Peer Assist สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)


Peer Assist สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI)


          สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI – Thailand Environment Institute) ต้องการดำเนินการ KM ภายในสถาบัน   มีคณะทำงานยกร่างแผนอย่างดี   แต่คณะกรรมการบริหารสถาบันต้องการทำความเข้าใจ KM ให้ดีกันเสียก่อน   หัวหน้าคณะทำงานคือ  ดร. อำไพ  หรคุณารักษ์  ได้กรุณาส่ง “ข้อเสนอโครงการ  การจัดการความรู้ในสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย” ให้ผมและคณะที่จะไปทำ PA ในวันที่ 14 ก.ย. ได้ศึกษาก่อน   เพื่อเตรียมตัว


          ผมอ่านเอกสารรวม 7 หน้าด้วยความชื่นชม   และมีความเห็นในภาพรวมว่า TEI มาถูกทางแล้วในเชิง concept ใหญ่ ๆ   ยังเหลืออยู่ที่วิธีการ implement โครงการเท่านั้น   รวมทั้งวิธีมองและดำเนินการ KM ให้เป็น “ยาดำ” แทรกอยู่ในทุกกิจกรรม   ไม่ใช่แยกตัวออกมาจากกิจกรรมอื่น ๆ
          คือต้องไม่มอง KM เป็น “งาน”   แต่มองเป็น “เครื่องมือ”


          ผมชอบแผนปฏิบัติการข้อ 2  “วิเคราะห์วัฒนธรรมสถาบันฯ  เปรียบเทียบกับวัฒนธรรมการจัดการความรู้”   นี่คือหัวใจของการดำเนินการ KM   และเป็นเป้าหมายรายทางที่สำคัญ   คือต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรม   จากวัฒนธรรมตัวใครตัวมัน   หน่วยใครหน่วยมัน   เป็นวัฒนธรรม ลปรร. ข้ามหน่วยงานย่อยของสถาบัน   และจะต้องมี “กุศโลบาย” เชิงรูปธรรมเพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนวัฒนธรรมดังกล่าว   ให้เป็นการเปลี่ยนแบบไม่รู้ตัวหรือไม่รู้สึกว่าเปลี่ยน   คือไม่เกิดความยากลำบากหรือฝืนใจ   แต่กลับได้ความสุขความภูมิใจจาการเปลี่ยนแปลงนั้น


          ผมหวังว่าทีมเหย้าจะช่วยบอกวัฒนธรรมของสถาบันฯ ในช่วงแรกของ PA   และบอกว่ามีเป้าหมายเปลี่ยนวัฒนธรรมไปเป็นอย่างไร   และคิดวิธีดำเนินการไว้อย่างไร   มียุทธศาสตร์การดำเนินการในช่วงเริ่มต้น KM อย่างไร


          ผมคิดว่า PA ในบ่ายวันที่ 14 ก.ย.  น่าจะได้ประโยชน์ตรงส่วนนี้มากที่สุด


          ความลับของ KM ใน TEI  ก็คือ  ดร. ไชยยศ  บุญญากิจ   รองประธานสถาบันฯ   เป็นสามีของ ดร. บุญดี  บุญญากิจ   กูรูคนหนึ่งในด้าน KM ของเมืองไทย   จึงไม่แปลกที่ข้อเสนอโครงการ KM ของสถาบันเขียนขึ้นอย่างครบถ้วนเป็นระบบดีมาก   เนื่องจากได้ที่ปรึกษาดี   จนผมสงสัยว่ามาขอให้ทาง สคส. ไปช่วยให้ความเห็นทำไมก็ไม่รู้   หรือมองมุมกลับว่า สคส. ดูจะไม่มีอะไรไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่โครงการ KM ของ TEI ได้มากนัก   แต่ว่าไหน ๆ ก็ไหน ๆ และเนื่องจาก ศ. ดร. สนิท อักษรแก้ว  ประธาน TEI กับผมเป็นเพื่อนรักใคร่ชอบพอกันอย่างแรง   ก็จะลองยกพลไปเป็นทีมเยือน   ทำ PA ตามโจทย์ว่า “TEI ควรประยุกต์กิจกรรม KM ภายในสถาบันอย่างไรให้เกิดประโยชน์สูงสุด”   นี่คือ “หัวปลา” ของ PA ครั้งนี้


          ผมมีข้อคิดเห็นในภาพใหญ่  ดังต่อไปนี้
1.      ยุทธศาสตร์การทำ KM ภายในองค์กรแบบที่เมื่อทำแล้ว “ได้กำไร”  คือลงทุนลงแรงน้อย  ได้ผลมาก   ได้กำไรทั้งระดับสถาบันและระดับพนักงานเป็นคน ๆ
2.      ยุทธศาสตร์บูรณาการกิจกรรม/วิธีดำเนินงาน   รวม 10 ข้อเป็นหนึ่งเดียว   คือให้กิกจรรมทั้ง 10 เชื่อมโยงหนุนเนื่องกัน
3.      ยุทธศาสตร์เชิงบวก   เชิงชื่นชมยินดี   หยิบยกความสำเร็จภายในสถาบัน   และความสำเร็จภายนอกสถาบันมาต่อยอด
4.      ยุทธศาสตร์ใช้ความสำเร็จ (ความรู้ปฏิบัติ) ภายนอก   มาเสริมพลังความรู้ (ปฏิบัติ) ของสถาบัน   เชื่อมโยงกับความรู้ทฤษฎีของสถาบัน   นำไปสู่การหมุนเกลียวความรู้   ยกระดับความรู้ด้านการพัฒนาสิ่งแวดล้อม   แก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมของประเทศ   และในขณะเดียวกันยกระดับทักษะการจัดการความรู้ของสถาบันฯ


         ผมตื่นเต้นที่จะได้ ลปรร. กับคณะของ TEI   ผมมีความเคารพนับถือสถาบันนี้มาตั้งแต่เริ่มตั้ง   และสนิทสนมกับประธานสถาบันฯ ทุกคน   จึงถือเป็นมงคลชีวิตที่จะได้มีโอกาส ลปรร. กับกลุ่มปราชญ์ของแผ่นดิน


          ถ้า TEI ไม่ถือเป็นความลับของสถาบันฯ   ผมอยากขออนุญาตถ่ายวีซีดีไว้เป็นบทเรียนสำหรับ สคส.   สำหรับไว้เผยแพร่วิธีการทำ Peer Assist   เพราะผมคาดว่าจะเป็นกิจกรรม Peer Assist ที่ดีครั้งหนึ่ง


                                                                                      วิจารณ์  พานิช
                                                                                         11 ก.ย.48

หมายเลขบันทึก: 3746เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2005 09:05 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท