การพัฒนาโจทย์วิจัยของตำบลท่าไม้ อ.พรานกระต่าย จ.กำแพงเพชร(2)


ถ้าเราจะให้ข้าวปลอดภัย จะต้องทำการผลิตกันอย่างไร?

          วันที่ 16 มิถุนายน  2549 ผมและคุณสายัณห์ ปิกวงค์ ได้เดินทางไปร่วมกระบวนการเพื่อพัฒนาโจทย์วิจัย PAR อาหารปลอดภัยของตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร ซึ่งเราไปเป็นครั้งที่ 2 แล้ว ครั้งแรกเมื่อวันที่ 7 มิถุนายน 2549

          ไปถึงพบคุณประสิทธิ์ได้ดำเนินกระบวนการไปบ้างแล้ว มีชาวบ้านที่มาร่วมประมาณ 30 คน วันนี้เป็นการพูดคุย ทบทวนและซักถามข้อมูลโดยทั่วๆ ไป และทีมงานเราได้เปลี่ยนกันนำกระบวนการ ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้

          การทบทวนข้อมูลและค้นหากระบวนการทำนาและต้นทุนการผลิตข้าวของหมู่บ้าน

          โดยคุณประสิทธิ์ อุทธา เป็นคนดำเนินการ เพราะเป็นเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในพื้นที่นี้มานาน  ชาวบ้านได้ร่วมกันสรุปเพื่อหาต้นทุนการปลูกข้าวของหมู่บ้าน พอสรุปได้ว่า

  • ต้นทุนการปลูกข้าวเฉลี่ยประมาณ ไร่ละ 2,680 บาท
  • ผลผลิตเฉี่ย ไร่ละ 500 กก./ไร่
  • ราคาจำหน่าย กก. ละ 6 บาท จ
  • ะมีรายได้ต่อไร่ 3,250 บาท 
  • เฉลี่ยแล้วได้กำไร ไร่ละ 570 บาท/ไร่

.49061601 

           เมื่อทราบต้นทุนแล้ว จึงเป็นการชักนำให้หันมาทบทวนถึงต้นทุนว่าทำใมจึงสูง และจะลดต้นทุนได้อย่างไรเราจึงจะอยู่ได้ ตลอดจนการค้นหาสิ่งที่จะมาทดแทนในส่วนที่จะลดต้นทุน  และในกระบวนการนี้ ได้สอบถามกลุ่มอีกครั้งว่า  ผลผลิตข้าวของบ้านเรานั้นเราจะรู้ว่าปลอดภัยได้อย่างไร  คำตอบของกลุ่มก็คือ

  • ไม่มีโรงงานอุตสาหกรรมตั้งอยู่ในพื้นที่
  • ยังมีอาหารที่อยู่ในนา เช่น ปู ปลา กบ เป็นต้น
  • มีการใช้สารเคมีป้องกันกำจัดศัตรูพืชกันน้อย

          กลุ่มของหมู่ที่ 2 บ้านแม่ระกานี้ เป็นกลุ่มของเกษตรกรที่ทำนาเพียงปีละ 1 ครั้ง จากข้อมูลจากการสอบถาม และข้อมูลที่มีอยู่แล้ว พบว่ามีการใช้สารเคมีน้อยมาก จะใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น และที่ใช้สารเคมีก็มีเพียงปุ๋ยเคมีบ้าง หลังจากนั้นผมจึงดำเนินกระบวนการ โดยใช้คำถามถามชาวบ้านต่อไปว่า "ถ้าเราจะให้ข้าวปลอดภัย จะต้องทำการผลิตกันอย่างไร?"   ซึ่งได้ข้อสรุปร่วมกันของชาวบ้านก็คือ

  1. การรวมกลุ่มกันเพื่อวางแผนการผลิต
  2. การหายืมเครื่องเกี่ยวข้าว
  3. การบันทึกข้อมูลการผลิต
  4. การทำน้ำสกัดชีวภาพและปุ๋ยน้ำชีวภาพใช้
  5. หาวิธีการป้องกันและกำจัดหอยเชอรี่
  6. การศึกษาดูงาน
  7. การหาเครือข่ายการผลิตและการตลาด

          เมื่อได้กระบวนการที่จะผลิตเพื่อให้ข้าวปลอดภัยแล้ว กลุ่มจึงมาร่วมกันกำหนดชื่อกระบวนการที่จะทำนี้ว่า "กระบวนการผลิตข้าวที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสู่อินทรีย์ บ้านคลองแม่ระกา ตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร"  ซึ่งเราก็จะนำมาเป็นชื่อของการวิจัยในครั้งนี้นั่นเอง  และนัดหมายพบกันครั้งต่อไป ในวันที่ 27 มิถุนายน  2549

          หลังจากนั้นได้เชิญแกนนำของกลุ่ม 8-9 คน มาร่วมกันหารือ เนื่องจากหมู่บ้าน/ตำบลท่าไม้ มีการใช้สารเคมีกันน้อยอยู่แล้ว กลุ่มคิดว่าจะร่วมกันทำงานในลักษณะของการรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไปกันอย่างไร  เพื่อการพึ่งพาตนเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต  ในการหารือก็ได้ข้อสรุปเบื้องต้นว่า น่าจะมีการอนุรักษ์คลองแม่ระการ่วมกัน

          โดยเบื้องต้นได้ตกลงกันว่าจะร่วมกับทุกหมู่บ้าน และทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะได้มาร่วมกันหารือเพื่อดำเนินการในการอนุรักษ์คลองแม่ระกา เพื่อให้มีความสมบูรณ์และเป็นที่อยู่อาศัยหรือเป็นแหล่งอาหารของชุมชนต่อไป

49061602

          การหารือเพื่อร่วมกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและความหลากหลายทางชีวภาพ

วีรยุทธ  สมป่าสัก

หมายเลขบันทึก: 36314เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2006 17:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:26 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
"กระบวนการผลิตข้าวที่ปลอดภัยและได้มาตรฐานสู่อินทรีย์ บ้านคลองแม่ระกา ตำบลท่าไม้ อำเภอพรานกระต่าย จังหวัดกำแพงเพชร" /// น่าจะ...สู่มาตรฐานเกษตรอินทรีย์..หรือเปล่าครับ///ประเด็นนี้เป็นประเด็นใหญ่ กระบวนการปรับเปลี่ยน เป็นกระบวนการที่ยากมากเลย ตามประสบการณ์ที่ทำเรื่องงานเกษตรอินทรีย์มาบ้าง...แต่น่าท้าทายมาก...ให้กำลังใจครับผม
  • น่าสนใจมากครับ
  • สนใจเรื่องเกษตร์อินทรีย์ครับ

เรียน คุณจตุพร และ อ.ขจิต

  • บ้านแม่ระกาผลิตข้าวที่ปลอดภัยอยู่แล้วครับ
  • เรากำลังจะยกระดับเป็นอินทรีย์
  • และขณะเดียวกันก็จะร่วมกับชุมชนทำการศึกษาและอนุรักษ์คลองแม่ระกาโดยชุมชน (กำลังเริ่มต้นกระบวนการอยู่ครับ)
  • ขอบพระคุณมากครับที่ให้กำลังใจ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท