ย้อนรอยวิธีเรียนรู้


การเรียนรู้จากตัวอย่างเรื่องเล่า ของคนๆหนึ่ง ที่มีอายุงาน 4 ปี ได้พัฒนาสิ่งที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้กับงาน เป็นสิ่งที่น่าสนใจ

         ในเวที KM Workshop กรมธนารักษ์   วันที่  3 กรกฎาคม  2549 ที่ผ่านมา  ใช้เวลา 3 ชั่วโมง   มีผู้เข้าร่วมจากสำนักประเมินราคาที่ดิน  ประมาณ 30 ท่าน ผู้เขียนติดตาม ทีมงาน สคส. ไปเรียนรู้การจัดกระบวนการ  โดยเริ่มด้วย  แนะนำวิธีแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แบ่งคน เป็น 3 กลุ่มๆละ 10 คน  ร่วมกันแลกเปลี่ยนเรียนรู้  แล้วนำเสนอ  พร้อมทำ AAR
          สิ่งที่ประทับใจ คือ  ธรรมชาติของกระบวนการที่เกิดขึ้น  เนื่องจากมีเหตุต้องเปลี่ยนห้อง นำเสนอเรื่องเล่า  และทำ AAR  กะทันหัน ทำให้ไม่มีเครื่องมือ อำนวยความสะดวก ทางเทคโนโลยีเลย   แต่ดูเป็นกันเองสนุกสนาน ได้อารมณ์ตามธรรมชาติการคิด อย่างดีทีเดียว
          ผู้เขียนมีโอกาสได้พบกลุ่มคนที่ถูกดึง ศักยภาพออกมาใช้งาน  จึงทำให้เขารู้จักซักถาม  รู้จักปรับตัว  พร้อมลงมือทำทันที  มีลูกล่อลูกชน  นับเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่ถูกทำลายทางความคิด  อีกกลุ่มหนึ่ง
          การเรียนรู้จากตัวอย่างเรื่องเล่า ของคนๆหนึ่ง ที่มีอายุงาน 4 ปี    ได้พัฒนาสิ่งที่ได้เรียนมาประยุกต์ใช้กับงาน เป็นสิ่งที่น่าสนใจ  และเขารู้ว่าควรต้องคุยกับใคร ในที่ทำงานเพื่อการเรียนรู้ของเขาในเรื่องต่างๆ   สิ่งที่ผู้เขียนสัมผัสได้  คือ การตั้งคำถามของเขาในกลุ่มแลกเปลี่ยนเรียนรู้  สามารถเจาะประเด็นในลักษณะที่กลั่นกรองมาจากความคิดที่ถูกฝึกฝนมา   จึงโดดเด่นจากกลุ่ม  ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนถึงตนเองตั้งแต่เริ่มทำงาน…

          ผู้เขียนมักถามหาคนที่เก่งที่สุด ในวิชานั้นๆ หรือทักษะนั้นๆ  ที่ผู้เขียน คิดว่าตนเองต้องเรียนรู้ เพื่อพัฒนาตนเอง   แล้วเข้าไปเรียนรู้จากเขา   ผู้เริ่มต้นเอื้ออำนวยผู้เขียน คือ สถานที่ทำงานที่แรก  ...ดวงดาวแห่งการพิมพ์....  ครูเบื้องต้นของผู้เขียน ในการคิดแบบนี้อีกท่านหนึ่งก็คือ  ดร.วรภัทร์  ภู่เจริญ  จำได้ว่า ท่านเป็นคนแนะนำ วิทยากร 5ส  ที่พูดเข้าใจง่าย เข้าใจจริง ลงมือทำ กับหัวหน้างานของผู้เขียน  ทำให้ผู้เขียนได้แม่แบบของทักษะการพูด แนวคิด  สไตล์การทำงาน จากทีมที่ปรึกษาในเวลาต่อมา   

          ตอนผู้เขียน เริ่มทำงานประมาณ  2 ปี   ผู้เขียนฟัง อาจารย์ทางด้านวิศวกรรม เข้าใจ  และซึมซับเรียนรู้ได้      ผู้เขียนฟังระดับ ดร. หรือ ระดับ ศาสตราจารย์ ไม่เข้าใจ  ทั้งหมด   คงเป็นเพราะ เรายังฟังไม่เป็นด้วย  แต่ผู้เขียนจะรู้ตัวเอง พอที่จะไม่เข้าร่วมอบรม ในวิชา กลุ่มการวางแผนองค์กรธุรกิจ    ผู้เขียนเริ่มมองหา  คนสอนที่มีชื่อเสียง   หลักสูตรชื่อใหม่ๆ และได้เข้าอบรมหลายๆเครื่องมือ   หลายหลักสูตร เพราะผู้บริหารระดับสูงชอบเรียนและสนับสนุนลูกน้อง 
          ผู้แขียนติดตามอ่านวารสารทางด้านคุณภาพ เพราะอยู่ในสายงานที่ทำ  ถ้าชอบ ก็จะคัดลอก บันทึกไว้  หรือส่งสำเนาให้ผู้บริหาร  ด้วยเชื่อตามบทความที่เขียนเชิงวิพากษ์วิจารณ์  ว่าคงช่วยพัฒนาองค์กรไปในแนวทางที่ดีขึ้น  ผู้เขียนไม่รู้ตัวหรอกว่า ตัวเอง ดูหยิ่งยโส.... วางภูมินักวิชาการในโรงงาน เพียงใด ?   ขอให้มีโอกาสเป็นวิทยากร   ก็พูดตามสิ่งที่เตรียมมา  แล้วออกจากห้องไป    ถ้ามีคำถามก็ตอบเขาไม่เคลียร์   รู้แต่ว่า เรายึด ตัวหนังสือถูก  คนฟังไม่เข้าใจ คือ เขาไม่ถูก สักวันคงเข้าใจเหมือนเรา   จริงๆ  ผู้เขียนก็ไม่เข้าใจ  แต่หลอกตัวเองว่าเข้าใจ 
          งานพัฒนาระบบที่เกิดขึ้นแม้จะลงมือทำ อย่างตั้งใจ แต่ก็ผ่านไปด้วยความยากลำบาก   คือ เจ็บกันทุกฝ่าย แต่ก็เห็นดอกเห็นผลบ้างพอได้ชื่นใจ     มีสิ่งหนึ่งที่เกิดขึ้น คือ ผู้เขียน ไม่สามารถพูดให้  ผู้บริหารระดับสูงเข้าใจได้ทุกประเด็น  มีช่องว่างต่อกันเสมอ  ทำให้บั่นทอนความมั่นใจที่ไม่แท้จริงของผู้เขียนพอควร 

          ผู้เขียนต้องไปฝึกตัวเอง การได้พบผู้สอนที่เข้าใจ ความนึกคิดของเรา  ทำให้ผู้เขียนต้องส่องกระจกดูตนเอง   เพราะผู้สอนให้สติ ว่าเราเป็นอย่างไร?  วันแรกที่ได้รับคำชี้แนะ ทำเอาผู้เขียนปวดหัวไปเลย  และไม่สามารถจดทุกสิ่ง ได้เหมือนที่เคยทำ  เพราะเป็นคำพูดที่ลึก และผู้เขียนต่อประเด็นไม่ติด     ผู้สอนเป็นคนไร้ชื่อ ไร้เสียง   มีภูมิปัญญา เข้าใจคน มีมารยาท ใจดี แต่ก็ไม่ละอายฟ้าละอายดิน ที่ทำให้เราทั้งเกรงและกลัว  เพียงให้คำชี้แนะ จากการซักถามของเราเท่านั้น ...  ผู้เขียน เริ่มเข้าใจ และพยายามปรับเปลี่ยนพฤติกรรมตนเอง   นำไปสู่การทดสอบตนเอง ในเวทีการทำงานจริง ต่อๆมา  เพื่อพัฒนาทักษะการเรียนรู้  
          ปัจจุบันผู้เขียนฝึกทักษะการทำงาน เรื่องการจัดการความรู้ กับ สคส. ก็ต้องใช้ทักษะการเรียนรู้ในลักษณะแตกต่างกันไป  และได้มีโอกาสเห็นผู้คนมากมายที่ใช้ทักษะการเรียนรู้ในลักษณะแตกต่างกันไป เช่นกัน

 

หมายเลขบันทึก: 37445เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 14:51 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • ดีใจครับที่มีเรื่องดีๆมาเล่าเสมอ
  • รออ่านเรื่องใหม่ครับ
  • ขอบคุณมากครับ
  • รู้สึกเหมือนส่องกระจกเห็นตนเองเลยค่ะ
  • ขอบคุณมากค่ะที่ชี้ให้เห็นสิ่งที่ตนเองต้องกระทำบ้าง

ถ้าเราเริ่มเห็นในข้อบกพร่องของตนเอง นับว่าเริ่มเปิดใจแล้วค่ะ เมื่อเราเปิดใจแล้วไม่ใช่เรื่องยาก ที่จะ เรียนรู้ ฝึกฝนทักษะ จนเกิดการพัฒนาอย่างแท้จริง   โปรดติดตาม  ตัวอย่างการเรียนรู้เพื่อพัฒนาตนเองเร็วๆนี้ค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท