อำนาจนี้หรือคือพลัง


มีอีกไม่น้อยที่มีจิตสาธารณะพร้อมจะเสียสละแรงกายเป็นอาสาสมัครเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนเอง

   นึกย้อนหลังไปห้าปี ตอนที่ผมมารับงานเวชศาสตร์ครอบครัวใหม่ๆ ช่วงแรกๆพวกเราตระเวณไปตามแหล่งชุมชนต่างๆในเขตอำเภอเมือง เพื่อให้ชาวบ้านได้รู้จักว่าเรากำลังจะทำอะไร แน่นอนครับต้องมีการตรวจเช็คสุขภาพให้คำปรึกษาด้วย ครั้งนึงผมไปพูดเรื่องกระดูกพรุน(เนื่องจากผมเป็นหมอกระดูกมานานนั่นเอง) จำได้ไม่ลืมเลยครับว่ามันช่างเคอะเขินขัดข้องจริงๆ  มือไม้ไม่รู้จะเอาไปไว้ตรงไหนขณะที่ยืนพูดกับกลุ่มชาวบ้านบนศาลาวัด เรื่องราวที่พูดก็ไม่เป็นธรรมชาติใกล้ตัวชาวชุมชนเลย เหมือนครูมายืนสอนสุขศึกษา พูดไปมองไปก็เห็นว่า ส่วนใหญ่เป็น ป้า ลุง ย่า ยาย ทั้งนั้นครับ ป้าบางคนนั่งจ้องหน้าผมไม่วางตา ยายบางคนก็นั่งพนมมือ(สงสัยกำลังสวดมนต์อยู่) ป้าบางคนก็นั่งหลับน้ำหมากหยดเลอะ ผมว่าแบบนี้มันไม่ใช่แน่ๆ แต่ตอนนั้นยังไม่รู้เลยครับว่าแบบไหนถึงจะใช่  รู้สึกตะหงิด ตะหงิด อยู่ในใจแต่ก็ปลอบใจตัวเองนะครับว่า อย่างน้อยก็ได้ตรวจร่างกาย แนะนำอะไรบางอย่างน่าจะได้ประโยชน์มั่งแหละนะ

     ผมตะลอนไปกับน้องๆในเวชศาสตร์ครอบครัว หลายตำบล ครั้งหลังๆนี่เอาเครื่องมือไปตรวจคัดกรองโรคด้วย เช่น เจาะเลือดปลายนิ้วตรวจเบาหวาน วัดความดันโลหิต วัดสมรรถภาพปอด วัดสมรรถภาพกล้ามเนื้อและความยืดหยุ่นของโครงสร้างกระดูก บางแห่งก็ขนยาไปตรวจรักษาด้วย อุปกรณ์เครื่องมือมากขึ้น มียารักษา ชาวบ้านก็สนใจมากขึ้นบางแห่งมาเป็นร้อยเลยนะครับ ช่วงนี้ความรู้แบบเดิมๆที่เคยพูดไม่ค่อยได้พูดละครับ ง่วนกับการตรวจรักษามากกว่า หมดวันก็หมดแรง แบบนี้ก็ไม่น่าจะใช่เหมือนกัน

    เมื่อผมสัมผัสกับชุมชนมากขึ้น ได้คุยกับใครต่อใครที่มีบทบาทในชุมชน หาหนังสือมาอ่านเรื่องการทำงานกับชุมชนโดยเฉพาะเรื่องเกี่ยวกับสุขภาพ  ถามพี่หมอ น้องหมอ อาจารย์หมอ รวมถึงพยาบาลและเจ้าหน้าที่สถานีอนามัย ผู้เชี่ยวชาญในการลุยดูแลสุขภาพชาวบ้านในชุมชนมายาวนาน แล้วผมก็ได้ข้อสรุปที่อาจจะเป็นคำตอบ

   ผมพบว่าทุกแห่งที่ผมไปจะมีชาวบ้าน(ไม่มากก็น้อย)ที่สนใจเรื่องการดูแลสุขภาพมาก  ต้องการเพียงแค่เสริมความรู้ความเข้าใจอีกเล็กน้อยก็จะดูแลสุขภาพตนเองและคนในครอบครัวได้เป็นอย่างดี  และก็มีอีกไม่น้อยที่มีจิตสาธารณะพร้อมจะเสียสละแรงกายเป็นอาสาสมัครเพื่อให้เกิดการดูแลสุขภาพของคนในชุมชนเอง  คำตอบที่ผมคิดว่าใช่แน่ๆก็คือ "การเพิ่มพลังอำนาจให้ชุมชน" ซึ่งเป็นคนละแบบกับการกระจายอำนาจนะครับ การเพิ่มพลังอำนาจให้ชุมชนหรือ empowerment เปรียบเสมือนการหาแนวร่วมการดูแลสุขภาพโดยเริ่มต้นจาก คนในชุมชน ตระหนักและยอมรับ ว่าการดูแลสุขภาพไม่ใช่หน้าที่ของหมอพยาบาลหรือโรงพยาบาลแต่เพียงฝ่ายเดียวเท่านั้นนะครับ แต่เป็นหน้าที่ ที่ทุกคนต้องทำร่วมกัน ผมบอกน้องๆของผมว่า การทำงานบริการปฐมภูมิ มันไม่ใช่แค่การตรวจรักษา ฉีดวัคซีน รับฝากครรภ์ คัดกรองโรค กำจัดลูกน้ำยุงลาย จัดเต้นแอโรบิค เท่านั้น หน้าที่อันยิ่งใหญ่ของงานบริการปฐมภูมิ คือการทำให้ชุมชนของเรามีพลังในการดูแลสุขภาพตนเอง พวกเราชาวสาธารณสุขมีหน้าที่เป็นพี่เลี้ยง ฝ่ายสนับสนุนคอยเติมส่วนที่ขาดให้กับชุมชนเพื่อความยั่งยืนของการดูแลสุขภาพในชุมชนนั้นๆ ยกเว้นแต่ถ้าความเจ็บป่วยนั้นเหนือบ่ากว่าแรงที่จะดูแลในชุมชนได้ พวกเราก็มีหน้าที่ทำตัวเหมือน "นายหน้าสุขภาพ" ติดต่อประสานส่งต่อผู้ป่วยของเราเข้าสู่ระบบโรงพยาบาลให้ผ่านไปได้โดยราบรื่น เมื่อผู้ป่วยของเราได้รับการรักษาเยียวยาจนทุเลา กลับมาพักฟื้นที่บ้าน ก็เหมือนกับเราได้รับไม้วิ่งผลัดจากโรงพยาบาล ร่วมดูแลเค้าที่บ้านจนกลับมาทำงานทำการได้ตามปรกติ

      ผมคิดของผมเองว่าถ้าสามจุดหลักของกระบวนการดูแลสุขภาพคือ โรงพยาบาล หน่วยบริการปฐมภูมิและ ชุมชนที่เต็มเปี่ยมด้วยพลังอำนาจ  เจริญเติบโตไปพร้อมๆกัน เชื่อมโยงกันเหมือนฟันเฟืองที่ขาดอันใดอันหนึ่งไม่ได้ เราคงจะได้ระบบสุขภาพที่ยั่งยืนมั่นคง ประโยชน์สุขก็จะตกอยู่กับเรา เพราะเราก็คือส่วนหนึ่งของชุมชนนะครับ  

คำสำคัญ (Tags): #empowerment
หมายเลขบันทึก: 36449เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2006 21:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:15 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

อาจารย์มี empowerment เปี่ยมล้นจริงๆ เป็นกำลังใจให้อาจารย์ค่ะ

การทำให้เกิดพลังชุมชนในการดูแลสุขภาพนั้นนอกจากต้องเข้าใจวิธีคิดแล้วต้องใช้ความสามารถที่เฉพาะจริง ๆ ในการเป็นพี่เลี้ยงให้แก่ชุมชน ขอชื่นชมพี่น้องเจ้าหน้าที่ใน ศสช./สอ. ทุกท่านที่เสียสละสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ แก่สังคม และรู้สึกดีใจแทนประชาชนที่มีคนแบบอาจารย์

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท