ชีวิตที่พอเพียง 47 : บันทึกการเดินทางกลับกรุงเทพ


• เราออกจากอพาร์ตเม้นต์ของ HBS เวลาตีสี่ครึ่งของวันอังคารที่ ๑๒ มิย. ๔๙ ฟ้าเริ่มสางแล้ว    ลูกๆ บอกว่าออกตีห้าก็ทัน   แต่เอาเข้าจริงเวลาที่ "หัวหน้าทัวร์" คือภรรยาผมกำหนดเป็นเวลาที่เหมาะที่สุดแล้ว    เราผ่านการตรวจความปลอดภัยระดับมาตรฐาน แล้วไปที่ประตูขึ้นเครื่องก็พบว่าผู้โดยสารกำลังเดินแถวขึ้นเครื่องอยู่แล้ว   คือเราไปถึง 5.30 น.   เครื่องบินมีกำหนดออกเวลา 6.00 น.
• เครื่องบินของ jetBlue Airlines เที่ยวบินที่ 1001 บินจาก Logan Airport, Boston ไปยัง JFK Airport, New York เป็นเครื่อง Airbus A320  ที่นั่งแถวละ 3+3 เหมือน Boeing 737 ของการบินไทย   ตอนรอ check-in ลูกชายบอกว่าใช้บัตรเครดิต check-in ด้วยตนเองกับเครื่องเร็วกว่าใช้บริการของเจ้าหน้าที่   แต่เราเกรงว่าเครื่องมันจะคิดเงินเราอีกครั้งหนึ่ง โดยที่ลูกสาวได้จ่ายเงินค่าตั๋วแล้ว   เราจึงยืนรอเข้าคิวไปเรื่อยๆ    และสังเกตเห็นความไม่มีประสิทธิภาพของเจ้าหน้าที่ check-in service ที่ตอบคำถามของผู้โดยสารไม่ได้   ต้องหันไปถามเพื่อน 
• เครื่องบินขึ้น-ลงตรงเวลา   ถึงสนามบิน JFK เราลากกระเป๋า (ที่หนักกว่าขามา เพราะผมซื้อหนังสือ และภรรยาซื้อผลไม้) ออกไปขึ้น Air Train โดยเดินตามป้ายบอกทาง   ถ้าเรารู้ว่าต้องเปลี่ยนไป Terminal ไหน และรู้มาก่อนว่าต้องขึ้น Air Train จาก terminal หนึ่งไปอีก terminal หนึ่ง ก็เดินทางได้สบาย
• ไปถึงบริเวณ check-in ของการบินไทยเมื่อเวลา 8 น. เจ้าหน้าที่ information บอกว่าเริ่ม check-in เวลา 9 น.    บริเวณนี้ไม่มีที่นั่งให้รอเลย   เราต้องช่วยตัวเอง โดยบางคนไปอาศัยที่นั่งของ telephone booth    ผมและหมออมราอาศัยท่อนเหล็กข้างผนัง แล้วผมเห็น booth ของสายการบินอาหรับแห่งหนึ่งเจ้าหน้าที่ยังไม่มา   จึงเข้าไปนั่งเก้าอี้หมุนอย่างดีเขียนบันทึกนี้   สัก 10 - 15 นาทีก็มีคนมาถามด้วยภาษาอาหรับ   และหมออมราตาดีบอกว่าเห็นที่เคาน์เตอร์การบินไทยเขาเริ่มงานกันแล้ว   เราจึงไปรอและได้ check-in เป็นคนแรกๆ
• ผมต้องกลับไปถามเจ้าหน้าที่การบินไทยว่า lounge  ของการบินไทยอยู่ที่ไหน   ปรากฎว่าเป็นของ Swiss International ให้บริการสายการบินพันธมิตร Star Alliance    เราไปนั่งในห้อง Non-smoking กินของว่างและเครื่องดื่ม และอ่านหนังสือ เขียนบล็อก สะดวกสบายมาก    นี่คือประโยชน์ของการมีบัตรทองของการบินไทย   ภรรยาชอบใจห้องน้ำที่เมื่อทำธุระแล้วลุกขึ้นสักครู่มันจะเปิดน้ำเอง ไม่ต้องกดปุ่มใดๆ ทั้งสิ้น    ผมมีข้อสังเกตว่าในอเมริกาห้องน้ำในสถานที่ที่ไม่ใหญ่นัก ผู้ใช้บริการไม่มาก เป็นชนิดใช้ร่วมกันทั้งหญิงชายมากขึ้น
• ก่อนขึ้นเครื่องเขาเรียกชื่อหมออมรากับผมไปให้บัตรขึ้นเครื่องใหม่ เป็น up-grage ไปชั้น premium economy ซึ่งนั่งสบายขึ้น    แต่เป็นที่นั่งไม่ติดหน้าต่าง อดถ่ายรูปวิวจากเครื่องบิน   ตัวที่นั่งใหญ่ขึ้นเล็กน้อย    ภาชนะใส่อาหารเป็นกระเบื้องเคลือบและช้อนส้อมเป็น stainless steel ชั้นดีขึ้น    หูฟังชนิดดีกว่า มีที่เกี่ยวกระชับกับใบหู    หลังจากนั่งมาทั้งคืนผมสรุปว่าถ้ารู้อย่างนี้แล้วมีโอกาสเลือก ผมเลือกนั่งชั้นธรรมดาติดหน้าต่าง    เพราะตอนเอนพนักเพื่อนอน ที่นั่งธรรมดานอนสบายกว่า    ชั้นพรีเมี่ยมมี leg rest ซึ่งยกขึ้นมานิดเดียว ไม่มีดีกว่า
• เดี๋ยวนี้เครื่องบินแบ่งที่นั่งออกเป็นสี่ชั้น คือชั้นหนึ่ง  ชั้นธุรกิจ  ชั้นพรีเมี่ยม  และชั้นอีโคโนมี่
• ผู้โดยสารเต็มลำ   บริการข้อมูลดีมาก   มี interactive tv ถึง 50 ช่อง    แต่เครื่องของผมและภรรยาดูไประยะหนึ่งเกิดแฮงค์ต้องไปตามเจ้าหน้าที่ให้จัดการ reset ที่ control panel เขาบอกว่าต้องกดค่อยๆ และช้าๆ 
• อาหารของเที่ยวกลับนี้ไม่อร่อย สู้อาหารของเที่ยวขาไปจากกรุงเทพไม่ได้เลย    นี่แสดงว่าอาหารฝีมือคนไทยอร่อยกว่า    เราสังเกตว่าไปเที่ยวที่ไหนจะเห็นภัตตาคารไทยเสมอ    คำว่า Thai Food กลายเป็นเครื่องหมายบอกว่าอาหารรสดี เป็นอาหารสุขภาพ
• ผมนอนได้มากพอใช้ และอ่านหนังสือ Governance as Leadership อย่างติดใจ    โชคดีที่ตัดสินใจซื้อมาแม้จะราคาแพงไปหน่อย   จะใช้ประโยชน์ในการสร้างสรรค์สภามหาวิทยาลัย และ บอร์ดของมูลนิธิได้มาก   น่าชื่นชมฝรั่งที่เขาทำทุกอย่างให้เป็นวิชาการได้เป็นอย่างดี 
• เครื่องบินลงตรงเวลา    ลูกสาวคนโตมารับที่สนามบิน

วิจารณ์ พานิช
๑๓ มิย. ๔๙

หมายเลขบันทึก: 36793เขียนเมื่อ 3 กรกฎาคม 2006 17:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 เมษายน 2012 07:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

     ขอบพระคุณท่านอาจารย์มากครับ  อ่านสบาย อ่านอย่างละเอียด  และ ช้าๆ เพราะแทบทุกวรรคมีค่า ได้รู้อะไรๆ เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ   

    เพราะอ่านช้าเลยพบว่าท่านพิมพ์พลาดอยู่หนึ่งที่ครับ ... ให้บัตรขึ้นเครื่องใหม่ เป็น up-grage

    มีเรื่องสืบเนื่องอีกนิดนึงครับ 

    อ่านบันทึกนี้ของท่านอาจารย์แล้ว  เกิดความรู้สึกว่ามีอะไรต้องเอาแบบอย่างไปใช้บ้างแล้ว ชอบใจที่ท่านใช้เลขไทยครับ ...

" ... เวลาตีสี่ครึ่งของวันอังคารที่ ๑๒ มิย. ๔๙
    แต่พอตอนกลางๆกลับเป็นเลขฝรั่งทั้งหมด 
     และมาเป็นเลขไทยอีกทีตอนจบ  
     " ๑๓ มิย. ๔๙ "

     ทำให้นึกถึงที่ตัวเองเคยสับสนและยุ่งยากใจกับเรื่องนี้มาแล้ว นั่นคือ อยากใช้เลขไทย คู่กับการเขียนภาษาไทย จะได้ช่วยกันอนุรักษ์ไว้ไม่ให้เสื่อมสูญ แต่พอเนื้อความไปถึงบางตอน" เอ๊ะ เลขไทยจะดีหรือ ? "
      เช่น Airbus A ๓๒๐ หรือ  Boeing ๗๓๗ ใครผ่านมาช่วยอนุเคราะห์หน่อยก็จะเป็นพระคุณครับ.
 
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท