KM กับ อริยสัจสี่ มีอะไรที่เหมือนกัน?


เป้าหมายที่แท้จริงของ KM จึงอยู่ที่งาน อยู่ที่การกระทำ เพื่อให้เป็นไปตามภาพที่พึงปรารถนา เรียกได้ว่าเริ่มต้นกันที่นิโรธ และอาศัยความสำเร็จเป็นมรรค

        ในระหว่างที่ผมอธิบายหลักของ KM ให้กับทีมแกนนำนักจัดการความรู้ของ 12 โรงเรียน และ 3 สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในพื้นที่ภาคอีสาน ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมราชพฤกษ์ แกรนด์ โฮเทล จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันที่ 29 มิถุนายน ที่ผ่านมานี้ ....มีผู้ฟังท่านหนึ่งได้ถามผมว่า "หลัก KM นั้นสอดคล้อง หรือแตกต่างจากหลักอริยสัจสี่?"

        ผมได้ตอบไปว่า  .....การตอบนี้เป็นการสะท้อนความคิดของผมในเรื่องดังกล่าว ไม่ขอยืนยันว่าถูกหรือผิด เป็นการถ่ายทอดความคิดให้ออกมาเป็นเสียงผ่านภาษา (วาจา)  . . . ผมว่า ....ถ้าเป็นหลักอริยสัจสี่จะต้องเริ่มจากการพิจารณาทุกข์ มองทุกข์ให้ทะลุจนเห็นถึงสาเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) เมื่อเห็นได้ทะลุปรุโปร่งถึงสาเหตุแห่งทุกข์แล้ว ก็จะเข้าใจสภาวะที่ไร้ทุกข์ (นิโรธ) และเกิดความกระจ่างในเรื่องเส้นทาง (มรรค) ที่จะไปสู่นิโรธนั้น

        . . . แต่สำหรับ KM แล้ว เรามักจะเริ่มกันที่นิโรธ เป็นการเริ่มต้นตรงภาพที่พึงปรารถนา เราอาจจะเรียกว่า "วิสัยทัศน์" ซึ่งก็คือส่วน "หัวปลา"  แล้วใช้การแลกเปลี่ยนเรียนรู้เป็นหนทาง (มรรค) ที่นำไปสู่การแก้ปัญหา พัฒนางาน หรือสร้างสรรค์นวัตกรรมให้เกิดขึ้น จุดสำคัญของ KM จึงอยู่ที่การกระทำ (Action) ถ้าไม่มี Action ปัญหาก็จะไม่ได้รับการแก้ไข งานก็จะไม่ได้รับการพัฒนา และสิ่งใหม่ๆ ก็จะไม่เกิดขึ้น

        ดังนั้นเป้าหมายที่แท้จริงของ KM จึงอยู่ที่งาน อยู่ที่การกระทำ เพื่อให้เป็นไปตามภาพที่พึงปรารถนา เรียกได้ว่าเริ่มต้นกันที่นิโรธ และอาศัยความสำเร็จเป็นมรรค โดยที่ไม่ได้มุ่งเน้นที่ตัวปัญหา (ทุกข์) และสาเหตุแห่งปัญหา (สมุทัย) . . .นี่คือคำอธิบายของผมในวันนั้นซึ่งอาจจะผิดไปก็ได้ครับ!

คำสำคัญ (Tags): #knowledgemanagement#km#อริยสัจ
หมายเลขบันทึก: 37323เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2006 07:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

   เห็นด้วยกับอาจารย์ แต่มีส่วนต่างเล็กน้อยครับ ..

    การเริ่มกันที่ นิโรธ หรือฉาย ภาพที่พึงปรารถนา คือสิ่งที่เรียกว่า "วิสัยทัศน์" เท่ากับเริ่มด้วยการหาคำตอบว่า เราจะไปถึงไหนกัน  ผมว่าน่าจะ สร้างพลังหรือแรงจูงใจ ได้น้อยกว่า การนำเรื่อง ภาวะที่ไม่พึงปรารถนา คือ ทุกข์ มาพูดกันให้เห็นก่อน ว่า หากปราศจากการจัดการที่ถูกต้อง เหมาะสมแล้ว ความทุกข์ ความเดือดร้อนอะไรบ้าง จะเกิดขึ้น ก็จะทำให้เกิด ความกลัว แล้วต่อด้วยเรื่อง นิโรธ ก็จะแน่นขึ้น เพราะได้เล็งเห็นทั้ง ภาวะที่เป็นโทษภัย และ  ภาวะที่พึงปรารถนา ที่กำหนดไว้ เป็นหัวปลา
ความมุ่งมั่นที่จะ เดินตามมรรค อันสอดคล้องกับ สมุทัย ก็จะเป็นไปด้วยดี  มีแรงขับทั้งที่เป็น ความกล้า และ ความกลัว มาเสริมกันครับ

         เป็นไปได้ไหมคะ? สำหรับองค์กรที่ยังพัฒนาไปไม่ถึงเป้าหมายความสำเร็จ อาจยังเต็มไปด้วยปัญหา และความต้องการแนวทางในการพัฒนา ดังนั้นน่าจะเริ่มจัดการจากการนำ ทุกข์ มาเป็นตัวตั้งเพื่อค้นหาแนวทางการดับทุกข์ หรือแก้ทุกข์เพื่อสร้างสุข
         ส่วนองค์กรที่เดินมาถึงเป้าหมายความสำเร็จได้มากพอแล้ว คงสามารถเริ่มต้นตรงภาพที่พึงปรารถนาได้เลย เพื่อต่อยอดพัฒนางาน
         จะเริ่มต้นที่หลักอริยสัจสี่ข้อใด คงอยู่ที่บริบทขององค์กรเรามากกว่า
         ตัวเองจะเข้าใจถูกหรือไม่? ก็ไม่ทราบค่ะ

ขอขอบคุณท่านอาจารย์ทั้งสองครับ ....ทำให้ได้คิดว่า จริงๆ แล้วตอนที่ผมให้เขา "แชร์" เรื่องดีๆ ที่เป็นความภูมิใจ ความสำเร็จ คนส่วนใหญ่มักจะเริ่มจาก "ปัญหา" หรือ "ทุกข์" ก่อนเสมอ เพียงแต่หลักของ KM นั้นเน้นไปที่ "....แล้วแก้ปัญหานั้นได้อย่างไร" เพราะในการแก้ปัญหานั้น ...นั่นคือ "Tacit Knowledge" ครับ ....ขอบคุณอีกครั้งครับ
ถ้าอ่านเรื่อง AI (Appreciative Inquiry) จะทำให้เข้าใจ "วิถีแห่ง KM" ได้ชัดยิ่งขึ้นครับ ...ขณะนี้ใน สคส. กำลังแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ลอง search ดูก็ได้ครับ หรือจะอ่านที่คุณจตุพรเขียนไว้ที่ http://gotoknow.org/blog/mhsresearch/28197 ก็คงจะเข้าใจเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้นครับ

    ขอบคุณครับ ... ได้ตาม Link ไปอ่านแล้วดีครับ มีประโยชน์มาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท