คุยกับ Dr. Jean-Louis Lamboray


ว่าหาก HI-Thailand สนใจเริ่มงานด้านเบาหวานและจับที่กลุ่มผู้ป่วยและชุมชน จะช่วยเติมเต็ม (complement) ให้งานด้านเบาหวานของไทยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

เมื่อวันที่ ๕ กรกฎาคม ๒๕๔๙ ดิฉันมีโอกาสได้ร่วมพูดคุยกับ Dr. Jean-Louis Lamboray ซึ่งเป็น Chair ของ The Constellation For AIDS Competence ดิฉันเข้าใจว่าท่านเป็นต้นตำรับของ Self-Assessment (SA) Table หรือที่เราเรียกว่าตารางแห่งอิสรภาพ ในวาระที่ Dr. Lamboray ได้มาพบและพูดคุยกับ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช และ ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด ที่ สคส.

ก่อนหน้านี้ดิฉันได้รับการติดต่อจากเจ้าหน้าที่ของ Handicap International ประเทศไทย (HI-Thailand) ผ่านการแนะนำของ ดร.ประพนธ์ เนื่องจากทาง HI สนใจจะเริ่มทำงานด้านเบาหวานและสนใจกระบวนการ self-assessment ที่ Dr. Lamboray นำเสนอใน workshop ที่มะนิลาเมื่อเดือนเมษายน เมื่อเขารู้ว่าเครือข่ายเบาหวานได้ใช้เครื่องมือนี้อยู่ จึงอยากจะคุยด้วย

ดิฉันเดินทางไปถึง สคส.ตามนัดในเวลา ๑๔.๐๐ น. ด้วยความกังวลใจพอประมาณ เกรงว่าความสามารถด้านภาษาอังกฤษของตนเองจะเป็นอุปสรรคในการสื่อสาร แต่พอไปถึงอาจารย์วิจารณ์รีบแนะนำดิฉันกับ Dr. Lamboray พร้อมกับบอกดิฉันว่า Dr. Lamboray พูดภาษาไทยได้ด้วยนะ (ฟังคนนินทาได้รู้เรื่อง) ดิฉันเริ่มรู้สึกดีขึ้นกะว่าพูดไทยได้แน่ การคุยกันแบบกันเองและคำชม (จากอาจารย์วิจารณ์) ในผลงานของเครือข่ายเบาหวานยิ่งทำให้ดิฉันสบายใจยิ่งขึ้น คราวนี้ภาษาอังกฤษก็ฟัง-พูดได้แล้ว ถูกบ้างผิดบ้างก็ไม่เป็นไร

การได้ร่วมวงพูดคุยกับ Dr. Lamboray ทำให้มองเห็นประโยชน์ของ SA Table มากขึ้น คือเป็นได้ทั้งเครื่องมือสำหรับการ sharing ในระดับเครือข่ายและเครื่องมือสำหรับการวางแผน (planning) ของระดับ individual จริงๆ เราก็ใช้แบบนี้อยู่แล้ว แต่ไม่ได้พูดออกมาเท่านั้น ทีมเบาหวานของแต่ละ รพ. (individual) ใช้ SA Table ในการวางแผนพัฒนางานของตนเอง ตัวอย่างเช่น ทีมเบาหวาน รพ.พุทธชินราชของคุณหมอนิพัธ กิตติมานนท์ ทีมเบาหวานของ รพร.ธาตุพนม หรือแม้แต่ทีมของเทพธารินทร์เอง เป็นต้น ในขณะเดียวกันก็ใช้เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน มีการจับคู่ตามบันไดแห่งการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

Dr. Lamboray ถามว่าใน KM Workshop ของเรา มีผู้ป่วยเบาหวานมาร่วมด้วยหรือไม่ ทำให้เกิดการอธิบายว่า SA Table สำหรับกลุ่มบุคลากรและกลุ่มผู้ป่วยมีความแตกต่างกัน อาจารย์วิจารณ์ได้เสริมว่ามีการนำกระบวนการใน workshop ไปประยุกต์ใช้ในกลุ่มผู้ป่วยเบาหวาน ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้วิธีการปฏิบัติตัวจากกันและกัน ดิฉันนึกออกขึ้นมาทันทีว่าหาก HI-Thailand สนใจเริ่มงานด้านเบาหวานและจับที่กลุ่มผู้ป่วยและชุมชน จะช่วยเติมเต็ม (complement) ให้งานด้านเบาหวานของไทยมีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น

อาจารย์วิจารณ์และอาจารย์ประพนธ์ได้คุยเรื่องบล็อก gotoknow.org ด้วย ดิฉันรู้สึกว่า Dr. Lamboray ทึ่งและให้ความสนใจมาก ดิฉันได้ข้อคิดจากการฟังอีกว่าบล็อกช่วยสร้างบรรยากาศความคุ้นเคยเป็นกันเอง

การได้มีโอกาสร่วมพูดคุยเพียงประมาณ ๑ ชม. ดิฉันได้เรียนรู้เกี่ยวกับงานที่ทำอยู่มากขึ้น มีไอเดียในการทำงานต่อ และมองเห็นภาคีในอนาคต

วัลลา ตันตโยทัย วันที่ ๖ กรกฎาคม ๒๕๔๙

 

หมายเลขบันทึก: 37443เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ท่านน่าสนใจดี แถมพูดภาษาไทยได้ด้วย
  • อยากเห็นภาพครับผม
  • ขอบคุณมากครับ
รูปภาพต้องรอจากอาจารย์วิจารณ์ค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท