KM เด่นในภาคชุมชน


KM เด่นในภาคชุมชน

วิจารณ์  พานิช

             วันนี้ (๙ มิ.ย. ๔๘) เป็นวันปฐมฤกษ์ของการประชุม “จับภาพ KM”    โดยมี “ผู้จัดการใยความรู้”    คือคุณชุติมา อินทรประเสริฐ    เป็นผู้ประสานงานและ “บันทึกภาพ” ที่เป็นภาพใหญ่   ภาพเชื่อมโยงของการจัดการความรู้ในสังคมไทย     เราต้องการทำความเข้าใจภาพใหญ่นี้สำหรับนำไปขับเคลื่อนขบวนการจัดการความรู้ของสังคมไทย     ให้สังคมไทยได้รับประโยชน์จากเครื่องมือนี้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยยิ่งขึ้น


           คณะที่มาประชุมกันมี ๓ ทีม    คือทีม PR นำโดยคุณเปา (ปิยาภรณ์ มัณฑะจิตร)   และทีมงานอีก ๕ คน  ได้แก่ทีมงานจาก PR ของ สกว. ท้องถิ่น ๒ คน คือ คุณติ๋ม  (รัตนา กิติกร) กับคุณตั้ม      (สุธรรม กันดำ)   กับสมาชิกใหม่สำหรับทำงานพื้นที่ ออกไปสำรวจหากิจกรรมจัดการความรู้ทั่วราชอาณาจักร คือ คุณอาทิตย์  ลมูลปลั่ง อีก ๒ คนเป็นทีม PR สคส. เจ้าเก่า คือคุณตุ่ม (ศศิธร อบกลิ่น)   กับคุณน้ำ (จิรวรรณ  ศิลารักษ์)    ผมเอารูปสมาชิกใหม่ ๓ คนมาลงไว้ให้พันธมิตรของ สคส. ได้รู้จักด้วย 


           ทีมที่ ๒ คือทีม สกว. ภาค ซึ่งวันนี้ยังไม่มีคนเข้าร่วม    ส่วนทีมที่ ๓  คือ สคส. มีคุณแอนน์    (ชุติมา) เป็นหัวหน้าใหญ่  คนอื่นๆ ใน สคส. เป็นลูกทีม    ผมเป็นกองหนุน    เอารูปคุณแอนน์ซึ่งเป็นคนเก่า    แต่เป็นสมาชิกใหม่ของ สคส. มาให้ดูกันด้วย


          คุณเปาวางแผนว่ากิจกรรม “จับภาพ KM” นี้    จะช่วยเชื่อม สกว. ภาค เข้ากับ สคส.    ซึ่งพวกเราที่ สคส. เห็นด้วยร้อยเปอร์เซ็นต์    เราหวังว่าจะเกิด synergy ระหว่างงานวิจัยท้องถิ่นกับการจัดการความรู้ภาคชุมชนที่มีส่วนคล้ายคลึงกันมาก    และทำให้งานทั้งสองฟาก (ของสิ่งเดียวกัน) ทรงพลังยิ่งขึ้น 

  
          ทีม PR จะทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลที่คิดว่าเป็นการจัดการความรู้ที่ดี   หรือมีกิจกรรมจัดการความรู้อยู่ด้วย    เอามาเล่าเพื่อช่วยกันจับภาพว่า   เป็นกิจกรรมที่มีการจัดการความรู้ที่ดีอยู่หรือไม่     ถ้ามีอยู่ ควรจะเข้าไปเชื่อมโยงให้ขยายเครือข่าย    หรือดำเนินการจัดการความรู้ที่หนักแน่นยิ่งขึ้น ได้อย่างไร 


          วันนี้ เราได้รับทราบเรื่อง ๒ เรื่อง   ที่น่าจะเป็นเรื่องราวของการจัดการความรู้ที่ชาวบ้านทำกันเอง โดยไม่รู้จักว่านั่นเป็น KM     ได้แก่
1.      กุดขาคีม : การจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็กโดยองค์กรชาวบ้าน
2.      เรียนรู้อดีต – เข้าใจปัจจุบัน : ชุมชนอาคารสงเคราะห์  จ. พระนครศรีอยุธยา 


         ผมจะไม่เล่ารายละเอียดของทั้ง ๒ ชุมชน    เพราะว่าเราจะจัดประชุมวิชาการในวันที่ ๑๘ ส.ค. ๔๘  เวลา ๙.๐๐ – ๑๒. ๐๐ น. ที่โรงพยาบาลเปาโลฯ     เพื่อนำเสนอและทำความชัดเจนเรื่องราวของการจัดการความรู้ของชุมชนอาคารสงเคราะห์   อยุธยา     ซึ่งผมบอกว่าน่าจะเรียก “การจัดการความรู้  ๓ ชั่วโคตร”     คือดำเนินการต่อเนื่องเชื่อมชีวิตคน ๓ ชั่วคน   ในเวลา ๔๐ ปี    จากสลัมสู่ชุมชนต้นแบบ  สู่กระบวนการค้นหาความรู้ชุมชน  ใช้วิธีการวิจัยหาประวัติศาสตร์ชุมชนโดยเยาวชนในชุมชน  มีผลให้เกิดการพลิกฟื้นความเข้มแข็งของชุมชนขึ้นมาอีกระลอกหนึ่ง     ท่านที่สนใจโปรดติดตามจากเว็บไซต์ สคส. (www.kmi.or.th) หรือที่บล็อกนี้


วิจารณ์ พานิช
๙ มิ.ย. ๔๘
หาดใหญ่
  

   

คุณตั้ม (คนซ้ายสุด),  คุณติ๋ม   และคุณอาทิตย์                              คุณแอนน์

 


คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 369เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2005 03:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 พฤษภาคม 2012 12:58 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท