องค์ประกอบที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน


องค์ประกอบที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

บทคัดย่อการวิจัย

เรื่อง

องค์ประกอบที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร

The Components Affecting Administration Effectiveness of Basic Education School, Office of  Samut  Sakhon Educational  Service   Area.

ชื่อผู้วิจัยภาษาไทย         นายสมชัย   ชวลิตธาดา

ชื่อผู้วิจัยภาษาอังกฤษ     Mr. Somchai  Chavalitthada

บทคัดย่อ

               การวิจัยครั้งนี้มีวัตถุประสงค์ 2 ข้อ คือ 1) เพื่อศึกษาสภาพของภาวะผู้นำของผู้บริหาร  แรงจูงใจในการทำงานของครู ความพึงพอใจในงานของครู  สภาพแวดล้อมการทำงานและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน   2)เพื่อศึกษาอิทธิพลของภาวะผู้นำของผู้บริหาร  แรงจูงใจในการทำงานของครู ความพึงพอใจในงานของครู  สภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน   กลุ่มตัวอย่างเป็นครูผู้สอนในสถานศึกษาขั้นพื้นฐานที่สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร  จำนวน 339 ราย  โดยการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้น  และใช้การวิจัยแบบผสมผสาน ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ

               ผลการวิจัยพบว่า ภาวะผู้นำของผู้บริหาร  แรงจูงใจในการทำงานของครู ความพึงพอใจในงานของครู  สภาพแวดล้อมการทำงานและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกด้าน    และแบบจำลองภาวะผู้นำของผู้บริหาร   แรงจูงใจในการทำงานของครู ความพึงพอใจในงานของครู  และสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  มีค่าดัชนีความกลมกลืนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ดี  และสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์  โดยพิจารณาจากค่า Chi-Square = 95.92, ค่าdf = 69  Relative Chi-Square= 1.39 GFI= .93 AGFI= .89 RMR = .019 RMSEA= 0.34 และCFI= 1.00 โดยปัจจัยภาวะผู้นำของผู้บริหาร ส่งผลโดยตรงกับแรงจูงใจในการทำงานของครู    สภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษา  ส่วนปัจจัยด้านแรงจูงใจใน    การทำงานของครูส่งผลโดยตรงกับความพึงพอใจในงานของครู ประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาและประสิทธิผลการบริหารงานบุคลากร นอกจากนี้ยังพบว่าสภาพแวดล้อม   การทำงานในโรงเรียนส่งผลโดยตรงกับแรงจูงใจในการทำงานของครู   ความพึงพอใจในงานของครูและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษา  และปัจจัยด้านความพึงพอใจในงานของครูส่งผลโดยตรงกับประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษา

               ผลการวิจัยพบว่า 1)ภาวะผู้นำของผู้บริหาร  แรงจูงใจในการทำงานของครู   ความพึงพอใจในงานของครู สภาพแวดล้อมการทำงานและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีค่าเฉลี่ยอยู่ในระดับมากทุกด้าน  และ 2) แบบจำลองภาวะผู้นำของผู้บริหาร   แรงจูงใจในการทำงานของครู ความพึงพอใจในงานของครู  และสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  มีค่าดัชนีความกลมกลืนอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานที่ดี  และสอดคล้องกับข้อมูลเชิงประจักษ์  โดยพิจารณาจากค่า  Chi-Square = 95.92, ค่าdf = 69 Relative Chi-Square= 1.39 GFI= .93 AGFI= .89  RMR = .019 RMSEA= 0.34 และ CFI= 1.00   โดยปัจจัยภาวะผู้นำของผู้บริหาร ส่งผลโดยตรงกับแรงจูงใจในการทำงานของครู    สภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษา  ปัจจัยด้านแรงจูงใจในการทำงานของครูส่งผลโดยตรงกับสภาพแวดล้อม   การทำงานในโรงเรียนและความพึงพอใจในงานของครู  ปัจจัยสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนส่งผลโดยตรงกับความพึงพอใจในงานของครูและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษา  สรุปได้ว่า  ประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานมีความสัมพันธ์ทางตรงกับภาวะผู้นำของผู้บริหารและสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนโดยสามารถอธิบายความสัมพันธ์ได้ร้อยละ  66

คำสำคัญภาษาไทย

          ภาวะผู้นำ  แรงจูงใจ  ความพึงพอใจ สภาพแวดล้อมการทำงาน ประสิทธิผลการบริหาร  และ สถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

 

Abstract

   This research has 2 objectives; those were 1) to study to the condition of leadership of the administrators, teacher’s working motivation, teacher’s working satisfaction, working environment in schools and administration effectiveness of basic education school and 2) to study on the influence of leadership of the administrators, teacher’s working  motivation, teacher’s working satisfaction, working environment in schools affecting  the  administration effectiveness  of basic education school. The sample group was the teachers in the basic education school of the Office of Samut Sakhon educational  service area for 339 teachers, by using the stratified sampling, while the mixed method research between the quantitative research and qualitative research were used.

   The results from this research found that 1)  the leadership of the administrator, teacher’s working motivation, teacher’s working satisfaction, working environment in schools and administration effectiveness  of basic education school had average at much level for every respects and 2)  the model of leadership of administrator, teacher’s working motivation, teacher’s working satisfaction, working environment in schools affecting the  administration effectiveness of basic education school had goodness of fit index or GFI in good standard criteria and compliance to the empirical data by consideration from Chi-Square = 95.92, the values of the df = 69, relative Chi-Square = 1.39, GFI =.93, AFGI =.89, RMR =.019, RMSEA = 0.34 and CFI = 1.00. While the leadership of the administrators have direct influence on the teacher’s working motivation, working environment in schools and administration effectiveness of basic education school.   The factor on teacher’s working motivation have direct  on  the working environment in schools and  the teacher’s working satisfaction, that the working environment in schools have direct  on  the  teacher’s working satisfaction and administration effectiveness  of basic education school.

   The Leadership of the administrators and working environment in schools has direct  influence on the administration effectiveness  of basic education school. This model explained  66.00  percent .

คำสำคัญภาษาอังกฤษ (Keywords)

          Leadership,  Motvation,  Jobsatisfaction,  Effectiveness and  Basic Education School.

บทนำ

ในการปฏิรูปการศึกษาตามแนวทางพระราชบัญญัติดังกล่าว หน่วยงานที่สำคัญที่สุดคือ  สถานศึกษาหรือโรงเรียนซึ่งต้องทำหน้าที่ในการจัดการศึกษาตามกรอบพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 2 ) พุทธศักราช 2545   มาตรา 10 ที่ระบุว่า การจัดการศึกษาต้องจัดให้บุคคลมีสิทธิและโอกาสเท่าเทียมกันในการรับการศึกษาขั้นพื้นฐานไม่น้อยกว่าสิบสองปี  ที่รัฐต้องจัดให้อย่างทั่วถึงและอย่างมีคุณภาพ  โรงเรียนจึงเป็นหน่วยงานที่สำคัญที่สุดในการจัดการศึกษา เนื่องจากเป็นหน่วยงานหรือองค์กรที่เป็นผู้ปฏิบัติ  โดยเฉพาะสถานศึกษาในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน  เป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาภาคบังคับให้แก่เด็กและเยาวชนในวัยเรียนทุกคน  จึงกล่าวได้ว่าประชาชนทุกคนจำเป็นต้องผ่านการศึกษาในระดับนี้ การจะทำให้นโยบายการปฏิรูปการศึกษาประสบความสำเร็จจึงจำเป็นต้องให้ความสำคัญในการพัฒนาการจัดการศึกษาของโรงเรียนเป็นอันดับแรก  และต้องคำนึงถึงประสิทธิผลของการจัดการศึกษาของโรงเรียนเป็นสำคัญ   เนื่องจากมีความจำเป็นและสำคัญอย่างยิ่งในการบริหารองค์กรปัจจุบัน  เพราะองค์กรต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงต่างๆ ประกอบกับประสิทธิผลองค์กรเป็นตัวตัดสินขั้นสุดท้ายว่า การบริหารองค์กรนั้น ๆ ประสบผลสำเร็จมากน้อยเพียงใด  องค์กรจะอยู่รอดหรือมั่นคงเพียงใดขึ้นอยู่กับประสิทธิผลองค์กร  (Brewer & Lock, 1995)

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร เป็นหน่วยงานหนึ่งในสังกัดสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาของโรงเรียนในสังกัด  จำนวน   112  โรงเรียน  ข้าราชการครู  จำนวน  2,059  คน และนักเรียนจำนวน  60,882  คน   รายงานผลการจัดการศึกษา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร (2550) พบว่า ผลการประเมินคุณภาพภายนอกรอบสอง พ.ศ. 2550 โรงเรียนในสังกัดส่วนใหญ่มีผลการประเมินคุณภาพ   มาตรฐานที่ควรได้รับการพัฒนาคือ มาตรฐานที่ 4    ผู้เรียนมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์   คิดสังเคราะห์  มีวิจารณญาณ   มีความคิดสร้างสรรค์ คิดไตร่ตรองและมีวิสัยทัศน์ มาตรฐานที่ 5 ผู้เรียนมีความรู้และทักษะที่จำเป็นตามหลักสูตร  และมาตรฐานที่ 9   ครูมีความสามารถในการจัดการเรียนการสอนอย่างมีประสิทธิภาพและเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ   จะเห็นได้ว่าในด้านคุณภาพที่สำคัญอันได้แก่ มาตรฐานด้านผู้เรียนสถานศึกษาก็ยังไม่สามารถพัฒนาให้มีประสิทธิผลที่ดีพอ  รวมทั้งมาตรฐานด้านครูผู้สอนที่เกี่ยวข้องกับด้านการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนก็ยังไม่สามารถพัฒนาได้เท่าที่ควร  และมีโรงเรียนที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานคุณภาพภายนอกจำนวน 15 โรงเรียน  คิดเป็นร้อยละ 12.71   ผลการประเมินดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับการพัฒนาโดยผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย  ทั้งนี้เพื่อเร่งรัดไปสู่ความสามารถในการจัดการศึกษาของสถานศึกษาให้มีประสิทธิผลต่อไป

 นอกจากนี้การประเมินผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนนักเรียนระดับชาติ  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6   ปีการศึกษา  2550  สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาครในกลุ่มสาระภาษาไทย  วิทยาศาสตร์  คณิตศาสตร์และภาษาอังกฤษ พบว่า ยังมีผลการประเมินต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดและมีคะแนนเฉลี่ยต่ำกว่าผลการประเมินในระดับประเทศทุกกลุ่มสาระที่ประเมิน (รายงานผลการจัดการศึกษา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร, 2550)

            ในด้านที่เกี่ยวกับครู พบว่า ในปีงบประมาณ 2550  รัฐบาลกำหนดให้มีโครงการเกษียณก่อนกำหนดแก่ข้าราชการที่มีคุณสมบัติคืออายุ  50  ปีขึ้นไป รับราชการมาแล้วไม่น้อยกว่า  25  ปี  หรือมีปัญหาด้านสุขภาพอันส่งผลกระทบต่อการปฏิบัติหน้าที่มีครูในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาครยื่นคำร้องเข้าร่วมโครงการดังกล่าวจำนวน  71  คน  คิดเป็นร้อยละ  60  ของจำนวนครูที่มีสิทธิ์เข้าร่วมโครงการ  นอกจากนี้ในปีเดียวกันยังพบว่า  มีครูจำนวน  45  คน จากโรงเรียน 38  โรงเรียน ยื่นคำร้องขอย้ายสถานที่ปฏิบัติงาน คิดเป็นร้อยละ 33.93  จากโรงเรียนทั้งสิ้น 112 โรงเรียน(รายงานผลการจัดการศึกษา  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร, 2550)  จากข้อมูลดังกล่าวข้างต้นเป็นตัวบ่งชี้ตัวหนึ่งที่แสดงว่า ครูส่วนหนึ่งขาดความพึงพอใจในการปฏิบัติงาน  ขาดแรงจูงใจร่วมทั้งขาดความรักและความผูกพันต่อองค์กรโดยเฉพาะความพึงพอใจในงานจะมีอิทธิพลต่อความตั้งใจในการทำงานของซึ่งอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่มีผลกระทบต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน(Lee, 2005 ; Parker, 2007)

  จากสภาพปัญหาและความสำคัญดังกล่าวข้างต้นทั้งในระดับประเทศและระดับจังหวัด   ผู้วิจัยจึงมีความสนใจที่จะศึกษาหาคำตอบว่า ภาวะผู้นำของผู้บริหาร ความพึงพอใจในงาน  แรงจูงใจในการทำงานของครู  และสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน มีอิทธิพลหรือมีความสัมพันธ์ต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานหรือไม่  ประกอบกับจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องพบว่า  ยังมิได้มีผลการวิจัยที่เจาะจงในสถานศึกษาระดับการศึกษาขั้นพื้นฐานโดยตรง   ทั้งนี้ผู้วิจัยเลือกพื้นที่ศึกษาในโรงเรียนสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร  เนื่องจากผู้วิจัยในฐานะที่ปฏิบัติงานเป็นผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน    สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร   มีหน้าที่ในการจัดการศึกษาในสถานศึกษาโดยตรง จึงมีความสนใจที่จะศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน สังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร 

ผลการวิจัยในครั้งนี้   ผู้วิจัยคาดหวังว่าข้อค้นพบที่ได้จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนาประสิทธิภาพโรงเรียนในสังกัดและการนำไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบุคลากรทั้งในส่วนของผู้บริหารและครูผู้สอน คุณภาพและประสิทธิภาพของการบริหารจัดการ  โดยมุ่งเน้นในด้านภาวะผู้นำของผู้บริหารโรงเรียน  ความพึงพอใจในการทำงาน  แรงจูงใจในการทำงานของครูและสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ตลอดจนกระบวนการต่าง ๆ  ที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้กับหน่วยงานอื่น ๆ

วัตถุประสงค์

1 ศึกษาสภาพของภาวะผู้นำของผู้บริหาร  แรงจูงใจในการทำงานของครู ความพึงพอใจในงานของครู  สภาพแวดล้อมการทำงานและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร

            2 ศึกษาอิทธิพลของภาวะผู้นำของผู้บริหาร  แรงจูงใจในการทำงานของครู ความพึงพอใจในงานของครู  และสภาพแวดล้อมการทำงานที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร

วิธีการวิจัย

การวิจัยครั้งนี้  ใช้ระเบียบวิธีการวิจัยแบบผสมผสาน (Mixed  Method  Design) ระหว่างการวิจัยเชิงปริมาณและการวิจัยเชิงคุณภาพ               ในส่วนของการวิจัยเชิงปริมาณเริ่มจากการทบทวนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้องเพื่อนำข้อมูลมากำหนดเป็นวัตถุประสงค์การวิจัย   กำหนดตัวแปรตามและตัวแปรอิสระ ซึ่งประกอบด้วยตัวแปรแฝง  ตัวแปรแฝงภายนอก  ตัวแปรแฝงภายในและตัวแปรประจักษ์  กำหนดกรอบแนวความคิดการวิจัยและสร้างสมมติฐานการวิจัย     ผู้วิจัยดำเนินการสร้างมาตรวัดจัดทำเป็นแบบสอบถาม หาคุณภาพของเครื่องมือในด้านความถูกต้องด้านเนื้อหาโดยการให้ผู้เชี่ยวชาญตรวจสอบและประเมินความตรงเชิงเนื้อหาโดยการพิจารณาค่า IOC  และนำไปทดลองใช้กับกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นครุผู้สอนที่มิใช่กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการวิจัย  จำนวน 70 คนเพื่อหาค่าความเชื่อได้  ปรับปรุงแบบสอบถามจนได้แบบสอบถามฉบับสมบูรณ์นำไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นครูผู้สอนจำนวน 339  คน  ในสถานศึกษาสังกัดสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสมุทรสาคร และเลือกใช้สถิติในการวิเคราะห์ข้อมูลที่เหมาะสมเพื่ออนุมานวิเคราะห์โมเดลสมการโครงสร้าง (Structural equation modeling : SEM) ซึ่งเป็นการวิเคราะห์ที่บูรณาการ  ได้แก่  การวิเคราะห์องค์ประกอบ(Factor  analysis)  การวิเคราะห์อิทธิพล (Path  analysis) และการประมาณค่าพารามิเตอร์ในการวิเคราะห์ถดถอย (Regression  analysis) ไว้ด้วยกันในรูปของโมเดลสมการโครงสร้าง (SEM)  ในส่วนของการวิจัยเชิงคุณภาพผู้วิจัยเก็บรวบรวมข้อมูลโดยใช้การสัมภาษณ์เจาะลึก (Indept  interview)ผู้บริหารโรงเรียนและครูผู้สอน เพื่อนำข้อมูลมาเสริมการวิจัยเชิงปริมาณ

ผลการวิจัยและอภิปรายผล

          จากการทดสอบสมมติฐานข้อ  1 พบว่า ประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหารและสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐาน ที่กำหนดไว้ 2 องค์ประกอบ ส่วนอีก 2 องค์ประกอบ ได้แก่  แรงจูงใจในการทำงานของครูและความพึงพอใจในงานของครู ไม่เป็นไปตามสมมติฐาน

            ประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานประกอบด้วยประสิทธิผลด้านการบริหาร งานวิชาการ  ประสิทธิผลด้านการบริหารงานบุคลากร ประสิทธิผลด้านการบริหารงานงบประมาณและประสิทธิผลด้านการบริหารทั่วไปขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหารผลการวิจัยสอดคล้องกับฮอยและ มิสเกล (Hoy  & Miskel, 1991)  ที่กล่าวว่าปัจจัยคุณลักษณะผู้นำของผู้บริหาร  บรรยากาศองค์กรเป็นตัวแปรที่ทำให้การบริหารของผู้บริหารโรงเรียนประสบความสำเร็จเกิดประสิทธิผลของโรงเรียน  นอกจากนี้จากผลการวิจัยของ กาญจน์  เรืองมนตรี (2547) ยังพบว่า องค์ประกอบหนึ่งที่สำคัญของภาวะผู้นำได้แก่ ด้านพฤติกรรมการปฏิบัติงานมีความสัมพันธ์ทางบวกกับประสิทธิผลการบริหารและการจัดการศึกษาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ  ทั้งนี้เนื่องจากประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาทั้ง 4 ด้านดังกล่าว  เป็นภารกิจตามขอบข่ายงานที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พุทธศักราช  2542  และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่2) พุทธศักราช  2545 มาตรา  39  ให้กระทรวงศึกษาธิการกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา 4  ด้านคือ  ด้านงานวิชาการ งานบุคคล  งานงบประมาณและงานบริหารทั่วไป ให้สถานศึกษารับผิดชอบและการตรวจสอบความรับผิดชอบตามบทบาทหน้าที่  ซึ่งเป็นภารกิจที่ผู้บริหารทุกโรงเรียนจำเป็นต้องถือปฏิบัติและให้ความสำคัญโดยเฉพาะโรงเรียนในโครงการโรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง ซึ่งเป็นโรงเรียนนำร่องการกระจายอำนาจเพื่อรองรับการเป็นโรงเรียนนิติบุคคล ทั้งนี้ผู้บริหารจะต้องใช้ภาวะผู้นำของตนเองในการบริหารจัดการเพื่อให้บุคลากรสามารถปฏิบัติงานให้บรรลุตามเป้าหมายและประสบความสำเร็จตามที่องค์กรกำหนดหรือต้องการ  (ประสิทธิ์  สาระสันต์, 2542)         

            ส่วนตัวแปรด้านสภาพแวดล้อมการทำงานซึ่งประกอบด้วยบรรยากาศโรงเรียนและวัฒนธรรมโรงเรียนเป็นตัวแปรที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน อาจเนื่องมาจากการจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดี มีความเหมาะสม  เอื้อต่อการปฏิบัติงาน  บรรยากาศในโรงเรียนมีการช่วยเหลือ สนับสนุน  เอื้ออาทร ช่วยเหลือกัน  ย่อมทำให้บุคลากรปฏิบัติงานอย่างมีความสุข  เกิดขวัญและกำลังใจ มุ่งมั่นในการทำงานส่งผลให้งานมีประสิทธิภาพ ซึ่งสอดคล้องกับผลงานวิจัยของ ภารดี  อนันต์นาวี (2545)  ที่พบว่า  สภาพแวดล้อมการทำงาน  ที่เป็นบรรยากาศที่ดีส่งผลต่อประสิทธิผลของโรงเรียน

แรงจูงใจในการทำงานของครูและความพึงพอใจในงานของครู ไม่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานอาจเนื่องมาจาก การจัดการศึกษาในสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน มีการกำหนดมาตรฐานการศึกษาไว้ทั้งมาตรฐานในระดับโรงเรียน  ระดับเขตพื้นที่การศึกษาและระดับกรม  นอกจากนี้ยังมีมาตรฐานการประเมินคุณภาพภายนอกของ สมศ.  และยังมีการกำหนดให้มีระบบการประกันคุณภาพ ทั้งภายในและภายนอก  มีการประเมินติดตามผลเป็นระยะ ๆ  นอกจากนี้ในการเลื่อนวิทยฐานะครูและผู้บริหารที่สูงขึ้นนอกจากผู้ประสงค์จะขอเลื่อนวิทยฐานะจะต้องส่งผลงานทางวิชาการที่เกิดจากการปฏิบัติงานแล้ว  ยังกำหนดให้มีการประเมินด้านคุณธรรมจริยธรรม และประเมินผลการปฏิบัติงานจริงในโรงเรียนอีกด้วย  จากเหตุผลดังกล่าวอาจทำให้ครูจำเป็นต้องปฏิบัติงานให้มีประสิทธิภาพและเกิดประสิทธิผลให้ดีที่สุด โดยมิได้คำนึงถึงเรื่องแรงจูงใจหรือความพึงพอใจของตนเอง  ซึ่งตรงกับผลการวิจัยเชิงคุณภาพที่ผู้บริหารและครูให้ทัศนะว่า  ปัจจัยที่ส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  ได้แก่ ปัจจัยที่เกี่ยวกับการประเมินคุณภาพภายนอกจาก สมศ.  การประเมินเพื่อขอเลื่อนวิทยฐานะ และนโยบาย/โครงการจากหน่วยงานต้นสังกัด เช่น โรงเรียนผู้นำการเปลี่ยนแปลง  โรงเรียนนิติบุคคล   นโยบายการปฏิรูปการเรียนการสอน  เป็นต้น

จากการทดสอบสมมติฐานข้อ  2 พบว่า แรงจูงใจการทำงานของครูขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหารและ สภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน  ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้

แรงจูงใจการทำงานของครู ซึ่งประกอบด้วย   แรงจูงใจภายนอกและแรงจูงใจภายในขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหารอาจเนื่องมาจาก ผู้บริหารเห็นว่าครูเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญเป็นสินทรัพย์ที่มีค่ายิ่งขององค์กรเนื่องจากมีความเชื่อมั่นว่า บุคลากรจะทำงานด้วยความสมัครใจ โดยผู้บริหารพยายามหลีกเลี่ยงสถานการณ์ที่ก่อให้เกิดความไม่พึงพอใจออกให้มากที่สุดเพื่อให้บรรลุผลลัพธ์ตามที่ต้องการ(Hollyforde & Whiddett, 2002) นอกจากนี้  เมอร์เรย์และมานน์ (Murray & Mann,1994) ได้กล่าวว่า การที่จะเป็นผู้นำที่มีประสิทธิผลได้นั้น   ผู้นำต้องยอมรับในลักษณะเฉพาะของผู้ร่วมงานทุกคน อีกทั้งต้องมีความสามารถในการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน  ซึ่งสอดคล้องกับซอซี่  (Soucie, 1994)  ที่กล่าวว่า  ผู้นำต้องช่วยกระตุ้นให้สมาชิกเกิดแรงจูงใจในการทำงานให้ได้บรรลุผลสำเร็จตามที่องค์กรต้องการ   

ส่วนตัวแปรสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนส่งผลต่อแรงจูงใจในการทำงานของครู นั้นอาจเนื่องมาจาก สภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนในการวิจัยครั้งนี้ประกอบด้วยบรรยากาศโรงเรียนและวัฒนธรรมโรงเรียน  ซึ่งองค์ประกอบทั้ง 2 ด้านหากผู้บริหารสามารถดำเนินการได้ให้โรงเรียนมีสภาพแวดล้อมดังกล่าวที่เหมาะสมย่อมทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานส่งผลให้ครูมีแรงจูงใจในการทำงาน ดังผลการวิจัยของ บัณฑิต  ผังนิรันดร์ (2548) ที่พบว่า  ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อแรงจูงใจในการทำงาน ได้แก่ กระบวนการติดต่อสื่อสารในองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร  ซึ่งทั้ง 2 ด้านดังกล่าวนี้เป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน

จากการทดสอบสมมติฐานข้อ 3 พบว่า ความพึงพอใจในงานของครู ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจการทำงานของครู ภาวะผู้นำของผู้บริหารและสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้

            ความพึงพอใจในงานของครูซึ่งประกอบด้วยความพึงพอใจในลักษณะงาน  ความพึงพอใจในความก้าวหน้าและความพึงพอใจในเงินเดือน  ขึ้นอยู่กับแรงจูงใจในการทำงานของครู  ภาวะผู้นำของผู้บริหาร  และสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน ผู้วิจัยสรุปได้ว่าปัจจัยทั้งสามตัวดังที่ได้กล่าวมาแล้วเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการทำงานของครู  เนื่องจากหากครูได้รับแรงจูงใจที่ดีและเหมาะสมไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจภายนอกหรือแรงจูงใจภายใน   และผู้บริหารมีพฤติกรรมภาวะผู้นำการบริหารที่เหมาะสมกับสภาพการบริหารงานในปัจจุบัน  ประกอบกับสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนทีดี เช่น การมีบรรยากาศที่ดีเอื้อต่อการปฏิบัติงาน ตลอดจนมีวัฒนธรรมการทำงานที่เข้มแข็งและส่งเสริมให้ครูปฏิบัติงาน  โดยปัจจัยเหล่านี้จะส่งผลต่อความพึงพอใจในงานของครู  สอดคล้องกับผลงานวิจัยของ บัณฑิต  ผังนิรันดร์ (2550)  ที่พบว่า ปัจจัยที่มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในงานของบุคลากร มหาวิทยาลัยราชภัฎสวนสุนันทา ได้แก่  แรงจูงใจในการทำงาน ภาวะผู้นำองค์กรและวัฒนธรรมองค์กร  นอกจากนี้ผลการวิจัยของ ปัทมาศ  มีครองธรรม (2548)  ยังพบว่า ความพึงพอใจในงานของข้าราชการสำนักขึ้นอยู่กับแรงจูงใจภายนอกและแรงจูงใจภายใน

จากการทดสอบสมมติฐานข้อ  4  พบว่า สภาพแวดล้อมการทำงาน ในโรงเรียน ขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหาร  ซึ่งเป็นไปตามสมมติฐานที่กำหนดไว้

            สภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน ซึ่งประกอบด้วย   บรรยากาศโรงเรียนและวัฒนธรรมโรงเรียนขึ้นอยู่กับภาวะผู้นำของผู้บริหาร  เนื่องจากผู้บริหารเป็นตัวจักรสำคัญในการพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงในองค์กร เช่น  บรรยากาศการทำงานในโรงเรียนที่สามารถทำงานร่วมกันเป็นทีมได้  บรรยากาศที่มีความรัก ความสามัคคีเกื้อกูลช่วยเหลือกัน  รวมทั้งผู้บริหารจำเป็นต้องรักษาวัฒนธรรมในโรงเรียนที่ดีให้คงอยู่ไว้ ส่วนวัฒนธรรมกรทำงานในเรื่องใดที่มีเป็นปัญหาหรืออุปสรรคผู้บริหารก็จำเป็นต้องพยายามปรับเปลี่ยนให้เหมาะสม ดังที่  ประพจน์  แย้มทิม (2550)  กล่าวว่า ถ้าในองค์กรมีวัฒนธรรมองค์กรที่ให้อำนาจสูง  จะทำให้ประสิทธิผลการจัดการศึกษาสูงเช่นกัน เนื่องจากการบริหารจัดการภายในสถานศึกษา ผู้บริหารไม่สามารถดำเนินการทุกอย่าง  ให้สำเร็จลงได้ลำเพียงคนเดียวจำเป็นต้องมีการกระจายงานและกระจายอำนาจให้แก่บุคลากร   เข้ามามีส่วนร่วมตามความรู้   ความสามารถและประสบการณ์ของแต่ละคนนอกจากนี้ บรรยากาศในโรงเรียน  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแสดล้อมการทำงานในโรงเรียนฮอยและมิสเคล (Hoy &  Miskel, 1991) บรรยากาศของโรงเรียนเป็นผลมาจากความสัมพันธ์ระหว่างผู้บริหารโรงเรียนและบุคลากรในโรงเรียน

            สอดคล้องกับภารดี  อนันต์นาวี (2545)   ที่กล่าวว่า  บรรยากาศของโรงเรียนเป็นผล     ที่ได้รับอิทธิพลจากสิ่งต่าง ๆ โดยตรง เช่น ภาวะผู้นำของผู้บริหาร  ผลการปฏิบัติงานและงานที่มีความหมายต่อการปฏิบัติงานของบุคลากรในรงเรียนและพฤติกรรมของเพื่อนร่วมงานสภาพแวดล้อมต่าง  ๆ ล้วนแต่มีผลกระทบต่อบรรยากาศโรงเรียนทั้งสิ้น  โดยบรรยากาศโรงเรียนจะสะท้อนให้เห็นถึงประสิทธิภาพของผู้บริหารโรงเรียน  สมาชิกและความสำเร็จของโรงเรียนและผลการวิจัยของ  บัณฑิต  ผังนิรันดร์  (2550) ที่พบว่า ภาวะผู้นำองค์กรที่เหมาะสมกับสภาพการดำเนินงานในปัจจุบันจะส่งผลให้สภาพแวดล้อมการทำงานในองค์กรดีขึ้นด้วย

สรุปข้อค้นพบและข้อเสนอแนะ

  สรุปข้อค้นพบที่ 1 : จากแบบจำลองทางเลือกพบว่าภาวะผู้นำของผู้บริหารมีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาและสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน 

             ข้อเสนอแนะ : ผู้บริหารสถานศึกษาต้องศึกษาและสำรวจภาวะผู้นำของตนเองทั้งทางด้านภาวะผู้นำทางวิชาการ  ภาวะผู้นำแบบแลกเปลี่ยน  ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงและภาวะผู้นำแบบมีส่วนร่วมว่ามีด้านใดบ้างที่ยังบกพร่องและพัฒนาภาวะผู้นำของตนเองให้เหมาะสม  และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการพัฒนาผู้บริหารจำเป็นต้องมีการบรรจุเรื่องการเสริมสร้างภาวะผู้นำของผู้บริหารไว้ในหลักสูตรการพัฒนาหรือฝึกอบรมผู้บริหารด้วย    ภาวะผู้นำของผู้บริหารจะช่วยส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนให้เหมาะสม  อันจะส่งผลต่อความพึงพอใจในงานของครูและประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาอีกด้วย

            นอกจากนี้ในการคัดเลือกบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งผู้บริหารสถานศึกษา    ไม่ว่าจะเป็นการคัดเลือกโดยวิธีการสอบคัดเลือกหรือการสัมภาษณ์จำเป็นต้องให้ความสำคัญต่อน้ำหนักเรื่องภาวะผู้นำให้มาก  เพราะหากสามารถคัดเลือกบุคคลที่มีภาวะผู้นำได้ตั้งแต่เบื้องต้นก็จะช่วยให้สามารถใช้ภาวะผู้นำในการทำงานได้ทันที ลดภาระการพัฒนาในภายหลัง  โดยเฉพาะนโยบายในเรื่องการปฏิรูปการเรียนการสอน  ซึ่งครูจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ  ผู้บริหารจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องใช้ภาวะผู้นำทางวิชาการในการเป็นผู้นำ นิเทศ ช่วยเหลือให้ครูสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนไปในแนวทางที่ถูกต้อง  และยังจำเป็นต้องใช้ภาวะผู้นำการเปลี่ยนแปลงโน้มน้าวให้ครูยอมรับการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เคยปฏิบัติมาตามความเคยชินไปในแนวทางที่เหมาะสม    จะเห็นได้ว่าความสำคัญของภาวะผู้นำนอกจากจะส่งผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาแล้ว  ยังก่อให้เกิดประสิทธิภาพในการปฏิบัติงานอีกด้วย

    สรุปข้อค้นพบที่ 2 : จากแบบจำลองทางเลือกพบว่า  แรงจูงใจในการทำงานของครู มีอิทธิพลต่อความพึงพอใจในการทำงานของครู

               ข้อเสนอแนะ : ผู้บริหารสถานศึกษาจำเป็นต้องให้ความสำคัญและศึกษาถึงระดับแรงจูงใจในการทำงานของครู  รวมทั้งศึกษาถึงความต้องการแรงจูงใจว่าครูต้องการแรงจูงใจในการทำงานด้านใด เรื่องใดและดำเนินการให้แรงจูงใจที่เหมาะสมตรงกับความต้องการของครูไม่ว่าจะเป็นแรงจูงใจภายในหรือแรงจูงใจภายนอก  ซึ่งจะส่งผลต่อความพึงพอใจในงานของครู  การดำเนินการดังกล่าวยังช่วยให้ครูที่ดีมีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงานไม่โยกย้ายหรือการเข้าร่วมโครงการเกษียณก่อนกำหนด  ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการจัดการศึกษาของโรงเรียน โดยอาจมีการสำรวจความคิดเห็นหรือความต้องการด้านแรงจูงใจที่ครูต้องการนำมาจัดเป็นหมวดหมู่   และวิเคราะห์จัดอันดับความสำคัญ  เพื่อใช้เป็นข้อมูลในการวางแผนพัฒนาในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้ตรงกับความต้องการของครู

     สรุปข้อค้นพบที่ 3 : จากแบบจำลองทางเลือกพบว่าสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน มีอิทธิพลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน

                  ข้อเสนอแนะ : ผู้บริหารสถานศึกษาควรตระหนักรู้ถึงอิทธิพลของสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียน  ซึ่งประกอบด้วยวัฒนธรรมโรงเรียนและบรรยากาศโรงเรียนที่มีผลต่อประสิทธิผลการบริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน  โดยควรศึกษาถึงรายละเอียดองค์ประกอบของสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนเพื่อดำเนินการพัฒนาและส่งเสริมสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนให้มีความเหมาะสมแก่บุคลากรในโรงเรียน  โดยอาจมีการสำรวจความคิดเห็นหรือความต้องการด้านสภาพแวดล้อมการทำงานในโรงเรียนที่ครูต้องการนำมาจัดเป็นหมวดหมู่   และวิเคราะห์จัดอันดับความสำคัญ  เพื่อใช้เป็นข้อมูลในวางแผนการพัฒนาในเรื่องนี้ต่อไป เพื่อให้ตรงกับความต้อ

คำสำคัญ (Tags): #ภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 376179เขียนเมื่อ 17 กรกฎาคม 2010 14:24 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มิถุนายน 2012 05:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท