน่าดึงดูดใจเข้ามาใช้

 

                สิ่งที่อยากเสนอแนะอีกอย่างหนึ่ง  ก็คือ การบรรจุให้ การศึกษาค้นคว้าเบื้องต้น หรือการใช้ห้องสมุดเบื้องต้น เป็นรายวิชาบังคับ อาจไม่คิดเกรด เพียงให้ผ่านหรือไม่ผ่าน เหมือนหลายมหาวิทยาลัยที่บังคับให้นิสิตต้องสอบผ่านวิชาภาษาอังกฤษพื้นฐานทุกคนในปีแรก  หรืออาจารย์ที่ปรึกษา หรืออาจารย์ผู้สอนในรายวิชาพื้นฐาน แนะนำให้นิสิตมาเข้าฟังการแนะนำการใช้ห้องสมุดในช่วงภาคเรียนแรก  ซึ่งห้องสมุดจัดเป็นประจำทุกปีก็น่าจะเป็นประโยชน์มาก

หมายเลขบันทึก: 37755เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2006 01:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 22:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)
ดิฉันพึ่งจบการแนะนำการสืบค้นข้อมูล ของนิสิตปริญญาโทสาขาหลักสูตรและการสอนค่ะ ผู้เข้าร่วมรับฟังมากพอสมควร นับเป็นกำลังใจในการจัดกิจกรรมของห้องสมุดที่มี อาจารย์ผู้สอนให้ความสำคัญและให้เวลานิสิตมารับการอบรม ต้องขอบคุณ อ. สุภาณี เส็งศรี มากค่ะ

ผมรู้สึกเห็นใจและเข้าใจเจ้าหน้าที่ครับ ที่ยังมีผู้ใช้บริการที่ยังไม่รู้และไม่เข้าใจการค้นคว้าด้วยตนเอง จึงทำให้มีการจัดเก็บและขึ้นชั้นหนังสือมากผิดปกติ ผมขออนุญาตเสนอแนะดังนี้ครับ (1) จัดเจ้าหน้าที่ส่วนหนึ่งมาคอยให้บริการแนะนำการใช้โดยเฉพาะกับผู้ใช้บริการที่ยังค้นคว้าด้วยตนเองยังไม่เป็นซึ่งคงเป็นเฉพาะการใช้ครั้งแรกๆเท่านั้นครั้งต่อไปผู้ใช้บริการก็จะใช้เป็นและค้นคว้าด้วยตนเองได้ (2) นำระบบ RF-ID (Radio Frequency Identification) มาใช้งานห้องสมุด การให้บริการจะทำให้ง่ายต่อการให้บริการยืม-คืน, จัดเก็บ และขึ้นชั้น โดยใช้งานย่านความถี่ต่ำ (Low Frequency: LF) ต่ำกว่า 135 kHz หรือย่านความถี่สูง (High Frequency: HF) 13.56/27.125 MHz ก็น่าจะเพียงพอแล้วครับสำหรับงานห้องสมุด และไม่ต้องขอใบอนุญาตต้วยครับหากกำลังส่งไม่เกิน 5 mW (EIRP)

ผมว่างานห้องสมุดก็เป็นงานบริการ และนิสิตหรืออาจารย์เข้ามาใช้ห้องสมุดเยอะ เห็นชั้นหนังสือกองพะเนิน ถ้าเป็นผม ผมว่ามีความรู้สึกที่ดีมาก ๆ ครับ ที่เห็นคนไทยเข้ามาค้นคว้า  อย่าไปว่าเขาเลยครับหรือคิดว่าเป็นงานหนักเลยครับ

ส่วนเรื่องว่าต้องให้มีการเปิดหลักสูตรผมว่าไม่จำเป็นต้องทำถึงขนาดนั้นหรอกครับ ห้องสมุดเอง ก็ควรจัดทำเอกสารแจกหรืออาจจะทำรวมไปกับคู่มือนิสิตก็ได้เมื่อเวลามา ปฐมนิเทศ นิสิตทุกคนจะได้รับเอกสารเกี่ยวกับการใช้บริการห้องสมุด วิธีการใช้ และวิธีการค้นหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต ครับ

และเจ้าหน้าที่ก็ควรจะตอบคำถามได้ทุกคน และอีกอย่างหนึ่งที่คิดว่าน่าจะเหมาะกับเมืองไทย ก็คือระบบการยืมคืน ผ่านคอมฯ และมีแจ้งกลับไปที่อีเมล์ด้วยว่าครบกำหนดแล้ว และสามารถยืมต่อได้ทางอีเมล์เลย ซึ่งสะดวกมาก เพราะเดี๋ยวนี้ก็ใช้อีเมล์กันทุกคนอยู่แล้ว และอีกอย่างมหาวิทยาลัยเองก็มีเมล์ให้นิสิตทุกคน (แต่นิสิตไม่เคยใช้เลย) ซึ่งจริง ๆจำเป็นมากกว่า hotmail หรือ gmail อีกครับ

 

อืม...

ผมกลับมองว่า

ผมว่าการมีหลักสูตรหรือคอร์สสั้นๆเป็นทางออกที่ดีสุด (เท่าที่นึกออก) เพราะในหลักสูตรคงต้องมีทั้งการสอนเชิงทฤษฎีหลักการค้นและปฏิบัติคือให้มา ลองใช้กันเองที่ห้องสมุดโดยมีอาจารย์หรือเจ้าหน้าที่คอยแนะนำ

หรือ การให้อาจารย์นำนิสิตมาอบรมการใช้ห้องสมุดสักครึ่งวันก็น่าจะเป็นทางออกที่ ดี

การแจกเอกสารแนะนำการใช้ห้องสมุดเบื้องต้นแนบตอนปฐมนิเทศ ผมสงสัยว่าจะมีสักกี่คนที่อ่านแบบตั้งใจและปฏบัติตาม ขนาดคู่มือนิสิตที่แจกยังไม่อ่านกันเลย

การที่นิสิตแต่ละคนมาถามเจ้าหน้าที่กันแต่ละครั้งผมว่ามันไม่คุ้มค่าเวลาที่เสียไปหรอกครับ เพราะการค้นคว้ามันไม่ใช่ว่านิสิตมาถามว่าหนังสือชื่อเรื่องนี้อยู่ตรงไหน แล้วเจ้าหน้าที่ก็ตอบว่าอยู่ตรงนั้นตรงนี้เป็นรายๆ คนไป การตอบแบบนี้ เป็นการตอบที่ผิดหลักครับ  แต่เจ้าหน้าที่ก็ต้องตอบก็เพราะมีคนมาถามลักษณะนี้กันเยอะมากในแต่ละวัน การสืบค้นมันมีมากกว่านั้นครับ แล้วก็ไม่ใช่แนะนำกันแค่ 5-10 นาที คงเหมือนกับคำที่ว่า Give me a fish and I eat for a day. Teach me to fish and I eat for a lifetime.

 สำหรับการยืมด้วยตัวเอง เท่าที่รู้มาราคาเครื่องรู้สึกว่ายังสูงมาก แต่ก็น่าจะมี (ถ้ามีงบพอ ^_^) เพราะผมเองก็คิดว่าการเอาคนมานั่งให้บริการยืม-คืนนี่ไม่ค่อยคุ้มค่าสักเท่าไร 

อีกนิด  หลักสูตรการค้นคว้าเบื้องต้นหรือหลักสูตรการใช้ห้องสมุดเบื้องต้นที่เจ้าของบล๊อกว่าไว้นี่ไม่ได้หมายถึงวิชาที่ว่าด้วยวิธีการใช้ห้องสมุดอย่างเดียวน่ะครับ แต่เป็นวิชาที่ว่าด้วยหลักการค้นคว้าสารสนเทศ การเลือกสารสนเทศที่มีประโยชน์  การเขียนบทความวิชาการ การเขียนรายงาน ฯลฯ  ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้สำคัญมากน่ะครับสำหรับการศึกษาระดับอุดมศึกษา

ดิฉันอยากให้คุณมีการใช้ห้องสมุดโดยมีการทำรายงานเกี่ยวกับสารานุกรม ว่า มีความหมายอย่างไร ประเภทของหนังสือ ข้อมูลของประเภทหนังสือ ประโยชน์ที่ได้รับ ถ้ามีน่าจะดีนะคะ ถ้ารู้ความคิดเห็นที่นี่โปรดช่วยบันทึกเพิ่มด้วยนะคะจะดียิ่ง ขอบพระคุณค่ะ

ดิฉันเข้าใจผู้ที่ทำงานในห้องสมุดเพราะเราหัวอกเดียวกัน  เพียงแต่ดิฉันทำงานในห้องสมุดเฉพาะที่การรื้นค้นหนังสือมีไม่มากเท่าใด  แต่หัวข้อที่ตั้งไว้ว่า "ทำอย่างไรให้ผู้ใช้บริการรู้จักค้นคว้าด้วยตัวเอง" น่าสนใจมาก หากผู้ใช้บริการรู้จักค้นคว้าด้วยต้วเองจะทำให้สามารถต่อยอดทางความคิดในการที่สืบค้นข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ ต่อไป  และหากทำเป็นประจำจะทำให้เกิดความชำนาญในการค้นคว้าข้อมูล  ผลประโยชน์ก็จะตกอยู่ที่ผู้ใช้บริการ  ค้นมากรู้มาก  อยากรู้อะไรก็สามารถหาได้ด้วยมือและมันสมองของตนเองไม่ต้องพึ่งพาผู้อื่น  แต่ความสามารถในการค้นคว้าของนักศึกษาซึ่งยังมีประสบการณ์น้อยคงต้องอาศัยเวลาในการฝึกฝน  และต้องได้รับคำแนะนำจากผู้ที่มีประสบการณ์  ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์  บรรณารักษ์  หรือเจ้าหน้าที่ที่ปฎิบัติงานในห้องสมุด ขอให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในห้องสมุดทุกท่านมีกำลังใจที่จะบริการและถ่ายทอดความรู้ที่มีอยู่ให้กับเยาวชนของชาติต่อไปคะ

ไม่คิดว่า นักศึกษาค้นคว้าแล้วห้องสมุดจะไม่มีหนังสือมาสุมเป็นกอง

เป็นที่นิสัยส่วนของนักศึกษามากกว่า ต่อให้รู้ว่าหนังสือเก็บตรงไหน

เค้าจะสุมมันไว้อย่างนั้น เพราะรู้ว่าเดี๋ยวจะมีคนคอยเก็บอยู่แล้ว

เป็นเพราะมักง่าย รักสะดวกมากกว่า

ดิฉันรู้สึกเป็นห่วงเกี่ยวกับการศึกษาค้นคว้าหาความรู้ของนักเรียนระดับมัธยมศึกษาในปัจจุบัน เด็กไม่ชอบอ่านหนังสือแต่ชอบดูหนังฟังเพลง ดูรูปภาพและเล่นเกมส์ ไม่หาความรู้เพื่อนำใช้ในการเสรอมความรู้เพิ่มเติมเรื่องการศึกษาเล่าเรียน จะมีนักเรียนหยิบหนังสือสักเล่มมาอ่านมีน้อยมากแต่นักเรียนก็ไม่ชอบอ่านจากการศึกษาค้นคว้าทางอินเตอร์เน็ตเหมือนกัน แปลกดี เด็กทุกวันนี้ โครงการรักการอ่านก็ได้ผลน้อยเนื่องจากขาดความสนใจจากครูบุคลากรทางการศึกษา,ผู้บริหารโรงเรียน ฯลฯ หรือเปล่า โครงการไม่ต่อเนื่อง น่าสงสารเด็กไทย การศึกษาไทยจังเลย

นายทวีรัฐ ปันเปี้ย

เอสครับ

ขอคุณครับ

ข้อมูลดีมาเลยgoodddddd

พี่คะหนูฝึกใช้บล๊อกคะหนูจะเขียนให้แสดงให้คนอื่นดูบ้างทำอย่างไรคะ ขอบคุณคะ

ก็สมัครก่อนสิคะ แล้วทดลองเขียนดูค่ะ อ่านวิธีการใช้หน้าแรกดู เค้ามีคู่มืออธิบายอยู่ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท