ภาษาสันสกฤต กับ 19 เรื่องที่ควรรู้


1. ภาษาสันสกฤต มีอายุเก่าแก่มากกว่า 3,000 ปี

นี้น่าจะเป็นการกำหนดอายุที่น้อยที่สุดแล้ว เพราะพุทธศาสนาเกิดขึ้นเมื่อ 2500 กว่าปีมาแล้ว และภาษาสันสกฤตที่ใช้บันทึกพระเวทมีมาก่อนหน้านั้นไม่น้อยกว่า 500 ปีอย่างแน่นอน

 

2. วรรณคดีภาษาสันสกฤตที่เก่าที่สุดคือ ฤคเวท

ในสมัยโบราณไม่นิยมการเขียน คัมภีร์พระเวทสืบทอดโดยผ่านการท่องจำ และเรียนจากครูสู่ลูกศิษย์ สำนักของตัวเอง (เพราะฉะนั้นคัมภีร์จึงมีสาขาเฉพาะตามสำนักด้วย)

 

3. ภาษาสันสกฤต กับภาษาบาลี เป็นคนละภาษา

ภาษาสันสกฤตเก่ากว่าภาษาบาลีสักหน่อย ลักษณะคำศัพท์แตกต่างกัน แต่โครงสร้างทางไวยากรณ์คล้ายกัน โดยรวมๆ แล้ว ถือว่า ภาษาสันสกฤตมีความซับซ้อนกว่า และมีความแตกต่างกัน 3 ชั้น ตามอายุ ภาษาที่พระสวดในปัจจุบัน คือภาษาบาลี ไม่ใช่ภาษาสันสกฤต

 

4. ภาษาสันสกฤต มีอยู่ในภาษาไทยมากกว่า  2,300 คำ

คำที่มีรูปตรงกันทั้งบาลีสันสกฤตราว 1,500 คำ (ก็เลยไม่ทราบว่ามาจากภาษาไหนกันแน่) และเป็นศัพท์บาลี 2,600 คำ  (จากพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตสถาน พ.ศ.2542)

 

5. ร่องรอยภาษาสันสกฤตปรากฏในแผ่นดินไทยมาหลายศตวรรษแล้ว

ภาษาสันสกฤตปรากฏในจารึกที่พบในประเทศไทยมาตั้งแต่ต้นๆ พุทธกาล เช่น จารึกบนเหรียญเงิน ราวพุทธศตวรรษที่ 12 พบที่นครปฐม,  จารึกบนตราประทับที่ควนลูกปัด จังหวัดกระบี่ หรือจารึกวัดศรีเมืองแอม จังหวัดของแก่น (มีเนื้อหาหลายบรรทัด) ก็เก่าแก่พอๆ กัน

 

6. ปัจจุบันมีการศึกษาภาษาสันสกฤตในประเทศไทยน้อยกว่าภาษาบาลีหลายเท่า

เพราะภาษาบาลีมีใช้ในพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยสงฆ์ และวัดต่างๆ จึงมีการเรียนการสอนภาษาบาลีกันทั่วประเทศ มีตำราภาษาบาลีเป็นพันๆ เรื่อง ส่วนภาษาสันสกฤตนั้น อาจมีไม่ถึงร้อยเรื่อง อุๆๆๆ

แต่ต่างกันครับ ในต่างประเทศ มีการศึกษาภาษาสันสกฤตกันกว้างขวาง โดยเฉพาะเว็บไซต์ภาษาสันสกฤตมีเยอะมาก เรียกว่า นั่งเรียนอยู่กับบ้านก็มีวัตถุดิบมากพอ มากกว่าภาษาบาลีเป็นสิบๆ เท่า

 

7. วรรณคดีสันสกฤตที่รู้จักกันดีได้แก่...

หลายเรื่องที่รู้จักกันดี เช่น มหาภารตะ, รามายณะ, เวตาล, ศกุนตลา, ภควัทคีตา, หิโตปเทศ, ปัญจตันตระฯลฯ ปัจจุบันมีการแปลเป็นภาษาไทยเพิ่มขึ้นอีกหลายเรื่อง

 

8. กามนิต วาสิฏฐี ไม่ใช่วรรณคดีสันสกฤต

http://ecx.images-amazon.com/images/I/51-yW2KYRAL._SL500_AA300_.jpg

 

กามนิต หรือ Der Pilger Kamanita (นักแสวงบุญชื่อ กามนีต) ฉากในเรื่องนั้นเป็นอินเดีย แต่ผู้แต่งคือกวีรางวัลโนเบล ชาวเดนมาร์ก (Karl Adolph Gjellerup) แต่งเป็นภาษาเยอรมัน เมื่อผ่านสำนวนแปลเป็นไทยแบบกลิ่นอายคัมภีร์ศาสนา ทำให้คนอ่านเข้าใจว่าเป็นหนังสือแปลจากอินเดีย

 

9. คัมภีร์พุทธศาสนาฝ่ายมหายาน ใช้ภาษาสันสกฤตบันทึก

มีคัมภีร์พุทธศาสนาจำนวนมากที่บันทึกไว้เป็นภาษาสันสกฤต แต่โดยมากเป็นแนวคิดในฝ่ายมหายาน มีภิกษุมหายานได้แปลออกเป็นภาษาอื่น โดยเฉพาะภาษาทิเบต และภาษาจีน ซึ่งปัจจุบันมีหลายเรื่องที่ต้นฉบับภาษาสันสกฤตหายไปแล้ว เหลือแต่ฉบับภาษาจีน แต่ยังคงปรากฏชื่อภาษาสันสกฤตอยู่เท่านั้น

http://www.schoyencollection.com/Pre-Gutenberg_files/ms2548.jpg

(http://www.schoyencollection.com/Pre-Gutenberg_files/ms2548.jpg)

10. แม้ภาษาบาลีจะเป็นภาษาหลักในพุทธศาสนาฝ่ายเถรวาท แต่ศัพท์เกี่ยวกับพุทธศาสนาจำนวนไม่น้อย ก็ใช้ศัพท์สันสกฤต

เช่น ธรรมะ, ศาสนา, ศรัทธา, พุทธบริษัท ฯลฯ

 

11. พจนานุกรมภาษาสันสกฤตเล่มแรก มีปรากฏขึ้นเมื่อพันกว่าปีมาแล้ว

พจนานุกรมภาษาสันสกฤตเล่มแรก คือ อมรโกศ เขียนโดยอมรสิงห์ เมื่อราวคริสต์ศตวรรษที่ 4-7 แต่มีลักษณะเป็นหนังสือรวมคำศัพท์ มากกว่าอธิบายคำศัพท์

 

12. พจนานุกรมภาษาสันสกฤต-ไทยเล่มแรก มีขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 6

เมื่อ พ.ศ. 2469 จัดทำโดย ร้อยโท หลวงบวรบรรณรักษ์ เป็นพจนานุกรม 3 ภาษา สันสกฤต ไทย อังกฤษ นับเป็นพจนานุกรมภาษาสันสกฤตเล่มเดียวในประเทศไทยในขณะนี้

Ste-dict_001

13. ภาษาสันสกฤต มีพัฒนาการแตกต่างกัน 3 สมัยหลัก

สมัยแรกคือสมัยพระเวท มีลักษณะไวยากรณ์ที่หลากหลาย สมัยต่อมาคือสมัยคลาสสิก มีไวยากรณ์ที่เป็นระเบียบ รัดกุม พบในงานกวีนิพนธ์ส่วนใหญ่ และสมัยหลังคือ สันสกฤตผสม มีคำศัพท์และไวยากรณ์ร่วมของภาษาบาลีหรือภาษาปรากฤต

 

14. ภาษาสันสกฤต มีศัพท์สอดคล้องภาษาอังกฤษหลายคำ

ภาษาสันสกฤต มีรากศัพท์จากสมัยโบราณ เรียกว่า โปรโต-อินโดยูโรเปียน ซึ่งแตกสาขาออกมามากมาย เช่น กรีก ละติน เปอร์เซีย  ภาษาอังกฤษรับคำศัพท์มาจากกรีกและละติน ทำให้ภาษาอังกฤษมีศัพท์จำนวนมากสอดคล้องกับศัพท์ภาษาสันสกฤต ทีนี้ ภาษาไทยนำศัพท์ภาษาสันสกฤตมาใช้ ทำให้ศัพท์ภาษาไทยหลายคำตรงกับศัพท์อังกฤษไปโดยอัตโนมัติ

 

15. ภาษาสันสกฤตใช้ตัวอักษรใดเขียนก็ได้

ภาษาสันสกฤตมีเสียงพยัญชนะ และเสียงสระ (ไม่มีวรรณยุกต์) ในสมัยพระเวทมีเสียงสูงกลางต่ำด้วย เรามักเห็นเอกสารภาษาสันสกฤตที่เขียนด้วยอักษรเทวนาครี (เท-วะ-นา-คะ-รี) แต่อาจใช้อักษรอื่นเขียนก็ได้ เช่น อักษรทมิฬ โรมัน หรืออักษรไทย

 http://www.schoyencollection.com/religions_files/ms2162.jpg

(http://www.schoyencollection.com/religions_files/ms2162.jpg)

16. ปัจจุบันชาวไทยมากกว่าครึ่ง ใช้ชื่อเป็นภาษาสันสกฤตล้วน หรือผสมภาษาสันสกฤต

คนไทยเห็นว่า ศัพท์ภาษาสันสกฤตหลายคำมีความหมายที่ดี เป็นมงคล และกระชับ (คำสั้น แต่ความหมายเยอะ) จึงนิยมใช้สร้างศัพท์สำคัญๆ มาตั้งแต่สมัยโบราณ โดยเฉพาะพระนามบุคคลสำคัญ เช่น พระมหากษัตริย์ พระราชวงศ์ พระพุทธรูป ราชทินนามของขุนนาง หน่วยงาน ภายหลังใช้ตั้งชื่อ นามสกุล พบได้โดยทั่วไป

 

17. การลำดับคำศัพท์ในภาษาสันสกฤตเป็นแบบจิ๊กซอว์

คำศัพท์ในภาษาสันสกฤตนั้น เมื่อนำมาใช้ จะมีการกำหนดหน้าที่ไว้ชัดเจน ว่าตัวใดเป็นประธาน กริยา กรรมฯลฯ จึงสามารถวางตรงไหนก็ได้ในประโยค ผู้อ่านต้องหาเอาเอง ว่าประธาน กริยา กรรม และคำขยายอยู่ตรงไหน (สนุกสนานมากกกกกกก) แต่โดยทั่วไปนิยมใช้ ประธาน กรรม กริยา  และคำขยายไว้หน้าคำที่ถูกขยาย

 http://docs.gimp.org/pl/images/filters/examples/render-taj-jigsaw.jpg

18. ปัจจุบันไม่มีการใช้ภาษาสันสกฤตในชีวิตประจำวัน

แต่มีการใช้ในหมู่นักวิชาการบ้าง เช่น หนังสือพิมพ์ วิทยุ บล็อก มหาวิทยาลัยบางแห่งในอินเดีย บังคับให้ให้นักศึกษาวิชาเอกสันสกฤต ต้องสื่อสารเป็นภาษาสันสกฤต (ป้าย, เอกสาร, จดหมาย, สนทนา) และเขียนวิทยานิพนธ์เป็นภาษาสันสกฤต (เรื่องนี้อาจารย์เล่าให้ฟังอีกทอดหนึ่ง)

 

19. มีการจัดสัมมนาวิชาการด้านภาษาสันสกฤตระดับโลก ประจำทุก 3 ปี

เรียกว่า World Sanskrit Conference (WSC) แต่ละประเทศผลัดกันเป็นเจ้าภาพ ครั้งล่าสุด เมื่อปีที่แล้ว จัดขึ้นที่ประเทศญี่ปุ่น เป็นการประชุมครั้งที่ 14  คราวหน้าครั้งที่ 15 จัดที่เดลี ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่  5-10 มกราคม 2555 มีผู้เชี่ยวชาญภาษาสันสกฤตชาวไทย ร่วมเป็นกรรมการ (convener) ในครั้งนี้ด้วย นั่นคือ ผศ.ดร.จิรพัฒน์ ประพันธ์วิทยา จากศูนย์สันสกฤตศึกษาฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร

 

ยังมีอีกมาก แต่ว่าคนเขียนเริ่มขี้เกียจเสียแล้ว..........

ป.ล.แก้ไขแล้ว ตามคำแนะนำของพี่ดาวลูกไก่ ;)

คำสำคัญ (Tags): #ภาษาสันสกฤต
หมายเลขบันทึก: 361068เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2010 15:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (32)
  • ธุค่ะ..

คนอ่านยังไม่ขี้เกียจเลย  คนเขียนขี้เกียจเสียล่ะ  อิอิ  ^^  สบายดีไหมคะ  ไม่ได้เจอกันนานแสนนานเลยค่ะ

สวัสดีครับ คุณเนปาลี

ไม่ได้เจอนาน นึกว่าหายไปอยู่เนปาลซะแล้ว

สบายดีครับผม

คนอ่านไม่ขี้เ้กียจ คนเขียนไม่ขี้เกียจก็ได้ อิอิ

สวัสดีค่ะคุณครูธ.วัชชัย

             ดีจัง ภาษาสันสกฤษมีที่มาอันยาวนาน  เขียนเล่าอีกนะคะรออ่านค่ะ

ไม่ได้ทักทายกันนาน สบายดีนะคะ

ระลึกถึงเสมอค่ะ....พี่เหมียว

อ้าวเหรอ ! ผมเข้าใจว่ากามนิตมาจากอินตะระเดียเสียอีก

สวัสดีครับ คุณครูพี่เหมียว

รักษาสุขภาพนะครับ ฝนเริ่มมาแล้ว

มีเรื่องตุนไว้เยอะครับ

แต่ไม่ทราบจะเขียนได้มากน้อย แค่ไหน อิๆๆ

สวัสดีครับ คุณธีรนร นพรส

เรื่องนี้ผู้แปล ท่านแปลได้น่าอ่านครับ

ทำให้คนอ่านเข้าถึงบรรยากาศอินเดีย

แต่เข้าใจผิดว่าเป็นเรื่องจากอินเดียไปเลย...

ได้อ่านความรู้ฉบับกระชับ แถมมี อุอุอุ ให้รู้สึกว่าคนเขียนนั่งอยู่ใกล้ๆ นี่เลยค่ะ

มาสงสัยตอนท้าย มีจัดสัมมนาทุกปี แล้วปีนี้กับอีกปีไม่มีสัมมนาเหรอคะ อุอุอุ ปรับดีไหม^^ ด้วยความคิดถึงค่ะ

สวัสดีครับ พี่ดาวลูกไก่

ขอบคุณครับ ที่ช่วยตรวจทาน อิๆ ผิดเลย

งานนี้ใหญ่มากครับ จัดทีหนึ่งหลายวัน

น่าไปมากๆ แถมมีเลี้ยงอาหารอินเดียด้วย....

อยากรบกวนสอบถามผู้รู้ว่า ถ้าจะจัดสัมมนาเกี่ยวกับ บาลี สันสกฤต จะเสนอหัวข้ออะไรดีค่ะ

สวัสดีครับ คุณ ต.เม้ง

มีหลายเรื่องที่น่าสนใจ

-ภาษาบาลีสันสกฤต ในพจนานุกรมไทย

-ภาษาบาลีสันสกฤตในศัพท์บัญญัติสมัยใหม่

-พัฒนาการ การรู้และเรียนภาษาบาลีสันสกฤต ของคนไทย

-วรรณคดีบาลีสันสกฤตชิ้นสำคัญ ที่คนไทยยังไม่รู้จัก

-จารึกภาษาบาลีสันสกฤต ในไทย

-เรียนภาษาบาลี สันสกฤต ไปทำไม?

อยากเรียนถามว่า คำว่า ปฤชา เป็นคำภาษาสันสันสกฤตใช่มั้ยคะ ถ้าใช่พอจะทราบมั้ยคะว่าแปลว่าอะไร พอดีอ่านเจอในกาพย์ค่ะ

สวัสดีครับ คุณ การ

ปฤชา คงจะแผลงมาจากศัพท์ ปฺฤชฺ

หมายถึง สัมผัสครับ

หรืออาจแผลงจาก ปฺรชา (สันสกฤต เช่นกัน) หมายถึง ประชาชน

ก็ได้ครับ

ขอบคุณ อ. มากๆค่ะ ^ ^

(ข้าฃอยอชูลี พระมุณีมีมหา คุณะกะรุณา แลปฤชาล้ำโลไกย ที่มาจันทร์เจ้าขา:

หนังสือประถมมาลา เป็นหนังสือแบบเรียนที่แต่งขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ตอนต้น ผู้แต่งคือ พระเทพโมลี แห่งวัดราชบูรณะ)

แล้วถ้าอยากได้พจนานุกรมไทย-สันสกฤตสักเล่มจะพอหาซื้อได้ที่ไหนบ้างคะ ราคาเล่มละประมาณเท่าไหร่คะ ถ้าไม่แพงมากจะได้หาซื้อมาไว้สักเล่ม ^ ^

สวัสดีครับ คุณการ

พจนานุกรมไทย สันสกฤต คงจะยังไม่มีครับ

แต่มีพจนานุกรม สันสกฤต ไทย อังกฤษ ของ ร้อยโท หลวงบวรบรรณรักษ์ (480 บาท)

สำนักพิมพ์แสงดาวจัดพิมพ์ น่าจะยังหาซื้อได้ในเวลานี้ครับ

ISBN 978-611-508-037-3

ถ้าต้องการค้นความหมาย

ลองใช้ อังกฤษ สันสกฤต ดูนะครับ

http://www.sanskrit-lexicon.uni-koeln.de/aequery/index.html

สวัสดีค่ะ

ทำไมภาษาสันสกฤตถึงเขียนด้วยอักษรอะไรก็ได้ละคะ งง

จ๋า

สวัสดีครับ คุณ Jaa

สันสกฤตเขียนด้วยตัวอักษรอะไรก็ได้ (เกือบทุกแบบ) โดยเฉพาะอักษรตระกูลอินเดีย

อันที่จริง ไม่เฉพาะภาษาสันสกฤตครับ ภาษาอื่นๆ ก็สามารถเขียนด้วยตัวอักษรได้หลายอย่าง

สำหรับภาษาสันสกฤต ซึ่งเป็นภาษาในอินเดีย มีตัวอักษรกลุ่มหนึ่ง (หลายสิบชนิด) ที่สามารถใช้แทนเสียง ก ข ค ฆ ง ฯลฯ ได้

จึงสามารถนำอักษรเหล่านั้นมาเขียนภาษาสันสกฤตได้ครับ เช่น อักษรเทวนาครี อักษรสิงหฬ อักษรเบงกาลี อักษรกูรมุขี ฯลฯ

อักษรนอกอินเดีย เช่น ไทย ลาว เขมร พม่า มอญ ก็ใช้เขียนสันสกฤตได้ถนัด เพราะมี ก ข ค ฆ ง ฯลฯ ที่ตรงกับพอดี (เผลอๆ จะมีมากกว่าด้วย) ส่วนอักษรอื่น เช่น อักษรโรมัน (a b c...) ก็เขียนสันสกฤตได้เช่นกันครับ

อนึ่ง หากใช้อักษรอื่น นอกอินเดีย อาจต้องปรับแต่งเล็กน้อย เช่น การใช้เครื่องหมายบางอย่าง

ปัจจุบันนี้ นิยมใช้อักษรเทวนาครี และอักษรโรมัน เขียนภาษาสันสกฤต แต่ในประเทศไทย มีการใช้อักษรไทยเขียนภาษาสันสกฤตก็มากครับ

สวัสดีอีกครั้งค่ะ

หมายความว่าภาษาสันสกฤตไม่มีตัวอักษรเป็นของตัวเองเหรอคะ อย่างภาษาไทยเราก็มีตัวอักษรไทย ถ้าใช้ตัวอักษรอื่นในการเขียนภาษาไทย ก็เหมือนกับการเขียนแบบคาราโอเกะ ให้ได้เสียงใกล้เคียงที่สุด แต่จะให้รู้ความหมายก็ต้องกลับไปอ้างอิงกับคำไทย แสดงว่าภาษาสันสกฤตไม่มีให้กลับไปอ้างอิง แล้วจะรู้ได้ไงคะว่าเขียนถูกแล้ว หรือว่ามีการกำหนดชุดตัวอักษรอินเดียไว้เป็นมาตรฐาน แล้วภาษาบาลีก็เป็นเหมือนกันเปล่าคะ

ขอบคุณค่ะ

จ๋า :)

สวัสดีครับ คุณจ๋า

"ภาษา"สันสกฤต มีก่อนตัวอักษรนับพันปี ภาษาอื่นๆ ก็เหมือนกัน

ก่อนมีอักษรไทย คนไทยก็ใช้อักษรอื่นเขียนภาษาไทยครับ

แม้มีอักษรไทยแล้ว คนไทยบางส่วนก็ยังใช้ัอักษรอื่น (เช่น อักษรขอม) จดภาษาไทย

หลังจากมีอักษรพราหมีในช่วงก่อนพุทธกาลเล็กน้อย ก็คงจะใช้อักษรพราหมีเขียนสันสกฤต

รวมทั้งภาษาอื่นด้วย และหลังจากนั้นอีกหลายร้อยปี จึงมีอักษรที่ถาวร

การจดภาษาสันสกฤตในอินเดียตอนเหนือ อาจใช้อักษรเบงกาลี อักษรเทวนาครี หรือตอนใต้เป็นทมิฬ สิงหล เป็นต้น

เพราะไม่มีอักษรเฉพาะสำหรับภาษาสันสกฤตจริงๆ

ส่วนภาษาบาลีนั้นหนักข้อกว่า เพราะไม่มีอักษรใด ที่ใช้สำหรับภาษาบาลีโดยเฉพาะเลย

ปัจจุบัน ใช้อักษรเทวนาครี อักษรโรมัน และอักษรไทย ก็พอเพียงที่จะถ่ายทอดครับ

ในสมัยโบราณ ยังไม่มีการเขียนแพร่หลายอย่างปัจจุบันครับ

ข้อความที่เขียนถูกต้องหรือไม่ ไม่ได้อยู่ที่ตัวอักษร แต่อยู่ที่เนื้อความ คำศัพท์ ครับ

เช่น ในสมัยก่อน คนไทย อาจเขียนอักษรไทย ว่า ก อาจจะหมายถึง กอ ก่อ หรือ ก็ ก็ได้

เรียนคุณธวัชชัย

อย่าเพิ่งเบื่อจ๋านะคะ ที่ยังมีคำถามเยอะแยะ กำลังเรียนภาษาเบงกาลี,ฮินดี และทึ่งกับความหลากหลายของการออกเสียงตัวอักษร ในหนึ่งตัวออกเสียงได้ทั้ง unaspirated+unvoiced, unaspirated+voiced, aspirated+unvoiced, aspirated+voiced แล้วยังมี nasal, retroflex เรียนแล้วกลุ้มนะคะ ออกเสียงผิดลืมทำเสียงขึ้นจมูกก็กลายเป็นคำอื่น หรือว่าภาษาสันสกฤตไม่มีเสียงวุ่นวายเท่าภาษาเบงกาลีกับฮินดี

ก็เลยสงสัยว่าภาษาสันสกฤตก็น่าจะต้องมีเสียงมาตรฐานให้ทุกคนที่ใช้อักษรต่างกันเขียนได้อ้างอิงว่าเขียนได้เป็นเนื้อความคำศัพท์เดียวกัน หรือเราก็แค่ระบุว่าเราเรียนจากต้นฉบับภาษาใดคะ

ขอบคุณสำหรับคำอธิบายมากๆ เข้าใจง่าย รายละเอียดเข้มข้นค่ะ

จ๋า :)

สวัสดีครับ คุณจ๋า

จะว่าไปแล้วภาษาสันสกฤต คงจะเป็นเสียงมาตรฐาน สำหรับการประดิษฐ์อักษรกลุ่มพราหมีนั่นแหละครับ

คือ ไล่ตั้งแต่ฐาน คอ เพดาน ศีรษะ ฟัน ริมฝีปาก ลงมา

ส่วนชนิดเสียงก็ไล่ในวรรค ตั้งแต่ unasp.vl, asp.vl, unasp.vd, asp.vd และ nasal

ภาษาสันสกฤต ก็วุ่นวายแบบนี้แหละครับ ;) ไม่ว่าจะใช้อักษรไหนก็ กำหนดเสียงประจำอักษรเอาไว้

ดังนั้น ไ่ม่ว่าอักษรไหน ก็ออกเสียงแบบเดียวกัน

เช่น ถ้าใช้อักษรไทย ท ก็ต้องออกเสียง d

คือ อักษรแต่ละตัว ก็แยกเสียงกันเลย ไม่มีเสียงซ้ำ รวมทั้ง ศ ษ ส ก็คนละเสียงกัน

ส่วนมากก็ออกเสียงแบบไทยๆ ครับ ดัดลิ้นแบบแขกก็เหนื่อย

แต่ถ้าพูดกับคนอินเดีย ก็ต้องเน้นหน่อย ไม่งั้นเขาฟังผิดไป

อย่าง โก กับ โค นี่ ลำบาก

(ถ้าสงสัยก็ถามมาอีกนะครับ ผมไม่แ่น่ใจว่าตอบตรงคำถามไหม)

สวัสดีค่ะ

    อ่านคำอธิบายด้วยความสนุก และชวนให้อยากถามมากหาความรู้ให้มากขึ้นไปอีก

มาติดใจตรงที่คุณธวัชชัยบอกว่าตัวอักษร ศ ษ ส มีเสียงต่างกัน ทำให้อยากรู้ว่าในสมัยโบราณเราคนไทยเองก็ออกเสียงกลุ่มอักษรนี้ต่างกันหรือเปล่าคะ จากนั้นด้วยเวลานานผ่านไปกลายเป็นว่าเหลือแค่เสียงเดียว ไม่งั้นเราจะมีหลายตัวไปทำไมในตอนแรก หรือเป็นเพราะว่าเรารับอิทธิพลจากอักษร Devanagari เฉพาะรูป แต่ไม่ใช่เสียง ตอนนี้จ๋าหัดเขียนอักษรเบงกาลีอยู่ บางตัวถ้ามองหรี่ๆ ตาแล้วก็เหมือนกันกับอักษรไทยเลยนะคะ

ด้วยความเคารพ

จ๋า :)

สวัสดีครับ คุณจ๋า

ผมเข้าใจว่า แต่ก่อนคนไทยคงจะมีเสียง ส เสียงเดียวนะครับ

คำที่ออกเสียง ศ และ ษ คงกลายเป็น ส ไปเลย

เพราะถ้า ออกเสียง ศ แบบสันสกฤต (sh) คงจะมีเพี้ยนเป็น ฉ บ้าง แต่ก็ไม่มีเลย

ส่วนเสียง ษ นั้น ไม่ตรงกับฐานของเรา ตามหลักภาษาศาสตร์ ไม่น่าจะโดดใช้ฐานอื่นเ้พียงเสียงเดียว

จึงไม่มีเสียง ษ แน่นอน

อีกอย่างหนึ่ง ศ และ ษ มีเฉพาะภาษาสันสกฤต และคนไทยรับภาษาสันสกฤตผ่านเขมรบ้าง อินเดียบ้าง

(อักษรเขมรมี ส เดียว อักษรอื่นๆ แุถบนี้ก็มี ส เดียว มีแต่ไทย ที่มี ศ และ ษ แปลกดีนะครับ)

การออกเสียงคงไม่แน่นอนครับ

สรุปว่า น่าจะใช้เสียง /ส/ สำหรับ ศ ษ ส ที่เราใช้ตัวหนังสือหลายตัว ก็เพื่อถ่ายถอดตัวจากอักษรอื่น

แต่มีการใช้แบบไม่แน่นอนบ้างเหมือนกันนะครับ อย่างคำว่า ศุข นี่ มาได้ยังไงก็ไม่ทราบ

คงต้องตรวจสอบจากจารึก

อักษรเบงกอล ผมไม่เคยเรียนเลย น่าสนใจครับ เผื่อได้อ่านต้นฉบับทางเหนือดูบ้าง ;)

เคยโหลดหนังสือสันสกฤตทางเน็ต แต่เป็นตัวเบงกอล อ่านไม่ออกเลย

สวัสดีค่ะ

    ขอบคุณคำอธิบายละเอียดเข้มข้นค่ะ จะได้เอาไปอธิบายเพื่อนต่อไป จ๋าว่าตัวอักษร Devanagari กับ Bengali บางตัวก็คล้ายๆกันเลยค่ะ คงอย่างที่คุณธวัชชัยอธิบายไว้ว่าต่างก็มาจากสันสกฤต ครูบอกว่าการออกเสียงของฮินดีจะตามกฏมากกว่าเบงกาลี แต่กฏเกณฑ์จะซับซ้อนกว่า เพราะมี gender ก็เรียนไปเรื่อยๆมาเรียงๆค่ะ หากมีอะไรน่าสนใจจะนำมาเล่าให้ฟังนะค่ะ namaste!

จ๋า :)

สวัสดีครับ

 

มาอ่านเรื่องราวดี เป็นที่น่ายินดียังมีผู้ใคร่เรียนรู้ภาษาสันสกฤตครับ

สวัสดีครับ คุณ Ico48

อย่าลืมมาเล่าเรื่องภาษาเบงกาลีนะครับ คงสนุกไม่แพ้ภาษาอื่นของอินเดีย ;)

 

สวัสดีครับ อาจารย์ Ico48

ขอบคุณมากครับที่แวะมาอ่าน มีข้อคิดเห็นอย่างไรก็แนะนำได้นะครับ

มีหลายท่านที่สนใจภาษาสันสกฤต แต่หาอ่านที่เป็นภาษาไทยได้ยากครับ

 

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติมจาก http://www.omniglot.com/writing/sanskrit.htm

Since the late 19th century, Sanskrit has been written mostly with the Devanāgarī alphabet. However it has also been written with all the other alphabets of India, except Gurmukhi and Tamil, and with other alphabets such as Thai and Tibetan. The Grantha, Sharda and Siddham alphabets are used only for Sanskrit.

Since the late 18th century, Sanskrit has also been written with the Latin alphabet. The most commonly used system is the International Alphabet of Sanskrit Transliteration (IAST), which was been the standard for academic work since 1912

แล้วเราจะแยกยังไงอ่าคะ ?

ว่าอันไหนเป็นภาษาบาลีหรืออันไหนเป็นภาษาสันสกฤต


เพิ่งเข้ามาเริ่มต้นอ่านค่ะ สนใจภาษาสันสกฤต รู้สึกทึ่งมากว่าภาษาที่เราใช้อยู่นี้ หรือนิยายเก่าๆอันเลื่องชื่อลือนามเขียน เป็นภาษาสันสกฤต งงที่กามนิตแต่งโดยฝรั่ง และฝรั่งศึกษาสันสกฤตมากกว่าไทย ทั้ง ๆ ที่ไทยใช้ำพวกนี้อยู่  ห้ามบอกขี้เกียจเขียนอีกนะคะ  

น่าสนใจมากค่ะ ขอเป็นลูกศิษย์ด้วยคนนะคะอาจารย์

สวัสดีครับ คุณหลิงหลิง

(หลังจากผ่านมาสองปี) ภาษาบาลีและภาษาสันสกฤตนั้นแตกต่างกันพอสมควร

ถ้าจะเล่าตรงนี้คงไม่หมด พูดคร่าวๆ คือ คำศัพท์บาลีและสันสกฤต ส่วนหนึ่งเหมือนกัน เช่น รถ ราช เทว ฯลฯ อีกส่วนก็ไม่เหมือนกัน. สำหรับกริยาก็เช่นกัน มีทั้งที่เหมือน. คงเทียบได้กับภาษาลาวและภาษาไทย ที่มีทั้งเหมือนและต่างกัน. ถ้าอยากทราบว่าต่างกันอย่างไร ลองอ่านบทความในบล็อกนี้ดูได้ครับ

สวัสดีครับ คุณช่อบุปผา

ขอบคุณมากครับที่แวะมาอ่าน ไม่ขี้เกียจเขียนครับ ;)


สวัสดีครับ พี่แมววิเชียรมาศ

ยินดีมากครับ มาเรียนๆ อิๆๆ 

ขอบคุณค่ะสำหรับความรู้รอบตัวเบื้องต้น

สวัสดีค่ะ. เพิ่งเริ่มสนใจเรียนสันสกฤตค่ะ. จาก การอ่าน4 Cheaper on freedom แล้วเข้าใจยากค่ะ. เลยคิดว่าถ้าพอรู้เรียนภาษาสันสกฤต แล้วลองแปลตรงๆเลยน่าจะพอได้…ซึ่งหลังจากไปเรียน แล้วอ่านบทความของอาจารย์จากหนังสือไตรตรึงค์ ก็คิดว่าน่าจะมาถูกทางค่ะ. แต่คงอีกนานกว่าจะเข้าใจ..จับต้นชนปลายไม่ถูก. แต่จะพยายามค่ะ… จะอ่านบทความอาจารย์บ่อยๆค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท