การลงทุนระหว่างประเทศ


เมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศแล้วจะพบว่ามี หลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือข้อตกลงระหว่างประเทศมากมายที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของหลักการทั่วไปและเรื่องที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นหลักที่ส่งเสริมการลงทุนให้มีความเสรีและเป็นธรรม

            เมื่อกล่าวถึง  การลงทุน(Investment) แล้วย่อมมีความหมายที่ว่า การใช้จ่ายเพื่อทำให้เกิดการผลิตสินค้าและบริการในอนาคตเพิ่มขึ้น แต่ความหมายดังกล่าวเป็นความหมายทางเศรษฐศาสตร์   แต่ถ้าหากมองถึงคำนิยามของการลงทุนในเรื่องระหว่างประเทศแล้วนั้นจะมีคำนิยามที่แยกได้ 2 แบบคือ คำนิยามของการลงทุนที่ต้องการเปิดตลาดและคำนิยามของการลงทุนที่ให้การคุ้มครองกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ

                คำนิยามของการลงทุนที่ต้องการเปิดตลาด จะมีคำนิยามที่แคบ เนื่องจากต้องการที่จะจำกัดถึงลักษณะและประเภทของการลงทุนที่จะสามารถเข้ามาลงทุนในประเทศได้ แต่หากเป็น คำนิยาม การลงทุนที่ให้การคุ้มครองกับนักลงทุนต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศ จะมีคำนิยามที่กว้างกว่า เนื่องจากกฎระเบียบที่จะใช้บังคับกับนักลงทุนมีอยู่น้อย จึงจำเป็นที่จะต้องให้การคุ้มครอง ซึ่งการให้คำนิยามนั้นก็แล้วแต่ข้อตกลงระหว่างประเทศว่าต้องการแบบใด จึงยังไม่มีการกำหนดคำนิยามที่ตายตัว ตัวอย่างเช่น 

               ความหมายของการลงทุนตามข้อตกลงFTA ไทย-ออสเตรเลีย ได้ให้คำนิยามของการลงทุนไว้ว่าการลงทุนหมายถึง สินทรัพย์ทุกประเภทซึ่งเป็นเจ้าของหรือถูกควบคุมทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมทั้งสังหาริมทรัพย์หรืออสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนทรัพยสิทธิ, หุ้น หุ้นสามัญ พันธบัตรและหุ้นกู้, สิทธิเรียกร้องให้ชดใช้เงินหรือสิทธิเรียกร้องให้ปฏิบัติตามซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจ, สิทธิในทรัพย์สินทางปญญา รวมถึงค่าแห่งสิทธิและค่าแห่งกู๊ดวิลล์ เป็นต้น

                เพื่อความมุ่งประสงค์ของความตกลงนี้ การเปลี่ยนแปลงรูปแบบของการลงทุนนี้จะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐภาคีที่เกี่ยวข้อง จึงเห็นได้ว่าคำนิยามการลงทุนระหว่างประเทศนั้นไม่สามารถกำหนดได้อย่างชัดเจนเพราะว่าข้อตกลงการลงทุนระหว่างประเทศนั้นจำเป็นต้องอาศัยการเจรจาระหว่างประเทศภาคีสมาชิกที่จะมีการเจรจาระหว่างกันเพื่อให้เกิดผลประโยชน์สูงสุดแก่ประเทศของตนเอง  ดังนั้นหากมีคำนิยามการลงทุนระหว่างประเทศที่บังคับใช้กันทั่วไปก็คงไม่สามารถตอบสนองความต้องการของแต่ละประเทศได้อย่างเต็มที่

                เมื่อพิจารณาประเด็นเรื่องการลงทุนระหว่างประเทศแล้วจะพบว่ามี หลักกฎหมายระหว่างประเทศหรือข้อตกลงระหว่างประเทศมากมายที่เกี่ยวข้องทั้งในเรื่องของหลักการทั่วไปและเรื่องที่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเป็นหลักที่ส่งเสริมการลงทุนให้มีความเสรีและเป็นธรรม ดังเช่น

                กฎบัตรสหประชาชาติได้บัญญัติถึงเรื่องความร่วมมือระหว่างประเทศทางเศรษฐกิจ และสังคมไว้ในหมวดที่ 9 โดยที่มาตรา 55(ค) มีหลักที่สำคัญคือการเคารพโดยสากล และการปฏิบัติตามสิทธิมนุษยชนและอิสรภาพอันเป็นหลักมูลสำหรับทุกคนโดยไม่เลือกปฏิบัติในเรื่องเชื้อชาติ เพศ ภาษา หรือศาสนาซึ่งจะเห็นได้ว่าเป็นบทบัญญัติที่ก่อให้เกิดความสนับสนุนการแข่งขันเสรีทั้งในด้านการค้า การบริการและการลงทุน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันโดยไม่มีการเลือกปฏิบัติระหว่างนักลงทุนต่างชาติ และนักลงทุนภายในประเทศ จนทำให้เกิดหลัก การประติบัติเยี่ยงชาติที่ได้รับความอนุเคราะห์ยิ่ง (MFN) และการประติบัติเยี่ยงคนชาติ (NT) ซึ่งตรงนี้เองทำให้สิทธิประโยชน์ต่างๆที่ให้กับนักลงทุนต่างชาติเท่าทียมกับนักลงทุนภายในประเทศด้วย ซึ่งพบว่าเป็นหลักที่สอดคล้องกับบทบัญญัติสหประชาชาติที่เป็นหลักทั่วไปที่มุ่งมั่นที่จะสร้างเสถียรภาพและความเป็นอยู่ที่ดีภายใต้ความสัมพันธ์โดยสันติและโดยความเป็นมิตรระหว่างประชาชาติโดยที่ต้องยึดความเคารพต่อหลักการแห่งสิทธิอันเท่าเทียมกัน

                การประติบัติเยี่ยงคนชาติ(National treatment) คือ การไม่เลือกปฏิบัติคนของชาติอื่นแตกต่างจากของชาติตนเอง ซึ่งหลักการนี้จะปรากฏชัดเจนในการทำข้อตกลงการค้าเสรีต่างๆ เช่น ความตกลงการค้าเสรี ไทย- ออสเตรเลีย  ปรากฏในบทที่ 2  ข้อ  202 กล่าวคือ   ภาคีแต่ละฝ่ายจะให้การประติบัติเยี่ยงคนชาติต่อสินค้าของภาคีอีกฝ่ายหนึ่ง  หรือในบทที่เรื่องการลงทุน ส่วนที่ 4 การคุ้มครองการลงทุน ข้อ910 ก็บัญญัติเรื่องการประติบัติเยี่ยงคนชาติไว้เช่นกัน  กล่าว คือ มีการตกลงว่า ภาคีแต่ละฝ่ายจะสนับสนุนและส่งเสริมการลงทุนของผู้ลงทุนของภาคีอีกฝ่ายหนึ่งในอาณาเขตของตน,ภาคีแต่ละฝ่ายจะทำให้มั่นใจว่าจะให้การปฏิบัติต่อการลงทุนในอาณาเขตของตนอย่างยุติธรรมและเท่าเทียมและภาคีแต่ละฝ่ายจะยอมรับการคุ้มครองและรักษาการลงทุนในปลอดภัยภายในอาณาเขตของตน

                นอกจากนี้ทางสหประชาชาติยังมีการบัญญัติหลักองค์การชำนาญพิเศษ และต่อมาได้มีการจัดตั้งองค์กรว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (หรือ อังค์ถัด; UNCTAD - United Nations Conference on Trade and Development) ซึ่งเป็นเครื่องมือของสหประชาชาติที่จะช่วยในการจัดการด้านการค้า การลงทุน และการพัฒนา โดยมีเป้าหมายคือ "การเพิ่มโอกาสทางการค้า การลงทุน และการพัฒนา และช่วยเหลือประเทศเหล่านั้นในการเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโลก ในพื้นฐานแห่งความเท่าเทียม" เป็นซึ่งก็พบได้ว่ามีเป้าหมายที่ต้องการสร้างการแข่งขันที่มีความเสรีและเกิดความเท่าเทียมกันระหว่างคู่สัญญา จึงเป็นเรื่องที่ตรงกับหลัก MFN และ NT ที่ต้องการที่จะให้ความเท่าเทียมกับนักลงทุนต่างชาติที่ได้รับสิทธิประโยชน์เช่นเดียวกับคนในประเทศ ซึ่งถือว่าเป็นหลักที่สำคัญอย่างยิ่งในการทำข้อตกลงระหว่างประเทศ

                ในคราวต่อไปจะขอกล่าวถึงความตกลงว่าด้วยมาตรการการลงทุนที่เกี่ยวกับการค้าและประเทศไทยมีกฎหมายฉบับใดบ้างที่เกี่ยวข้อง

หมายเลขบันทึก: 37532เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 23:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:08 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท