น.ร.สพท.นราธิวาส เขต 1 น้ำหนัก ส่วนสูงต่ำกว่ามาตรฐานมากที่สุด


การศึกษาในจังหวัดชายแดนภาคใต้

น.ร.สพท.นราธิวาส เขต 1 น้ำหนัก ส่วนสูงต่ำกว่ามาตรฐานมากที่สุด
 
        หนังสือพิมพ์ มติชน ฉบับวันที่ 31 พฤษภาคม พ.ศ. 2553 ข่าวการศึกษา ระบุว่า "นายรังสรรค์ มณีเล็ก ผู้อำนวยการสำนักนโยบายและแผนการศึกษาขั้นพื้นฐาน สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) เปิดเผยว่า สพฐ.ได้สำรวจภาวะโภชนาการจากการวัดน้ำหนักและส่วนสูงตามเกณฑ์อายุของนักเรียนในสังกัด สพฐ.ตั้งแต่ระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ประจำปีงบประมาณ 2552 โดยใช้เกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ผลปรากฏว่า

         จากจำนวนนักเรียนที่ชั่งน้ำหนักทั้งหมดรวมจำนวน 4,665,374 คน พบว่ามีนักเรียนที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุ จำนวน 379,318 คน คิดเป็นร้อยละ 8.13 จำแนกเป็น นักเรียนชาย จำนวน 205,602 คน และนักเรียนหญิง จำนวน 173,716 คน

         ส่วนนักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุนั้น จากจำนวนนักเรียนที่วัดส่วนสูงทั้งหมดรวมจำนวน 4,664,254 คน พบว่ามีนักเรียนที่มีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุ จำนวน 360,334 คน คิดเป็นร้อยละ 7.73 จำแนกเป็น นักเรียนชาย 188,462 คน และนักเรียนหญิง 171,872 คน

         นายรังสรรค์กล่าวต่อว่า สำหรับการจำแนกตามสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา (สพท.) ต้นสังกัดที่มีนักเรียนระดับอนุบาลจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อายุ มากที่สุด 10 อันดับเรียงตามลำดับ ดังนี้

สพท.นราธิวาส เขต 1 จำนวน 7,014 คน

สพท.ปัตตานี เขต 1 จำนวน 5,921 คน

สพท.ตาก เขต 2 จำนวน 5,471 คน

สพท.สุรินทร์ เขต 1 จำนวน 5,015 คน

สพท.อุบลราชธานี เขต 3 จำนวน 5,013 คน

สพท.อุบลราชธานี เขต 5 จำนวน 4,951 คน

สพท.ศรีสะเกษ เขต 4 จำนวน 4,823 คน

สพท.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 4,762 คน

สพท.สงขลา เขต 3 จำนวน 4,677 คน และ

สพท.ยะลา เขต 1 จำนวน 4,573 คน

 ส่วน สพท.ที่มีนักเรียนมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุมากที่สุด 10 อันดับ เรียงตามลำดับดังนี้

สพท.ตาก เขต 2 จำนวน 7,993 คน

สพท.นราธิวาส เขต 1 จำนวน 6,583 คน

สพท.ปัตตานี เขต 1 จำนวน 5,571 คน

สพท.เชียงใหม่ เขต 3 จำนวน 5,137 คน

สพท.สงขลา เขต 3 จำนวน 4,749 คน

สพท.อุบลราชธานี เขต 5 จำนวน 4,656 คน

สพท.อุบลราชธานี เขต 3 จำนวน 4,523 คน

สพท.ยะลา เขต 1 4,464 คน

สพท.สุรินทร์ เขต 1 จำนวน 4,329 คน และ

สพท.สุรินทร์ เขต 3 จำนวน 4,274 คน

"ในการสำรวจครั้งนี้มีความแตกต่างจากการสำรวจในอดีตที่ผ่านมาที่เป็นลักษณะของการประมาณการ แต่การสำรวจครั้งนี้เป็นการลงพื้นที่ไปเก็บข้อมูลเป็นรายบุคคล ซึ่งการที่พบว่ามีนักเรียนมีปัญหาเรื่องน้ำหนักและส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์อายุดังกล่าว สะท้อนได้ถึงปัญหาภาวะทุพโภชนาการ ซึ่งจะต้องนำเสนอข้อมูลเหล่านี้ต่อที่ประชุมคณะกรรมการบริหารกองทุนเพื่อโครงการอาหารกลางวันในโรงเรียนประถมศึกษาได้รับทราบในเร็วๆ นี้ ก่อนที่จะนำข้อมูลไปใช้ในการพิจารณาหาแนวทางแก้ไขปัญหาต่อไป" นายรังสรรค์กล่าว

นายรังสรรค์กล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตาม ถ้าพิจารณาดูข้อมูลจากการสำรวจในภาพรวมครั้งนี้จะเห็นว่า นักเรียนที่มีปัญหาภาวะทุพโภชนาการอาจมีจำนวนไม่ลดลงเมื่อเปรียบเทียบกับการประมาณการในช่วง 2 ปีก่อน เนื่องจากจะมีเด็กอนุบาลและเด็กนักเรียนระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 1 เข้าใหม่ทุกปี แต่เมื่อเข้าสู่ระบบการศึกษาและได้รับอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) โรงเรียนแล้ว นักเรียนกลุ่มนี้ก็จะมีภาวะโภชนาการที่ดีขึ้นตามลำดับ ยกเว้นช่วงปิดภาคเรียนจะกลับมามีปัญหาอีกครั้ง แต่ก็เพียงเล็กน้อย เนื่องจากในช่วงปิดเทอมเด็กนักเรียนไม่ได้รับอาหารกลางวัน และอาหารเสริม (นม) โรงเรียน แต่เมื่อเปิดเทอมแล้วภาวะโภชนาการของเด็กก็จะกลับมาดีขึ้นอีกครั้ง ซึ่ง สพฐ.กำลังคิดสูตรที่จะเก็บข้อมูลเป็นรายช่วงชั้นที่จะทำให้เห็นภาพนักเรียนเป็นรายบุคคลว่า มีพัฒนาการดีขึ้นอย่างไรบ้าง เมื่อได้รับอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) โรงเรียนแล้ว

        เป็นหน้าที่ของผู้บริหารโรงเรียน ต้องไปดำเนินการในเรื่อง ต่อไปนี้

        1.สำรวจข้อมูลที่เป็นปัจจุบันและถูกต้อง  หมายถึงวัดส่วนสูง น้ำหนักนักเรียนอนุบาล 1-ป.6 ทุกคนและเทียบกับเกณฑ์มาตรฐานของกระทรวงสาธารณสุข

        2.จัดระบบอาหารกลางวัน  นม ให้ทั่วถึงทุกคน เช่น โครงการอาหารเช้า อิ่มท้องก่อนเรียน  หรือ อาหารคุณภาพเพื่อน้องคนเก่ง เป็นต้น

        3.จัดกลุ่มที่ต่ำกว่าเกณฑ์และส่งเสริมภาวะโภชนาการให้ทั่วถึง

        4.วัดน้ำหนัก ส่วนสูง และรายงานผลเป็นระยะๆ

  ที่มา http://www.matichon.co.th/news_detail.php?newsid=1275061284&grpid=&catid=04

          

หมายเลขบันทึก: 362629เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2010 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:59 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

สวัสดีครับผอ.

ในฐานะคนจังหวัดนราธิวาสโดยกำเนิด อ่านข่าวที่ท่านผอ.เขียนแล้ว..มีความรู้สึกว่า..เป็นเรื่องที่ไม่น่าจะเกิดกับเด็กนราธิวาสเลย.. ยอมรับว่าในเรื่องการศึกษาพวกเราตามหลังภูมิภาคอื่นๆเค้า..แต่นี่แม้แต่ในเรื่องภาวะทุพโภชนาการเด็กเราก็ยังนำหน้าภูมิภาคอื่นเค้าอีก...ลองคิดเล่นๆน่ะครับ..นราธิวาสอยู่ติดทะเลมีแหล่งโปรตีนที่เหลือเฟือ..มีผลไม้ที่หลากหลาย..รวมทั้งได้รับการอุดหนุนอาหารกลางวันร้อยเปอร์เซ็นต์...แต่เมื่อผลสำรวจออกมาเช่นนี้...ผมว่ามันน่าคิดน่ะครับว่ามันเกิดจากสาเหตุใดกันแน่...หรือครูเราไม่ได้เข้มงวดกับการบริโภคอาหารกลางวันที่โรงเรียน..ไม่ได้เน้นให้นักเรียนดื่มนมที่โรงเรียน เพราะที่เห็นหลายโรงจะแจกให้นักเรียนไปดื่มเองโดยไม่มีครูคอยควบคุมซึ่งส่วนใหญ่เด็กจะเอาไปเล่นมากกว่า ...หรืออาจเกิดจากผู้ปกครองขาดความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับอาหารการกินที่ถูกหลักอันเนื่องจากความไม่รู้หรือไม่เข้าใจหรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องไม่ได้รณรงค์อย่างเต็มที่..

ผอ ครับ แรกๆๆก็แปลกใจ แต่ตอนนี้ไม่แปลกใจแล้วครับ มาให้กำลังใจคุณครูที่ทำเพื่อเด็กๆๆครับ

อยากให้ครูทุกคนเข้มงวดเกี่ยวกับการดื่มนมของเด็ก แต่ไม่มีมอำนาจพอที่พูดกับใครเค้าได้ เพราะเราก็เป็นครูใหม่ ครู เด็ก ๆ พูดไป ก็ไร้บอยค่ะ อยากให้เขตสั่งการอย่างเข้มงวดต่อไปค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท