แปรงฟัน vs ทานยา


ความยืดหยุ่นคือสิ่งสำคัญในการทำงานทุกอย่าง

          คุณเคยรู้สึกแบบนี้หรือไม่คะ? เมื่อเวลาที่เราเริ่มทำอะไรใหม่ๆแล้วรู้สึกว่ามันยุ่งยาก น่าเบื่อ ไม่ว่าจะเป็นสิ่งดีๆที่เราควรจะทำ เช่น ตื่นแต่เช้ามาออกกำลังกาย  การดื่มน้ำมากๆ หรือแม้แต่การอ่านหนังสือเพื่อพัฒนาตนเองก็ตาม แล้วสำหรับบางคนกับการที่ต้องทำอะไรใหม่ๆนั้นคือสิ่งที่จำเป็นต้องทำเพื่อรักษาชีวิตของตนเองไว้ เช่น การปรับเปลี่ยนอาหารใหม่ๆ การออกกำลังกายในผู้ป่วยเบาหวาน/ความดันโลหิตสูงหรือโรคไต

          การรับประทานยาก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่เป็นไม้เบื่อไม้เมากับผู้ป่วยโรคเรื้อรังมาช้านาน บางคนทานมื้อเดียวต่อวัน บางคนทานหลายมื้อต่อวัน บางคนทานแค่ยาในมื้อนั้นก็น่าจะอิ่มแล้ว ซึ่งพอนึกถึงตัวเราเอง เวลาที่ไม่สบายแล้วต้องทานยาให้ครบตามแพทย์สั่ง เรายังลำบากแทบแย่ แถมบางครั้งก็ไม่ได้เป็นไปตามที่แพทย์สั่งหรอก ขาดบ้าง ลืมบ้าง ดังที่เภสัชกรเค้าเรียกว่า “Non-Compliance” หรือ “Compliance ไม่ดี” นั่นเอง

          แล้วการแปรงฟันมาเกี่ยวอะไรด้วย??? เรื่องของเรื่องมีอยู่ว่ามีคุณลุงคนหนึ่งต้องทานยาสำหรับโรคเรื้อรังที่ตัวเองเป็นรวมแล้ววันละ 5 เม็ด คุณลุงก็ไม่อยากจะทาน ทานครบบ้างไม่ครบบ้าง แล้วแต่จะนึกได้ คุณหมอก็พยายามที่จะปรับเวลาทานยาให้ง่ายที่สุดโดยให้เป็นตอนเช้าครั้งเดียว (ปรึกษาเภสัชกรมาแล้ว) แต่ยังไงคุณลุงก็ยัง Compliance ไม่ดีอยู่อีกนั่นแหละ บางวันก็ถึงขั้นทานเลย เวลาผ่านไปอาการของโรคก็เริ่มคุมไม่อยู่ คุณหมอก็แสนจะกลุ้มใจ แต่ด้วยความที่เป็นคนอารมณ์ดีและมีความคิดสร้างสรรค์เป็นเลิศ จึงได้บอกกับคุณลุงในวันหนึ่งว่า

คุณหมอ : “คุณลุงไม่ทานยาแล้วจะหายได้ยังไงล่ะครับ”
คุณลุง : “ก็มันยุ่งยาก น่าเบื่อจะตาย แถมลุงก็แก่แล้ว มันก็หลงๆลืมๆอย่างนี้แหละคุณหมอ”
คุณหมอ : “แล้วคุณลุงอยากจะหายหรืออาการดีขึ้นมั๊ยครับ?
คุณลุง : “อยากสิคุณหมอ แต่ก็อย่างที่บอกแหละคุณหมอ มันยุ่งยาก แถมเยอะอีกต่างหาก”

คุณหมอ : “ผมก็เปลี่ยนให้เหลือตอนเช้าเวลาเดียวแล้วนี่ครับ”

คุณลุง : “มันก็ยังเยอะอยู่ดีแหละคุณหมอ”
คุณหมอ : “ถ้าอย่างนั้น เอาแบบนี้ละกันครับ ผมขอถามอะไรหน่อยนะครับ คุณลุงแปรงฟันทุกวันไหมครับ?”
คุณลุง : “ทุกวันสิคุณหมอ ถ้าวันไหนไม่ได้แปรงฟัน ปากเหม็นแย่ ว่าแต่ว่าคุณหมอถามทำไมหรือครับ”
คุณหมอ : “เอ่อ... ถ้าคุณลุงแปรงฟันทุกวันได้ คุณลุงก็น่าจะทานยาทุกวันได้จริงไหมครับ ถ้าผมจะขอร้องว่าพอคุณลุงแปรงฟันตอนเช้าเสร็จเมื่อไหร่ ทานยาให้ผม 1 เม็ดได้ไหมครับ? ”

คุณลุงก็ตกลงตามที่คุณหมอขอร้อง แปรงฟันตอนเช้าเสร็จเมื่อไหร่ ก็ทานยาตามที่คุณหมอขอร้อง 1 เม็ดทันที เมื่อกลับไปหาคุณหมออีกครั้งก็ได้รับคำชมจากคุณหมอไม่ขาดปาก และไม่นานคุณหมอก็เพิ่มเป็น 2 เม็ด 3 เม็ด 4 เม็ด และสุดท้ายก็ 5 เม็ดเหมือนเดิม

จากสิ่งที่คุณหมอได้ทำนี้ จะเห็นได้ว่าการคิดและการกระทำของคุณหมอตั้งอยู่พื้นฐานแห่งความรักและคิดจะช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน มีการคิดถึงเป้าหมายหรือผลลัพธ์เป็นสำคัญ มีความยืดหยุ่นในการเข้าหาเป้าหมาย (เคยอ่านหนังสือหลายเล่มเขามักเขียนไว้ว่า ยืนหยัดในเป้าหมายแต่ยืนหยุ่นในการวิธีการ) คุณหมอมีความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหาโดยการนำสิ่งที่อยู่ในชีวิตประจำของผู้ป่วยมาเชื่อมโยงกับสิ่งที่ต้องการ  และท้ายที่สุดก็อยู่ที่การ empowerment  ให้ผู้ป่วยสามารถทำเองได้โดยไม่ต้องถูกบังคับ นั่นเอง

เรื่องในทำนองนี้มีให้เห็นได้อีกในชีวิตประจำของเรา เช่น การทำให้เด็กทานผัก คุณแม่ผู้ปกครองก็จะสรรหาวิธีที่จะทำให้เด็กทานผักจนได้ การพัฒนาคุณภาพก็เช่นเดียวกัน เราอยากให้ทุกคนทุกหน่วยงานพัฒนาคุณภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดีอยู่แล้วแต่ก็มีหลายที่ทำไม่สำเร็จ  Facilitator (Fa) จึงมีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนา หากเราจะเปรียบเทียบการพัฒนาคุณภาพโดย Fa กับเรื่องของคุณหมอ/คุณลุง ก็พอจะได้แนวทางว่า

1.                           Fa ควรจะมีเป้าหมายให้ชัด เจาะจงไปเป็นเรื่องๆว่า ต้องการอะไรไม่ว่าจะเป็นลดความผิดพลาด หรือพัฒนาระบบงานใดๆก็ว่ากันมาเลย

2.                           Fa ควรจะมีความยืดหยุ่นในการเข้าถึงเป้าหมายนั้นๆให้มากขึ้น คล้ายๆกับว่า ”ไม่ได้ด้วยเล่ห์ก็เอาด้วยกล”  Fa บางคนก็ใช้การประชุมลูกเดียว พอไม่มีเวลาประชุมงานก็ไม่สำเร็จ Fa บางคนก็ต้องรอให้ครบองค์ประชุมก่อนแล้วจึงเริ่มทำ ก็เลยไม่ได้ทำซะที

3.                           Fa ควรกระตุ้นให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ในการพัฒนาคุณภาพ หาวิธีการแก้ปัญหาแบบใหม่ๆ คิดต่างไปจากเดิม

4.                           Fa ควรกระตุ้นให้ผู้ปฏิบัติสามารถทำการพัฒนาคุณภาพได้ด้วยตนเอง ไม่ต้องรอ Fa นั่นคือทุกคนสามารถที่จะกระตุ้นตัวเองให้พัฒนาได้เอง ก็จะถือว่าเป็นความสำเร็จอันยิ่งใหม่ของ Fa นั่นเอง

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3692เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2005 23:01 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไม่ว่าจะเป็น Facilitator หรือเป็นที่ปรึกษา หรือเป็นโค้ช  ถ้าเข้าใจหลักคิดเรื่องแปลงฟันกับทานยาแล้ว ผู้ที่ได้รับคำแนะนำย่อมมีความสุข และนำไปสู่ความสำเร็จอย่างแน่นอนครับ
อยากฟันสวยอ่ะ ฟันเราเหยินอ่ะ อิอิ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท