การรักษาเป้าหมาย


การรักษาเป้าหมายเป็นการติดตามการทำงานให้บรรลุผล

                                                                                                                                

ภายหลังจากการประเมินปัญหา ระบุปัญหาวางแผนร่วมกันระหว่างนักสังคมสงเคราะห์กับผู้ใช้บริการ จะต้องนำแผนมาปฏิบัติให้เกิดผลสำเร็จตามที่ได้ตั้งเป้าหมายไว้ ระยะการปฏิบัติการจึงเป็นระยะที่สำคัญ ที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง ทั้งในแง่ของผู้ใช้บริการและการจัดบริการที่ตอบสนองความต้องการจำเป็น

                ผู้ใช้บริการจะต้องใช้ความพยายามและศักยภาพของตนเอง ปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ ส่วนผู้ให้บริการจะต้องเสริมพลังให้ผู้ใช้บริการปฏิบัติตามแผนให้ลุล่วง รวมทั้งการติดต่อประสานงาน หรือให้บริการตามแผนเช่นเดียวกัน

                กระบวนการปฏิบัติการหรือการดำเนินงานตามแผนเริ่มจากการคลี่เป้าหมายออกเป็นส่วนๆ งานเล็กๆที่สามารถทำได้ง่ายๆ จากงานแต่ละส่วน ก็แยกออกเป็นงานเฉพาะสำหรับนักสังคมสงเคราะห์  และผู้ใช้บริการปฏิบัติในแต่ละครั้งที่นัดหมาย งานที่ปฏิบัตินั้นอาจเป็นการทำหน้าที่ของแต่ละคน หรือการมีปฏิสัมพันธ์กับสภาวะแวดล้อมของผู้ใช้บริการ เช่นที่ทำงาน โรงเรียน โรงพยาบาล หน่วยงานกระบวนการยุติธรรม

                หลังจากที่แยกเป้าหมายออกเป็นงานแต่ละส่วนหรือแต่ละกิจกรรมร่วมกับผู้ใช้บริการแล้ว นักสังคมสงเคราะห์ จะต้องออกแบบการช่วยเหลือตามเป้าหมายให้ประสบผลสำเร็จต่อไป

                ตัวอย่างการทำแผนสู่การปฏิบัติ

                จากกรณีของอนันญา มีแผนว่าจะเข้าร่วมกลุ่มผู้ที่เคยถูกทารุณกรรมทางเพศสมัยเด็ก ณ ศูนย์สุขวิทยาจิต โดยมีเป้าหมายว่าจะต้องเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มให้ได้อย่างน้อย 3 ครั้ง ใน 1 เดือน เมื่อทำการปฏิบัติจะต้องแยกย่อยออกเป็นส่วนๆ เช่น

-          จะไปศูนย์สุขวิทยาจิต อย่างไร ต้องวางแผนเส้นทาง

-          มีภาระกิจใดบ้างในระหว่าง 1 เดือนที่อาจเป็นอุปสรรคต่อการเข้าร่วมกิจกรรม  แล้วจึงต้องหาทางแก้ไขกำหนดการ

-       ช่วงเวลาที่เข้ากลุ่มเป็นเวลาที่ใกล้เคียงกับการรับลูกที่โรงเรียน จะวางแผนให้ใครไปรับ และดูแลโจ สักระยะจนกว่าอนันญาจะกลับบ้าน

การติดตามผล เป็นกระบวนการรักษาเป้าหมายให้คงอยู่ตลอดระยะเวลาการแก้ไขปัญหา การติดตามความก้าวหน้า มีเหตุผล 4 ประการ คือ

1.     เพื่อประเมินผล ประสิทธิภาพของกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงและการปฏิบัติการ นักสังคมสงเคราะห์จะต้องทำรายงานประเมินประสิทธิภาพความพึงพอใจการใช้บริการให้กับหน่วยงาน หรือหากวิธีการช่วยเหลือ หรือการปฏิบัติการไม่ประสบผลสำเร็จ นักสังคมสงเคราะห์จะต้องสำรวจว่าเพราะเหตุใด หรือเจรจาต่อรองหากลยุทธ์ที่เหมาะสมต่อไป

2.       เพื่อเป็นแนวทางให้ผู้ใช้บริการพยายามที่จะปฏิบัติให้ได้ตามเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง

3.     เพื่ออยู่เคียงข้างผู้ใช้บริการในขณะที่มีผลก้าวหน้าหรือไม่ก้าวหน้าหากผู้ใช้บริการรู้สึกว่าไม่ก้าวหน้าจะท้อแท้ ขาดความเชื่อมั่นในกระบวนการช่วยเหลือ ดังนั้นการติดตามผล นักสังคมสงเคราะห์จะใกล้ชิดคอยให้กำลังใจ หรือสนับสนุนเป็นระยะๆ

            4.       เพื่อแสดงความใส่ใจที่จะรักษาเป้าหมายของการเปลี่ยนแปลงให้คงอยู่ตลอดการช่วยเหลือ  

หมายเลขบันทึก: 36260เขียนเมื่อ 30 มิถุนายน 2006 15:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 พฤษภาคม 2012 08:46 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท