การเปิดเสรีทางการเงินกับธุรกรรมทางการเงิน


ช่องทางที่เพิ่มขึ้นของการฟอกเงิน

การเปิดเสรีทางการเงินกับการทำธุรกรรมทางการเงิน             

              ตามข้อกำหนดของ WTO ในหลักการสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศ ประเด็นที่ถูกผลักดันเป็นประเด็นที่เน้นในเรื่องการเปิดตลาดหลักทรัพย์ให้กับการลงทุนเก็งกำไรระยะสั้น ( Portfolio investment ) รวมทั้งการห้ามไม่ให้มีการจำกัด หรือมีเงื่อนไขมากำกับในการลงทุนทางตรง ( Foreign Direct Invesment-FDI )  แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุด คือ การห้ามด้านการควบคุมด้านปริวรรตเงินตรา ( Capital Control ) หรือการเปิดเสรีทางการเงิน หรือตลาดเงินเพื่อเปิดโอกาสให้กองทุนเก็งกำไรข้ามชาติทั้งหลายสามารถเคลื่อนย้ายเงินทุนเก็งกำไรได้อย่างเสรี ซึ่งการเปิดเสรีนี้เองที่แนสาเหตุหลักของวิกฤติเศรษฐกิจในเอเชีย การเปิดเสรีนี้เองที่ก่อให้เกิดความไร้เสถียรภาพทางเศรษฐกิจการเงินและการคลังของประเทศกำลังพัฒนา เพราะภาวะเศรษฐกิจของประเทศถูกกำหนดโดยต่างชาติให้กลายเป็นระบบเศรษฐกิจแบบบ่อนการพนัน ( Casino Economy )   

               หากประเทศไทยเปิดเสรีทางด้านการเงินตามข้อตกลงของ WTO ซึ่งจะมีการบังคับให้ประเทศต่างๆรื้อกฎหมายที่ตั้งเงื่อนไขในการลงทุนจากต่างประเทศออกทั้งหมด โดยใช้ข้ออ้างเรื่องการค้าเสรี ซี่งหากมีการแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการเงินการลงทุนต่างๆเพื่ออำนวยความสะดวกให้การลงทุนหรือเคลื่อนย้ายเงินตราของต่างชาติแล้ว ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีปัญหาในเรื่องอาชญากรรมระหว่างประเทศเกี่ยวกับการฟอกเงินเพิ่มสูงยิ่งขึ้น เนื่องจากสถาบันการเงินที่ต้องรายงานการทำธุรกรรมทางการเงินให้สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงินล้วนแล้วแต่เป็นกลุ่มธุรกิจที่ให้บริการทางด้านการเงินและการลงทุนที่ประเทศไทยจะต้องเปิดเสรี และยังไม่รวมถึงกลุ่มธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงินตาม พ.ร.บป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542  ที่ให้บริการทางด้านการเงินและการลงทุนในปัจจุบัน นอกจากนี้การเปิดเสรีด้านการบริการทางการเงินและการลงทุนในอนาคต หรือที่เข้ามาจากต่างประเทศอาจมีรูปแบบอื่นๆ ที่ไม่อยู่ภายใต้ข้อผูกพันของ พ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 ซึ่งจะทำให้การรายงานธุรกรรมทางการเงินมีปริมาณมากขึ้นและมีปัญหาในทางปฎิบัติมากขึ้น               

                ธุรกรรมตาม พ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542 ที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน คือ กิจกรรมที่เกี่ยวกับการทำนิติกรรม สัญญา หรือการดำเนินการใดๆกับผู้อื่นทางการเงิน ทางธุรกิจ หรือดำเนินการเกี่ยวกับทรัพย์สิน ที่มีจำนวนเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไป ในกรณีอสังหาริมทรัพย์ที่มีมูลค่าตั้งแต่ 5 ล้านบาทขึ้นไป และธุรกรรมที่มีความซับซ้อนผิดไปจากการทำธุรกรรมในลักษณะเดียวกันที่ทำกันอยู่ตามปกติ ธุรกรรมที่ขาดความเป็นไปได้ในเชิงเศรษฐกิจ ธุรกรรมที่มีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ากระทำขึ้นเพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ต้องตกอยู่ภายใต้ พ.ร.บ ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน 2542  หรือธุรกรรมที่เกี่ยวข้องหรืออาจเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดมูลฐาน ทั้งนี้ไม่ว่าการทำธุรกรรมครั้งเดียวหรือหลายครั้ง เมื่อพิจารณาแล้วจะเห็นได้ว่าเมื่อมีการเปิดเสรีทางการเงินแล้ว ปริมาณของการทำธุรกรรมตามกฎหมายฟอกเงินต้องเพิ่มปริมาณมากขึ้นเป็นอย่างมาก และความซับซ้อนในการดำเนินการโอน ย้ายเงินทุนต่างๆจะเพิ่มมากขึ้นเพราะสามารถกระทำได้อย่างเสรี จึงเป็นการเพิ่มช่องทางให้กับบรรดาอาชญากรทางเศรษฐกิจที่จะใช้ธุรกรรมทางการเงินซึ่งประเทศไทยจะต้องเปิดเสรีในอีกไม่นานนี้ เพื่อฟอกเงินที่ได้มาโดยผิดกฎหมาย               

                ดังนั้น นอกจากการเตรียมการในการแก้กฎหมายต่างๆเพื่อให้สอดคล้องกับการเปิดเสรีทางด้านการเงินและการลงทุน หรือแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับการฟอกเงินแล้ว เราควรจับตามองวิธีการในการให้บริการทางด้านการเงินการลงทุนในรูปแบบต่างๆที่ยังไม่มีในประเทศไทย หรืออาจเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นใหม่  เพื่อจะได้ศึกษาและทำความเข้าใจเพื่อที่จะได้ตามทัน

วีระพงษ์ บุญโญภาส. (พิมพ์ครั้งที่ 5), แก้ไขเพิ่มเติม-ปรับปรุงใหม่. กรุงเทพฯ : นิติธรรม, 2549. tha อาชญากรรมทางเศรษฐกิจ = 9742033668

คำอธิบายกฎหมายฟอกเงิน : ปัญหา ข้อเท็จจริง คำอธิบาย พระราชบัญญัติป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน พ.ศ. 2542 / สุรพล ไตรเวทย์.

ผลกระทบองค์การค้าโลก (WTO) ต่อเศรษฐกิจไทย / จัดโดย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และบริษัททีพีไอ โพลีน จำกัด (มหาชน).
หมายเลขบันทึก: 37641เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2006 14:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 16:36 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท