"หลักสูตรท้องถิ่น" การจัดการความรู้ท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น


"หลักสูตรท้องถิ่น" หากเป็นหลักสูตรที่เกิดจากการมีส่วนร่วม เกิดจากความต้องการของชุมชน และเอื้อต่อการสืบสานองค์ความรู้ที่ดีๆ ของบรรพบุรุษ ถือว่า เป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ และเป็นคำตอบได้ว่า "การศึกษาได้ตอบสนองชุมชน" อย่างแท้จริง

ไปร่วมกิจกรรม "To be number ONE" ที่โรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า(ปางมะผ้า-แม่ฮ่องสอน) ในงานมีการจัดกิจกรรม นิทรรศการของบรรดาโรงเรียนต่างๆ แต่ละโรงเรียนมีกิจกรรมที่น่าเสนอน่าสนใจทุกโรงเรียนในเขตอำเภอปางมะผ้า

 มีอยู่กิจกรรมหนึ่งน่าสนใจ และนักเรียนได้นำกิจกรรมมาโชว์ในงานด้วย เป็น "กิจกรรมศิลปะการตอกปานซอย"  ชื่อกิจกรรมอาจดูไม่คุ้น เพราะเป็นภาษาไทยใหญ่ครับ เป็นศิลปะการเจาะ  ตอกสังกะสี ขึ้นรูปลายไทย-ลายพม่า ใช้สำหรับประดับหลังคาวัดไทยใหญ่ (หาดูได้ที่วัดไทยใหญ่ทั่วไปในเขตภาคเหนือ)

ที่สนใจก็เพราะว่า ศิลปะการตอกปานซอย เป็นศิลปะดั้งเดิมของไทยใหญ่ ที่พ่อเฒ่า แม่เฒ่าชาวไทยใหญ่ได้สืบทอดกันเรื่อยมา เป็นองค์ความรู้ท้องถิ่นที่งดงาม ถือว่าเป็นศิลปะแขนงหนึ่งที่ควรค่าแก่การสืบทอดและอนุรักษ์

                 

ภาพนักเรียนตัวน้อยๆ สาละวนกับการตอกสังกะสีเป็นลวดลายสวยงาม ยิ่งเป็นภาพที่น่าประทับใจ ผมคิดว่า ศิลปะไทยใหญ่ที่ดูแล้ว น่าจะใช้ความสามารถสูง ในการทำงานปราณีตแบบนี้ เด็กๆก็สามารถทำได้ และทำได้ดี สวยงามเสียด้วย

ครูดิเรก ให้ข้อมูลผมว่า ศิลปะการตอกปานซอยเป็นองค์ความรู้ดั้งเดิมของชนไทยใหญ่ เป็นงานศิลป์ที่นับวันจะหายไป ไม่มีการสืบทอด ด้วยเหตุผลข้อหนึ่งตรงนี้ โรงเรียนจึงได้จัดทำหลักสุตรท้องถิ่นขึ้น และมีกิจกรรมให้ครูภูมิปัญญามาสอนเด็ก และในปัจจุบันเด็กสามารถเรียนรู้และทำได้อย่างที่เห็น

ข้อดีข้อหนึ่งที่ครูบอกผมว่า "ศิลปะงานตอกปานซอย ทำให้นักเรียนมีสมาธิ สร้างสมาธิให้กับนักเรียน" ด้วยลักษณะ วิธีการการทำต้องใช้ความละเอียด จดจ่อกับชิ้นงาน ดังนั้น กิจกรรมนี้จึงเป็นเครื่องมือให้นักเรียนมีสมาธิมากขึ้น ส่งผลดีต่อตัวเด็กโดยตรง

 "หลักสูตรท้องถิ่น" หากเป็นหลักสูตรที่เกิดจากการมีส่วนร่วม เกิดจากความต้องการของชุมชน และเอื้อต่อการสืบสานองค์ความรู้ที่ดีๆ ของบรรพบุรุษ ถือว่า เป็นความสำเร็จที่น่าภาคภูมิใจ และเป็นคำตอบได้ว่า "การศึกษาได้ตอบสนองชุมชน" อย่างแท้จริง

ยังมีกิจกรรมดีๆ นวัตกรรมการศึกษา อีกมากมายที่ โรงเรียนอนุบาลปางมะผ้า  อ.ปางมะผ้า จแม่ฮ่องสอน....ในโอกาสต่อไปผมจะได้นำมาเล่า และแลกเปลี่ยนเพื่อการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 36967เขียนเมื่อ 4 กรกฎาคม 2006 13:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (13)

ผมให้ข้อมูลเพิ่มเติมดังนี้ครับ 

เกี่ยวกับ "ศิลปะการตอกปานซอย"

               ภาษาไทยใหญ่ เรียก "ปานซอย"

               ภาษาไทย เรียก "เชิงชาย"  ครับ

ที่อีสานใน สิมเก่า ๆจะมีศิลปะของการตอกสังกะสีประดับบนสิมหลายแห่ง แต่ปัจจุบันเปลี่ยนเป็นปูนไปหมดแล้ว มีเหลือไม่เยอะถ้าผมค้นหาภาพเจอจะเอามาโชว์แลกกันดูนะครับ
คุณออตครับ...คำว่า "สิม" นี่คืออะไรครับ...? น่าสนใจมากนะครับ อยากทราบว่ากระบวนการทำแตกต่างกันหรือคล้ายคลึงกันอย่างไร ...เป็นไปได้นำมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันนะครับ
   ขอบคุณมากครับสำหรับบันทึกดีๆ ที่นำมาแบ่งบัน และจะคอยติดตามอ่านบันทึกกิจกรรมดีๆ ต่อไปนะครับ
  • น่าสนใจมากครับ
  • ลายสวยมาก

ขอบคุณอาจารย์ขจิต และพี่สิงห์ป่าสักครับ...

             โรงเรียนแห่งนี้ยังมีนวัตกรรมดีๆอีกมากมายครับ น่าภูมิใจนะครับที่โรงเรียนภูธร ได้จัดระบบการเรียนการสอนที่เอื้อกับชุมชนโดยแท้จริง ...ส่วนหนึ่งที่ช่วยส่งเสริมให้เด็กรักถิ่นฐานบ้านเกิด ภาคภูมิใจในวัฒนธรรมและอัตลักษณ์ของตนเอง

              โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนที่น่าสนใจจะเรียกว่าเป็นโรงเรียน "นานาชาติ" ก็ว่าได้ ครับ รวมชนเผ่าทั้ง ลีซู ลาหู่ กระเหรี่ยง ม้ง ไทยใหญ่ ไทยล้านนา(คนเมือง) ไทยกลาง และกลุ่มเด็กด้อยโอกาสที่พลัดถิ่น(ฉาน) ดังนั้นที่นี่จึงหลากหลายส่วนของเด็กนักเรียนด้วยครับ

           ขอบคุณทุกท่านที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ครับ

                                                               จตุพร

Hi Khun Jatuport again, I like your wording on 'international school in the rural area'

At the moment, the inclusive curriculum in the western education offers a chance of gathering a multiculutural students together krab.....

Looking a great trend for Thai children na krab.

Cheering on your excellent jobs from Perth krab...

อาจารย์ POP:)

             โรงเรียนท้องถิ่น โรงเรียนชายขอบ พยายามค้นหาเอกลักษณ์ของตนเอง ...ทบทวนปรัชญาของการศึกษา...ว่าการศึกษา เป้าหมาย สาระสำคัญคืออะไร?  หากการจัดกระบวนการเรียนรู้เพื่อส่งคนไปต่อสู้กับทุนนิยม อย่างไม่ลืมหูลืมตาละก็ ...อาจจะต้องกลับมาทบทวนจุดยืนกันใหม่

         ที่ผ่านมาการศึกษากลับทำให้ระยะหางระหว่างปัจเจคกับชุมชนไกลกันมากขึ้น

            international school ที่เรียนสำหรับ คนชั้นกลางถึงสูงในสังคมไทย (บางโรงเรียน) ก็มุ่งให้นักเรียนเรียนรู้ตะวันตกอย่างเต็มที่ ไปเรียนรู้ดาวเสาร์ ดาวอังคาร แต่กลับ ลืมของดีที่ใต้ถุนบ้านของตนเอง...หากเป็นไปตามแนวทางนี้ เห็นทีนักการศึกษาต้องคิดใหม่ ยังไงก็ตาม "แผนพัฒนา-แผนฯ ๑๐" ที่ออกมาให้ความสำคัญเรื่องของ "เศรษฐกิจพอเพียง"  เราคิดกันต่อว่า เราจะสร้าง "การศึกษาที่พอเพียง" อย่างไร

            ขอบคุณอาจารย์ที่ร่วมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ขอส่งแรงใจให้ทำ Thesis แล้วเสร็จโดยเร็ว นำความรู้มาพัฒนาเมืองไทย....นะครับ

       อากาศที่เมืองไทยเย็นสบายเพราะฝนตก คิดว่าที่เมือง Perth คงสุขสบายเข่นเดียวกันนะครับ

มีที่ไหนเรียนครับ แนะนำด้วยครับ

คุณจตุพร 

สิม เป็นภาษาถิ่นไทอีสาน ไทลาวน่าจะมาจาก สีมา หมายถึงเขตของสงฆ์

สิมคงเป็นโบสถ์ในภาษาไทภาคกลางนะครับ สิมอีสานสวยงามเป็นเอกลักษณ์เนื่องจากไม่มีแบบแปลนที่มาตราฐาน สร้างโดยช่างพื้นถิ่นดังนั้นจึงไม่เหมือนสิม(โหล)ภาคกรมศิลปากร

สิมโหล เป็นศัพท์บัญญัติของ รองศาสตราจารย์ ดร.วิโรฒ  ศรีสุโรท่านเปรียบเปรย สิมของกรมศิลปากรที่แบบคล้ายกันทั่วประเทศไทยเป็นมาตราฐาน การทำแบบมาตราฐานนี้เป็นช่องทางหนึ่งที่ก่อให้เกิดการทำลายอัตลักษณ์ประจำถิ่น และสิมเก่าอีสานหลายแห่งโดนทุบทิ้ง เพื่อสร้างโบสถ์แบบกรมศิลปากร

               น่าเสียดาย "สิม" เก่านะครับ ทำไมไม่เห็นคุณค่ากันนะครับ ผมเคยไปเที่ยว ศึกษาดูงาน "การท่องเที่ยวชุมชน" ที่บ้านแม่กำปอง อ.แม่ออน จ.เชียงใหม่ เมื่อปีกลายผมไปเจอโบสถ์เก่าๆ ทำด้วยไม้ สวยงามมากครับ ดูคลาสสิคมากครับ ไม่เคยเห็นที่ไหน แถมหลังคาโบสถ์มีมอส เฟิร์น เกาะกันเขียวครึ้ม ...ชุมชนรักษาไว้ครับ ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ เป็นคุณค่าทางจิตใจของคนที่นั่นครับ

อดิศักดิ์ สุนันทกรณ์

คือผมอยากทราบขั้นตอนการทำปานซอยครับ ว่าต้องใช้วัสดุอะไรบ้าง หากมีผู้มีความรู้ทางด้านนี้ช่วยบอกด้วยนะคับ คือผมจะนำไปสอนเด็กๆ ชั้นมัธยมต้น ในวิชาเลือกเสรีครับ

ขอขอบพระคุณล่วงหน้าครับ.......

คุณอดิศักดิ์ ครับ

กรุณาติดต่อผ่านอีเมลล์ผมครับ

อีเมลติดต่อ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท