ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง
นาย ศุภัชณัฏฐ์ หลักเมือง (เอ) หลักเมือง

นักเรียน นักศึกษาตีกัน : ปัญหาของสังคม


จะรออีกนานเท่าไรถึงจะแก้ไขปัญหานักเรียน นักศึกษาตีกัน

ถึงเวลาจริงจังกับการแก้ปัญหานักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาทกันหรือยัง

ศุภัชณัฏฐ์  หลักเมือง

เครือข่ายประชาสังคมจังหวัดประจวบคีรีขันธ์

E-mail : [email protected]

------------------------------

             ปัญหากำลังแรงงานของประเทศไทยในปัจจุบันที่ประสบอยู่ นั่นคือ การขาดแคลนกำลังแรงงานในระดับเทคนิคที่มีความชำนาญการในสาขาวิชาต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ที่สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษารับผิดชอบในการผลิตกำลังคนระดับนี้ เพื่อออกมาเป็นกำลังหลักในการพัฒนาประเทศที่เข้าสู่การประกอบอาชีพในภาครัฐและภาคเอกชน ซึ่งยังมีความต้องการกำลังบุคลากร  ดังกล่าวจำนวนมากทั้งในภาครัฐและภาคเอกชน

             แต่ปัญหาสำคัญในการผลิตกำลังคนด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา       ในปัจจุบันที่สำคัญที่สุด ก็คือ ภาพลักษณ์ของนักศึกษาของสถาบันด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา ที่มีการทะเลาะวิวาทกันบ่อยมาก โดยเฉพาะกับนักศึกษา         ต่างสถาบันจนเกิดบาดเจ็บ ล้มตายกันจำนวนไม่น้อย ทั้งกับนักศึกษาด้วยกัน และประชาชนที่ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ทะเลาะวิวาทในสถานที่ต่าง ๆ แต่อย่างใด ปัญหาดังกล่าวสร้างความหนักใจให้กับผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้แก่     ผู้ปกครอง ครู ผู้บริหารสถาบัน ผู้บริหารระดับต่าง ๆ ในสำนักงานคณะกรรมการ การอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา ตลอดจน รัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งพอเกิดเหตุการณ์ขึ้นมาครั้งหนึ่งก็ดูเหมือนจะให้    ความสำคัญกันทีหนึ่ง แล้วเรื่องก็เงียบหายไป เกิดเรื่องขึ้นใหม่ก็มาหาวิธีการป้องกัน และแก้ไขกันทีหนึ่ง  แต่ปัญหาที่ผ่านมาไม่ได้หมดไปหรือลดลงแต่   อย่างใด  จึงทำให้มีคำถามว่าจะไม่มีวิธีการป้องกัน และแก้ไขนักเรียนนักศึกษาทะเลาะวิวาทกันแล้วหรือ

              ดังได้กล่าวแล้วว่าแก้ปัญหานักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาทกันส่งผลอย่างมากของผู้ปกครองต่อการตัดสินใจที่จะส่งลูกหลานเข้าเรียนในสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา แม้ว่าผู้ปกครองและนักศึกษามีความคิดและมองเห็นอนาคตว่าการเรียนในสายอาชีพด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาจะทำให้นักศึกษาที่เข้าเรียนและสำเร็จการศึกษาออกมาแล้วจะมีโอกาสได้ประกอบอาชีพและมีความมั่นคงในอาชีพ   และส่วนประกอบการตัดสินใจอื่น ๆ เช่น ค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากนัก ผลการเรียนในระดับมัธยมศึกษาที่ต้องมีค่าคะแนนเฉลี่ยไม่สูงมากนัก และมีสถาบันที่เปิดการเรียนการสอนหลายแห่ง  ผมคิดว่า คงไม่มีผู้ปกครองและ/หรือนักศึกษาที่เข้าไปเรียนแล้วต้องการไปเป็นนักเลง และ/หรือรวมกลุ่มกันไปทะเลาะวิวาทกัน แต่ทำให้มีข้อสงสัยหรือคำถามที่เกิดขึ้นว่าแล้วทำไม นักศึกษาของสถาบันที่เปิดสอนด้านเทคนิคและอาชีวศึกษาจึงทะเลาะวิวาทกันอย่างเป็นประจำ และต่อเนื่อง

               ผมพยายามใช้ความรู้และประสบการณ์ในการวิเคราะห์และสังเคราะห์เรื่องนี้ โดยมองโลกในแง่ดีว่ามูลเหตุของการทะเลาะวิวาทกันน่า       จะมีสาเหตุจากอะไรบ้าง และพอมีแนวทางแก้ไขปัญหาอย่างไรได้บ้างซึ่งพอ    จะสรุปสาเหตุของปัญหาได้ ดังนี้คือ 1) ปัญหาจากการเลี้ยงดูของพ่อแม่ และ    ผู้ปกครอง (โดยเฉพาะในรายที่ไปทำร้ายผู้อื่น) 2) ปัญหาจากขาดการเอาใจใส่จากครูและผู้บริหารในสถาบัน 3) ปัญหาจากการบริหารจัดการของผู้บริหาร    ในระดับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ 4) ปัญหาจากระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ 

               จากสาเหตุของปัญหาดังกล่าว ข้อเสนอแนะแนวทางในแก้ไขปัญหา ดังนี้คือ 1) ข้อเสนอแนะปัญหาพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนส่วนมากเกิดจากการซึมซับพฤติกรรมของพ่อแม่ และผู้ปกครอง ซึ่งคงต้องมีการเตรียมการในการให้คำแนะนำ ข้อเสนอแนะในการเลี้ยงดูลูกหลาน และการส่งเสริมพฤติกรรมที่ดีแก่ลูกหลาน แต่อย่างไร ก็ตาม เมื่อเด็กเติบโตขึ้นก็จะเข้าสู่สังคมเพื่อน โรงเรียน ชุมชนและสังคม ที่หากแต่ละครอบครัวดูแลลูกหลานของตนเองเป็นอย่างดีปัญหาสังคมก็จะลดน้อยลง ซึ่งก็ถือเป็นเรื่องใหญ่และเป็นความรับผิดชอบต่อสังคมร่วมกัน 2) ข้อเสนอแนะปัญหาจากขาดการเอาใจใส่จากครูและ   ผู้บริหารในสถาบัน ซึ่งก็คงต้องเรียกร้อง ในจิตสำนึกของความเป็นครูอย่างแท้จริงที่ให้ความรัก ความห่วงใยและเอาใจใส่อย่างจริงจังกับเด็กในความรับผิดชอบ ไม่ใช่ปล่อยให้เป็นภาระของครูฝ่ายปกครองอย่างเดียว และสถาบันการศึกษาต้องถือเป็นภารกิจที่สำคัญในการให้คำแนะนำและคำปรึกษา ที่อาจต้องมีการจัดตั้งศูนย์แนะแนวในสถาบันที่มีผู้รับผิดชอบโดยตรง และมีคุณวุฒิด้านจิตวิทยาการแนะแนว 3) ข้อเสนอแนะปัญหาจากการบริหารจัดการของผู้บริหาร ในระดับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา และสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา และ 4) ปัญหา  จากระดับนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ  เป็นปัญหาที่มีความสอดคล้องกัน ซึ่งปัญหาในระดับนโยบายนี้เคยมีข้อเสนอแนะ เรื่อง การใช้เครื่องหมาย หัวเข็มขัด และเครื่องแบบให้เหมือนกันทุกสถาบันทั่วประเทศแต่ก็เงียบหายไป มีข้อมูลว่ากันว่าสาเหตุที่ข้อเสนอนี้ไม่ได้รับการตอบรับจากสถาบันด้านเทคนิคและอาชีวศึกษา เพราะว่าเครื่องหมายของสถาบัน คือ พระวิศนุกรรมเป็นคนละอริยบทกัน ถ้าหากเป็นเหตุผลเพียงแค่นี้กับการรับผิดชอบต่อสังคมผมว่ายังมีความห่างไกลกันมากนะครับ และคงต้องขอความกรุณาจากรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้อง ต้องมีนโยบายอย่างชัดเจน และเข้มแข็งมากกว่านี้แล้วละครับ

               สุดท้าย ก็คงต้องขอความร่วมมือ ร่วมใจกับผู้มีส่วนรับผิดชอบในทุกระดับตั้งแต่ระดับครอบครัวถึงระดับนโยบายของชาติว่า เราคงต้องรีบหันมาให้ความสนใจกับปัญหานักเรียน นักศึกษาทะเลาะวิวาทกันอย่างจริงจังเสียที และต้องถือเป็นความรับผิดชอบของทุกคนในสังคมครับ เพราะว่าเด็กและเยาวชนของเราในวันนี้เขาก็คือ ผู้ใหญ่ที่จะต้องมีส่วนในการพัฒนาครอบครัว ชุมชน สังคม และประเทศชาติในอนาคตแทนพวกเราที่เป็นผู้ใหญ่ในวันนี้        ไงครับ.

หมายเลขบันทึก: 373057เขียนเมื่อ 8 กรกฎาคม 2010 15:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 15:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

แวะมาทักทายนะคะผอ. แล้วจะแวะกลับมาอ่านใหม่นะคะ

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจ ห่วงใยเด็กและเยาวชน แสดงความคิดเห็นร่วมกันนะครับ

  • ปัญหาที่เกิดขึ้นประการสำคัญ
    เกิดจากการยึดติดสถาบัน
  • เกิดจากปมด้อยที่เกิดจากค่านิยมว่าเป็นเด็กอาชีวะ จึงต้องสร้างปมเขื่อง

แวะเข้ามาทักทายนะครับ...

ขอบคุณครับที่ให้ความสนใจ ห่วงใยเด็กและเยาวชน แสดงความคิดเห็นร่วมกันนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท