บทความเรื่อง รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม


รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม 

 

(Social Change Model of Leadership)

 

รศ.สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์

                ผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นบุคคลที่มีตำแหน่งหัวหน้าหรือผู้ที่ได้รับการยอมรับจากผู้อื่นเท่านั้น แต่ที่สำคัญกว่านี้ก็คือ ผู้นำเป็นผู้ที่สามารถก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลเชิงบวกต่อความเป็นอยู่ที่ดีของผู้อื่น ของชุมชนและของสังคมโดยรวม โดยนิยามหลังนี้จึงอาจกล่าวได้ว่า มนุษย์ทุกคนมีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้นำได้

 

                กระบวนการของการเป็นผู้นำหรือภาวะผู้นำนั้น ไม่สามารถอธิบายได้โดยง่ายเพียงแค่ดูจากพฤติกรรมของบุคคลใดบุคคลหนึ่งเท่านั้น แต่ภาวะผู้นำยังเกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ในแง่ความร่วมมือของกลุ่มคนหรือระหว่างกลุ่มคนในการปฏิบัติภารกิจร่วมกัน บนฐานของค่านิยมเหมือนกัน คือ การทำงานเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกขึ้นแก่สังคม

 

                จากฐานความเชื่อที่ว่า ผู้นำคือผู้ที่ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง (Change agent) และภาวะผู้นำคือ การทำงานร่วมกันในลักษณะของกลุ่มบุคคลที่ต้องการให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้น ดังนั้นโครงการพัฒนาผู้นำใด ๆ ที่มีฐานความเชื่อดังกล่าว จึงเน้นเรื่องค่านิยม (Values) สำคัญที่ใช้เป็นฐานของการเปลี่ยนแปลงทางสังคมควบคู่ไปกับการเรียนรู้ค่านิยมส่วนบุคคลเพื่อการเป็นผู้นำที่ดีต่อไป

 

                ด้วยเหตุนี้ แนวคิดหรือหลักการสำคัญของ “รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Model of Leadership หรือ SCML)  นี้ จึงมีความเชื่อว่า

 

  • ภาวะผู้นำเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงที่ส่งผลกระทบเชิงบวกต่อผู้อื่นและสังคม
  • ภาวะผู้นำ เป็นเรื่องของความร่วมมือร่วมใจกัน (Collaborative) เพื่อขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย
  • ภาวะผู้นำเป็นเรื่องที่เกี่ยวกับกระบวนการ (Process) มากกว่าเป็นเรื่องของตำแหน่ง (Position)
  • ภาวะผู้นำ เป็นเรื่องที่ยึดเอาค่านิยมเป็นฐาน  (Value-based)
  • นักศึกษา (ประชาชน) ทุกคน แม้จะไม่มีตำแหน่งใด ๆ ก็มีศักยภาพพอที่จะเป็นผู้นำได้
  • การฝึกการให้บริการ (Serve) แก่ผู้อื่น ถือเป็นเครื่องมือสำคัญยิ่งต่อการพัฒนาภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

เนื่องจากปัญหาทางสังคมทั้งระดับท้องถิ่นและระดับโลกเกิดขึ้นมากมายและรวดเร็ว ต่อเนื่องทุกวัน นักวิชาการด้านภาวะผู้นำต่างเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องสร้างหรือพัฒนาผู้นำสมัยใหม่ให้มีคุณลักษณะภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมขึ้นรับมือกับปัญหาดังกล่าวและยอมรับว่า ผลงานวิจัยทดลองของคณะนักวิชาการแห่งมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนียที่ลอสแองเจลิส (UCLA) ซึ่งเริ่มโครงการตั้งแต่ปี ค.ศ.1994 เรื่อยมา คือ โครงการพัฒนา “รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม (Social Change Model of Leadership หรือ SCML)” นั้น“ถือได้ว่า เป็นรูปแบบการพัฒนาภาวะผู้นำแห่งศตวรรษที่ 21 เพราะมีวัตถุประสงค์สำคัญ คือ การหลอมรวมแนวคิดในการพัฒนาภาวะผู้นำเข้าไปอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางสังคมที่เน้นส่งผลกระทบที่ดีงามต่อผู้อื่นและสังคมโดยรวม

 


สุเทพ พงศ์ศรีวัฒน์. 2549. รูปแบบภาวะผู้นำเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคม

 

 

        สืบค้นเมื่อ 10  กรกฎาคม  2553. จาก  http://suthep.ricr.ac.th

หมายเลขบันทึก: 374086เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2010 20:38 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:12 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท