เทคนิคการบริหารงานด้วยหลัก 4 Q


เทคนิคการบริหารงาน

เกี่ยวกับหลัก 4 Q มีกูรู ท่านหนึ่ง กล่าวไว้ว่า “การทำงานใด ๆ   ก็ตาม ทุกคนย่อมมีความต้องการให้งานที่ได้รับมอบหมายประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้”

เพลินวานเห็นด้วยกับคำกล่าวนี้  เพราะมองว่า โดยหลักธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีจิตใต้สำนึกในตัวตนเกี่ยวกับความรับผิดชอบแห่งตนอยู่  รักตัวเอง มีความต้องการแห่งความสำเร็จของชีวิต ตามที่ทฤษฏีแห่งความต้องการของมาสโรล์กล่าวไว้ ความสำเร็จ การได้รับความยกย่องชมเชย นี่คือพฤติกรรมมนุษย์ที่มี

แต่การทำงานให้ได้ดี ให้ประสบผลสำเร็จตามเป้าหมายที่กำหนดไว้อย่างมืออาชีพ เพลินวานเห็นว่า ต้องนำเทคนิคหรือเครื่องมือเข้ามาช่วยในการบริหารงาน วิธีการหรือเทคนิคที่ดีจะทำให้สามารถจัดการและบริหารงานต่าง ๆ ให้สำเร็จลุล่วงไปด้วยดีภายใต้ระยะเวลาที่จำกัด  หลัก 4 Q เพลินวานถือว่าเป็นเทคนิคในการบริหารงานที่น่าสนใจ  แล้วอะไรคือ 4 Q 

Q 1 - Management Quotient (Mgnt.Q)  ความฉลาดทางการจัดการงาน

Q 2 - Intellectual Quotient  (IQ)  ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา

Q 3 - Emotional Quotient (EQ)  ความฉลาดทางเชาวน์อารมณ์

Q 4 - Health Quotient (HQ)  ความฉลาดในด้านสุขภาพ  

ความฉลาดทางการจัดการ (Management Quotient : Mgnt. Q)

ความฉลาดทางการจัดการ (Management Quotient : Mgnt. Q) คือ ความฉลาดในการบริหารและจัดการงานโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการจัดการงานให้สำเร็จภายใต้ระยะเวลาที่กำหนด ทั้งนี้ความฉลาดทางการจัดการนั้นไม่ใช่มีเฉพาะแต่ระดับหัวหน้างานหรือระดับผู้บริหารเท่านั้น พนักงานระดับปฏิบัติการก็ควรจะมีความฉลาดในการจัดการงานหรือบริหารงานของตนเองด้วย เพลินวานได้สรุปหลักปฏิบัติง่าย ๆ ดังต่อไปนี้

  1. 1.       การวางแผนการทำงาน : แบ่งเวลาส่วนหนึ่งของชีวิต สำหรับวางแผนในการทำงานในแต่ละวัน โดยอาจจะใช้เวลาก่อนนอนในการวางแผนงานสำหรับวันรุ่งขึ้น หรืออาจใช้เวลาช่วงเช้าที่สมองกำลังปลอดโปร่งคิดและวางแผนการทำงาน และงานอะไรที่จะต้องทำก่อนและหลัง และจัดลำดับความสำคัญของงานนั้น ในการวางแผนงานที่ดี แนะนำว่าควรมีสมุดบันทึกแผนงานประจำตัว ไม่ควรใช้วิธีจำ เพราะอาจจะลืมได้ รวมถึงไม่สามารถติดตามผลความสำเร็จของานที่วางแผนไว้ได้
  2. 2.       การดำเนินการตามแผนงาน : ควรดำเนินการตามแผนที่กำหนดไว้….งานอะไรจะต้องทำก่อนหลัง.. (ไม่ใช่ แพลน แล้วนิ่ง) โดยอาศัยสมุดบันทึกช่วยจำ
  3. 3.       การตรวจสอบการดำเนินการ : เมื่อเสร็จสิ้นวันทำงานในแต่ละวัน ควรจัดสรรเวลาส่วนหนึ่งนอกจากการวางแผน  ในการตรวจสอบผลงานว่าเป็นไปตามแผนงานหรือไม่ โดยการถามตัวเองว่า…งานอะไรที่ทำเสร็จ…งานอะไรที่ยังทำไม่เสร็จ และเพราะอะไร…และคิดหาเหตุผลว่า ทำไมเราไม่สามารถจัดการงานนั้น ๆ ได้ แล้วเราจะแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร (ไม่ใช่ว่า มันไม่เสร็จ ก็จงไม่เสร็จต่อไป)…
  4. การประเมินสิ่งที่เรียนรู้ : เป็นขั้นตอนที่สำคัญและมีผลต่อการพัฒนาศักยภาพและความสามารถในการทำงานของตนเอง  ซึ่งเราควรจัดสรรเวลาในการประเมินสิ่งที่เรียนรู้จากการทำงาน อาจเป็นประจำสัปดาห์หรือประจำเดือนก็ได้ ควรคิดและพิจารณาว่า…อะไรบ้างที่ได้จากการทำงานที่ผ่านมา และจะต้องเรียนรู้อะไรเพิ่มเติมบ้าง

ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา (Intellectual Quotient: IQ)

ความฉลาดทางเชาวน์ปัญญา (Intellectual Quotient: IQ) คือ ความสามารถทางสมอง ความคิดวิเคราะห์ และความสามารถในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ  คงไม่อาจปฏิเสธได้ว่าความฉลาดทางเชาวน์ปัญญาไม่มีส่วนทำให้การทำงานประสบผลสำเร็จ  มีผู้วิจัยพบว่า IQ มีส่วนสำคัญที่ทำให้การทำงานประสบความสำเร็จประมาณ 20%  นอกนั้นจะเป็นความสามารถในด้านอื่น ๆ 80%  ดังนั้น IQ จึงเป็นปัจจัยหนึ่งที่สำคัญและมีผลต่อการทำงาน…IQ มีส่วนอย่างไรต่อการบริหารและจัดการงาน? ….มีส่วนสัมพันธ์กันอย่างแน่นอน เพราะผู้ที่มี IQ ย่อมจะรู้ในสิ่งที่ควรทำก่อนและหลัง มีการจัดระบบความคิด คิดหาวิธีการในการทำงานให้ง่ายและรวดเร็วขึ้น…แล้ว IQ พัฒนาได้ไหม?…คำตอบ ..พัฒนาได้ตามอายุ และประสบการณ์ในการทำงาน ควรฝึกคิดหาแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ฝึกคิดวิเคราะห์และพัฒนาระบบการทำงาน ทั้งนี้เพื่อกระตุ้นให้สมองทำงานอยู่ตลอดเวลา…ตราบใดที่ไม่หยุดคิด สมองก็จะทำงาน…นั่นก็เป็นทางหนึ่งในการพัฒนาและฝึกฝน IQ ที่ดีที่สุด

ความฉลาดทางเชาวน์อารมณ์ (Emotional Quotient: EQ)

ความฉลาดทางเชาวน์อารมณ์ (Emotional Quotient: EQ) คือ ความสามารถทางการจัดการและการบริหารอารมณ์ของตัวเอง เมื่อเผชิญกับปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในการดำเนินงาน…ตามเทคนิคดังนี้

  1. 1.       รู้จักตัวเอง ยอมรับความสามารถของตนเอง รับรู้ขีดจำกัดและจุดที่เราสามารถจะพัฒนาได้ รวมทั้ง รับรู้ ความรู้สึกของตนเองว่าเป็นอย่างไรในสถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนความสามารถหาวิธีในการควบคุมความรู้สึกของตัวเองโดยเฉพาะความรู้สึกในเชิงลบ  
  2. 2.       ยิ้มเข้าไว้แล้วจะดีเอง จงยิ้มสู้ อย่าท้อแท้และสิ้นหวังกับปัญหา "ปัญหามีไว้ให้แก้ ไม่ใช่มีไว้ให้กลุ้ม" ให้คิดเสมอว่า ปัญหาทำให้เราเกิดการเรียนรู้ การเรียนรู้จากข้อผิดพลาดของตัวเองจะทำให้จดจำและเรียนรู้ได้เร็วที่สุด..ขอให้เผชิญหน้ากับปัญหาด้วยใจที่มีพลัง…แล้วเราจะพบว่ายังมีหนทางอีกมากมายในการแก้ไขปัญหา "ทุกปัญหาย่อมต้องมีทางออกอย่างแน่นอน"
  3. 3.       คิดทางบวกอยู่เสมอ ให้มองโลกในทางที่ดี มองทางบวกเสมอ (Positive Thinking) ไม่โทษตนเองและผู้อื่น เพียงแค่ปรับเปลี่ยนความคิดของตัวเองจากด้านลบเป็นด้านบวก สิ่งนี้เองจะทำให้เรามีสติ รู้ตัวเองอยู่เสมอ รวมทั้งรู้ตัวว่า ควรจะทำอย่างไรในสถานการณ์หรือเหตุการณ์ต่าง ๆ
  4. ยอมรับและเข้าใจผู้อื่น เป็นที่ทราบแล้วว่า ไม่มีใครควบคุมพฤติกรรมของคนอื่น ๆ ให้แสดงออกตามความต้องการและความรู้สึกของตนเองได้ แต่คุณสามารถยอมรับและเข้าใจความต้องการและความรู้สึกของแต่ละคนได้ หากคุณมีความเข้าใจในเหตุผลของพฤติกรรมที่แสดงออกมาของแต่ละบุคคล มันจะทำให้คุณให้อภัยและไม่ถือโทษโกรธเคืองในการกระทำต่าง ๆ

ความฉลาดในด้านสุขภาพ (Health Quotient: HQ)

ความฉลาดในด้านสุขภาพ (Health Quotient : HQ) ความสามารถทางการจัดการและการบริหารสุขภาพของตนเอง…หากทำงานหนักโดยไม่ใส่ใจต่อสุขภาพหรือการพักผ่อนใด ๆ  ความเครียดถามหา สุขภาพกายอ่อนแอ สุขภาพจิตย่ำแย่ และในที่สุดผลการปฏิบัติงานก็จะไม่มีประสิทธิภาพ  เราต้องดูแลและใส่ใจต่อสุขภาพสักนิด โดยการหาเวลาออกกำลังกายเสียบ้าง เล่นกีฬาสุดโปรด  การออกกำลังกายจะช่วยทำให้สมองทุกส่วนมีระบบความจำจะดีขึ้น และที่สำคัญทำให้มีสมาธิในการทำงาน…

เพลินวาน เห็นว่า หากองค์กรหรือหน่วยงาน สร้างระบบและพัฒนาคน พนักงาน ให้มีการนำวิธีการหรือเทคนิคการบริหารด้วยหลัก 4 Q มาใช้ในการทำงาน ย่อมจะทำให้การบริหารงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพอย่างแน่นอน

 

ท้ายนี้ ขอเสนอแนะว่า น่าจะเพิ่ม Q : Quotient  ให้มากกว่า 4 ตัวนี้น่าจะดี  และดีมากที่สุด

Q ตัวที่ 5     .......    Q : Quotient  >>> ความฉลาดทางศีลธรรม จริยธรรม ????????

หมายเลขบันทึก: 366847เขียนเมื่อ 16 มิถุนายน 2010 09:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 13:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ใช่ค่ะ Maral Quotient น่าจะสำคัญที่สุดด้วยซ้ำ
ปัจจุบัน นักจิตวิตยาได้คิด Q ต่างๆ มี A-Z เลยทีเดียว เท่าที่ทราบก็มี

AQ (Adversity Quotient) ความฉลาดหรือความสามารถในการฟันฝ่าอุปสรรค(ความอึด/วิริยะอุตสาหะ) Aversity, Blancing(จัดสมดุล), Creativity(ริเริ่มสร้างสรร),Distinguishability (ช่างสังเกตแยกแยะ), Emotional(อารมณ์), Feeling (สัมผัสต่างๆ), Globalization(ทันต่อการเปลี่ยนแปลง รอบรู้), Health (การดูแลรักษาสุขภาพ), Intelligence (ฉลาด/เก่ง), Joking (อารมณ์ขัน),Knowledge (ความรู้ในเรื่องราวต่างๆ), Leadership(สภาวะผู้นำ),Moral (คุณธรรมจริยธรรม), Neatness (ความปราณีตเรียบร้อย), Organization (การเชื่อมโยง), Perception (รู้ผิดชอบชั่วดี), Questioning (การตั้งคำถาม),Resilence (พลังจิต), Spiritual (จิตวิญญาณมีน้ำใจ), Team working(การทำงานเป็นทีม), Understanding(ความเข้าใจสรรพสิ่งต่างๆ), Velocity(ความเร็วในการทำงาน/กิจกรรม), Wisdom (ปัญญา/ความรู้ขั้นสูง), Youth(กระชุ่มกระชวยหนุ่มสาว) และ Zooming (จับประเด็น) ซึ่งเขาว่ากันว่าทุก Q พัฒนาได้ ยกเว้น IQ ซึ่งมีมาแต่กำเนิด และที่น่ากลัวคือ MQ ต้องปลูกฝังตั้งแต่ยังเล็กๆ จึงจะดี...

ขอบคุณนะ คุณ jan .....คิดว่า..ถ้าคนในองค์กรนำมาใช้ในชีวิตการทำงาน จะทำให้ผลการปฏิบัติงานดีขึ้นแน่นอน

ที่สำคัญว่า สงกะสัยจะนำมาใช้ไม่หมด? ขอบคุณนักจิตวิทยา >> นักศึกษาพฤติกรรมมนุษย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท