วิทยาลัยชุมชนพังงากับการส่งเสริมอัตลักษณ์ธุรกิจชุมชน


วิทยาลัยชุมชนพังงากับการส่งเสริมอัตลักษณ์ธุรกิจชุมชน

โดย  ธวัชชัย  จิตวารินทร์

วิทยาลัยชุมชนพังงา

 

เมื่อกล่าวถึงจังหวัดพังงา  ผมว่าคงมีหลายคนที่รู้จักจังหวัดนี้  อาจเพราะด้วยชื่อเสียงด้านความงดงามของชายหาด และน้ำทะเลใสสีคราม  รวมถึงเป็นที่ตั้งของหมู่เกาะสุรินทร์-สิมิลัน  ซึ่งเป็นหมู่เกาะที่มีชื่อเสียงติดอันดับ 1 ใน 10 ของโลก  หรืออาจจะเป็นเพราะชื่อเสียงของเขาตะปู ที่สร้างความโด่งดังจากการถ่ายทำภาพยนตร์ ในปีพ.ศ. 2517 เรื่อง เจมส์  บอนด์  ในตอนเพชฌฆาตปืนทอง (The Man with the Golden Gun) มาแล้ว  ซึ่งบรรยากาศ หรือทิวทัศน์ที่สวยงามเหล่านี้อาจเป็นสิ่งที่สร้างความประทับใจในแก่นักท่องเที่ยวผู้มาเยือนจังหวัดพังงาของเรา   แต่ก็มีหลายคนเหมือนกัน  ที่ทำหน้างง เมื่อกล่าวถึงจังหวัดพังงา และไม่เคยรู้เลยว่าจังหวัดพังงาเป็นจังหวัดชายทะเลจังหวัดหนึ่งในประเทศไทย ตั้งอยู่ทางภาคใต้ฝั่งทะเลอันดามัน และเป็นจังหวัดในกลุ่ม 3 จังหวัดอันดามัน ซึ่งประกอบไปด้วย  จังหวัดพังงา  ภูเก็ต และกระบี่   ทั้งยังถือได้ว่าเป็นจังหวัดน้องใหม่มาแรงในด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ (Ecotourism / Greentourism) ด้วยทรัพยากรธรรมชาติที่สวยงาม และสมบูรณ์    จัดได้ว่าเป็นจุดเด่น หรือ อัตลักษณ์ของจังหวัดพังงา ซึ่งสอดคล้องกับข้อมูลการศึกษาของสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เรื่อง อัตลักษณ์เอสเอ็มอี (SME) ประเทศไทย พบว่า  ธุรกิจเอสเอ็มอีที่โดดเด่นของภาคใต้ คือ  ธุรกิจท่องเที่ยวและบริการ  ธุรกิจผลิตอาหารจากสินค้าเกษตร   ธุรกิจสินค้าหัตถกรรม  ธุรกิจแปรรูปอาหารทะเล  ธุรกิจประมงและธุรกิจแปรรูปอาหารพื้นเมือง  ซึ่งพังงาก็มีธุรกิจทั้งหมดเหล่านี้เป็นฐานสำคัญในการประกอบอาชีพของชุมชน  โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจท่องเที่ยวและบริการที่ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศเพิ่มขึ้น ทั้งในปัจจุบันมีหน่วยงานในจังหวัดพังงาหลายหน่วยงานที่ร่วมส่งเสริมยุทธศาสตร์ด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพังงาให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นด้วย   จึงส่งผลให้ในช่วง 1-2 ปีที่ผ่านมา  มีผู้ประกอบการด้านธุรกิจท่องเที่ยวและบริการรายใหม่เกิดขึ้นเป็นจำนวนมากพอสมควร โดยผู้ประกอบการเหล่านั้นไม่ให้ความสนใจพลวัตด้านอื่นๆ ของจังหวัดพังงา ที่จะส่งผลให้เกิดความไม่สมดุลขึ้น  นั่นอาจเป็นเหตุทำให้การท่องเที่ยวเชิงนิเวศของจังหวัดพังงาไม่อาจดำเนินไปอย่างยั่งยืนได้    ซึ่งวิธีที่จะบริหารจัดการให้ธุรกิจท่องเที่ยวแบบท่องเที่ยวเชิงนิเวศสามารถดำเนินอยู่อย่างยั่งยืนได้นั้น  จะต้องมีการอนุรักษ์  ควบคุม  ดูแลรักษาและใช้ทรัพยากรที่มีอย่างพอดีตามศักยภาพ  มีการจัดกิจกรรมที่สมดุลและเหมาะสม มีการร่วมมือกันอย่างใกล้ชิดระหว่างผู้ที่เกี่ยวข้อง หรือผู้ที่มีส่วนได้เสีย (Stakeholder)  ต้องคำนึงถึงการพัฒนาด้านการให้ความรู้ความเข้าใจมากกว่ามุ่งเน้นความเจริญทางด้านเศรษฐกิจ  และสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ  คือ  ต้องให้ความสำคัญต่อการมีส่วนร่วมของประชาชนและองค์กรในท้องถิ่น ในการวางแผนพัฒนา หรือแลกเปลี่ยนความรู้จากเครือข่ายทางสังคม (Social Network Interpretation)  

จากข้อมูลของ สสว. เรื่องอัตลักษณ์ของเอสเอ็มอีในภาคใต้นั้น ยังมีอัตลักษณ์อีกหลายด้านที่ไม่ได้รับการพัฒนาอย่างเต็มที่   ซึ่งในการพัฒนาอาชีพของชุมชนในด้านต่างๆ  จำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือจากหน่วยงานหลายภาคส่วนซึ่งมีบทบาท หน้าที่และภารกิจที่แตกต่างกันออกไป เช่น หน่วยงานด้านการประชาสัมพันธ์ ด้านการศึกษา  ด้านการอนุรักษ์ ฯลฯ  ผมเห็นว่าวิทยาลัยชุมชนพังงาเป็นอีกหนึ่งหน่วยงานที่มีศักยภาพ สามารถช่วยผลักดันการพัฒนาและส่งเสริมอัตลักษณ์ของจังหวัดพังงาได้  วิทยาลัยชุมชนพังงาอยู่ภายใต้สังกัดคณะกรรมการการอุดมศึกษา(สกอ.) เหมือนกับมหาวิทยาลัยต่างๆ ในประเทศไทย  ต่างกันที่เป็นหน่วยงานการศึกษาขนาดเล็ก ที่ก่อให้เกิดกลไกสำคัญในการให้การศึกษาแบบบูรณาการเพื่อพัฒนาท้องถิ่นอย่างแท้จริง  เนื่องจากเป็นหน่วยงานที่เปิดโอกาสให้ชุมชนได้มีส่วนร่วมในการบริหาร การวางแผน และการกำหนดนโยบายต่างๆ เพื่อที่จะได้เป็นสถานศึกษาของชุมชน เพื่อชุมชนอย่างแท้จริง โดยวิทยาลัยชุมชนพังงาเข้าไปสัมผัส คลุกคลี รวมทั้งทำงานเชิงรุกและรับเพื่อสนองตอบความต้องการของชุมชนอย่างใกล้ชิด  ทำให้รู้ถึงภูมิสังคม  และบริบทของชุมชนเป็นอย่างดี ประกอบกับมีหลักสูตรการฝึกอบรมที่หลากหลาย สามารถปรับเปลี่ยน และยืดหยุ่นได้ตามความต้องการ คือหลักสูตรระยะสั้น ซึ่งถือเป็นหัวใจสำคัญของวิทยาลัยชุมชนในด้านการให้บริการทางการศึกษาแก่ชุมชน   ซึ่งหากเปรียบวิทยาลัยชุมชนกับกองทัพแล้ววิทยาลัยชุมชนเปรียบเสมือนหน่วยเคลื่อนที่เร็วซึ่งมีความคล่องตัว   สามารถปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ในการโจมตีได้ทุกรูปแบบ     ดังนั้นโอกาสที่วิทยาลัยชุมชนพังงาจะเสริมสร้าง และผลักดันอัตลักษณ์ของชุมชนในจังหวัดพังงาให้เด่นชัดออกมาในรูปแบบต่างๆ  เพื่อที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ในการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในท้องถิ่นอย่างยั่งยืน   ก็คงไม่ยาก  แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นคงต้องอาศัยความร่วมมือของเครือข่ายจากภาคส่วนต่างๆ  ในการระดมทรัพยากรที่จำเป็นในแต่ละด้าน เพื่อพัฒนาท้องถิ่น หรือชุมชนด้วย     จากมุมมองของผม ปัจจัยแห่งความสำเร็จ (Key Success Factor) ของการพัฒนาชุมชนโดยการสร้างอาชีพให้แก่ประชาชนในชุมชนนั้น มี 2 ประการ คือ                    1. ชุมชน และองค์กรแวดล้อม   2. การส่งเสริมอัตลักษณ์ของชุมชน 

    โดยปกติแล้วภาวะแห่งการพัฒนาใหม่จำเป็นต้องอาศัยฐานการคิดที่เป็นแกนกลาง  มีปฏิสัมพันธ์กันระหว่างมนุษย์กับชุมชน  มีชุมชนเป็นฐาน และฐานชุมชนก็ต้องตั้งอยู่บนหลักการพัฒนาที่ปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อมธรรมชาติ  เน้นที่ชุมชนต้องอยู่ร่วมกันในระบบนิเวศที่ดี และประกอบเข้าเป็นองค์รวมเดียว  ดังนั้นการพัฒนาชุมชนโดยเอาชุมชนเป็นตัวตั้งนั้น จึงต้องใช้หลักคิด “ การพัฒนาชุมชนแบบองค์รวมที่ยั่งยืน ” ผมคิดว่าการพัฒนาชุมชน หรือท้องถิ่นให้มีความเจริญนั้นทำได้ไม่ยาก  แต่จะทำอย่างไรให้ความเจริญนั้นตั้งอยู่บนความยั่งยืน นี่คือ โจทย์ที่ท้าทายของ วิทยาลัยชุมชนพังงา   

เมื่อทราบถึงหลักการพัฒนาชุมชน และปัจจัยแห่งความสำเร็จแล้ววิทยาลัยชุมชนพังงาก็ต้องเดินหน้าพัฒนาหลักสูตรการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับอัตลักษณ์ของชุมชนเพื่อความเจริญอย่างยั่งยืนบนฐานของความพอเพียง  ส่วนแต่ละชุมชนอยากได้หลักสูตรการฝึกอบรมที่ส่งเสริมอัตลักษณ์ของตนอย่างไรนั้น ผมเชื่อว่าคนในชุมชนคงให้คำตอบได้ดีที่สุดครับ

 

ร่วมแบ่งปัน แลกเปลี่ยนเรียนรู้  Let’s SHARE เพิ่มเติมได้ที่

http://tum-pngcc.blogspot.com/

หมายเลขบันทึก: 374667เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2010 16:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 15:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท