การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision Making)


การสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive advantage)

          ได้พบบทความที่น่าสนใจจึงอยากนำมาฝาก เขียนโดย ดร.วราภรณ์ ศิริโภคากิจ อาจารย์คณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ซึ่งเป็นคณะกรรมการต้นทุนมหาวิทยาลัย เขียนไว้น่าสนใจ จึงอยากนำมาเผยแพร่สำหรับผู้สนใจ  ดังนี้

การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ (Strategic Decision Making)            

       องค์กรต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นองค์กรที่มุ่งหวังกำไรหรือไม่มุ่งหวังกำไร ย่อมต้องการดำเนินงานเพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดตั้งองค์กรนั้นๆ  องค์กรต้องมีการกำหนดการปฎิบัติงานของทุกคนให้ชัดเจน เพื่อเป็นแผนดำเนินงานที่จะทำให้กิจการสามารถอยู่รอดได้ในระยะยาว  แนวทางในการปฎิบัติดังกล่าว หรือที่เรียกว่า กลยุทธ์ (Strategy)   ถือเป็นแผนงานหรือ นโยบายขององค์กรที่กำหนดขึ้นในการดำเนินงาน เพื่อสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive advantage)  และทำให้กิจการอยู่รอดในระยะยาว

       การที่องค์กรจะอยู่รอดในระยะยาวได้ ต้องเลือกกลยุทธ์ที่เหมาะสมกับสภาพแวดล้อมขององค์กร  ส่วนสำคัญของกลยุทธ์คือ การตัดสินใจเชิงกลยุทธ์ ( Strategic Decision Making) เป็นเครื่องมือที่สำคัญที่ผู้บริหารทุกระดับในองค์กรต้องทราบ  เพื่อนำมาใช้ในการดำเนินงานของกิจการให้สอดคล้องกับสภาพแวดล้อมที่มีการปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง  ทั้งนี้ ที่สำคัญคือองค์กรต้องสามารถสร้างความได้เปรียบทางการแข่งขัน (Competitive advantage)  จึงจะสามารถอยู่รอดในระยะยาว                         

การใช้ข้อมูลการจัดการต้นทุนในการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์

             การกำหนดกลยุทธ์นั้น กิจการต้องมีการประเมินสภาพแวดล้อม และ ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ซึ่งการที่กิจการจะทำเช่นนี้ได้ ต้องมี แหล่งที่มาของข้อมูลเพื่อผู้บริหารจะได้นำไปใช้ประกอบเพื่อการตัดสินใจในการดำเนินงานได้อย่างทันท่วงที  โดยแหล่งในการเก็บรวบรวมข้อมูลเบื้องต้นที่ จะให้ข้อมูลที่ดีที่สุดแก่ฝ่ายบริหารของกิจการ คือ ระบบบัญชี (Accounting System) 

       อย่างไรก็ตาม การที่ผู้บริหารจะตัดสินใจได้ดีที่สุด แหล่งข้อมูลจะต้องสมบูรณ์   ในช่วงเวลาที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมากมายในระบบบัญชีต้นทุน และวิธีการบริหารงานที่จะเห็นได้ว่ามีเครื่องมือในการบริหารงาน วิธีการบริหารงานใหม่ๆ เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการบริหารคุณภาพโดยรวม (Total Quality Control Management) การบัญชีแบบลีน (Lean Accounting)   การคำนวณต้นทุนแบบต้นทุนฐานกิจกรรม (Activity-Based Costing) และการบริหารกิจกรรม (Activity-Based Management)        ดังนั้นข้อมูลสารสนเทศทางการบัญชีจึงมีบทบาทสำคัญในการช่วยกำหนดทิศทางกลยุทธ์ที่เหมาะสมสำหรับองค์กร รวมทั้งจะเป็นแนวทางในการปฏิบัติงานให้ฝ่ายบริหาร เป็นข้อมูลที่จะจูงใจให้ทุกคนในองค์กรได้ปฏิบัติงานเพื่อบรรลุเป้าหมายที่องค์กรนั้นกำหนด หรืออาจกล่าวได้ว่า ข้อมูลเกี่ยวกับการจัดการต้นทุน (Cost Management) ทั้งข้อมูลที่เป็นข้อมูลทางการเงินและข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อมูลทางการเงิน จึงเป็นข้อมูลที่สำคัญที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้ จากเหตุผลดังกล่าวข้างต้น บทบาทของบัญชีต้นทุนและการจัดการต้นทุนจึงได้มีการขยายขอบเขตอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักบัญชีมีส่วนร่วมในการบริหารขององค์กรมากขึ้นในฐานะผู้ให้ข้อมูลเพื่อการบริหารงาน

       การจัดการต้นทุนจึงมีความสำคัญในการบริหารงานและองค์กร  ผู้บริหารจึงจำเป็นต้องเข้าใจการใช้ข้อมูลเกี่ยวกับการนำต้นทุนไปใช้ในการบริหารว่าจะนำไปใช้เมื่อใด และใช้อย่างไร เพื่อให้องค์กรประสบความสำเร็จในระยะยาว การจัดการต้นทุนจะช่วยฝ่ายบริหารให้เข้าใจโครงสร้างต้นทุนและพฤติกรรมต้นทุนได้ จึงทำให้ผู้บริหารสามารถใช้ข้อมูลดังกล่าวในการตัดสินใจ ซึ่งจะทำให้กิจการเกิดการได้เปรียบในการแข่งขันเชิงกลยุทธ์ ในการแข่งขันเชิงกลยุทธ์นั้น การจัดการต้นทุนจะช่วยเป็นฐานข้อมูลเพื่อให้กิจการเกิดการได้เปรียบในการแข่งขัน และส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จตามที่ได้กำหนดเป้าหมายไว้

      

การใช้ข้อมูลต้นทุนเพื่อเพิ่มมูลค่า 

      ในการเพิ่มผลผลิต แก่ธุรกิจนั้น ธุรกิจต้องการทราบต้นทุนเพื่อจะได้วางแผนและบริหารงานให้บรรลุเป้าหมายตามที่กำหนด ดังนั้นธุรกิจต้องเข้าใจในต้นทุนที่เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต ต้นทุนที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน และต้นทุนที่จะเกิดขึ้นในอนาคต โดยธุรกิจที่จะประสบความสำเร็จได้ ไม่เพียงแต่ต้องเข้าใจในการปรับปรุงต้นทุนเท่านั้น แต่ต้องเข้าใจในการที่จะเพิ่มรายได้ให้แก่กิจการ โดยธุรกิจต้องสามารถขายสินค้าตรงตามความต้องการของลูกค้า ในเวลาที่ลูกค้าต้องการ และมีต้นทุนที่เหมาะสม ท้ายที่สุดจะส่งผลให้กิจการมีกำไรสูงสุด

       ห่วงโซ่มูลค่า (Value Chain)  เป็น การแสดงความสัมพันธ์ของกระบวนต่างๆ ของกิจการ  โดยเป็นการเชื่อมโยงระหว่าง ความคิด   ทรัพยากร ผู้ขาย และลูกค้า  ดังนั้นถ้ากิจการต้องการทราบว่าจะเพิ่มมูลค่าให้กิจการได้อย่างไร จึงจำเป็นต้องมีการวิเคราะห์ห่วงโซ่มูลค่า(Value Chain Analysis)   เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่กิจการ โดยต้องใช้ข้อมูลต้นทุนช่วยใน การวิเคราะห์ห่วงโซ่เพิ่มมูลค่า ฝ่ายบริหารต้องสามารถใช้ต้นทุนเพื่อประกอบการตัดสินใจได้ เช่น ฝ่ายบริหารต้องได้รับข้อมูลเพื่อตัดสินใจว่ากระบวนการผลิตสามารถจะลดต้นทุนได้ และเพิ่มประสิทธิภาพได้เช่นกัน  ดังนั้น ข้อมูลที่กิจการได้รับควรเป็นข้อมูลที่เพิ่มมูลค่า (Value Added) เพื่อจะนำไปปรับปรุงการผลิตให้ดียิ่งขึ้น นอกจากนี้ การวัดมูลค่าและการรายงานของต้นทุนต้องแสดงให้เห็นกิจกรรมที่เพิ่มมูลค่า โดยผู้บริหารต้องได้รับข้อมูลนั้นตามทันตามความต้องการใช้  จึงจะเพิ่มมูลค่าให้กิจการได้

            

บรรณานุกรม

Hilton W., and others (2008), Cost Management Strategies For Business Decisions 4th          McGrawhill Irwin, New York.

Porter E., (1985). Competitive Avantage:Creating and Sustaining Superior Performance,Free Press, New York.

        ดังนั้นทุกหน่วยงานจึงควรคำนวณต้นทุนทุกผลผลิต เพื่อช่วยให้ผู้บริหารใช้ในการวางแผนและตัดสินใจเพื่อการแข่งขันต่อไป  แต่จะเห็นว่า สกอ. และทุกมหาวิทยาลัยก็พยายามดำเนินการเรื่องนี้มาเป็นเวลาหลายปี แต่ก็ยังไม่ประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร เพราะต้นทุนแต่ละมหาวิทยาลัยมีตัวแปรที่แตกต่างกัน เช่น บุคลากรอาวุโสและมีตำแหน่งวิชาสูง ซึ่งจะทำให้ต้นทุนสูงกว่ามหาวิทยาลัยที่มีอาจารย์รุ่นเยาว์ หรือ มหาวิทยาลัยภูมิภาค กับ มหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็จะมีต้นทุนที่ต่างกันชัดเจน ก็คือ ค่าเดินทาง เนื่องจากต้องเดินทางไปประชุม/สัมมนาที่ กทม. เป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นเรื่องที่ยังหาต้นทุนที่เหมาะสมซึ่งอาจจะนำมาใช้ในการจัดสรรงบประมาณในอนาคต แต่สิ่งที่อาจจะทำได้ไปพลางก่อน คือ การกำหนดค่าวัสดุการศึกษาต่อหัวนักศึกษา ซึ่งอาจต้องพิจารณาให้เหมาะสมต่อไป

 

หมายเลขบันทึก: 366045เขียนเมื่อ 12 มิถุนายน 2010 14:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท