บทบาทภาวะผู้นำ


บทบาทภาวะผู้นำของข้าราชการไทยกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
บทบาทภาวะผู้นำของข้าราชการไทยกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
E – Newslettor :  ฉบับที่  16  ประจำเดือน มิถุนายน  2549
             เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 สำนักงาน ก.พ.ร. โดยกลุ่มพัฒนาระบบบริหาร ร่วมกับกลุ่มบริษัท PacRim ได้จัดการสัมมนาเรื่อง “บทบาทภาวะผู้นำของ ข้าราชการไทยกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ขึ้น ณ ห้องราชพฤกษ์บอลรูม ชั้น 2 อาคารสโมสรกีฬา สโมสรราชพฤกษ์ ถนนวิภาวดีรังสิต โดยมี ก.พ.ร.ธรรมรักษ์ การพิศิษฏ์ เป็นประธาน
            ผู้เข้าร่วมการสัมนนาในครั้งนี้ประกอบด้วย ผู้บริหารสูงสุดด้านการจัดการความรู้ (Chief Knowledge Officer)ของส่วนราชการต่าง ๆ ที่มาร่วมรับฟังการบรรยาย การถ่ายทอดประสบการณ์และแลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกันเกี่ยวกับ บทบาทภาวะผู้นำของข้าราชการไทย ที่จำเป็นต่อการพัฒนาองค์กร และพัฒนา ประเทศอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ เพื่อให้การสัมมนาดังกล่าวเป็นการสนับสนุนให้เกิด การแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์จากผู้ทรงคุณวุฒิทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการให้กับ CKO ของหน่วยงานต่าง ๆ
            ในช่วงแรกของการสัมมนานั้น เป็นการบรรยายของผู้ทรงคุณวุฒิ ในเรื่องเกี่ยวกับภาวะผู้นำยุคใหม่ ได้แก่
             ท่านธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กรรมการ ก.พ.ร. บรรยายเรื่อง บทบาทภาวะผู้นำของข้าราชการไทยต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
             คุณพรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ประธานบริหารกลุ่มบริษัท PacRim บรรยายเรื่อง ผลการศึกษาวิจัยเรื่อง ภาวะผู้นำยุคใหม่ : กรณีตัวอย่างความสำเร็จ ในบริบทต่างประเทศกับารนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
บทบาทภาวะผู้นำของข้าราชการไทยต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน
        ท่านธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ กรรมการ ก.พ.ร. กล่าวถึงภาวะผู้นำ ว่า “ผู้นำ” ในปัจจุบันได้เปลี่ยนแปลงไปจากอดีตมาก ซึ่งในอดีตนั้นเป็นยุคของ การรวมศูนย์อำนาจ กล่าวคือ อำนาจอยู่ในมือของข้าราชการ และ ผู้นำคือผู้ควบคุมกำกับบังคับบัญชา ในลักษณะของ“คุณพ่อรู้ดี” อีกทั้งยังไม่มีการจัดการความรู้ เพราะ คิดว่าไม่ใช่สิ่งจำเป็น  เนื่องจากผู้นำไม่มีหน้าที่ในการจัดการความรู้ แต่มีหน้าที่ถ่ายทอดคำสั่งและควบคุม กำกับให้เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับที่กำหนดไว้     
                แต่ในปัจจุบัน ภาวะผู้นำได้เปลี่ยนไปตามการเปลี่ยนแปลง ของโลกที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว สลับซับซ้อนและไม่แน่นอน โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลง ทางด้านเทคโนโลยี      ข้อมูลข่าวสารรวมทั้งกระแสในเรื่องของสิ่งแวดล้อม ประชาธิปไตย และสิทธิมนุษยชนที่เกิดขึ้นทำให้โลก ในศตวรรษที่ 21 เป็นโลกที่เป็น พลวัตรและเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่ายที่ไร้พรมแดน
ด้วยเหตุนี้ เมื่อกล่าวถึงบทบาทของผู้นำในปัจจุบัน ต่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน เราจึงต้องเปลี่ยนวิธีคิด โดยให้ความสำคัญกับการจัดการความรู้ เพราะข้อมูลข่าวสารต่าง ๆเกิดขึ้นทุกวัน และเราต้องติดตามนำข้อมูลเหล่านั้นมาสร้างความรู้สร้างปัญญาต่อไป
            ในการจัดการกับโลกสมัยใหม่เราต้องมีภาวะผู้นำในตัวเองในการจัดการ- ความรู้ กล่าวคือภาวะผู้นำ หรือLeadership นั้น จะต้องมีในทุกระดับ ไม่ใช่เพียงผู้บังคับบัญชาเท่านั้นเพื่อปรับตัวเองให้อยู่ในโลกที่เปลี่ยนแปลงได้
            การจัดการความรู้ไม่ใช่เพียงการจัดระบบที่เป็น Hardware หรือ ระบบรวบรวม ข้อมูลที่เป็นรูปธรรมเป็นวิชาการเป็นตัวเลขเท่านั้น แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการจัดการความรู้ คือการจัดการกับสิ่งที่เป็น Software ซึ่งก็คือ มนุษย์ นั่นเองเพราะในศตวรรษที่ 21 นี้ ให้ความสำคัญกับเรื่องของการมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Center)
การสร้างภาวะผู้นำในตนเองให้เกิดขึ้น เพื่อการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนนั้นจะต้อง เริ่มที่การปรับเปลี่ยนวิธีคิด และกระบวนทัศน์ ของตนเอง โดยเรียนรู้เชื่อมั่นและศรัทธา ในตนเอง empower ตัวเอง ว่าเรามีศักยภาพ ในความเป็นมนุษย์ทั้งทางกายทางใจ และ ทางจิตวิญญาณ สามารถเรียนรู้ได้อย่างเต็ม ศักยภาพ รวมทั้งปรับเปลี่ยนวิธีคิดจากเดิม คือการคิดแบบใช้อำนาจแบบครอบงำ แบบควบคุมกำกับ  โดยมองทุกอย่างเป็นสิ่งไม่มีชีวิต หรือเป็นวัตถุสิ่งของที่เราจะเข้าไป ควบคุมกำกับตามที่เราต้องการซี่งเป็นการคิดแบบแยกส่วน
            แต่ภาวะผู้นำในองค์กรสมัยใหม่ในการจัดการกับความรู้นั้น ไม่สามารถคิดแบบแยกส่วน หรือมองทุกอย่างเป็นสิ่งไม่มีชีวิตได้ หากแต่จะต้องมองคนให้ครบแบบเป็นองค์รวมโดย Stephen R. Covey ได้กล่าวไว้ในหนังสือ The 8th Habit ว่า เราต้องเปลี่ยน กระบวนทัศน์จากการมองทุกอย่างเป็นสิ่งของ (Thing Paradigm) ที่เน้นการกำกับควบคุมมาเป็นการมองทุกอย่างเป็น People Centered Paradigm โดยมองคนเป็นศูนย์กลางแบบบูรณาการ คือมองคนเป็นมนุษย์ที่เราต้องให้เกียรติ ให้เขามีส่วนร่วมคิดร่วมทำ และได้รับการพัฒนาอย่างเต็มศักยภาพ
            นอกจากนี้ ก.พ.ร. ธรรมรักษ์ ยังได้กล่าวถึง วัฒนธรรมของผู้นำ 12 ประการ ซึ่งใน การสร้างภาวะผู้นำในตัวเองนั้น เราจะต้องปรับเปลี่ยนวิธีคิดและกระบวนทัศน์ เพื่อสร้างให้เกิดวัฒนธรรมทั้ง 12 ประการนี้ ได้แก่
            1. อย่าบังคับควบคุมผู้ปฏิบัติงาน (Don’t Control Employees involves them) ต้องจูงใจให้เขาอยากทำ ทำให้เขารู้สึกเป็นเจ้าของการเปลี่ยนแปลง และเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งการมีส่วนร่วมนั้น เป็นกลไกสำคัญของการจัดการความรู้
            2. ต้องประพฤติตัวเป็นแบบอย่าง (Model Behavior You Want) ทำอย่างที่พูด ต้องการให้ผู้อื่นเป็นอย่างไรก็ต้องทำตัวเองให้เป็นแบบอย่างก่อน
            3. ทำตัวให้เห็นเด่นชัด (Make Yourself Visible) 
            4. ส่งสัญญาณการเปลี่ยนแปลงให้ชัดเจน (Make a Clear Break With a Past)
            5. สนับสนุนผู้บุกเบิก (Unleash-but Harness-the Pioneers)
            6. เสาะหาเลือดใหม่ และค่อย ๆ ถ่ายเลือด (Get a Quick Shot of New Blood and Allow Transfusion)
            7. ขจัดความกลัว และอย่าอดทนต่อต้านการเปลี่ยนแปลง (Drive Out Fear – but Don’t Tolerate Resistance)
            8. สร้างความสำเร็จจากความสำเร็จ (Sell - Success)
            9. สื่อสารกันตลอดเวลา (Communicate, Communicate, Communicate)
           10. สร้างสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มต่าง ๆ ในองค์กร (Fault Lines)
           11. ปรับกระบวนการบริหารให้สนับสนุน วัฒนธรรม (Change Administrative System that Reinforce a Bureaucratic Culture)
           12. ต้องดำเนินการต่อเนื่อง (Commit for the Long Haul)
โดยสรุปแล้ว เมื่อกล่าวถึงผู้นำกับ ความยั่งยืน สิ่งสำคัญที่สุดก็คือการเปลี่ยน กระบวนทัศน์ และมองคนเป็นมนุษย์ ไม่ใช่ สิ่งของที่ต้องคอยควบคุมกำกับ นอกจากนี้ ผู้นำจะต้องเรียนรู้ในการเปลี่ยนวิธีคิด ต้อง empower ตัวเองเพื่อที่จะไป empower ผู้อื่น โดยการสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อการ มีส่วนร่วม และการร่วมคิดร่วมทำซึ่งจะทำให้ เกิดการมองเห็นภาพร่วมกัน เห็นการ เปลี่ยนแปลงด้วยกันและคิดในเชิงรุกร่วมกัน
ภาวะผู้นำยุคใหม่ : กรณีตัวอย่าง ความสำเร็จในบริบทต่างประเทศกับการนำมาประยุกต์ใช้ในประเทศไทย
คุณพรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ประธานบริหารกลุ่มบริษัท PacRim ได้กล่าวถึง ความสำคัญของภาวะผู้นำต่อความสำเร็จขององค์กร และการสร้างองค์กรที่มีความสำเร็จ แบบยั่งยืน (Sustained Superior Performance) และเป็นองค์กรที่ยิ่งใหญ่ ซึ่งประกอบด้วยองค์ประกอบสำคัญ 3 ด้าน ได้แก่
      1. บุคลากรทุกระดับในองค์กรมีศักยภาพ

     2. ผู้นำองค์กรมีศักยภาพ

     3.  องค์กรมีศักยภาพในการปฏิบัติงานให้เกิดผล
                   หากเปรียบเทียบองค์กรเป็นเสมือนต้นไม้แล้ว ผู้ที่ปลูกต้นไม้ก็ย่อมที่จะต้องหวังผลผลิตที่จะออกมาจากต้นไม้นั้น      เช่นเดียวกับองค์กรที่มุ่งหวังให้เกิด ผลงาน /ผลผลิตให้กับลูกค้าและ ประชาชน ยกตัวอย่าง     เช่น หน่วยงานภาครัฐที่ปฏิบัติงานเพื่อให้เกิดผลงานเป็นนโยบาย /โครงการต่าง ๆ ที่เป็นประโยชน์ ต่อประเทศชาติและประชาชน
            การที่ต้นไม้จะผลิดอกออกผลได้นั้น จำเป็นจะต้องมีองค์ประกอบต่าง ๆ ทั้ง ลำต้น กิ่งก้าน ใบไม้ ฯลฯ เช่นเดียวกับองค์กรที่จะต้องประกอบด้วยบุคลากร ที่มีความหลากหลายและแตกต่างกัน ซึ่งการจะทำให้บุคลากรทุกระดับปฏิบัติหน้าที่ ของตนและปฏิบัติงานร่วมกับผู้อื่นได้อย่างราบรื่นนั้น จะต้องอาศัยวัฒนธรรมองค์กร เป็นตัวช่วย เพื่อทำให้บุคลากรในองค์กรมีแนวคิดและแนวทางในการทำงานที่เป็นไป ในทิศทางเดียวกัน ซึ่งจะช่วยให้เราทำงานได้อย่างสร้างสรรค์ ทั้งนี้ วัฒนธรรมองค์กรนั้น จะแตกต่างกันไปในแต่ละองค์กร ขึ้นอยู่กับสิ่งที่องค์กรนั้น ๆ มุ่งเน้น เช่น Team work การเสียสละ ความซื่อสัตย์ ความรับผิดชอบ เป็นต้น
          อีกส่วนหนึ่งของต้นไม้ที่เรามองไม่เห็น แต่มีความสำคัญมากต่อความแข็งแรง ของต้นไม้ ก็คือ ราก เช่นเดียวกับแหล่งที่มาของวัฒนธรรมองค์กรที่ต้องมา จากองค์ประกอบสำคัญ 2 ด้าน คือ คุณลักษณะ (Characters) และความรู้ความสามารถ (Competencies) ซึ่งจะเป็นตัวกำหนดวัฒนธรรมองค์กรที่จะทำให้องค์กรมีความเข้มแข็ง และประสบความความสำเร็จ  เพราะฉะนั้น หน้าที่สำคัญประการ หนึ่ง ของผู้นำองค์กรก็คือต้องพัฒนาคุณลักษณะและความรู้ความสามารถ ของบุคลากรในองค์กรอย่างต่อเนื่อง
ซึ่งถือว่าเป็นการพัฒนาองค์กรจากส่วนที่ สำคัญที่สุด  นั่นคือการพัฒนาตัวบุคคล โดยการสร้างให้บุคคลมีความน่าไว้วางใจ (Trustworthiness) ซึ่งจะทำให้เกิด ทีมงานที่มีความไว้วางใจซึ่งกันและกัน ทุกคนทำหน้าที่ของตนคุณพรทิพย์ ได้อ้างอิงถึงหนังสือ The 7 Habits of Highly Effective People ของ Stephen R. Covey ที่กล่าวถึง ผู้นำที่ประสบความสำเร็จ ว่าจะ ต้องเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะที่ดี ซึ่งวุฒิภาวะ ของมนุษย์นั้นแบ่งออกเป็น 3 ระดับ ได้แก่อย่างดีที่สุด มีความสอดคล้องและเป็นไปในทิศทาง เดียวกัน
1. Dependence คือ ต้องพึ่งพาคนอื่น ซึ่งจะไม่สามารถเป็นผู้นำที่ดีได้
             2. Independence คือ มีความมั่นใจในตนเอง มีจุดยืน มั่นคง
             3. Interdependence คือ สามารถพึ่งพาตนเองและนำคนอื่นได้ ซึ่งเป็น วุฒิภาวะที่ควรมีในตัวของผู้นำที่ดี
            การนำพาตนเองไปสู่การเป็นผู้นำที่มีวุฒิภาวะในระดับ Interdependence ได้นั้น จะต้องเริ่มจากการพัฒนาตนเองให้มี 7 อุปนิสัยที่จะพัฒนาตนเองให้เป็นผู้นำ ที่มีประสิทธิภาพ คือ
           1. Be Proactive : รับผิดชอบในสิ่งที่เลือก/ทำ โดยไม่ปัดความรับผิดชอบ ทั้งนี้ เพราะทุกคนมีทางเลือกขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกที่จะทำอะไร จึงจะต้องเลือก และทำอย่างมีสติ และรับผิดชอบในสิ่งที่เลือกและผลลัพธ์ของสิ่งที่ทำ
           2. Begin with the End in Mind : ต้องมีวิสัยทัศน์ รู้ว่าสิ่งที่ต้องการ คืออะไรรู้จักเป้าหมายที่ชัดเจน

           3. Put First Things First : ทำแต่สิ่งที่สำคัญและ ใช้เวลาให้คุ้มค่าเต็มที่มีจุด มุ่งหมาย ไม่หลงทาง
           4. Think Win-Win : ใจกว้าง ไม่คิดถึงแต่ประโยชน์ส่วนตัวยินดีต่อ ความสำเร็จของผู้อื่น
           5. Seek First to Understand, Then to be Understood : เข้าใจซึ่งกัน และกัน รับฟังความต้องการ และข้อแนะนำของผู้อื่น
           6. Synergize : เกิดพลังร่วม เป็น team work ที่ส่งเสริมซึ่งกันและกัน สามารถทำงานร่วมจนเกิดผลสัมฤทธิ์ ทำให้ 1+1 ได้ผลลัพธ์ที่มากกว่าร้อย มากกว่าพัน
           7. Sharpen the Saw : พัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง ทั้งกาย วาจา ใจ
            อุปนิสัย 3 ข้อแรกนั้น จะทำให้เราสามารถจัดการชีวิตให้ตนเองมีความมั่นคง มีจุดยืน และมีเป้าหมายที่ชัดเจนซึ่งจะนำไปสู่การเป็นผู้นำในระดับ Independence แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผู้ที่จะมีภาวะผู้นำที่พึงประสงค์จะต้องพัฒนาตนเองไปสู่ผู้นำที่มีวุฒิ ภาวะในระดับ Interdependence ให้ได้ โดยการเสริมสร้างอุปนิสัยในข้อที่ 4 – 7 ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาองค์กรอย่างต่อเนื่อง
นอกจากอุปนิสัยทั้ง 7 ประการ ดังกล่าวแล้ว คุณพรทิพย์ยังได้กล่าวถึง บทบาทของ
ผู้นำที่จะนำพาองค์กรไปสู่ ความสำเร็จ ซึ่งได้แก่
            1. ผู้นำต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเกิดความ ศรัทธา และต้องการทำตามผู้นำ
            2. ผู้นำต้องให้วิสัยทัศน์และทิศทางที่ชัดเจนขององค์กร และสื่อสาร ให้ทุกคนในองค์กรเข้าใจ
            3. ผู้นำต้องทำให้สิ่งต่างๆในองค์กรมีความสอดคล้องมีระบบ สนับสนุนที่ทำให้การดำเนินงานต่าง ๆ ภายในองค์กรสามารถเกิดขึ้นได้
            4. ผู้นำต้องรู้จัก empower บุคลากรในองค์กร เนื่องจากความสำเร็จ ขององค์กร นั้นจะเกิดขึ้นได้จากความ ร่วมมือในการปฏิบัติงานของทุกคน ในองค์กร
ที่ผ่านมา ได้นำเสนอการบรรยายของท่าน ก.พ.ร.ธรรมรักษ์ การพิศิษฎ์ และคุณพรทิพย์ อัยยิมาพันธ์ ประธานบริหารกลุ่มบริษัท PacRim ในการสัมมนา เรื่อง“บทบาทภาวะผู้นำของข้าราชการไทยกับการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน” ที่สำนักงาน ก.พ.ร. ร่วมกับกลุ่มบริษัท PacRim จัดขึ้น ณ ห้องราชพฤกษ์ บอลรูม ชั้น 2 อาคารสโมสรกีฬา สโมสรราชพฤกษ์ เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2549 ที่ผ่านมา
การสัมมนาในครั้งนี้ นอกจากผู้บริหารสูงสุดด้านการจัดการความรู้ (Chief Knowledge Officer) ของส่วนราชการต่าง ๆ ได้รับได้รับฟังการบรรยาย ถึงทฤษฎี แนวคิดของบทบาทภาวะผู้นำจากผู้ทรงคุณวุฒิทั้ง 2 ท่านแล้ว เรายังได้จัดให้มีเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์จากผู้บริหารส่วนราชการ ที่ได้มีการบริหารจัดการ เพื่อสร้างผู้นำและสร้างวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้น ในองค์กรจนประสบความสำเร็จอีกด้วย
สำหรับผู้ที่มาร่วมพูดคุยในเวทีแลกเปลี่ยนความเห็นและประสบการณ์ เรื่อง “การสร้างผู้นำยุคใหม่กับการพัฒนาอย่างเป็นระบบในระบบราชการไทย” นั้น ได้แก่
             ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์  อธิบดีกรมศุลกากร กระทรวงการคลัง
             คุณศิริพล ยอดเมืองเจริญ  อธิบดีกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์
            โดยมีคุณอนุชิต ฮุนสวัสดิกุล ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาระบบสนับสนุน การมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบราชการ จากสำนักงาน ก.พ.ร.เป็นผู้ดำเนินรายการ ซึ่งผู้บริหารทั้ง 2 ท่าน ได้ให้แนวคิดและประสบการณ์ในประเด็นต่าง ๆ ดังนี้
หลักในการบริหารบุคคล และสร้างผู้นำยุคใหม่ที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
หน้าที่แรกของการเป็นผู้บริหารสูงสุด องค์กรก็คือ การสร้างผู้บริหารในลำดับรอง ลงไป ดังนี้สิ่งสำคัญในการบริหารองค์กร คือ การสร้างผู้บริหารขึ้นมาในองค์กร โดยกรมศุลการกรตั้งเป้าหมายไว้ว่า ข้าราชการระดับ 7 ขึ้นไปจะต้องเป็น นักบริหารโดยให้ข้าราชการระดับ 8 - 9 ได้เข้ารับการฝึกอบรมสัมมนาเกี่ยวกับ การบริหารจากวิทยากรทั้งไทย และต่างประเทศ สำหรับข้าราชการระดับ 7 นั้น ก็ได้จัดให้มีโครงการทางด้านการบริหารต่าง ๆ
เนื่องจากสิ่งสำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรก็คือองค์กรนั้นจะต้องมีนักบริหาร ให้มาก ซึ่งผู้บริหารขององค์กรนั้นไม่ใช่เพียงหัวหน้าส่วนราชการเท่านั้น แต่รวมไปถึง ผู้อำนวยการสำนัก ผู้อำนวยการส่วนและ ผู้อำนวยการฝ่าย ดังนั้น จึงต้องพยายาม ปลูกฝังว่าทุกคนเป็นนักบริหาร            


            นอกจากนี้ในระดับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานนั้นก็จะเน้นในเรื่อง การบริหารเชิงสมรรถนะ (Competency Based Management) โดยกำหนดให้ชัดเจนว่าสมรรถนะหลักของบุคลากรที่องค์กรต้องการนั้น คืออะไร ทั้งสมรรถนะที่ทุกคนจำเป็นต้องมี และสมรรถนะที่จำเป็นตามหน้าที่ ที่รับผิดชอบรวมไปถึงสมรรถนะของนักบริหารด้วย
 
            เหล่านี้คือแนวทางที่จะทำให้บุคลากรในองค์กรเป็นกำลังสำคัญ ในการขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้า อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ บุคลากรทุกระดับในองค์กรจำเป็นต้องมีความเข้าใจอย่างลึกซึ้งถึงวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ขององค์กร ซึ่งเปรียบเสมือนเข็มทิศที่จะชี้นำการทำงาน ขององค์กรให้ไปสู่เป้าหมาย
คุณศิริพล ยอดเมืองเจริญ
            การบริหารบุคลากรนั้น ต้องให้ความสำคัญกับบุคลากรทุกระดับในองค์กร และบุคลากรในระดับ Top level ซึ่งได้แก่ อธิบดี รองอธิบดี ผู้อำนวยการกอง และผู้อำนวยการสำนัก ต้องทำตัวเป็นแบบอย่างที่ดี ซึ่งการจะพัฒนาตนเอง ให้แบบอย่างที่ดีในด้านใดนั้นจะต้องพิจารณา ความเหมาะสมและประยุกต์ให้เข้ากับองค์กรของตนทั้งนี้ โดยการพัฒนาผู้บริหารระดับกลาง ให้เป็น Top manager ให้ได้ และทำให้บุคลากร ระดับผู้ปฏิบัติงานเป็นตัวท้าทายผู้บริหารระดับ กลาง ยกตัวอย่างเช่น ในกรมการค้าภายใน มี ระบบพัฒนา Young talent โดยการพัฒนา และเพิ่มขีดความสามารถของตัวแทนบุคลากร รุ่นใหม่ที่มาจากทุกระดับ ทุกหน่วยงานภายใน องค์กรด้วยการถ่ายทอดความรู้และประสบการณ์ ต่าง ๆ  เพื่อให้บุคลากร กลุ่มนี้ซึ่งเป็น Young talent สามารถพัฒนาตนเองไปสู่การเป็นผู้ บริหารระดับกลางได้ขณะเดียวกันก็เป็นการท้าทายให้ผู้บริหารระดับกลางต้องพัฒนา ตนเองเพื่อมิให้ถูกคลื่นลูกใหม่แซงหน้าไป
            นอกจากนี้สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งคือ การทำให้ผลงานปรากฏออกมา ให้เห็นเพื่อเป็นหลักฐานของผลการปฏิบัติงานซึ่งเกิดจากการผลักดันของบุคลากร ทุกระดับโดยมีเป้าหมายร่วมกัน ทั้งนี้ในการปฏิบัติงานนั้นจะต้องมีการฝึกฝนด้วยเพื่อ ให้เกิดการพัฒนาประกอบกับการมีเทคโนโลยีและระบบบริหารจัดการต่าง ๆ  เพื่อให้ เกิดการพัฒนาของบุคลากรทุกระดับในองค์กร
คุณลักษณะของผู้นำที่พึงประสงค์ในองค์กร
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
            ผู้บริหารนั้นแตกต่างจากผู้นำ ซึ่งแน่นอนว่าผู้บริหารจะต้องมีความเป็นผู้นำ อยู่ในตัวด้วยทั้งนี้ความสามารถในการเป็นผู้นำนั้น นอกเหนือจาการบริหารจัดการงานตามที่ได้รับมอบหมายแล้ว จะต้องเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงด้วย ซึ่งจะทำให้เกิดความท้าทายดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดสำหรับผู้นำในโลกปัจจุบันก็คือการบริหารการเปลี่ยนแปลง เพื่อให้องค์กรสามารถรองรับกับการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นได้
            ดร.สถิตย์ ได้หยิบยกผลงาน วิจัยของ Jim Kouzes และ Barry Posner ที่กล่าวถึง  ลักษณะ 5 ประการ ของผู้นำที่ดี ซึ่งประกอบด้วย
               1. Model the way : แสดง ความมุ่งมั่น ในสิ่งที่ต้องการจะทำ เพื่อเป็นต้นแบบให้ผู้อื่นได้ ดำเนินไป ในทิศทางเดียวกันและทำให้วิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ที่กำหนดไว้เกิดผล สัมฤทธิ์อย่างแท้จริง
                2. Inspire share vision : เป็นนักคิดในการที่จะทำให้วิสัยทัศน์ของ องค์กรประสบความสำเร็จ รวมไปถึงการถ่ายทอดวิสัยทัศน์ขององค์กรลงสู่ วิสัยทัศน์ของหน่วยงานในทุกระดับเพื่อให้การดำเนินงานต่าง ๆ บรรลุวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์เดียวกัน
                 3. Challenge process : ต้องเข้าใจว่ากระบวนการที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ไม่สามารถตอบสนองความต้องการของประชาชนได้ตลอดเวลา และท้าทายตนเอง อยู่ตลอดเวลาว่าจะต้องปรับเปลี่ยน/พัฒนากระบวนการนั้นๆ เพื่อเกิดการบริการที่ดีขึ้นสำหรับประชาชน
                 4. Enable others to act : ผู้บริหารในทุกระดับจะต้องสนับสนุน และพัฒนาผู้บริหารในระดับรองลงมารวมทั้งบุคลากรที่อยู่ในกำกับดูแลด้วย เพื่อให้บุคลากรมีความสามารถในการปฏิบัติงานในความรับผิดชอบของตนได้ ซึ่งหน้าที่ของผู้นำองค์กร คือ ต้องทำให้ทุกคนมีความสามารถในการปฏิบัติงาน ในหน้าที่ของตนเองได้
            5. Encourage the heart : สร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างจิตใจ ที่ดีในการทำงาน มุ่งมั่น และผลักดันให้เกิดการทำงานร่วมกัน นำไปสู่การบรรลุ วิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ขององค์กร ทั้งนี้หน้าที่หลักของผู้นำคือ การทำความเข้าใจกับเป้าหมายที่องค์กรกำลังจะเดินไป และสื่อสารให้คนในองค์กรรับทราบและเข้าใจ
            หน้าที่ที่สำคัญอีกประการหนึ่งของผู้นำคือ การวางแผนกลยุทธ์ และการแปลงยุทธศาสตร์ไปสู่การปฏิบัติ รวมทั้งการกำหนดตัวชี้วัดที่มีคุณภาพ สามารถวัดผลได้ว่าการปฏิบัตินั้น นำไปสู่ความสำเร็จของยุทธศาสตร์หรือไม่
คุณศิริพล ยอดเมืองเจริญ
           ผู้นำควรเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์ มีความมุ่งมั่น เสียสละ และต้องแสดงออก ให้เห็นด้วยการกระทำมีการวางแผนวางกลยุทธ์ กำหนดทิศทางที่จะไปทั้งนี้ ความเป็นผู้นำนั้นไม่สามารถเลียนแบบกันได้ ซึ่งแต่ละองค์กรไม่สามารถนำรูป แบบของผู้นำที่เป็นตัวตายตัวแทนมาใช้ได้ หากแต่จะต้องปรับให้เหมาะสม กับองค์กรโดยพิจารณาจากบทบาท ภารกิจ กลุ่มเป้าหมาย และสภาพแวดล้อม ขององค์กร  นอกจากนี้ผู้นำยังจะต้อง มีความรู้ทั้งในเชิงกว้างและเชิงลึก เพื่อที่จะทำให้ผู้บังคับบัญชาและผู้ ใต้บังคับบัญชาเกิดความศรัทธา และความไว้วางใจ สิ่งสำคัญ อีกประการหนึ่งก็คือ ความสามารถ ในการสร้างปฏิสัมพันธ์ โดยเฉพาะ อย่างยิ่ง สำหรับกรมการค้าภายใน ที่จะต้องปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้า หมายหลายกลุ่มที่มีความแตกต่าง กันทั้งด้านความคิด การศึกษา ฯลฯ
ซึ่งการปฏิสัมพันธ์กับกลุ่มเป้าหมาย แต่ละกลุ่มก็จะต้องใช้เทคนิควิธีการ ที่แตกต่างกันไป ผู้นำจะต้องเป็นทั้งผู้ที่ เชี่ยวชาญหลายด้าน (Generalist) และ ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง (Specialist) เพื่อให้การบริหารจัดการเกิดผลลัพธ์ และเกิดการ พัฒนานอกจากนี้ก็ต้องประเมิน ตนเองว่ามีโอกาสและมีความสามารถ ที่จะทำอะไรได้บ้างจะทำให้สำเร็จได้อย่างไร   แต่หากทำไม่ได้ ก็ต้องยอมรับหาทางแก้ไข และปรับปรุงตนเองต่อไป
แนวทางในการนำ Knowledge Management มาใช้ในองค์กร
ดร.สถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์
            เรื่องของ Knowledge Management เป็นสิ่งสำคัญที่การบริหารจัดการองค์กรในยุคนี้ต้องมี ในอดีตนั้นจะให้ความสำคัญเฉพาะกับการบริหารในเชิงกายภาพ หรือการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่และมองเห็นได้แต่“ความรู้” เป็นทรัพยากรที่มองไม่เห็น แต่เป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจะต้องมีระบบที่สามารถนำความรู้ในตัวบุคคล (Tacit Knowledge) ถ่ายทอดออกมาเป็นความรู้ที่สามารถแสดงออกและให้ผู้อื่นรับรู้ได้ (Explicit Knowledge)
            แนวคิดในการจัดการความรู้สามารถแบ่งได้ 4 ส่วน ดังนี้
            1. Knowledge Identification คือ การระบุว่าความรู้ที่จำเป็นสำหรับองค์กรคืออะไร โดยพิจารณาจากวิสัยทัศน์ และยุทธศาสตร์ขององค์กร
            2. Knowledge Elicitation คือ การแสวงหาความรู้ที่องค์กรต้องการเพื่อนำมาจัดการ
            3. Knowledge Dissemination คือ การกระจายความรู้
            4. Knowledge Utilization คือการนำความรู้ไปใช้ ซึ่งเป็นส่วนที่สำคัญที่สุดของการจัดการความรู้ในองค์กร
            การจะทำให้เกิดกระบวนการจัดการความรู้นั้น ต้องอาศัยคุณลักษณะดังนี้
             “เริ่มต้นที่ใจ” กล่าวคือบุคลากรทุกคนในองค์กรต้องเปิดใจกว้าง เพื่อที่จะรับความรู้
             “ใฝ่พัฒนา” ปรารถนาที่จะเรียนรู้
             “ร่วมสานวิสัยทัศน์” (Share Vision) โดยความรู้นั้นจะต้องนำไปสู่การบรรลุวิสัยทัศน์
             “สร้างสรรค์เป็นทีม” (Team Learning) ต้องบริหารความรู้เป็นทีม แบ่งปันความรู้ซึ่งกันและกัน
             “คิดเป็นระบบ” ต้องคิดถึงผลกระทบหรือผลลัพธ์สุดท้ายที่จะเกิดขึ้น
            องค์กรที่สามารถคุณลักษณะทั้ง 5 ประการ มาประกอบกับแนวคิดในการจัดการความรู้ จะทำให้องค์กรนั้นกลายเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ หรือ Learning Organization ได้
            ทั้งนี้ส่วนที่สำคัญของการจัดการความรู้ก็คือ จะต้องมีการจัดทำแผนการจัดการความรู้ และนำไปปฏิบัติให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรม
คุณศิริพล ยอดเมืองเจริญ
            มุมมองของการจัดการความรู้ในองค์กรแบ่งเป็น Hardware Software และ Peopleware ซึ่งจะต้องจัดให้เป็นระบบและนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อองค์กร และที่สำคัญจะต้องนำนโยบายหรือแผนการจัดการความรู้ไปปฏิบัติให้เกิดผลให้ได้ โดยจัดให้เป็นระบบและสร้างสภาพแวดล้อมให้เอื้อต่อกระบวนการจัดการความรู้
          ในการสร้างระบบของการจัดการความรู้นั้น องค์กรต้องดำเนินการด้วย ตัวเองให้ได้ และจะต้องสามารถนำข้อมูลความรู้ที่ได้ ไปปรับใช้ให้เข้า กับงาน รวมทั้งพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรที่สามารถนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ และตอบ สนองความต้องการของกลุ่มเป้าหมายทุกกลุ่มให้ดีที่สุด
            สำหรับการนำแนวคิดต่าง ๆ ในเรื่อง ของการจัดการความรู้ไปปรับใช้ ในองค์กรนั้น ควรจะเลือกทำในสิ่งที่ถนัด ที่สุดและเหมาะสม กับองค์กรที่สุดก่อน โดยเตือนตัวเองอยู่ตลอดเวลาว่ารูปแบบ และแนวคิดนั้นมีอยู่มากมาย แต่รูปแบบ หรือแนวคิดใดที่เหมาะสมกับองค์กร ก็ควรจะเลือกไปดำเนินการก่อน
นอกจากนี้ ตัวของ CKO เอง ก็จะต้องมีเชื่อว่าตนเองสามารถเป็นผู้นำ และสามารถพัฒนาตนเองไปสู่การ เป็น CEO ได้ ซึ่งเมื่อเชื่อแล้วก็จะต้อง ทำให้ได้ด้วย จากนั้นก็จะต้องทำให้ องค์กรเชื่อด้วยว่าตนสามารถทำได้ และสิ่งสำคัญ คือขอให้เชื่อเสมอว่า การเป็นผู้นำ และผู้บริหารที่ดีนั้น ไม่ใช่พรสวรรค์ แต่เป็นพรแสวงที่ทุกคนสามารถทำได้    
แหล่งข้อมูล :
http://www.opdc.go.th/oldweb/thai/E_Newsletter/June2006/e_news_develop1.html
http://www.opdc.go.th/oldweb/thai/E_Newsletter/June2006/e_news_develop2.html
สืบค้นข้อมูลเมื่อวันที่  12  กรกฎาคม  2553
คำสำคัญ (Tags): #บทบาทภาวะผู้นำ
หมายเลขบันทึก: 374454เขียนเมื่อ 12 กรกฎาคม 2010 21:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขอบคุณมากครับ.. มาชมอีกรอบ

 

ขอฝากครับ..

http://gotoknow.org/blog/rachit7/393423

แวะมาอ่านถูกใจมากค่ะ

บทบาทภาวะผู้นำที่ชัดเจน 

และครอบคลุมแบบกระชับ

ขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท