วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๑. ตีพิมพ์ ออนไลน์ แบบคุณภาพสูง


          เพื่อให้สังคมวิชาการไทยเข้าไปแนบแน่นกับชีวิตจริงของผู้คนทุกภาคส่วนของสังคม   จึงต้องสร้างวิชาการสายใหม่ขึ้นมา เรียกว่า วิชาการสายรับใช้สังคมไทย   คู่ขนานและ synergy กับวิชาการสายเดิมที่มีอยู่แล้ว ที่อาจเรียกว่าวิชาการสายนานาชาติ 

          ความท้าทายคือ เราต้องช่วยกันทำให้ วิชาการสายรับใช้สังคมไทย มีคุณภาพ มีความแม่นยำน่าเชื่อถือ เท่าเทียมกับวิชาการสายนานาชาติ   ต้องไม่ให้วิชาการสายรับใช้สังคมไทย เป็นวิชาการชั้น ๒   เมื่อเทียบกับวิชาการสายนานาชาติ

          วิชาการสายรับใช้สังคมไทย มีลักษณะพิเศษคือ สร้างวิชาความรู้ขึ้นจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นในสังคมไทย   เน้นวิชาการแบบที่เรียกว่า translational research   หรือ action research  หรือ applied research 

          ผมเคยเขียนเรื่องวารสารวิชาการไทยรับใช้สังคมไทยไว้ที่นี่   เป็นความคิดที่เกิดขึ้นเมื่อเกือบ ๑๐ ปีมาแล้ว   และหลังจากได้รับความสะเทือนใจจากเหตุการณ์เมษา-พฤษภา ๕๓   ได้เขียนบันทึกความมุ่งมั่นของตนเองไว้ที่นี่    ตอนนี้มีความชัดเจนยิ่งขึ้น เป็นรูปธรรมยิ่งขึ้น   ว่าควรจะทำวารสารแนวใหม่ ที่ใช้พลังของ ICT เข้ามาช่วย   คือเป็น online journal โดยมี PLoS เป็นตัวอย่าง   คือเป็นวารสารที่เปิดให้อ่านได้ทั่วไป (open access)   แต่มีระบบตรวจสอบต้นฉบับที่เข้มงาดและทำอย่างมืออาชีพ

           โปรดลองอ่าน publication เรื่องนี้ใน PLoSMedicine   จะสังเกตเห็นว่าบทความมี ๓ ตอน คือ Abstract, Editor’s Summary, และบทความฉบับเต็ม   โดยมีการตีพิมพ์แบบใช้พลังของ ICT ให้ความสะดวกในการอ่านและการติดตามไปค้นคว้าต่ออย่างเต็มที่   คือมี link เต็มไปหมด   เช่นเมื่อตาม ลิ้งค์ ของ ref. 1 ไปก็จะได้บทความที่อ้างถึงที่นี่   และจะเห็นด้วยว่ามีใครบ้างที่อ้างอิง ref. 1 นั้น   แถมยังมี ลิ้งค์ ไปยังบทความที่อ้างอิงนั้นอีกด้วย ที่นี่ เสียแต่ว่าส่วนนี้เขาต้องให้เราเสียเงินจึงจะได้อ่าน  

          จะเห็นว่า การตีพิมพ์ ออนไลน์ ในปัจจุบัน กระตุ้นการสื่อสารแลกเปลี่ยนทางวิชาการได้ดีกว่า และเร็วกว่าการตีพิมพ์ในกระดาษสมัยก่อนอย่างมากมาย   แต่ก็ต้องมีการลงแรง และมีกองบรรณาธิการที่มีทั้งทักษะในการทำวารสาร ออนไลน์ ชนิดคุณภาพสูง   และมีความรู้เชิงสาระด้านนั้นๆ ด้วย   ดังจะเห็นว่ากองบรรณาธิการเขาทำบทสรุปของบรรณาธิการให้ด้วย   รวมทั้ง บริการลิ้งค์ไปค้นเรื่องที่เกี่ยวโยงมากมาย   เป็นการสนองความต้องการของผู้อ่านยุค IT ที่ต้องการความสะดวกให้มาอยู่ที่ปลายนิ้ว   คลิ้กเดียว รอนาทีเดียว ก็ได้มาดั่งใจ

          ผมมองว่า สกอ. น่าจะตั้งคณะทำงานที่มีทักษะและรักด้านการทำวารสาร ออนไลน์ ขึ้นชุดหนึ่ง เพื่อศึกษา Public Library of Science   ว่าเขาทำงานอย่างไร เลี้ยงตัวได้อย่างไรในฐานะ non-profit organization   เพื่อหาทางนำมาใช้คิดระบบวารสารวิชาการรับใช้สังคมไทยที่ตีพิมพ์ ออนไลน์ และเข้มแข็งคล้ายคลึงกัน   คณะทำงานนี้มีหน้าที่ศึกษาวิธีการจัดทำวารสารวิชาการออนไลน์คุณภาพสูง    และให้ข้อเสนอแนะวิธีทำงาน   รวมทั้งเสนอแนะตัวบุคคลที่มีความเหมาะสมที่จะเข้ามาร่วมรับผิดชอบงานนี้ให้แก่ประเทศไทย 

          หลักการแรก อย่าใช้ระบบราชการในการจัดตั้งวารสารนี้   ให้ตั้งเป็น non-profit organization โดยในเบื้องแรก สกอ. สนับสนุนเงิน ๕ – ๑๐ ปี   มีการตั้งคณะกรรมการ steering ประมาณ ๑๐ คน   ที่หลีกเลี่ยงการเป็นตัวแทนสถาบันหรือสาขาวิชาการ   หลีกเลี่ยงการเล่นการเมืองไม่ว่าในรูปแบบใด   เน้น quality, competence, efficacy, และ service อย่างมืออาชีพ   หากเป็นไปได้ทีมงานของคณะทำงานน่าจะไปดูงานที่ Public Library of Science   และน่าจะขอความร่วมมือจาก Fullbright หรือสถานทูตอเมริกัน ขอผู้เชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกับทีมคณะจัดทำวารสาร เป็นเวลาสัก ๑ ปี

 

วิจารณ์ พานิช
๑๐ ก.ค. ๕๓
                        

หมายเลขบันทึก: 375578เขียนเมื่อ 16 กรกฎาคม 2010 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 1 มิถุนายน 2012 13:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ผมเห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะว่าจะเป็นประโยชน์ต่อสังคมโดยรวม

กราบสวัสดีอาจารย์ด้วยความเคารพค่ะ

พอหนูอ่านบันทึกนี้ทำให้เกิดนึกย้อนถึงตนเองเมื่อสักสี่ห้าปีที่ผ่านมา

 ด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้ชาวบ้านได้อ่าน ได้เข้าถึง และเข้าใจ ข้อมูลงานวิจัยสมุนไพร

ที่มักจะตีพิมพ์แล้วขึ้นหิ้งไม่ถูกใช้ ชาวบ้านเข้าไม่ถึง

จึงลองค้นข้อมูลสมุนไพรในวารสารที่ตีพิมพ์ เลือกชนิดที่สนใจ

อ่านแล้วดึงเอาข้อมูลวิชาการ มาผนวกกับการแพทย์พื้นบ้าน

เสริมข้อควรระวัง และพิษที่ใช้ เท่าที่ข้อมูลพอหาได้ และองค์ความรู้พื้นฐานที่พอมี เขียนเป็นบทความสบาย ๆ แต่แทรกสาระ

ไม่รู้จะตีพิมพ์ที่ไหน จึงทำเป็นวารสารเองตอนแรกให้ชื่อว่า

"สาสน์ยาและสมุนไพรศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น"

ทำเผยแพร่ในเว็บไซด์ของหน่วยงาน

และส่งแจกลูกค้าที่เคยมารับบริการที่องค์กร

จากนั้นก็ให้สมัครสมาชิกมา พอเริ่มมีการตอบรับ ก็ถูกผลักดัน ให้มีคณะกรรมการ มากมาย แต่กลายเป็นว่า "มีกรรมการแต่ชื่อ ทำจริง ๆ ไม่กี่คน"

ไป ๆ มา ๆ แนะให้เปลี่ยนชื่อเป็น

"สารยาและสมุนไพร ศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ขอนแก่น"

 

จากเดิมที่หนูมีหน้าที่ เขียน และเผยแพร่

กลายเป็นว่าต้องเป็นคน สำเนาเอกสารส่งเอง

อาจจะด้วยความด้อยประสบการณ์ ไม่มีความสามารถพยุงกำลังได้

สุดท้ายก็หมดแรง จึงเลิกทำไป

 

บทเรียนจากความล้มเหลวครานั้น ทำให้หนูได้เรียนรู้ว่า

"ทำอะไรให้ไตร่ตรองให้ดีก่อน การทำอะไรเพียงคนเดียว แม้จะดี แต่ก็อยู่ได้ไม่นาน"

พอได้อ่านบันทึกนี้ของอาจารย์ สะกิดใจให้อยากกลับมาเขียนงานแบบนี้อีก กราบขอบพระคุณนะคะอาจารย์ ที่เมตตาเขียนบันทึกดี ๆ และให้กำลังใจผู้อ่านเสมอมา

                                                                ด้วยความเคารพค่ะ

 

วิชาการสายรับใช้สังคมไทย...?

ถ้าจะรับใช้ต้องตั้งตนตั้งและใจเป็น "ผู้ให้" ต้องเริ่มปลูกฝังตั้งแต่ค่านิยมในการเลือกคณะวิชาที่เรียน เพราะเด็กไทยหลาย ๆ คน เลือกที่จะเป็น "ผู้รับ" โดยเฉพาะคณะสาขาวิชาใด จบมาแล้วได้รับ "Money" มาก ๆ สาขาวิชานั้นจะเป็นที่ต้องการ (Demand) อย่างมากของเด็กนักเรียนไทย

เมื่อทุกคนมีค่านิยมว่า "หว่านพืชต้องหวังผล" แต่ละคนก็ต่างทุ่มเทพลังกาย พลังใจ เพื่อมีชีวิตที่ "มีแต่ได้" ได้วันหน้า

คนลงทุนมากได้มาก คนลงทุนน้อยได้น้อย หรือแม้นเมื่อกระทั่งรับทุนผู้อื่นมา เมื่อหมดทุนแล้วก็หมดกัน

เรื่องนี้เป็นเรื่องในระดับ "จิตวิญญาณ" จิตสำนึกในการ "เสียสละ" เพื่อประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน

ถ้าจะหวังกับเด็ก ๆ ที่เรียนจบใหม่ ๆ คงจะยากเหลือหลายเพราะเขาถูกหลอมละลายด้วยค่านิยมของสังคมแบบ "ทุนนิยม"

ในวันนี้ต้องพึ่งพาผู้ใหญ่ดี ๆ ที่อิ่มแล้ว พอแล้ว ใช้ความรู้ประสบการณ์ที่มีอยู่นี้รับใช้สังคมไทย

ถ้าจะหวังให้เด็กมารับใช้สังคม เด็กคนนั้นจะต้องดำรงตนอยู่บนพื้นฐานแห่ง "ศีล" อย่างหนักแน่น และไม่ใช่เพียง "ศีล 5" แต่อย่างน้อยต้อง "ศีลอุโบสถ"

เพราะศีลอุโบสถหรือศีล 8 นั้น จะตัดความฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิมในอาหาร เครื่องนุ่มห่ม ยารักษาโรค และที่อยู่อาศัย บุคคลใดไม่ติดพันด้วยปัจจัยทั้ง 4 นี้ มีชีวิตอยู่แบบพอมี เขาทั้งหลายจึงจะสามารถเสียสละเพื่อส่วนรวม

ถ้าหากบุคคลใด ยังยึดมั่นในรูป รส กลิ่น เสียง โผฐฐัพพะและธรรมารมณ์ ก็จะฟุ้งเฟ้อ เห่อเหิมในปัจจัยสี่ กินอาหารก็ต้องอาหารดี ๆ ไม่ได้กินเพื่ออิ่มท้อง แต่กินเพื่อหน้า เพื่อตา เพื่อเกียรติยศ

การบริโภคปัจจัย 4 แบบไม่รู้จักพอดีนั้นเอง เป็นสาเหตุในการสร้างฐานของจิตใจให้เป็นคนที่เห็นแก่ได้ "ไม่รู้จักพอ"

คนที่ไม่รู้จักอิ่ม ไม่รู้จักพอ ทุกอย่างก้าวและทุกการกระทำของเขาก็มีแต่จะ Take Take Take แล้วก็ Take

แต่เมื่อจะพูดถึงเรื่อง Give หรือการรับใช้สังคมไทยนั้น เป็นสิ่งที่อยู่ตรงกันข้ามของบุคคลที่ยังหลงวนเวียนกับค่านิยมของสังคม

บุคคลใดมีศีลอันประเสริฐ บุคคลนั้นย่อมเป็นผู้เลิศในการรับใช้ เพราะทั้งตัวและหัวใจ มีไว้เพื่อให้และเสียสละต่อสังคม...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท