การเปิดตลาดเสรีในประเทศไทยแบบไม่มีเงื่อนไข


รักษาผลประโยชน์ของประเทศเพื่อคนไทย

การเปิดตลาดเสรีในประเทศไทย     ในความเห็นส่วนตัวเห็นว่า ประเทศไทยยังไม่ควรเปิดตลาดเสรีในประเทศไทย เพราะหากประเทศไทยยอมให้ต่างชาติเข้ามาลงทุน หรือดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจแบบไม่มีเงื่อนไข จะส่งผลกระทบต่อการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของผู้ประกอบการในประเทศไทยที่มีการแข่งขันกันอยู่หลายรายภายใต้กรอบกฎหมายภายในประเทศ เช่น พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ.2535 ซึ่งจะกำหนดนโยบายการส่งเสริมและพัฒนา ตลอดจนการกำกับดูแลในเรื่องหลักทรัพย์ ธุรกิจหลักทรัพย์ ตลาดหลักทรัพย์ ศูนย์ซื้อขายหลักทรัพย์ และธุรกิจหรือองค์กรที่เกี่ยวเนื่อง กับพระราชบัญญัติฯ นี้ ได้แก่ สถาบันการเงินภายในประเทศที่ดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจ จึงต้องยึดถือและปฏิบัติตามเพื่อไม่ให้การดำเนินธุรกรรมทางเศรษฐกิจผิดกฎหมาย การกำหนดกรอบ และกติกาตามกฎหมายภายในของประเทศจึงเป็นผลดีต่อประเทศคือ เป็นการจัดระเบียบ วิธีการให้ผู้ประกอบการลงทุนได้ดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปตามกติกาที่กำหนดเพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่าย หากผู้ประกอบการลงทุนรายใดกระทำผิดกติกาก็ต้องได้รับโทษตามที่พระราชบัญญัติฯ นี้กำหนด   ดังนั้นการกำหนดกฎ กติกา จึงเป็นมาตรการของรัฐที่จะควบคุมการประกอบธุรกิจของผู้ลงทุนภายในประเทศให้ประกอบธุรกิจที่ไม่ขัดกับกฎหมายและสร้างความสงบเรียบร้อยในการดำเนินธุรกิจของเหล่าผู้ลงทุน เป็นการส่งเสริมให้ผู้ลงทุนแข่งขันกันดำเนินงาน และแข่งขันกันให้บริการที่ดีที่สุดแก่ลูกค้า เพื่อธุรกิจของผู้ลงทุนจะได้ดำรงอยู่และเติบโตด้วยความมั่นคง รวมทั้งสร้างความพึงพอใจระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ                               

 การให้สิทธิแก่ผู้ประกอบการในการดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจจะก่อให้เกิดการจ้างงาน ประชาชนมีรายได้ หากประเทศไทยเปิดตลาดเสรีให้เหล่านักลงทุนชาวต่างชาติเข้ามาลงทุนแบบไม่มีเงื่อนไข ก็จะส่งผลเสียหายต่อผู้ประกอบการภายในประเทศเพราะเสมือนกับปล่อยให้ชาวต่างชาติเข้ามากอบโกยผลประโยชน์ หรือทรัพยากรภายในประเทศออกไปโดยที่ประเทศไทยได้รับผลตอบแทนไม่คุ้มกับที่ชาวต่างชาตินำกลับไปประเทศของตน                               

แต่ก็ต้องยอมรับว่าปัจจุบันจะให้ประเทศไทยปิดประเทศโดยไม่ยอมทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างชาติย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะประเทศไทยเราต้องพัฒนาและก้าวให้ทันประเทศที่พัฒนาแล้ว เพื่อประเทศไทยจะได้มีระบบการจัดการ ระบบสวัสดิการที่ดีเพื่อมอบให้แก่ประชาชนภายในประเทศให้มีความอยู่ดีกินดี มีรายได้และมีงานทำ ดังนั้นประเทศไทยจึงต้องมีการทำธุรกรรมทางเศรษฐกิจกับต่างชาติเพื่อจะได้นำเม็ดเงินเข้าสู่ประเทศก่อให้เกิดการลงทุนภายในประเทศและมีเงินหมุนเวียนภายในประเทศ ประเทศไทยจึงต้องปรับกฎเกณฑ์และบทบาทการดำเนินธุรกรรมให้ทันโลก ทันเหตุการณ์ ภายใต้กรอบกฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศได้แก่ กฎหมายการลงทุนระหว่างประเทศ เช่น พระราชบัญญัติส่งเสริมการลงทุน พ.ศ.2520 ซึ่งจะกำหนดกฎ กติกา การลงทุน ระหว่างผู้ลงทุนภายในประเทศ และผู้ลงทุนต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาลงทุนในประเทศไทยว่าต้องดำเนินการอย่างไร จึงจะเข้ามาลงทุนภายในประเทศไทยได้โดยไม่ผิดกฎหมาย ผู้เกี่ยวข้องจึงต้องกำหนดกฎ กติกา เพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ลงทุนภายในประเทศที่จะไม่ให้คนต่างชาติเข้ามาเอาเปรียบผู้ลงทุนภายในประเทศเกินไป                               

 ดังนั้นการเปิดตลาดเสรีในประเทศไทยกับรัฐใดรัฐหนึ่ง ประเทศไทยจึงต้องศึกษากฎหมายเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้เข้าใจโดยถ่องแท้ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการขอเปิดตลาดเสรีในประเทศไทยแบบไม่มีเงื่อนไข ควรศึกษาผลดี และผลเสียให้ชัดเจน และขอรับนโยบายจากรัฐบาลเพื่อเลือกวิธีการที่ดีที่สุดให้กับประเทศไทย เพื่อไม่ให้กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  

 

หมายเลขบันทึก: 36376เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2006 10:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 พฤษภาคม 2012 10:43 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วค่ะ

ลองเพิ่มเติมข้อกฎหมายไทยหรือข้อกฎหมายระหว่างประเทศที่เกี่ยวกับแนวคิดที่นำเสนอ ก็น่าจะดีนะคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท