งานวิจัยที่มุ่งพัฒนาระบบหรือรูปแบบการบริหารจัดการ


คำถามที่ผู้วิจัยมักถูกถามบ่อยในการวิจัยที่มุ่งพัฒนาระบบ คือ 1) ระบบของคุณ คืออย่างไร หน้าตา เป็นอย่างไร และ 2) อะไร คือตัวชี้วัดประสิทธิภาพของระบบ
        วันที่ 15 มิถุนายน ภาคเช้า ได้มีโอกาสไปเป็นกรรมการสอบโครงร่างดุษฎีนิพนธ์ของนักศึกษามหาวิทยาลัยแห่งหนึ่ง(ขออนุญาตไม่เอ่ยชื่อ เพราะเป็นเพียงการเริ่มต้นวางแผนวิจัย ซึ่งอาจจะต้องมีการปรับเปลี่ยนชื่อเรื่องหรือแนวทางการวิจัยอีกพอสมควร) ผู้วิจัยรายนี้ได้นำเสนอโครงการวิจัยที่เน้นการพัฒนาระบบการบริหารจัดการ(Management System) เป็นการบริหารจัดการในแง่ของการวัดและประเมินผล(Evaluation/Assessment System)

        จากประสบการณ์ในการเป็นกรรมการสอบโครงร่างวิทยานิพนธ์ หรือการสอบปกป้องวิทยานิพนธ์ที่เน้นการพัฒนาระบบบริหารจัดการ เช่น  พัฒนาระบบประเมินผลภายในฯ  พัฒนาระบบประเมินสมรรถนะบัณฑิต  พัฒนาระบบฐานข้อมูลเพื่อวินิจสมรรถนะของครูฯ   พัฒนาระบบให้ข้อมูลย้อนกลับเพื่อพัฒนาทักษะการคิดฯ  ฯลฯ ผมจำแนกประเภทงานวิจัยกลุ่มนี้ว่า "เป็นงานวิจัยที่มุ่งพัฒนารูปแบบหรือกระบวนการในการบริหารจัดการ" เป็นลักษณะหนึ่งของการวิจัยและพัฒนา(Research & Development) ที่มีกิจกรรมการดำเนินการที่สำคัญ ๆ คือ 1) สร้างรูปแบบ/สังเคราะห์รูปแบบ แล้วตรวจสอบความเหมาะสมหรือคุณภาพเบื้องต้นตามการรับรู้ของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญหรือผู้มีประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง เป็นการใช้กระบวนการเชิงเหตุผล(Logical Approach)  แล้ว 2) มีการทดลองใช้รูปแบบ อาจจะเป็นการทดลองนำร่อง หรือทดลองกับกลุ่มเป้าหมายในจำนวนที่เหมาะสม  แล้วทำการตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบ  ในการนี้ คำถามที่ผู้วิจัยมักจะถูกซักถามบ่อย ๆ คือ (1) "รูปแบบในกรณีนั้น ๆ"  คืออะไร  มีรูปร่างหน้าตาอย่างไร และ 2) ในการทดลองใช้เพื่อตรวจสอบประสิทธิภาพของรูปแบบ  อะไรคือตัวแปรตามหรือตัวชี้วัดประสิทธิภาพของรูปแบบ/ระบบ

        ในกรณีของคำถามข้อแรก "รูปแบบคืออะไร หรือระบบของท่าน คืออย่างไร" ผู้วิจัย หรือนักศึกษามักจะพยายามอธิบายความหมายของระบบโดยใช้องค์ประกอบของระบบ คือ Input-Process-Product/Output มาเป็นกรอบในการอธิบาย และมักอธิบายได้ไม่ชัดเจน ในที่นี้ผมจึงขอยกตัวอย่างแนวทางการอธิบายคำว่า "ระบบ" ในการวิจัยเรื่อง "การพัฒนาระบบประเมินทักษะชีวิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย" (ตัวแปรต้นในการวิจัยและพัฒนาครั้งนี้ คือ "ระบบประเมินทักษะชีวิต สำหรับนักเรียนระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย")  ในกรณีนี้ สิ่งที่ผู้วิจัยควรอธิบาย คือ
           1.จุดมุ่งหมายของระบบ : ระบบที่พัฒนาขึ้นในครั้งนี้ เป็นระบบประเมินที่มุ่งตรวจสอบพัฒนาการด้านทักษะชีวิตของนักเรียน และให้ข้อมูลป้อนกลับ เพื่อช่วยให้ผู้เรียนได้รับการพัฒนาด้านทักษะชีวิตจนเต็มตามศักยภาพ
           2. หลักการสำคัญ ๆ ของระบบฯ :  เป็นระบบที่เน้นการประเมินตนเอง  ให้ข้อมูลป้อนกลับผ่านจอภาพหรือผ่านระบบอินเตอร์เน็ต  ส่งเสริมให้นักเรียนมีการวางแผนพัฒนาทักษะชีวิตของตนเอง และตรวจสอบพัฒนาการของตนเองได้อย่างต่อเนื่องจนบรรลุผลหรือมีสมรรถนะด้านทักษะชีวิตผ่านเกณฑ์ที่กำหนด  ภายใต้การแนะนำช่วยเหลือจากพี่เลี้ยงที่มีประสบการณ์(เน้น Self-Derecting  และ Mentoring)
           3. ปัจจัยพื้นฐานของระบบ : ได้เลือกเนื้อหาทักษะชีวิต "ด้านการดูแลสุขภาพกาย สุขภาพจิต การป้องกันโรคตามฤดูกาล และการแก้ปัญหาเมื่อเกิดการเจ็บป่วย" เป็นเนื้อหาสำคัญในการพัฒนาระบบประเมินทักษะชีวิตในครั้งนี้    และ พัฒนาโปรแกรมฐานข้อมูลเพื่อการประเมินและให้ข้อมูลป้อนกลับผ่านจอภาพ
           4. กระบวนการของระบบ :  ประกอบด้วยขั้นตอนที่สำคัญ ๆ คือ 1) การตรวจสอบความรู้พื้นฐานและทักษะในการดูแลตนเอง ในขณะเริ่มต้นเข้าเรียนระดับชั้น ม.4 โดยการเข้าสู่ระบบฐานข้อมูลแล้วทำการประเมินตนเอง  2) ระบบจะให้ข้อมูลป้อนกลับเกี่ยวกับทักษะชีวิต หรือระดับความสามารถในการดูแลตนเอง เป็นรายบุคคล พร้อมให้ของมูลเกี่ยวกับเกณฑ์ปกติ(Norm) ของเด็กในวัยเดียวกัน เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาเปรียบเทียบ  3) ให้นักเรียนมีการวางแผนพัฒนาตนเองในระยะเวลา 3-6 เดือน แล้วพัฒนาตนเองตามแผน โดยมีการบันทึกแฟ้มผลการดำเนินการพัฒนาตนเองอย่างสม่ำเสมอ 4) นักเรียนสามารถร้องขอการประเมินซ้ำ ในระหว่างปี และโรงเรียนจัดให้มีการประเมินครั้งสำคัญ ๆ ทุกรอบ 6 เดือน   และ 5) มีการประเมินเพื่อรับรองมาตรฐานทักษะชีวิตเมื่อจบภาคเรียนแรกของชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 นักเรียนที่ไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานสมรรถนะด้านทักษะชีวิต จะต้องได้รับการซ่อมเสริมด้วยการเข้าค่ายเยาวชนเพื่อฝึกทักษะแบบเข้ม
          5. ผลลัพธ์ที่คาดหวังของระบบ(Expected Outcomes) : นักเรียนมากกว่าร้อยละ 80 มีพัฒนาการด้านทักษะชีวิตผ่านเกณฑ์ที่กำหนด

        ในกรณีของคำถามที่สอง "อะไรคือตัวแปรตามหรือตัวชี้วัดประสิทธิภาพของระบบฯ"  (ตัวแปรตามในการวิจัย) คำตอบสำหรับข้อนี้ มีนักวิชาการหลายท่านได้เสนอแนวคิดเกี่ยวกับตัวแปร หรือตัวชี้วัดประสิทธิภาพของระบบ เช่น Stufflebeam (1981) ได้เสนอแนวทางการตรวจสอบประสิทธิภาพของระบบประเมิน (ในความเห็นของผม เห็นว่า สามารถประยุกต์ใช้ในการประเมินประสิทธิภาพของระบบบริหารจัดการใด ๆ)  โดยเสนอให้ตรวจสอบประสิทธิภาพใน 4 มิติ  คือ มาตรฐานความเหมาะสม (Propriety Standards)  มาตรฐานความเป็นไปได้ (Feasibility Standards)   มาตรฐานความถูกต้อง (Accuracy Standards) (ซึ่งอาจพิจารณาในเรื่องความเที่ยง และความตรงของเครื่องมือ หรือความถูกต้องของระบบในการจำแนกกลุ่มเป้าหมาย)  มาตรฐานการใช้ประโยชน์ของระบบ(Utility Standards)(ซึ่งควรจะเกิดประโยชน์สอดคล้องกับผลลัพธ์ที่คาดหวังของระบบ)


หมายเลขบันทึก: 366867เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2010 10:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

หนูได้อ่านแล้วค่ะ มีประโยชน์มาก ทำให้เข้าใจหน้าตาของระบบชัดเจนขึ้น ขอบคุณค่ะ

มาอ่านบทความขออาจารย์ครับ ลูกศิษย์ของอาจารย์จากได้อบรมที่วช. ครับผม...ขอบคุณอาจารย์มากๆๆนะครับสำหรับการถ่ายทอดที่เข้าใจและได้ความรู้นอกห้องเรียน...ขอให้อาจาารย์สุขภาพแข็งนะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท