มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช
Mrs. Maleephan มาลีพันธุ์ ภูมา โรงเรียนวัดท่างาม อ.เมือง จ.นครศรีธรรมราช Pooma

หลักธรรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู


หลักธรรมคำสอนที่น่าเลื่อมใส

                   หลักคำสอนของศาสนาพราหมณ์-ฮินดู

                ในศาสนาพราหมณ์-ฮินดูมีหลักคำสอนที่คล้ายคลึงกับคำสอนเรื่องทิศ6 ในพระพุทธศาสนา  คือหลักคำสอนที่ว่าด้วยการปฏิบัติระหว่างบุคคลต่อบุคคล

หลักธรรม

ความหมาย

ปิตฤธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของบิดาต่อบุตร  บิดาต้องทำหน้าที่เลี้ยงดูบุตรจนถึงบุตรบรรลุนิติภาวะ

มาตฤธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของมารดาต่อบุตร  มารดาต้องทำหน้าที่เหมือนบิดา  ต้องเอาใจใส่บุตรเป็นพิเศษ

อาจารยธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของครูอาจารย์ต่อศิษย์  ต้องทำหน้าที่ถ่ายทอดวิชาความรู้ให้แก่ศิษย์อย่างถูกต้อง  ยุติธรรม  ดูแลลูกศิษย์อย่างที่พ่อแม่เลี้ยงดูบุตร  สร้างและแก้ไขความประพฤติ นิสัย อุปนิสัยของลูกศิษย์ร่วมกับพ่อแม่ของลูกศิษย์

บุตรธรรมและศิษยธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของบุตรต่อบิดามารดา  และการปฏิบัติหน้าที่ของศิษย์ต่อครูอาจารย์  ในตำราศาสนาพราหมณ์บัญญัติไว้ว่า”บุคคลที่จงรักภักดีต่อมารดา  ผู้นั้นเป็นผู้ชนะโลกนี้  บุคคลที่จงรักภักดีต่อบิดา  ผู้นั้นย่อมชนะโลกสวรรค์  และบุคคลที่จงรักภักดีต่อครูอาจารย์  ผู้นั้นย่อมชนะโลกพระพรหม”

“บุคคลที่ได้ทำการเคารพบิดา มารดา และครูผู้นั้นได้ชื่อว่าได้ปฏิบัติธรรมทุกประการแล้ว  แต่ผู้ที่ทำการดูถูกทั้งสามนี้แล้ว  ผู้นั้นย่อมไม่ถึงซึ่งความสำเร็จไม่ว่าจะทำการกุศลมากมายสักเท่าใดก็ตาม  ผู้ที่ต้องการความสำเร็จและมีความสุขในชีวิตนี้หรือชีวิตหน้าก็ตามที  จึงต้องเคารพนับถือบิดา  มารดา ครูอาจารย์อย่างจริงใจ  ต้องอยู่ในโอวาท  เชื่อฟังและปฏิบัติตามคำสอนของท่าน

ภราตฤธรรม

การปฏิบัติของพี่ต่อน้องและน้องต่อพี่  น้องต้องให้ความเคารพพี่เหมือนบิดามารดาและครู

ปติธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของสามีต่อภรรยา  ผู้ชายต้องเลือกคู่ชีวิตที่มีความเหมาะสมแก่ตระกูลของตน  เหมาะต่อสังคมที่ตนอาศัยอยู่

ปัตนีธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของภรรยาต่อสามี  ผู้เป็นภรรยาต้องปฏิบัติหน้าที่ต่อสามีด้วยความซื่อสัตย์สุจริต  ต้องเอาใจใส่สามีอย่างจริงจัง  ต้องถืออยู่ในจิตใจของตนเสมอว่าผู้ชายทั้งหลายยกเว้นสามีของตนเองแล้วเป็นบิดา พี่น้อง บุตรหลานเท่านั้น

สวามีธรรม-เสวกธรรม

การปฏิบัติหน้าที่ของสวามี(นายจ้าง)ต่อเสวก(ลูกจ้าง)  ผู้เป็นนายจ้างมีหน้าที่เลี้ยงดูลูกจ้างและครอบครัวของเขา  จ่ายค่าตอบแทนให้สมควรแก่ภาระงาน

ราชธรรม

การปฏิบัติของพระราชาหรือผู้ปกครองหรือรัฐบาลที่มีต่อประชาชน  เอาใจใส่ความทุกข์สุขของประชาชน

อาศรม 4

         คำว่าอาศรมในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  หมายถึงช่วงหรือระยะเวลาของชีวิต  และยังหมายถึง  ที่สำหรับอยู่อาศัยของนักบวช  อีกด้วย

         ในยุคพราหมณ์  การดำเนินชีวิตตามหลักศาสนาของบุคคลในวรรณะสูงทั้ง 3 คือพราหมณ์  กษัตริย์  แพศย์   นั้นจะต้องดำรงชีวิตตามหลักอาศรม 4 คือ

1.  พรหมจรรย์

       คือช่วงชีวิตที่ใช้ในการศึกษาเล่าเรียน  เพื่อนำความรู้มาแสวงหาทรัพย์สมบัติทางโลก  เป็นระยะที่ต้องศึกษาเล่าเรียนสาระของพระเวท  ยัญพิธี  และวิชาการอื่นๆ  อยู่กับครูเป็นเวลาอย่างน้อย  12  ปี  และในช่วงระยะเวลาดังกล่าวนี้ต้องปฏิบัติตามกฎข้อบังคับและคำสั่งสอนของครูอย่างเคร่งครัด  บุคคลที่อยู่ในอาศรมพรหมจรรย์เรียกว่าพรหมจารี  ต้องปฏิบัติตนดังต่อไปนี้

1.1    เชื่อฟังคำสั่งสอนของครูทุกประการ  และต้องถือว่าตนเองนั้นเป็นทาสของครู

1.2    ออกไปรับภิกษาและสิ่งของต่างๆ  และต้องนำสิ่งของที่รับมานั้นมาให้ครูเสียก่อน  ถ้าครูอนุญาตให้รับประทานจึงจะเริ่มรับประทานได้  ถ้าไม่อนุญาตก็รับประทานไม่ได้

1.3    สงวนหรือรักษาน้ำกามอันเป็นสาระสำคัญของร่างกายไว้ให้จงดี  เมื่อพรหมจารีทั้งหลายสำเร็จ การศึกษาแล้ว  ก่อนลาครูกลับสู่บ้านเรือนอันเป็นการเตรียมพร้อมเพื่อเข้าสู่อาศรมที่สอง  ครูก็จะอบรมสั่งสอนพรหมจารีผู้เป็นศิษย์ให้ตั้งอยู่ในธรรม  เพื่อการเป็นผู้ครองเรือนที่ดี  ตัวอย่างคำสอน

        -  จงพูดแต่ความสัตย์

       -   จงปฏิบัติแต่ทางธรรม

       -  จงเอาจตุปัจจัยถวายแก่ครูอาจารย์  แล้วตนเองก็เข้าสู่เพศฆราวาส  อย่าทำให้วงศ์ตระกูลต้องขาดสาย

      -   จงปฏิบัติหน้าที่ของตนให้เหมาะสมกับสามีที่ดี  ซื่อสัตย์ต่อภรรยาและเป็นบิดาที่ดีต่อบุตรธิดา

     -    จงพยายามทำกุศลกรรม

     -    อย่าประมาทในการทำให้มีความเจริญก้าวหน้าทางวัตถุ

     -    จงอย่าประมาทในการบูชาสักการะองค์เทพเจ้า  เทวดา  และปิตระ(คือบรรพบุรุษของตน)

     -   จงถือว่าบิดามารดา  ครูอาจารย์  และอติถิ(แขกที่มาสู่บ้านโดยบังเอิญ)เป็นเสมือนพระเจ้าองค์หนึ่ง

     -   จงกระทำในสิ่งที่ดีที่ไม่เป็นที่ติฉินนินทา  นอกจากนี้ยังปฏิบัติตามและยึดถือขนบธรรมเนียมประเพณีแต่โบราณกาลด้วย

    -    จงฟังและเคารพบุคคลที่มีวัยวุฒิและคุณวุฒิ

    -   สิ่งที่จะมอบให้ผู้อื่น  จงให้ด้วยความศรัทธา  ด้วยความเต็มใจและดีใจ  ด้วยความรักและความอ่อนหวาน  อย่าให้ด้วยความไม่ศรัทธา  ด้วยความกลัว  หรือการถูกบังคับ

    -   จงไปหาผู้อาวุโสหรือผู้ปฏิบัติธรรม  เมื่อเธอสงสัยในข้อปฏิบัติว่าถูกต้องหรือไม่  เพื่อให้ท่านเหล่านั้นขจัดข้อข้องใจให้

2.   คฤหัสถ์

       คือ  ช่วงแสวงหาความสุขทางโลก  มีครอบครัว  มีบุตรธิดา  แสวงหาทรัพย์สมบัติ  ประกอบยัญพิธี และรับผิดชอบต่อชุมชน  บุคคลที่อยู่ในช่วงนี้เรียกว่าคฤหัสถ์  หมายถึงผู้ครองเรือน

3.  วานปรัสถย์

      คือ  ช่วงที่ต้องปฏิบัติธรรม  หรือทำตนให้เป็นผู้สมบูรณ์ด้วยคุณธรรมโดยการออกไปพำนักอยู่ในอาศรมในป่า  บำเพ็ญตบะและข้อปฏิบัติอื่นๆทางศาสนาอย่างเคร่งครัด  บุคคลที่อยู่ในอาศรมนี้เรียกว่า  วานปรัสถย์

4.  สันนยาสะ(สันยาสี)

      คือ  การปฏิบัติเพื่อบรรลุโมกษะอันเป็นจุดหมายสุดท้ายของคนฮินดูเป็นช่วงที่สละสมบัติทุกอย่างเหลือแต่ผ้านุ่งกับภาชนะสำหรับภิกขาจารและหม้อน้ำ  ออกจากอาศรม  เที่ยวจาริกเร่ร่อนภิกขาจารเรื่อยไป  ไม่ซ่องเสพสังคม  พิจารณาเห็นความเสื่อมโทรม  ปฏิกูลระคนด้วยทุกข์ของร่างกาย  ให้จิตใจสงบระงับ  ครั้นสรีระแตกดับสลายเป็นวัตถุธาตุ  อาตมันจักได้คืนสู่พรหมัน  บุคคลที่อยู่ในอาศรมนี้เรียกว่า สันนยาสี

    อาศรม 4 นี้เรียกอีกอย่างหนึ่งเป็น อัตถะ  กามะ ธรรมะ และโมกษะ แต่ละช่วงกินเวลาช่วงละ 25  ปี

พรหมัน  อาตมัน  ปรพรหม  ปรมาตมัน

    พรหมัน   เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า  ปรพรหม  เป็นสิ่งที่ดำรงอยู่ในภาวะ  เป็นสิ่งแท้จริงสูงสุด  เป็นตัวตนที่เที่ยง(อัตตา)ไม่มีขอบเขตจำกัด  ไม่มีรูปร่าง  ไม่มีเบื้องต้น  ไม่มีที่สุด  ดำรงอยู่ตลอดกาล  มีอยู่ในทุกสิ่ง  ปรากฎอยู่ในทุกสิ่ง  โดยที่ทุกสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่เกิดจากพรหมันหรือมาจากพรหมัน  แต่พรหมันเองไม่มีเหตุ  เป็นสิ่งที่มีอยู่ได้ด้วยตนเอง  เพราะฉะนั้นพรหมันจึงไม่ใช่พระพรหม  มีคำกล่าวแสดงลักษณะของพรหมันอยู่ 3  คำคือสัต  จิต  อานันทะ(Prabhavanda 1972 : 67)

   สัต       หมายถึง ความมีอยู่ของพรหมัน  คือแสดงให้รู้ว่าพรหมันเป็นสิ่งที่มีอยู่จริง  มีอยู่นิรันดร  และเป็นอมตะ(immortal)

   จิต       คือ คำอธิบายลักษณะของพรหมันว่ามีอยู่ในลักษณะเป็นจิตบริสุทธิ์หรือสัมปชัญญะบริสุทธิ์(pure consciousness)

   อานันทะ  แสดงคุณลักษณะของจิตบริสุทธิ์หรือสัมปชัญญะบริสุทธิ์ว่ามีสภาพเป็นความสุขหรือความบันเทิงสูงสุดที่เรียกว่า นิรามิสสสุข(dliss)

   คำทั้งสามคือ สัต จิต อานันทะ จึงเป็นคำบอกให้ทราบถึงภาวลักษณะแห่งสิ่งสัมบูรณ์คือพรหมัน

พรหมัน หรือปรพรหม 

    เป็นอาตมันสากล  ส่วนอาตมันของมนุษย์เป็นอาตมันย่อย  ซึ่งถือเป็นตัวตนที่แท้จริงของมนุษย์  ไม่มีการเกิดและการตาย  เพื่อให้เข้าใจได้ชัดเจนยิ่งขึ้นจึงเรียกพรหมันเสียใหม่ว่าปรมาตมัน  แปลว่า อัตตาสูงสุด  ส่วนตัวตนย่อยเรียกว่า ชีวาตมัน  แปลว่า  อาตมันของชีวะ  ซึ่งชีวะในศาสนาพราหมณ์-ฮินดู  หมายถึง  สิ่งมีชีวิตที่ประกอบขึ้นด้วยร่างกายและวิญญาณ  ร่างกายเกิดขึ้นจากการผสมของดิน  น้ำ  ลม  ไฟ  ส่วนวิญญาณเป็นส่วนหนึ่งของอาตมันสากล

    ข้อแตกต่างของปรมาตมัน  กับ  ชีวาตมันคือ  ปรมาตมันไม่ได้ถูกจำกัดด้วยสิ่งใด  แต่ชีวาตมันถูกจำกัดด้วยร่างกาย  มนุษย์แต่ละคนมีชีวาตมันเป็นแกนกลางของชีวิต  ร่างกายมีการเปลี่ยนแปรและสลายไปในที่สุด  ส่วนชีวาตมันนั้นคงสภาพเดิมอยู่ตลอดไปโดยไม่เปลี่ยนแปรหรือสลายตามไปด้วย  ทั้งนี้ก็โดยที่มันเป็นส่วนหนึ่งของอาตมันสากลหรือปรมาตมันในเวลาที่คนตาย  ชีวาตมันจะละทิ้งร่างเก่าแล้วไปอาศัยร่างใหม่  เหมือนคนเปลี่ยนเสื้อผ้าจากชุดเก่าเป็นชุดใหม่ ฉะนั้น

ปรพรหม  และอปรพรหม

เมื่อพรหมัน หรือปรพรหม  มีลักษณะเป็นจิต  จึงเกิดปัญหาขึ้นว่า  โลกและสรรพสิ่งเกิดขึ้นมาได้อย่างไร  เพราะจิตไม่มีรูปร่างอย่างมนุษย์  จะทำการสร้างอย่างไร  อีกประการหนึ่งเมื่อเทพเจ้ามีลักษณะเป็นจิต  การบวงสรวงบูชาเพื่อขอให้อำนวยผลประโยชน์ต่างๆ  ย่อมไม่สามารถกระทำได้  ดังนั้นจึงต้องมีการอธิบายเพิ่มเติมว่าพรหมัน  หรือปรพรหมอีกแง่หนึ่ง  คือ  อปรพรหม  อปรพรหมคือ  พรหม  พรืออิศวร  เป็นเทพเจ้าที่มีตัวตน  สามารถที่จะอำนวยความสุขสวัสดีให้แก่ผู้เคารพบูชาได้  พรหมหรืออิศวรเป็นการแสดงให้ปรากฎของพรหมมันหรือปรพรหม  ทุกสิ่งทุกอย่างจึงมาจากพรหมหรืออิศวร

ท่าทีของพระพุทธศาสนาต่อพรหม  และอาตมัน

  1. เทพเจ้ายิ่งใหญ่ผู้สร้างสิ่งทั้งปวงไม่มี  มีแต่กฎแห่งเหตุและผลอันเป็นธรรมชาติ
  2. อาตมันไม่มี  มีแต่กระบวนการแห่งชีวิตที่เป็นไปตามกฑธรรมชาติแห่งเหตุผลนั้น  เมื่ออาตมัน

ไม่มี  เรื่องพรหมันและการเข้ารวมกับพรหมันก็ไม่ต้องพูดถึง

  1. ใช้คำว่า “พรหม”ในความหมายใหม่  ให้เป็นเรื่องเกี่ยวกับคุณธรรม  และปฏิบัติได้จริงในชีวิต

      ก.  ถือเอาความหมายในแง่ที่เป็นจุดหมายสูงสุด  หรือภาวะอันประเสริฐสุด  นำคำว่าพรหมมา ใช้เรียกบุคคลผู้บรรลุคุณธรรมขั้นสูงระดับหนึ่ง  หมายความว่าเป็นผู้ประเสริฐหรือใช้เรียกตัวคุณธรรมที่ประเสริฐ  ดีงาม  สูงส่งเป็นอุดมคติ  เช่น พรหมวิหาร  เป็นต้น

      ข.  ถือว่าพรหมที่เป็นตัวบุคคลนั้นหมายถึงสัตว์โลกประเภทหนึ่ง  แต่เป็นชั้นสูงถึงจะมีอายุยืนยาวกว่าแต่ก็ต้องเกิด  ต้องตาย  เหมือนสัตว์อื่นๆ  ไม่ใช่เป็นผู้สร้างโลก  บันดาลชีวิต  มนุษย์ฝึกอบรมดีแล้ว  ยังประเสริฐกว่าพรหมและพรหมจะเคารพบูชา

      ค. หมายถึง  บิดา  มารดา  ในฐานะเป็นผู้ให้กำเนิดบุตรธิดา  และประกอบด้วยคุณธรรมต่อบุตรธิดา(พระราชวรมุนี  2526 : 182-183)

ที่มา : 1.  ศาสนาเปรียบเทียบ  รองศาสตราจารย์ ดร.สุจิตรา  อ่อนค้อม

          2.  ศาสนาเบื้องต้น  ศาสตราจารย์กีรติ  บุญเจือ

          3.  สิบเอ็ดศาสนาของโลก  พล.อ.ต.ประทีป  สาวาโย

          4.  จริยศาสตร์  วศิน  อินทสระ

    ขอขอบคุณ อ.จริยา พรจำเริญ โรงเรียนมหิดลวิทยานุสรณ์ จ.นครปฐมผู้ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์แก่นักเรียนกลุ่มโรงเรียนจุฬาภรณราชวิทยาลัยในรายวิชา ศาสนศึกษา ส 31101 ขอขอบคุณมา ณ โอกาสนี้

หมายเลขบันทึก: 365568เขียนเมื่อ 10 มิถุนายน 2010 19:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท