เรื่องเล่าจากการทำงาน ชาว ศบป.ชุมพร


การเลี้ยงไหมของเกษตรกรโครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดนไทย-พม่า จังหวัดชุมพร

             การเลี้ยงไหมของเกษตรกรหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดนไทย-พม่า ซึ่งมีกลุ่มที่เลี้ยงไหมอยู่หลายกลุ่มบ้าน เช่น บ้านพันวาล 1-5, บ้านสันตินิมิตร เนิน 491, บ้านสันกำแพง, บ้านสันเจริญ และบ้านสตงกลาง-บางท่า เดิมทีทั้งหมดตั้งอยู่หมู่ที่ 10 ต.รับร่อ อ.ท่าแซะ จ.ชุมพร เนื่องจากเป็นหมู่บ้านที่มีประชากรมากและมีพื้นที่มาก กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ดูแลไม่ทั่วถึง จึงมีการแบ่งแยกหมู่บ้านจากหมู่ 10 ต.รับร่อ เพิ่มเป็นหมู่ 11, 20, 23 เกษตรกรส่วนใหญ่เป็นชาวอิสาน ที่เข้ามาจับพื้นที่ทำกิน

             การเดินทางไปหมู่บ้านสันตินิมิตร เนิน 491 จากกรุงเทพฯ ไปชุมพร ถนนเพชรเกษม ในเขต อ.ท่าแซะ จะผ่านอุทยานน้ำตกกระเปาะ ถึงทางเข้าเนิน 491 ประมาณ 3 กม. แล้วยูเทิร์นกลับเข้าทางตลาดอ่างทอง ซึ่งมีป้ายเนิน 491 ปักไว้ จากตลาดอ่างทองถึงเนิน 491 บ้านสันตินิมิตรประมาณ 35 กม. ถ้าเดินทางไปบ้านพันวาล 1-5 ประมาณ 45 กม. เส้นทางถนนลูกรังผ่านสวนปาล์มของบริษัทสหไทยและสวนปาล์มของบริษัทวิจิตรภัณฑ์ปาล์มออยด์ จำกัด ซึ่งเป็นถนนที่สลับซับซ้อน เนื่องจากเป็นถนนที่บริษัทสร้างขึ้นมาเองไม่ได้ใช้งบประมาณของรัฐ ใช้ในการขนส่งปาล์มไปโรงงานใหญ่ ผู้ที่ไม่ชำนาญทางมักจะขับรถหลงทางอยู่เสมอ เพราะถนนในสวนเต็มไปด้วยปาล์ม เดินทางอยู่ในสวนปาล์มนานพอสมควรกว่าจะพ้นสวน เข้าทางป้าย เนิน 491 และพันวาล 1-4 ซึ่งจะผ่านกลุ่มเกษตรกรที่เลี้ยงไหมบ้านสันตินิมิตร บ้านสันเจริญ บ้านสันกำแพง บ้านพันวาล 1-4

             ครั้งแรกที่คณะทำงานเข้าพื้นที่ส่งเสริมการเลี้ยงไหมให้เกษตรกรมีรายได้เข้าพื้นที่เมื่อวันที่ 10 ตุลาคม 2542 จุดประสงค์เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เสริม หลังจากเสร็จสิ้นฤดูการเก็บเกี่ยวกาแฟ เนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่เกษตรปลูกกาแฟเพื่อจำหน่าย ทางคณะทำงานจึงเข้าไปสนับสนุนการเลี้ยงไหมของเกษตรกรเพื่อเป็นรายได้เสริมช่วงว่างจากฤดูการเก็บเกี่ยวกาแฟ พันธุ์ไหมที่เกษตรกรเลี้ยงเป็นไหมพื้นเมือง เลี้ยงในกระด้ง รังไหมที่ได้รังจะเล็ก ส่วนใหญ่เกษตรกรเลี้ยงไหมเป็นอยู่แล้ว แต่ทางคณะทำงานเข้าไปดูแลถ่ายทอดวิชาการ แนะนำให้ความรู้และเทคนิคการเลี้ยงไหมไม่ให้เป็นโรค และการดูแลสวนหม่อน สนับสนุนไข่ไหม มีเกษตรกรเลี้ยงไหมพันธุ์ไทยจำนวน 14 ราย  

             วันที่ 7-8 กุมภาพันธ์ 2548 ทางศูนย์ฯ ก็ได้ทำการอบรมเกษตรกรเกี่ยวกับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหม และทำแบบประเมินก่อนและหลังเข้ารับการฝึกอบรม มาแล้ว เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมทั้งสิ้น 22 คน

             การสนับสนุน ได้สนับสนุนไข่ไหมพันธุ์ดีที่มีความแข็งแรง การเลี้ยงรอดสูง ร้งใหญ่ขึ้น ให้เกษตรกรเลี้ยงมาตลอดจนถึงปัจจุบัน พร้อมที่จะติดตามดูแลของคณะทำงานอย่างต่อเนื่อง ใน 1 ปี มีการทำแผนการเลี้ยงไหม 6 รุ่น ใน 6 รุ่นนี้อาจจะเลี้ยงไหมไม่ครบทั้ง 6 รุ่น ถ้าเข้าฤดูเก็บเกี่ยวกาแฟ

             ด้านรังไหม เกษตรกรจะสาวเป็นเส้นไหม บางรายจะขายเส้นไหมกิโลกรัมละ 700-800 บาท บางรายจะทอผ้าเป็นผ้าสำหรับตัดเป็นชุดของสตรี ผ้าขาม้า ผ้าถุง โสร่ง ราคาจะต่างกัน ถ้าผ้าถุงผืนละ 1,200 บาท

             จากการดูแลและติดตามการเลี้ยงไหม ปัจจุบันเกษตรกรบางรายได้พัฒนาและเข้ารับการฝึกอบรมการเลี้ยงไหมที่กรมส่งเสริมฯ โดยได้เปลี่ยนจากเลี้ยงไหมแบบกระด้ง เป็นเลี้ยงไหมแบบสร้างโรงเรือนมีชั้นเลี้ยง สามารถเลี้ยงไหมได้ในปริมาณที่มากขึ้น ซึ่งเลี้ยงได้ทั้งไหมพันธุ์ไทยและไหมพันธุ์ต่างประเทศ ขณะนี้มีสมาชิกเลี้ยงไหมทั้งพันธุ์ไทยพื้นเมืองและพันธุ์ไทย ประมาณ 40 ราย

             นับจากตุลาคม 2549 เป็นต้นไป ศูนย์บริการวิชาการด้านพืชและปัจจัยการผลิตชุมพร ได้ปรับโครงสร้างใหม่มารับผิดชอบเรื่องการเพาะกล้าปาล์มและตายางพันธุ์ดี ส่วนของการสนับสนุนไข่ไหมให้เกษตรกรคงจะจบลง คงต้องฝากให้ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาอาชีพการเกษตรจังหวัดชุมพร (หม่อนไหม) เข้าไปดูแลแทน เพราะขึ้นอยู่กับสถาบันไหมแห่งชาติฯ แล้ว

ข้อมูลโดย... คณะทำงานโครงการหมู่บ้านป้องกันตนเองชายแดนไทย-พม่า
                   ศบป.ชุมพร

 

                                                                                                                            
หมายเลขบันทึก: 3625เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2005 14:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 17:00 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

โครงการนี้ดีมากๆเลยครับ อยากให้คณะผู้ทำงานทำโครงการนี้ต่อไปนะครับ เพื่อช่วยเหลือและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตกรให้ดียิ่งขึ้น ผมก็ขอเป็นกำลังใจให้กับคณะผู้ทำงานทุกท่านนะครับ

ผมอยากขอเสนอให้ทำโครงการพัฒนาระบบแนวคิดของชาวบ้านด้วยครับ เพราะมีชาวบ้านหลายๆคนยังไม่มีระบบการบริหารเงินที่ได้มาเลยครับ ทำให้มักจะไม่เหลือเงินเก็บออม แถมยังต้องใช้หนี้ยืมสินอีกด้วย ทำให้โครงการดีๆต่างที่ออกมาเห็นผลเพียงระยะสั้นเท่านัน หากมีโครงการพัฒนาแนวความคิดเกี่ยวกับเศรษฐกิจพอเพียงหรือระบบการบริหารทรัพยากรต่างๆ(เงิน ทรัพยากรในท้องถิ่น ฯลฯ) ก็น่าจะช่วยเสริมให้โครงการดีๆต่างๆที่ออกมาเห็นผลในระยะยาว และได้ผลลัพธ์ที่ดียิ่งขึ้นครับ โดยอาจจะประสานงานร่วมกับวิทยุชุมชนที่มีอยู่แล้วก็ได้หรืออาจจะมีการทำโครงการในรูปแบบอื่นที่เหมาะสมก็ได้ครับ

น้อยคนนักที่กล้าที่จะออกไปทำงานในท้องที่กันดารอย่างนี้ จึงขอชื่นชมคณะผู้ทำงานทุกท่านว่า ท่านคือบุคคลของประชาชนอย่างแท้จริง ท่านคือความหวังของชาวบ้านทุกคนครับและขอบคุณมากๆครับที่ช่วยให้บ้านเกิดของผมพัฒนาขึ้น สู้ต่อไปนะครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท