สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในชุมพร


แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว เมืองท่าสำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคใต้

       คราวที่แล้วได้เสนอเรื่องราวการจัดแสดงนิทรรศการถาวรในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ  ชุมพร ไปแล้ว  2  หัวข้อ  วันนี้เรามาติดตามกันต่อนะค่ะ  หัวข้อที่ 3  คือ เรื่องสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในชุมพร

 สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์

       การตั้งถิ่นฐานในสมัยนี้ มีพัฒนาการต่อเนื่องมาจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์ตอนปลาย  โดยชนพื้นเมืองมีการรับวัฒนธรรมจากดินแดนภายนอก และเริ่มเคลื่อนย้ายที่ตั้งชุมชนไปสู่พื้นที่ราบใกล้ชายฝั่งทะเลที่มีทางเข้าออกจากแผ่นดินใหญ่สู่ดินแดนอื่นๆ มากขึ้น รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงทางภูมิศาสตร์ทำให้ทะเลแผ่ขยายของเข้าไปในแผ่นดิน  ชุมชนเดิมกลายเป็นชุมชนเมืองท่าที่มีบทบาทสำคัญในการแลกเปลี่ยนสินค้า แหล่งโบราณคดีที่สำคัญของจังหวัดชุมพรในสมัยนี้  เช่น  แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว  อำเภอเมืองชุมพร   เป็นต้น


แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว

  ตั้งอยู่บนเนินเขาสามแก้ว บริเวณ  หมู่ที่ ๑  ตำบลนาชะอัง อำเภอเมืองชุมพร จังหวัดชุมพร มีเส้นทางน้ำที่ปรากฏร่องรอยว่าในอดีตสามารถใช้เป็นเส้นทางออกสู่ทะเลได้    คือ ลำน้ำท่าตะเภา ซึ่งไหลผ่านทางทิศตะวันตกของแหล่งโบราณคดี  และออกไปสู่ทะเลอ่าวไทยที่ปากน้ำชุมพร   ซึ่งแหล่งโบราณคดีนี้น่าจะเป็นเมืองท่าโบราณในเส้นทางข้ามคาบสมุทรที่สำคัญ  ๒  สาย  คือ
-     จากอำเภอหลังสวนไปตามแม่น้ำหลังสวน  อำเภอพะโต๊ะ  ข้ามเขาไปจังหวัดระนอง
-      เส้นทางกระบุรี – เขาสามแก้ว  เริ่มจากฝั่งทะเลอันดามันตอนล่างของแม่น้ำกระบุรี  อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง ผ่านแหล่งโบราณคดีเขาพระขยางค์  สันปันน้ำ  จปร. ข้ามช่องเขาเข้าเขตจังหวัดชุมพร   ผ่านแหล่งโบราณคดีถ้ำสนุกสุขารมย์  ท่าตะเภา    ผ่านแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว  และลงทะเลที่ปากน้ำชุมพร


หลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณคดี

     เขาสามแก้ว เป็นแหล่งโบราณคดีที่สำคัญที่สุดแหล่งหนึ่งที่มีการตั้งถิ่นฐานของชุมชนโบราณสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ที่รับอารยธรรมจากอินเดีย จากการสำรวจและขุดค้นของกรมศิลปากรในปี พ.ศ.๒๕๒๔- ๒๕๒๕  พบหลักฐานสำคัญ  เช่น กลองมโหระทึกสำริด  ประติมากรรมจำลองสำริด (รูปคน,สัตว์)  เครื่องมือเหล็กรูปใบหอก แท่นหินบดมีลายตัดทอนส่วนของสถูปและธรรมจักร  ลูกปัด  (แก้ว, หิน)  กำไล  (แก้ว, หิน)  แหวน   และแผ่นทอง   รวมทั้งลูกปัดหินคาร์เนเลี่ยนแกะสลักอักษรโบราณ

     

จากการขุดค้นทางโบราณคดี สามารถแบ่งชั้นวัฒนธรรมได้ ๒ ชั้น คือ           

ชั้นวัฒนธรรมที่ ๑ สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์  พบภาชนะดินเผาเนื้อดินธรรมดา  เช่น  หม้อก้นกลม  หม้อมีสันตกแต่งด้วยลายเชือกทาบ  ตุ้มถ่วงแหดินเผา   ชิ้นส่วนกำไลสำริด  ลูกปัดหินและแก้ว  เศษแก้ว-หลอม  เศษเครื่องมือเครื่องใช้สำริด  ชิ้นส่วนเครื่องมือเหล็ก  และเศษภาชนะดินเผา 
ชั้นวัฒนธรรมที่  ๒ สมัยประวัติศาสตร์ร่วมสมัยรัตนโกสินทร์ พบเครื่องถ้วยเคลือบสมัยรัตนโกสินทร์  
       จากผลการขุดค้นทางโบราณคดี สามารถสันนิษฐานได้ว่า  บริเวณเขาสามแก้วเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของกลุ่มคน  ๒  สมัย  คือ  สมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์  และสมัยประวัติศาสตร์ร่วมสมัยรัตนโกสินทร์  หลักฐานที่พบจากการสำรวจและขุดค้นทางโบราณคดีส่วนใหญ่เป็นของชุมชนสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์  ซึ่งตั้งถิ่นฐานอยู่บนเนินและพื้นที่ราบ  โดยยังคงสืบทอดวัฒนธรรมสมัยก่อนประวัติศาสตร์  รวมทั้งมีการติดต่อกับวัฒนธรรมอินเดีย  (สมัยอินโด – โรมัน  ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๕ - ๙ ) และวัฒนธรรมในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ด้วยกันเอง  เช่น วัฒนธรรมดองซอน  เป็นต้น   และจากการพบเศษแก้วหลอม  หินวัตถุดิบที่มีรอยขัดแต่ง  รวมทั้งลูกปัดและเครื่องประดับจำนวนมากที่แหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว  อาจสันนิษฐานได้ว่า  แหล่งโบราณคดีนี้น่าจะเป็นแหล่งผลิตลูกปัดและเครื่องประดับ  เพื่อตอบสนองคนในชุมชนและชุมชนอื่นๆ รวมทั้งน่าจะเป็นเมืองท่ารุ่นแรกๆ  ที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งในภาคใต้ของประเทศไทยที่รับวัฒนธรรมอินเดีย

การจัดแสดงหัวข้อสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ในชุมพร

- หุ่นจำลองแหล่งโบราณคดีเขาสามแก้ว

- ภาพถ่ายโบราณวัตถุ

- ภาพถ่าย

หมายเลขบันทึก: 3657เขียนเมื่อ 9 กันยายน 2005 11:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 17:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเยี่ยมชมค่ะ ได้ข้อมูลและความรู้มากมาย ขอบคุณค่ะ

หนูจะทำรายงานเกียวกับชุมชนโบราณเขาสามแก้วอยากทราบข้อมูลเกี่ยวกับลูกปัดชนิดต่างๆ และเกี่ยวกับชุมชนโบราณเขาสามแก้ว แต่จะต้องเป็นข้อมูล ปีพ.ศ.2551 ลงไปนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท