บทเรียนพื้นที่ กะหรอ (1)


ก็เราเป็นพื้นที่วิจัย เอาเงินกองกลางของสังคมมาใช้ตั้งเยอะ จะไม่มีอะไรใหม่ให้สังคมบ้างเลยหรือ ?

พัชรี วารีพัฒน์จากทีมวิจัยตำบลกะหรอโทรศัพท์มาหารือปัญหาของเครือข่ายกองทุนหมู่บ้านจากความไม่เข้าใจกันของแกนนำบางประการ ผมฟังแล้วคิดถึงแบบจำลองปลาทูว่ายฝ่ากระแสน้ำ

ตัวปลาทูที่เป็นกรรมการเครือข่ายยังขาดความเข้าใจในหลายๆเรื่อง      ทั้งความชัดเจนในทิศทาง ความเข้าใจในโครงสร้างหน้าที่ การรวมตัวเป็นเครือข่ายและกิจกรรมกองทุนสัจจะวันละ1บาท ทักษะความรู้ในการทำงานในตำแหน่งหน้าที่ที่รับผิดชอบ และเรื่องอื่นๆ ขณะที่กระแสน้ำในส่วนของนโยบาย/กฏหมายและกลไกสนับสนุนโดยเฉพาะกองทุน หมู่บ้าน โดยผอ.สทบ.ซึ่งนำเสนอในที่สัมมนานั้น เป็นการดำเนินงานเชิงรุกที่เครือข่ายควรใช้ความรู้ในการตัดสินใจแหวกว่ายฝ่ากระแสน้ำสายนี้อย่างรู้เท่ารู้ทันให้สอดคล้องเป็นประโยชน์เพื่อไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายขึ้น ซึ่งคุณอำนวยและคุณวิจัยจะต้องช่วยสนับสนุนสร้างการเรียนรู้เพื่อถ่วงดุลความรู้และอำนาจที่เข้ามาหรือเสริมสร้างตัวปลาให้เข้มแข็งเพื่อว่ายฝ่าไป

ผมอธิบายไปว่า งานเชิงรุกของกองทุนมีข้อดีและข้อควรระวังดังเช่นที่อาจารย์ไพบูลย์ วัฒนศิริธรรมพูดไว้ สรุปคือ กองทุนหมู่บ้านกำลังดำเนินการโดยใช้กลไกแยกรุกเป็น2ปีก ปีกแรก อิงกฏหมาย(พรบ.กองทุนหมู่บ้าน)ดำเนินการโดยสทบ.(องค์การมหาชน)มีคุณสันติ อุทัยพันธ์เป็นผู้อำนวยการ ปีกที่2 อิงกฏหมายเหมือนกัน โดยการจดทะเบียนเป็นสมาคมเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายระดับตำบล หมู่บ้าน อำเภอ จังหวัด ภาค และประเทศ มีคุณสุวิทย์ คุณกิตติเป็นนายกสมาคม คุณสันติ อุทัยพันธ์เป็นเลขานุการ มองในแง่ดี ปีกที่2 เป็นกลไกภาคประชาชนที่สทบ.เลียนแบบมาจากสมาคมกลุ่มออมทรัพย์เพื่อการผลิต กลไกเครือข่ายองค์กรชุมชนของSIFและพอช. เป็นต้น ก็เช่นเดียวกับที่สงขลา  จัดตั้งสมาคมสวัสดิการภาคประชาชนสงขลานั่นเอง เพียงแต่ในที่นี้ ฝ่ายการเมืองมาเป็นนายกสมาคมให้เห็นกันจะๆเท่านั้นเอง

กลไกดังกล่าวมีขึ้นก็เพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับกองทุน         หมู่บ้านอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งน่าจะทำได้ดีกว่ากลไกสนับสนุนของภาคราชการ (คุณสันติชี้แจงว่า กลไกสนับสนุนอื่นๆไม่ตรงกับหน้าที่  จึงมักจะมีปัญหาในการจัดสรรงบประมาณ)

เรื่องที่พัชรีหารือคือ การดำเนินงานของกองทุนสวัสดิการตำบลกะหรอไม่ตรงกับแนวทางการจัดสวัสดิการของสมาคมกองทุนหมู่บ้าน จะต้องยกเลิกหรือไม่?
ผมตอบว่า

1) ต้องรู้ว่าสทบ.รุก2ปีก โดยที่ปีกแรกเป็นกฏหมายคือต้องดูแลกองทุนหมู่บ้านให้จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลภายใน3ปี (เหลือ2ปีแล้ว) ถ้าไม่จดทะเบียนจะยุบรวม และพัฒนาให้กองทุนหมู่บ้านมีความเข้มแข็ง
ปีกที่ 2 เป็นกลไกที่สทบ.ใช้ในการขับเคลื่อนงานซึ่งกองทุนจะร่วมขบวนด้วยหรือไม่ก็ได้ จะร่วมในส่วนที่เห็นว่าเป็นประโยชน์ โดยมีกิจกรรมของเราเองก็ได้ ดังนั้นจะเข้าร่วมสมาคมกองทุนหมู่บ้านหรือไม่จึงเป็นการตัดสินใจของเราเอง แต่เข้าใจว่าสทบ.คงใช้แรงจูงใจมาเชื่อมโยงทั้งงบประมาณและคนทำงาน เช่น 5 อรหันต์ดังที่รับทราบกัน

2) การดำเนินงานวิจัยชุดนี้ ก็เพื่อให้ฝ่ายสนับสนุนที่รับผิดชอบโดยตรง(สทบ.) ได้พิจารณาว่าวิธีการจัดตั้งกองทุนสัจจะลดรายจ่ายวันละ1บาทเหมาะสมกับการเสริมความเข้มแข็งของกองทุน หมู่บ้านหรือไม่ อย่างไร?ดังตัวอย่างที่กะหรอและในคลองบางปลากด ถ้าเป็นประโยชน์มากสทบ.ก็อาจจะพิจารณาเอาไปขยายผลให้กว้างขวางยิ่งขึ้น ซึ่งเป็นผลกระทบสำคัญของงานวิจัย ทำให้งานวิจัยคุ้มค่า เพราะมีผู้ใช้ประโยชน์ทั่วประเทศ เราจึงอาจเป็นผู้นำได้ด้วย ไม่ใช่เป็นผู้ตามอย่างเดียว
ก็เราเป็นพื้นที่วิจัย เอาเงินกองกลางของสังคมมาใช้ตั้งเยอะ จะไม่มีอะไรใหม่ให้สังคมบ้างเลยหรือ ?

ทีมกะหรอมีแกนนำที่แข็งขันหลายคน ที่เป็นหัวขบวน 2 คนคือประธานเครือข่ายกองทุนและประธานกองทุนสัจจะ1บาทตำบลซึ่งยังมีแนวคิดไม่ตรงกัน ข้อนี้น่าจะมาจากบุคลิกส่วนตัวและปัญหาของการเรียนรู้และสร้างการมีส่วนร่วมที่ต้องให้แกนนำจากหมู่บ้านอื่นๆเข้ามาร่วมเรียนรู้ เสนอแนวคิดการทำงานมากยิ่งขึ้น

ความรู้เท่าที่มีในตอนนี้คิดว่าในสถานะการณ์ช่วงนี้คงหวังพึ่งส่วนอื่นๆได้ยาก นอกจากหมอติ๋วและทีมวิจัยจากมวล. ต้องเข้าไปช่วยสร้างการมีส่วนร่วมในความชัดเจนของแนวคิดและทิศทางการขับเคลื่อนงาน

อยากให้ใช้การทำAAR 1 ปีของโครงการวิจัยเป็นเครื่องมือในการแก้ปัญหาในครั้งนี้ครับ

หมายเลขบันทึก: 37047เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2006 16:40 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:16 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท